ในยุคที่การศึกษาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในโรงเรียน การเรียนที่บ้านหรือโฮมสกูล กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเลือกและออกแบบการเรียนการสอนที่เหมาะสมให้กับลูกมากขึ้น
ใครจะคิดว่าบ้านสองชั้นสีขาวอบอุ่นหลังหนึ่งในย่านลาดพร้าว จะเป็นพื้นที่ของ โรงเรียนหิ่งห้อย ที่อาจไม่ใหญ่โตกว้างขวาง แต่ก็มีบริเวณมากพอที่จะมีสนามหญ้าให้เด็กๆ วิ่งเล่น มีต้นไม้ให้ร่มเงา มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้แทรกตัวอยู่ทุกตารางเมตร
ทันทีที่เดินเข้ามา เราก็ได้พบกับ แม่จูน—วรัญญา สุนทรแต ผู้ก่อตั้ง โรงเรียนหิ่งห้อย ผู้มีความตั้งใจทำโฮมสกูลให้ลูกชายเป็นจุดเริ่มต้น จนกระทั่งได้เป็นผู้ออกแบบการสอนให้กับเด็กๆ อีกหลายครอบครัว

จากโฮมสกูลให้ลูก สู่ผู้ก่อตั้งโรงเรียนหิ่งห้อย
จูนเรียนจบด้านศิลปะการแสดงมา เลยทำให้มีโอกาสได้เอาศาสตร์ละครเข้าไปทำงานพัฒนาเด็กๆ ในชุมชนแล้วก็รู้สึกว่าชอบทำงานด้านนี้
พอมีลูก ก็ตั้งโจทย์ไว้ว่าอยากหาโรงเรียนที่มีหลักสูตรให้เด็กได้ใกล้ชิดธรรมชาติ แล้วก็สอนทักษะชีวิตที่จำเป็นในปัจจุบัน รวมถึงศิลปะแขนงต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่การวาดเขียน จนมีช่วงหนึ่ง ได้กลับไปบ้านของสามีที่เยอรมนี แล้วเราไปเจอว่าที่นั่นมีโรงเรียนป่า (forest school) เป็นโรงเรียนอยู่บนภูเขา ทำให้เด็กๆ ได้วิ่งเล่นในป่า ได้เล่นกับธรรมชาติ ได้ปิ้งมันเผา ทำให้เราอินมาก
พอกลับมาที่ไทย เราก็เริ่มวางแผนว่าจะให้ลูกเรียนแนวทางนี้แน่นอน ประกอบกับช่วงนั้นโควิด-19 ระบาด ทุกอย่างล็อกดาวน์ ก็เลยทำให้เราต้องสอนลูกเอง แล้วก็แชร์คอนเทนต์ตัวเองว่าสัปดาห์นี้บ้านเรากำลังทำอะไร มีกิจกรรมอะไรบ้าง แล้วก็เชิญชวนคนที่สนใจมาเล่นด้วยกัน เหมือนหาเพื่อนเรียนให้ลูกชาย จนมีครั้งหนึ่งเราไปจัดกิจกรรมเพลย์กรุ๊ปที่สวนรถไฟ ครั้งนั้นประสบความสำเร็จมาก จนทำให้มีครอบครัวสนใจเข้าทำกิจกรรมกว่าหนึ่งร้อยครอบครัว ทำให้จูนเริ่มปรับเปลี่ยนบ้านเก่าของตนเองให้กลายเป็นโรงเรียน และในปัจจุบันก็ย้ายและขยับขยายพื้นที่โรงเรียนหิ่งห้อยโดยสมบูรณ์


“บางคนเข้ามาเรียนด้วยเหตุผลคือพ่อแม่อยากทำโฮมสกูลให้ลูก แต่อาจจะยังไม่มีความมั่นใจว่าจะทำได้ไหม อีกส่วนหนึ่งคือเหมาะกับพ่อแม่ที่หาโรงเรียนให้ลูกๆได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กได้อย่างเต็มที่ เติบโตอย่างมีความสุข ได้เล่น ได้สำรวจ ได้ลงมือทำ”
โรงเรียนหิ่งห้อยเหมาะกับใคร
บางคนเข้ามาเรียนด้วยเหตุผลคือพ่อแม่อยากทำโฮมสกูลให้ลูก แต่อาจจะยังไม่มีความมั่นใจว่าจะทำได้ไหม อีกส่วนหนึ่งคือเหมาะกับพ่อแม่ที่หาโรงเรียนให้ลูกๆได้ใช้ชีวิตในวัยเด็กได้อย่างเต็มที่ เติบโตอย่างมีความสุข ได้เล่น ได้สำรวจ ได้ลงมือทำ
นอกจากนี้ยังเหมาะกับคนที่กำลังมองหาหลักสูตรบูรณาการทักษะทางวิชาการ มาเป็นกระบวนการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติ ศิลปะ และทักษะของชีวิต โดยให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นด้วยประสบการณ์ของตัวผู้เรียน คำนึงถึงกระบวนเติบโตภายในควบคู่กันไปด้วย โดยหลักสูตรจะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน ตามความถนัด และความสนใจเฉพาะตัวของผู้เรียน นั่นทำให้เด็กๆ จะค้นพบศักยภาพ จุดแข็ง และสิ่งที่ตนสนใจ รู้จักตนเองทั้งภายในและภายนอก ตามจังหวะของตนเอง
ที่นี่จึงไม่ใช่แค่โรงเรียนที่ให้เด็กมาเรียน แต่เหมือนเป็นคอมมูนิตี้ที่ให้ผู้ปกครองเข้ามาช่วยสอนได้อีกด้วย เช่น สอนเรื่องการเงิน ทำอาหาร หรือสอนการทำสมาธิ ซึ่งจูนมองว่ามันเป็นทักษะที่ใช้ได้ปัจจุบัน แล้วเรากับเด็กๆ ก็เติบโตไปพร้อมกันได้

“เราเน้นให้เด็กๆ เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากที่สุด ธรรมชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ต้นไม้ใบหญ้า แต่มันคือทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ แม้กระทั่งตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกัน”
หลักสูตรที่เน้นให้เด็กเชื่อมโยงกับธรรมชาติ
โรงเรียนหิ่งห้อยจะใช้หลักสูตรบูรณาการโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลักสูตร Charlotte Mason ที่เน้นให้เด็กได้เรียนรู้ของกฎธรรมชาติ แล้วก็เอาศาสตร์ของการละครเข้ามาประยุกต์ใช้กับพัฒนาการของเด็กๆ
แต่แน่นอนว่าเราเน้นให้เด็กๆ เชื่อมโยงกับธรรมชาติมากที่สุด ธรรมชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ต้นไม้ใบหญ้า แต่มันคือทุกอย่างที่เป็นธรรมชาติ แม้กระทั่งตัวเขาเองก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติเช่นกัน
ในหนึ่งปีจูนจะแบ่งธีมเป็นฤดูกาล เพื่อให้เด็กๆ รู้ว่าเมื่อฤดูกาลเปลี่ยน เราเองก็เปลี่ยนไปด้วย เช่น ช่วงหน้าฝน เด็กๆ ก็จะรู้ว่าช่วงนี้เรื่องพายุ เห็ด หอยทาก แล้วเราก็ใส่วิชาการเข้าไปในนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสร์
แล้วในส่วนของแต่ละวิชา เราก็จะไม่บอกเด็กๆ ว่าเขากำลังเรียนวิชาอะไร แต่จะตั้งชื่อให้ดูน่าตื่นเต้น เช่น วิชา Magic Monday เราก็จะแปลงร่างเป็นแม่มดร่ายมนต์ แต่จริงๆ มันคือวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งเด็กๆ ก็ชอบกันมาก

ความใคร่รู้คือเป้าหมายของโรงเรียนหิ่งห้อย
“นิยามของโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่กำลังทำให้ดอกไม้ของความสงสัยใคร่รู้เติบโต เด็กๆ ทุกคนจะกล้าสำรวจ กล้าลงมือทำ กล้าตั้งคำถาม”

ปล่อยให้เด็กค่อยๆ ซึบซับการเรียนรู้ ไม่ใช่บังคับให้นั่งเรียน
เดินเข้ามาทางด้านหลังอาคารเรียน จะพบกับสวนเล็กๆ เพื่อให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ และยังมีไก่ตัวเล็กตัวน้อยเดินป้วนเปี้ยนอีกด้วย
โดยปกติโรงเรียนหิ่งห้อยให้จะเด็กๆ มาปลูกต้นไม้แล้วบันทึกว่าใครปลูกต้นอะไรบ้าง หรือ ต้นไม้โตด้วยอะไรบ้าง ดิน น้ำ แสงแดด เป็นการค่อยๆ ซึมซับธรรมชาติและเรียนรู้ไปในตัว โดยที่ไม่ต้องบังคับให้เด็กๆ ท่องจำ

ออกแบบการเรียนได้ด้วยตัวเอง
การเรียนการสอนของที่นี่ไม่ได้จำกัดแค่การเรียน 5 วันต่อสัปดาห์ แต่ผู้ปกครองบางคนที่เลือกทำโฮมสกูลด้วยตัวเอง อาจจะส่งลูกมาเรียนแค่ 2-3 วันต่อสัปดาห์ แล้วจัดการสอนเองได้ในเวลาที่เหลือ หรือช่วงปิดเทอมสำหรับเด็กทั้งในและนอกระบบที่อยากมาสนุกกับหลักสูตร Forest School ไปด้วยกันได้ หรือแม้กระทั่งผู้ปกครองที่อยากออกแบบการสอนที่บ้านด้วยตัวเอง โรงเรียนหิ่งห้อยก็มีคลาสสำหรับผู้ใหญ่เพื่อสร้างโฮมสกูลคอมมูนิตี้ที่เป็นมิตร เพื่อบ่มเพาะเด็กในวันนี้ที่จะเติบใหญ่ในเส้นทางที่แตกต่างแต่งดงามในวันข้างหน้า

โรงเรียนที่เริ่มคลาส 10 โมงเช้า
ที่นี่เข้าเรียน 10 โมง เพราะกรุงเทพฯ รถติด เราไม่อยากให้เด็กๆ ติดอยู่ในรถนาน พอถึงโรงเรียนพลังก็หมดแล้ว บางคนบ้านอยู่ไกลต้องตื่นเช้ามาก เด็กนอนไม่พอ การเรียนรู้ก็ไม่เต็มที่

อนาคตของโรงเรียนหิ่งห้อย
ปัจจุบันเราเปิดชั้นเรียนตามอายุลูกชายคนโต (ปัจจุบัน 8 ขวบ) และก็จะเปิดชั้นเรียนไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นประถมศึกษา และตอนนี้ก็กำลังวางแผนจดชั้นอนุบาลให้เข้ากับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนแพลนอันใกล้นี้คือจูนจะทำอาคารชั้นประถมศึกษา แล้วก็จะสร้างโรงละครให้เด็กๆ เพราะทุกปีเราจะให้เด็กๆ ทำโปรเจ็กต์ละคร หลังจากนั้นจูนอยากที่จะกระจายสิ่งเหล่านี้ออกสู่ต่างจังหวัด จูนอยากให้เด็กต่างจังหวัดมีโอกาสมีโรงเรียนทางเลือกที่เยอะขึ้น แล้วถ้ามีโอกาสก็อยากผลักดันหลักสูตรนี้ให้เข้าสู่กระทรวงศึกษาฯ เพื่อให้ทุกคนได้นำไปใช้ได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST