วันนี้เรามีนัดสำคัญกับโรงเรียนอนุบาลที่มีชื่อเหมือนเจ้านกที่ตัวเล็กที่แสนจะปราดเปรียว และบินถอยหลังได้ นั่นก็คือ Hummingbird International Kindergarten แต่ก่อนจะได้เข้าไปภายในโรงเรียนก็ต้องทำการตรวจ ATK กันตามระเบียบเพื่อความปลอดภัยของเด็กๆ และบุคลากรในโรงเรียนทุกคน พอผลตรวจออกมาเรียบร้อยก็ได้เวลาเข้ามาสำรวจพื้นที่ในโรงเรียนกันต่อ
แม้วันนี้จะค่อนข้างเงียบเหงา เพราะเราต้องรอให้เด็กๆ แยกย้ายกลับบ้านไปก่อนตาม มาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของทางโรงเรียน แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะ คุณครูโบ—อารยา ทองใบ ผู้ร่วมก่อตั้งและบริหารโรงเรียนนานาชาติฮัมมิ่งเบิร์ด และคุณเกศินี—วัฒนะวีระชัย ผู้ร่วมก่อตั้ง และสถาปนิกผู้ออกแบบโรงเรียน รอต้อนรับเราอย่างอบอุ่น Hummingbird International Kindergarten เป็นโรงเรียนนานาชาติที่ใช้หลักสูตร Early Years Foundation Stage (EYFS) จากประเทศอังกฤษ ควบคู่กับหลักสูตร Executive Functiions (EF) เพื่อการพัฒนาทักษะสมอง และแนวคิด ‘101s เทคนิคสร้างวินัยเชิงบวก’ ที่เน้นการจัดการกับพฤติกรรมไม่น่ารักของเด็กๆ ด้วยวิธีที่สร้างสรรค์

สำรวจและท้าทาย
เมื่อเดินผ่านประตูรั้วสีน้ำตาลเข้ามาในบริเวณโรงเรียน เราก็ได้พบกับหน้าผาจำลองสุดท้าทายและการตกแต่งที่ล่อตาล่อใจให้เด็กๆ อยากเข้าไปปีนป่ายสุดๆ
“เรารู้สึกว่าทําไมเด็กๆ จะต้องเดินเข้าโรงเรียนปกติด้วย เขาสามารถปีนเข้าได้ไหม กระโดดได้หรือเปล่า อย่างผนังปีนป่ายมันไม่ใช่แค่เรื่องของกล้ามเนื้อมัดเล็กหรือมัดใหญ่ แต่สิ่งสำคัญที่สุด มันคือการทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าเขาทำได้ เด็กกว่า 90 เปอร์เซ็นต์เลย พอเขาปีนได้เขาจะหันมามามองคุณพ่อคุณแม่หรือคุณครูว่าเขาทำได้ เป็นความภูมิใจที่เกิดขึ้น” คุณครูโบเล่าให้เราฟัง
ทุกวันคุณครูกับคุณพ่อคุณแม่จึงมักเห็นภาพเด็กๆ ท้าทายความสามารถของตัวเองอยู่เสมอ บางคนก็ปีนตามแนวปกติ บางคนก็ปีนขึ้นปีนลง แต่เด็กๆ ที่ไม่ชื่นชอบการปีนป่าย ก็สามารถเดินเข้าโรงเรียนได้ตามปกติได้ ทุกอย่างขึ้นกับความพร้อมและความต้องการของเด็กแต่ละคน
คุณครูโบบอกว่าทางโรงเรียนให้ความสำคัญกับความพร้อมของเด็กๆ มาก ซึ่งถือเป็นพาร์ตที่โรงเรียนและคุณครูก็ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยแรงจากคุณพ่อคุณแม่เป็นหัวเรือหลัก
“เราจะถาม 3 คำถามกับคุณพ่อคุณแม่ทุกครั้งเมื่อมาส่งลูกที่โรงเรียน ว่าเมื่อคืนน้องนอนดีไหม น้องนอนเร็วหรือเปล่า เมื่อเช้าน้องกินข้าวหรือยัง ฟังดูเหมือนเป็นคำถามธรรมดาแต่สำหรับเด็กเล็ก เด็กๆ ไม่ได้มาถึงโรงเรียนแล้วพร้อมที่จะเรียนรู้ทันที การถามเรื่องเหล่านี้จะสามารถประเมินได้ว่าวันนี้เด็กเป็นอย่างไร และพร้อมที่จะเรียนหรือเปล่า
สมมติผู้ปกครองบอกว่าน้องกินข้าวแล้ว กินเยอะด้วย เมื่อคืนก็นอนดี ปรากฏว่าเข้าห้องเรียนแล้วงอแง เราก็จะประเมินได้ว่าสาเหตุน่าจะมาจากอะไรได้บ้าง เช่น ปวดท้อง หรือไม่สบาย ซึ่งถ้าไม่มีข้อมูลจากผู้ปกครอง เราก็จะไม่รู้ว่าปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน”


ใส่ใจและเข้าใจหัวใจเด็ก
ถัดจากโซนหน้าผาจำลอง คุณครูก็พาเราเดินเข้ามาในโซนของเด็กๆ ซึ่งต้องบอกก่อนว่า ปกติบริเวณนี้จะไม่ได้อนุญาตให้ผู้ปกครองเข้ามา เพราะอยากจะให้เด็กๆ รู้สึกว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของพวกเขาอย่างแท้จริง อีกทั้งยังเพื่อรักษาความปลอดภัยให้แก่เด็กๆ อีกด้วย
ดังนั้น การจะเข้ามาบริเวณนี้ก็ต้องเดินผ่านประตูโปร่งสีขาวที่ทำหน้าที่กั้นและแบ่งพื้นที่ทั้งสองด้านเอาไว้
“จริงๆ ประตูนี้สําคัญมากๆ ค่ะ ประตูที่โปร่ง จะช่วยให้เด็กๆ มีระยะเวลาทำใจ การที่เขายังสามารถมองเห็นพ่อแม่ด้านนอกได้อยู่จะทำให้เขาสบายใจขึ้น
ที่สำคัญเลยคือเวลาที่คุณพ่อคุณแม่ส่งเด็กๆ เราจะพยายามบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอย่าใช้วิธีแวบหายไปนะ หมายความว่า เราไม่ควรปล่อยให้ ลูกเล่นสนุก แต่หันมาแล้วพ่อแม่หาย
ต้องบอกว่าการที่คุณพ่อคุณแม่แวบไปอย่างนั้นจะทำให้เด็กเสียความเชื่อมั่น ซึ่งจะต้องใช้เวลานานมากในการแก้ไข เพราะเขาจะไม่เชื่อ และกังวลตลอดเวลา เพราะฉะนั้นทางโรงเรียนจะให้ผู้ปกครองคิดท่าทางเพื่อส่งสัญญานให้ลูกรู้ว่าเดี๋ยวคุณพ่อคุณแม่จะแยกตัวไปแล้ว เช่น ชกมือหนึ่งที หรือกอดกันหนึ่งที
อีกหนึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจขึ้น คือนาฬิกา น้องบางคนอาจยังทําใจห่างกับคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ เราก็จะมีเทคนิคบอกเขาว่า ถ้าเข็มสั้นไปอยู่ตรงเลขสอง แสดงว่าถึงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่กำลังจะมาแล้ว และถ้าตอนเช้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช้วิธีหายตัวไปเฉยๆ ตอนเย็นก็มาตรงตามเวลานัด เด็กก็จะมั่นใจและงอแงน้อยลงค่ะ”



เรื่องกินเรื่องใหญ่
โรงเรียนให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกินของเด็กๆ อย่างมาก มีนักโภชนาการคอยดูแลและคิดเมนูอาหารให้เด็กๆ และที่น่ารักมากๆ ก็คือในแต่ละวัน จะมีการทำป้ายเป็นสัญลักษณ์ไว้ให้เด็กๆ เห็นว่าเมนูวันนี้มีส่วนประกอบอะไรบ้าง
“เราอยากให้เด็กๆ รู้ว่าวันนี้กินอะไร อยากให้เขารู้มากกว่าแค่ต้องกินอาหาร ซึ่งพอเราใช้นักโภชนาการก็จะมีการคํานวณแล้วว่าอาหารในแต่ละมื้อควรมีสารอาหารอะไรบ้าง สมมติวันนี้มีกิจกรรมที่ต้องวิ่งออกกําลังกายเยอะ นักโภชนาการก็ต้องคิดแล้วว่าเด็กๆ ควรต้องได้รับโปรตีนในปริมาณเท่าไหร่
อีกสิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญคือ ‘ประสบการณ์การรับประทาน’ เวลาเด็กๆ ได้เห็นอาหารหน้าตาน่ารักเขาก็จะอยากกิน เช่น ทำแคร์รอตเป็นรูปดอกไม้ เด็กๆ ก็จะรู้สึกชอบ และอยากกิน อันนี้สําคัญ”
นอกจากประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ดีแล้ว โรงเรียนยังเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้ทํา cooking class ซึ่งจุดประสงค์ของคลาส ไม่ได้เน้นว่าจะต้องทำอาหารออกมาสวยงามน่ากิน แต่เราเน้นให้เด็กๆ ได้พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก และเกิดการเรียนรู้จากขั้นตอนการทำอาหารด้วย
นอกจากนั้นโรงเรียนยังรอบพื้นที่สนามเด็กเล่นยังถูกใช้ประโยชน์เป็นแปลงผักสวนครัว ที่คุณครูและเด็กๆ เป็นคนช่วยกันปลูกและดูแล จนสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารในโรงเรียนได้
คุณครูอธิบายให้เราฟังเพิ่มเติมอีกด้วยว่าการปลูกต้นไม้ ปลูกผักสวนครัว ทำให้เด็กๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างมาก เพราะเด็กๆ มักเรียนรู้จากการเปรียบเทียบสิ่งอื่นกับตัวเองเสมอ เมื่อเห็นต้นไม้โตเขาก็จะรู้สึกว่าตัวเองก็กำลังเติบโตไปเช่นเดียวกัน

Positive Discipline
พูดคุยเรื่องอาหารและสถานที่กันไปแล้ว ต่อมาเราก็ชวนคุณครูโบให้ช่วยอธิบายคำว่า Positive Discipline หรือวินัยเชิงบวก ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของโรงเรียน ที่คุณครูและบุคลากรในโรงเรียนทุกคน รวมถึงพนักงานรักษาความปลอดภัย ก็ต้องผ่านการอบรมเรื่องการใช้วินัยเชิงบวกกับเด็กๆ ด้วย
“พอเราใช้เรื่องวินัยเชิงบวก เราจะไม่มีคําว่าห้ามเลย ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าบอกว่าห้ามเราคิดถึงช้างสีชมพูนะ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ช้างสีชมพูจะตัวใหญ่ขึ้นทันที นั่นเป็นเพราะเด็กยังคิดอะไรไม่ซับซ้อน เวลาเราบอกว่าห้ามมันจึงยากมากหรับเขา ว่าห้ามสิ่งนี้แล้วเขาจะต้องทำอะไร
อย่างที่สองคือเด็กจะเสียความเป็นตัวตน ดังนั้นแทนที่จะห้ามหรือดุ เราจะใช้วิธีบอกว่าเขาควรทำอะไรมากกว่า”



การออกแบบเพื่อเด็กๆ โดยเฉพาะ
ถ้าคิดว่าสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจของโรงเรียนจะมีแค่หน้าผาจำลองด้านหน้าโรงเรียนแล้วละก็ ต้องบอกว่าคิดผิดแล้วล่ะ เพราะเมื่อเราเดินเข้ามาเรื่อยๆ ก็ได้เจอทั้งอุโมงค์น้ำพุ และคุณปลาวาฬตัวน้อยที่นอนรอต้อนรับอยู่
“บริเวณนี้จะเป็นโซนเปียกค่ะ ซึ่งสําคัญสำหรับเด็กๆ ทั้งช่วยป้องกันเรื่องแมลง เพราะพวกแมลงปีกอ่อนไม่ชอบอะไรที่มีความชื้น เขาจะบินไม่ได้ เขาก็จะไม่เข้ามายุ่งกับเด็กเรา อย่างที่สองคือช่วยเพิ่มความเย็น น้ำพุจะทําให้มีลมพัดเข้ามา อย่างที่สามจะช่วยในเรื่องฝุ่น เวลาที่ค่าฝุ่นเยอะ เราจะเปิดทิ้งไว้ทั้งวันเพื่อช่วยให้อากาศดีขึ้น เด็กๆ ก็จะได้ออกมาทำกิจกรรมข้างนอกได้ด้วย เด็กๆ ชอบมากบางทียืนจนหัวเปียก ต้องบอกเขาว่าพอแล้วลูก”
คุณครูเล่าให้เราฟังพร้อมเสียงหัวเราะ
และแน่นอนค่ะ เราเห็นแบบนี้ก็ไม่มีพลาดที่จะสวมบทบาทเป็นเด็กน้อย ขอลองวิ่งเข้าอุโมงค์น้ำพุให้สดชื่นเหมือนเด็กๆ ดูสักครั้ง
แล้วเราก็ได้รู้สึกว่าพื้นบริเวณนี้มีความนุ่มต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในโรงเรียนที่เราผ่านมา
“บริเวณนี้จะเป็นพื้นยาง EPDM ค่ะ ถ้าเหยียบดูก็จะรู้สึกว่ามันนิ่ม เพราะเด็กเล็กการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่เป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเวลาเขาวิ่ง ผู้ใหญ่อย่างเราก็มักจะกลัวเขาล้ม กลัวเขาจะบาดเจ็บ เลยไม่ค่อยอยากให้เด็กๆ วิ่ง แต่จริงๆ การวิ่งและการกระโดดเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเด็กๆ มากเราต้องสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อกับเขา ถ้าเรามัวแต่กลัวว่าเขาจะล้ม นั่นหมายความว่าเด็กจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย อย่างเวลาที่เด็กๆ ล้ม สิ่งแรกที่เราจะทำคือคุยกับเขาว่าเวลาล้มใครเจ็บ เขาก็จะตอบว่าเขาเจ็บ แต่การห้ามไม่ให้เขาวิ่งเล่น จะทำให้เด็กเกิดความรู้สึกสองอย่าง คือรู้สึกไม่ดี เลิกคิด เลิกทำ และรอคำสั่งให้ทำอย่างเดียว อย่างที่สองคือต่อต้าน ฉันจะทำแบบนี้ ฉันไม่ฟังอะไรทั้งสิ้น”
หากสังเกตให้ดี พื้นที่สนามเด็กเล่นของโรงเรียนจะถูกโอบล้อมไว้ด้วยอาคาร สาเหตุที่มีการออกแบบลักษณะนี้ก็เพื่อที่จะสามารถมองเห็นเด็กๆ ที่กำลังวิ่งเล่นอยู่ได้



การเรียนที่เน้นให้เด็กๆ ได้สนุกอย่างอิสระ
Hummingbird international kindergarten เป็นโรงเรียนที่มีการใช้หลักสูตร EYFS จากประเทศอังกฤษ พร้อมวิธีการเรียนรู้แบบ play base learning
ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการเล่นของเด็กๆ นั้นจะต้องผ่านการคิดและออกแบบวิธีการเล่นมาจากคุณครูในแต่ละระดับชั้นที่จะช่วยกันระดมสมอง เพื่อหารือว่าในช่วงนั้น เด็กๆ กำลังให้ความสนใจเรื่องอะไร และนำความสนใจนั้นมาปรับรูปแบบเป็นกิจกรรมให้เด็กๆ อีกที
แต่นอกจากจะมีกิจกรรมที่ออกแบบและกำหนดโดยคุณครูแล้ว ก็ยังมีกิจกรรม free play คือการให้เด็กๆ ช่วยกันโหวตว่าอยากจะเล่นอะไรในวันนั้น
“การเล่นจะทำให้เด็กๆ จะได้เรียนรู้กฎของการเล่น เช่น เขายืนได้ไหม ถ้าไม่ยืนจะทํายังไง หรือเล่นปาของใส่เพื่อนได้ไหม เป็นสิ่งที่เขาจะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับเพื่อนและการเล่นของเขา มันไม่ใช่แค่เรื่องกล้ามเนื้อมัดเล็ก แต่มันคือทุกอย่างที่เด็กๆ สามารถทําได้”
เมื่อพูดถึงการเล่นของเด็กๆ แล้ว คุณครูโบจึงเล่าถึงการเรียนดนตรี ตามตามแนวคิด Orff Schulwerk คือเชื่อว่าดนตรีเป็นเรื่องของทุกคน เชื่อว่าการเล่นดนตรีเป็นเรื่องของการเข้าใจในจังหวะ ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น การตบมือให้จังหวะเท่ากัน ก็เป็นเรื่องการเรียนรู้สมาธิ การส่งต่อเครื่องดนตรีให้เพื่อนแบบทันทีทันใด หรือแม้แต่การรอคุณครูสั่นกระดิ่งก่อนแล้วตีเครื่องดนตรีพร้อมกัน ก็ถือเป็นการฝึกให้เด็กๆ รู้จักรอและรู้จักการเข้าจังหวะด้วย
หลังจากเยี่ยมชมและพูดคุยกันอย่างครบถ้วนแล้ว ก็ได้เวลาบอกลาคุณครูและโรงเรียนฮัมมิ่งเบิร์ดแห่งนี้กันแล้ว หวังว่าการมาเยี่ยมชมโรงเรียนครั้งนี้ของพวกเรา จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทำความรู้จักกับโรงเรียนที่น่าสนใจในย่านต่างๆ มากขึ้นไปด้วยนะคะ


COMMENTS ARE OFF THIS POST