“ตั้งแต่มีลูก ยังไม่เคยได้กินข้าวสบายๆ เลย”
หนึ่งในปัญหาปากท้องของคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกยังเล็ก ยิ่งเวลาออกไปกินข้าวนอกบ้านกันแต่ละที ไหนจะต้องมองหาร้านอาหารที่เหมาะสม พอจะมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกให้เด็กเล็กร่วมโต๊ะอาหารกับคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างไม่เป็นภาระของคนรอบข้าง
ปัญหาอีกอย่างก็คือ หากลูกน้อยทำเลอะเทอะ ร้องไห้กระจองอแง หรือเกิดจะแผลงฤทธิ์ขณะอยู่ในร้านอาหารขึ้นมา คุณพ่อคุณแม่ก็จะพาลกินอาหารไม่อร่อย เพราะเกรงใจทั้งพนักงานและคนอื่นๆ ในร้านซะเปล่าๆ
แต่ปัญหาเหล่านั้นไม่มีทางเกิดขึ้นที่ Baby Calm Cafe—คาเฟ่สำหรับแม่และเด็ก แห่งนี้
สามชั่วโมงกว่าจากกรุงเทพฯ หรือหากมีแพลนจะพาเจ้าตัวเล็กไปเที่ยวจังหวัดนครราชสีมาอยู่แล้วละก็ ลองขับรถไปตามเส้นถนนมุขมนตรี แล้วพิมพ์ชื่อ Baby Calm Cafe ลงในแผนที่แล้วขับไปตามจีพีเอสได้เลย รับรองไม่หลง
Baby Calm Cafe บ้านหลังเล็กๆ หน้าตาน่ารัก อยู่ในบริเวณรั้วรอบขอบชิดแต่มีประตูที่เปิดกว้างและที่จอดรถสะดวกสบาย ภายในพื้นที่ของบ้านหลังใหญ่ เกิดขึ้นจากแรงบันดาลใจและการออกแบบของ คุณแอน—ชรินรัตน์ ทองเป็นใหญ่ และคุณไนท์—นิธิ ทองเป็นใหญ่ สองสามีภรรยาที่เข้าอกเข้าใจคุณพ่อคุณแม่ลูกเล็กเป็นอย่างดี เพราะตัวเองก็อยู่ในสถานะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ของน้องคราม เด็กชายวัย 11 เดือน เช่นกัน
“เราก็มีลูกเล็ก เราเลยเข้าใจความรู้สึกพ่อแม่เวลาจะพาลูกออกไปกินข้าวนอกบ้าน ว่ามันไม่ได้สะดวกสบายอะไรเลย” คุณแอนหัวเราะ เมื่อพูดถึงแรงบันดาลใจในการทำคาเฟ่แห่งนี้ขึ้นมา
“แล้วเราก็อยู่กับลูกไปด้วยและทำงานไปด้วย” เป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เรายิ่งรู้สึกว่าคาเฟ่นี้มีบรรยากาศของความเป็นบ้านและครอบครัวมากกว่าร้านอาหารทั่วไป
เพียงเดินเข้ามาในบริเวณของ Baby Calm Cafe เด็กๆ จะได้เดินเตาะแตะหรือวิ่งเล่นบนสนามหญ้าเทียมสีเขียวสด มีอุโมงค์และบันไดไม้เล็กๆ ที่คุณแอนบอกว่า เด็กๆ ไม่ค่อยเดินเข้าร้านตามทางเดินปกติ ทุกคนจะต้องไปเดินขึ้นบันไดและลอดอุโมงค์ก่อนเข้าร้านเสมอ ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ เราแอบเห็นว่ามีพนักงานคอยดูแลเรื่องความสะอาดให้กับเด็กๆ ตลอดทั้งวัน
ด้านในแบ่งพื้นที่ออกเป็น โซนสำหรับเด็กเล็ก สำหรับครอบครัวที่มีลูกอายุตั้งแต่ 0-3 ขวบ โซนนี้จึงต้องมีการดูแลเรื่องความสะอาดและปลอดภัยเป็นพิเศษ เช่น มีการวัดไข้ ควบคุมอุณหภูมิ และทำความสะอาดของเล่นทุกชิ้นด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทุกสามชั่วโมง
มีโต๊ะกลมเตี้ยๆ สำหรับนั่งกินอาหารกับพื้น เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ใกล้ชิดกับลูกๆ ที่วิ่งเล่นไปมาในบริเวณนั้น ก็เลยออกแบบให้ทุกอย่างไม่มีเหลี่ยมมุมที่เป็นอันตราย
และลึกเข้าไปยังมีเบาะรองคลานสำหรับเบบี๋ในพื้นที่มิดชิด ที่ปลอดภัยจนสามารถปล่อยให้เจ้าตัวเล็กนั่งๆ นอนๆ หรือคลานเล่นอยู่ในนั้นก็ยังได้
ส่วนอีกฟากก็จะเป็น โซนคาเฟ่สำหรับเด็กโตและลูกค้าทั่วไป ซึ่งตกแต่งด้วยชุดโต๊ะเก้าอี้ไม้ที่ลบเหลี่ยมมุมแล้วเช่นกัน
โซนที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับคุณแม่ลูกเล็กก็คือ ห้องเปลี่ยนแพมเพิร์สและห้องให้นม ที่คุณแอนก็ตั้งใจจัดสรรพื้นที่ส่วนในสุดของร้านเอาไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน
นอกจากนั้นยังมีมุมเล็กๆ สำหรับขายสินค้าเพื่อแม่และเด็ก เช่น รถเข็นและคาร์ซีตมือสอง ที่คุณแอนเลือกและสั่งตรงมาจากญี่ปุ่นเองกับมือทุกชิ้น ไปจนถึงของมือหนึ่งอย่างเครื่องนึ่งและเครื่องปั่นอาหารสำหรับคุณแม่
และเมื่อเป็นคาเฟ่ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คืออาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งคุณแอนเล่าว่า เดิมทีตั้งใจจะมีแค่อาหารสไตล์ญี่ปุ่นตามความชอบของตัวเอง แต่พอเริ่มเห็นว่าลูกค้าที่มาส่วนมากจะมากันเป็นครอบครัวใหญ่ เช่น มีคุณปู่คุณย่ามาด้วย ก็เลยต้องเพิ่มอาหารให้หลากหลายขึ้น เช่น น้ำพริก หรือสปาเกตตีต่างๆ
นอกจากนั้น ยังมีอาหารสำหรับเบบี๋วัยที่กำลังเริ่มหัดกินอาหารอื่นๆ เพิ่มเติมจากนมแม่ เช่น เมนูสามสีสต็อกไก่ ผักและผลไม้สีส้ม สีเหลือง และสีเขียวบดละเอียดผสมด้วยน้ำสต็อกไก่
คุณแอนบอกว่านอกจากอาหารทุกเมนูในร้านจะพิถีพิถันเรื่องคุณภาพของวัตถุดิบแล้ว ร้านยังเสิร์ฟอาหารพร้อมช้อนซิลิโคนและชุดคลุมกันเปื้อนสำหรับเด็กเล็กสุดน่ารัก ซึ่งได้รับการยืนยันว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะทำเลอะเทอะ เพราะที่นี่เข้าใจธรรมชาติของเด็กเป็นอย่างดี
ส่วนอาหารสำหรับเด็กโตขึ้นมาอีกนิด เช่น ข้าวจรวดไปไข่ระเบิด—ข้าวญี่ปุ่นหุงนุ่มๆ รูปจรวดกับไข่ระเบิดรสชาติกลมกล่อมที่เด็กหลายคนโปรดปราน และไส้กรอกทอดหน้าตาน่ารักอย่าง แก๊งปลาหมึกห้าตัว
“พ่อแม่บางคนบอกว่า ลูกอยู่ที่บ้านไม่ค่อยยอมกินข้าว แต่พอมากินที่นี่แล้วเจออาหารหน้าตาน่ารัก เขาก็กินเก่งกันขึ้นมาเลย” คุณแอนอธิบายเหตุผลที่อาหารสำหรับเด็กๆ นอกจากอร่อยแล้วทุกเมนูยังต้องตกแต่งให้น่ารัก
ส่วนเครื่องดื่มที่เด็กๆ ชื่นชอบ ก็คือ ไวโอเล็ต—นมสดรสเผือกหอมหวานสีม่วงสวย นอกจากนี้ยังมีเมนูเครื่องดื่มบำรุงน้ำนมสำหรับคุณแม่ เช่น น้ำหัวปลีและน้ำขิง ซึ่งหากินไม่ได้ตามคาเฟ่ทั่วไปแน่นอน
คุณแอนบอกว่า หลังจากเปิดร้านมาได้เดือนกว่า ฟีดแบ็กค่อนข้างดี เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคุณพ่อคุณแม่ที่ตั้งใจพาลูกๆ มากินมาเล่นที่นี่โดยเฉพาะ และมีการบอกต่อกันปากต่อปาก มีการชักชวนและนัดแนะพาเด็กๆ มาเจอกัน ตรงกับความตั้งใจของคุณแอนที่อยากให้คาเฟ่แห่งนี้เป็นเหมือนคอมมิวนิตี้สำหรับครอบครัว
“เพราะเราไม่เก็บเงินค่าใช้บริการ ลูกค้ามาที่นี่ก็เลยรู้สึกเหมือนเป็นบ้าน เป็นพื้นที่ที่พาเด็กๆ มาแล้วสบายใจ มีแต่คนหัวอกเดียวกัน”
และเร็วๆ นี้คาเฟ่ก็จะเปิดให้บริการส่วนสตูดิโอถ่ายภาพ (มีค่าใช้บริการ) และกำลังจะมีการจัดเวิร์กช็อปและเสวนาหัวข้อเกี่ยวกับแม่และเด็ก โดยมีคุณหมอกุมารแพทย์มาช่วยให้ความรู้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกเช่นเคย
NO COMMENT