READING

‘วรรณสว่างจิต’ โรงเรียนนี้เป็นมิตรกับธ...

‘วรรณสว่างจิต’ โรงเรียนนี้เป็นมิตรกับธรรมชาติ

เสียงเด็กน้อยยิ้มแย้ม เจี๊ยวจ๊าว พูดคุย นั่งเล่น เดินเล่นกับเพื่อนๆ ขณะที่คุณครูก็เดินตรวจตราความพร้อมรอบตึก ก่อนที่ระฆังเรียกรวมเข้าแถวจะดังขึ้น แล้วนักเรียนระดับชั้นอนุบาลทุกคนก็มารวมตัวกันเคารพธงชาติ ในตึกที่ไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ ทว่าเย็นสบาย เพราะมีต้นไม้ดอกไม้ร่มรื่นและชุ่มฉ่ำ ไม่ต้องเปิดไฟ แต่ก็มีแสงสว่างให้มองเห็นบรรยากาศรอบตัวได้อย่างชัดเจน สมกับเป็นโรงเรียนที่ คุณครูนลินี มัคคสมัน (ผู้จัดการโรงเรียน) ผู้อาสาพา M.O.M. ชมโรงเรียน บอกเราว่า “วรรณสว่างจิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมค่ะ”

 

โรงเรียนวรรณสว่างจิตก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยคุณครูเฉลิม จิตกล้า ซึ่งในสมัยนั้นยังเรียกกันว่าโรงเรียนเตรียมความพร้อม และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนหลักสูตรกันไป จนมาเป็นยุคปัจจุบันที่เรียกกันว่าโรงเรียนทางเลือก ซึ่งอิงหลักสูตรโดยรวมจากกระทรวงศึกษาธิการ และนำมาบูรณาการตามแบบของตัวเอง แต่สิ่งที่โรงเรียนให้ความสำคัญตลอดมาก็คือ การดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างอบอุ่นและใกล้ชิด

 

เมื่อพูดถึงหลักสูตรการเรียนการสอน โรงเรียนวรรณสว่างจิตจะใช้หลัก Child Center และการสอนแบบโครงการ คือเน้นที่ความคิดของเด็กเป็นหลักและนำมาต่อยอดทางความคิดให้เด็กๆ

 

“เราต้องสอนให้เขากล้าแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามได้ เพราะจุดเริ่มต้นของหลักสูตรนี้มันมาจากการที่ คุณสงสัยเรื่องอะไร อยากรู้เรื่องอะไร และต้องเป็นความอยากรู้ของตัวเด็กด้วย ไม่ใช่ความอยากรู้ของตัวคุณครูเอง พอเด็กรู้ว่าตัวเองอยากรู้เรื่องอะไร เราก็จะให้เด็กๆ ช่วยกันตั้งคำถามในเรื่องนั้นๆ ว่า หนูคิดว่ายังไงคะ ดังนั้นหัวข้อหลักที่เด็กสนใจของแต่ละห้องก็จะไม่เหมือนกันเลย”

 

 

ที่นี่สอนเด็กอนุบาลจากเรื่องรอบตัวและธรรมชาติ อาทิ ให้เด็กๆ เดินชมธรรมชาติรอบโรงเรียน ดูดอกไม้ ต้นไม้ พวกเขาก็จะเห็นผีเสื้อ แล้วก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับผีเสื้อว่ามันมาจากไหน คืออะไร และทำอะไรได้บ้าง

 

“ครูก็จะยังไม่ตอบนะ แต่ว่าให้เขาลองคิดดูซิ และเราก็พบว่าเด็กเล็กๆ อนุบาลนี่เขาคิดได้ค่ะ เขาตอบได้ ครูก็จะเก็บข้อมูลไปเรื่อยๆ สู่บทเรียนต่อไป”

 

 

จากนั้นก็เป็นการบูรณาการว่าในวิชาอื่นๆ เช่น ศิลปะ ร้องเพลง หรือภาษาอังกฤษ ก็จะมีเรื่องราวเกี่ยวกับผีเสื้อแทรกเข้าไปให้พวกเขาได้เรียนรู้ตลอดเทอมการศึกษานั้น และครูประจำชั้นก็จะสื่อสารกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้รู้ว่าตอนนี้เด็กๆ สนใจเรื่องนี้นะ เพื่อให้ทางครอบครัวได้พูดคุยและต่อยอด สนับสนุนความสนใจให้เด็กๆ ด้วยอีกทาง

ภาษาธรรมชาติ

“หลักของภาษา มันคือการสื่อความคิดของเราให้คนอื่นเข้าใจ และมันต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เด็กเกิดมาต้องฟังก่อน ถึงจะพูดได้ และค่อยไปอ่าน-เขียนทีหลัง เราจะเน้นการพูดคุยกับเด็กมากๆ แล้วให้เขาตอบค่ะ อาจารย์ก็ต้องพูดชัด ต้องเข้าใจเรื่องที่ตัวเองจะพูด จะเขียน จะอ่าน เราต้องเป็นแบบการพูดให้เขา ต้องช้าและชัด ภาษาต้องดี ถูกต้อง เพราะเด็กจะฟังก่อน แล้วเขาก็จะค่อยๆ พูดตาม แล้วเขาจะพัฒนาขึ้นค่ะ”

 

ในอนุบาล ที่นี่จะยังไม่ได้สอนเขียน แต่จะให้เห็นตัวอักษรไปเรื่อยๆ ซึ่งตัวอักษรเหล่านั้นต้องมีความหมายกับเด็ก เช่น การเขียนวันที่ให้เด็กเห็นทุกวัน หรือการให้หยิบแก้วน้ำรูปร่างหน้าตาแบบนี้ แล้วเขียนให้ดู อ่านให้ฟังว่า “แก้วน้ำ”

 

นอกจากนี้ครูก็จะอ่านนิทานให้เด็กฟังทุกวันด้วย เพื่อให้น้องๆ รู้สึกดีกับหนังสือ เปิดให้เห็น รู้ฟังก์ชันของหนังสือ ว่าหน้าปกมีอะไร เช่น มีชื่อเรื่อง รูปภาพประกอบ ชื่อผู้แต่ง ผู้วาดภาพ “เด็กเขาก็จะค่อยๆ ซึมซับและรู้สึกดีว่า โห หนังสือนี่สนุกจังเลย แล้วความอยากอ่านอยากเขียนถึงจะตามมา”

 

 

ช่วงอนุบาลหนึ่งโรงเรียนจะให้เด็กทำงานศิลปะค่อนข้างมาก เพื่อฝึกกล้ามเนื้อมือให้แข็งแรงขึ้น และสายตาก็จะเริ่มสัมพันธ์กับมือ จนอยากวาด พอเห็นตัวหนังสือก็จะอยากเขียนตาม เหมือนการวาดรูป โดยที่ผู้ใหญ่ต้องไม่ไปตัดสินความถูกผิด

 

“ให้เขาเขียนไปค่ะ กระดาษใหญ่ๆ เลย ไม่ต้องเป็นกระดาษเล็กๆ ที่ไปบังคับเขา แล้วเขาจะสนุกกับการเขียน พอยิ่งครูชมว่าหนูจะเขียนคำว่าอย่างนี้ใช่ไหม โห เขายิ่งภูมิใจ อยากเขียนต่อ แล้วความอยากเขียน อยากอ่านเนี่ยค่ะ มันจะช่วยให้เขารู้สึกดีกับการเรียน สนุกกับการเรียน”

 

 

แล้วโรงเรียนก็จะค่อยๆ ฝึกตามพัฒนาการของร่างกายไปเรื่อยๆ จนเด็กแต่งนิทานได้และให้ครูบันทึก พอถึงอนุบาลสาม เด็กก็จะสามารถวาดภาพประกอบนิทานให้ตัวเองได้แล้ว พอถึงชั้นประถมก็ค่อยเริ่มเขียนอักษรกัน

 

“ในอนุบาล เด็กเขายังเรียนรู้จากรูปธรรม ยังไม่เข้าใจเรื่องนามธรรม แต่ถ้าแปดขวบขึ้นไป ความพร้อมเรื่องนามธรรมจะมา เพราะฉะนั้นเราไปเตรียมเรื่องข้างในดีกว่า แล้วพอร่างกายเขาพร้อม ทุกอย่างพร้อม มันก็จะไปได้ดี แล้วไปได้อย่างยั่งยืนด้วย”

• จุดเด่นของโรงเรียน

ห้องเรียนใหญ่

มีการเชิญผู้ปกครองมาทำกิจกรรมแบบเดียวกับเด็กเป๊ะๆ เพราะโรงเรียนเน้นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว และภาคปฏิบัติย่อมดีกว่าภาคทฤษฎีเป็นไหนๆ กิจกรรมนี้จึงมีเพื่อให้ผู้ปกครองได้ลงมือทำด้วยตัวเอง และเข้าใจลึกซึ้งว่าในแต่ละวัน เด็กได้อะไรจากโรงเรียนไปบ้างอย่างแท้จริง

 


 

การสื่อสารกับผู้ปกครอง
ครูประจำชั้นจะมีสมุดรายงานเรื่องของเด็กๆ ให้ผู้ปกครองทราบทุกสัปดาห์ เพื่อให้ครอบครัวเข้าใจว่าเด็กมีข้อดีข้อไหนควรสนับสนุน หรือมีจุดไหนที่ต้องร่วมมือกันปรับปรุง และทุกสิ้นเทอมก็จะส่งจุลสารจิตประภัสสร เพื่อแจ้งข่าวสารและความเคลื่อนไหวของโรงเรียนให้ทางบ้านทราบ

• กิจกรรมเด่นของโรงเรียน

ฤดูฝนปลูกข้าว ฤดูหนาวปลูกผัก

โรงเรียนจะให้เด็กทุกคนตั้งแต่ระดับอนุบาลได้สัมผัสทุกขั้นตอนตั้งแต่ดำนาจนถึงหุงข้าว ตั้งแต่ปลูกเมล็ดพันธุ์จนเอาผักไปผัดบนเตา นอกจากจะเป็นการสอนให้เด็กรู้ว่าเมืองไทยเป็นเมืองเกษตรแล้ว เด็กยังรู้ที่มาที่ไปของอาหาร ได้สัมผัส ได้เห็น ได้เข้าใจทุกกรรมวิธี แล้วพวกเขาจะเห็นคุณค่าของทุกสิ่งในชีวิต

 

อบขนมกันในวันเกิด

ที่นี่จะไม่มีการนำเค้กมาจากที่บ้าน แต่เด็กทุกคนในห้องจะร่วมกันทำเค้กตั้งแต่เตรียมแป้งจนถึงร่วมรับประทานร่วมกัน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและเด็กกับเด็กอีกด้วย

คุณครูทำของเล่นเองจากวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ช่วงปิดเทอม คุณครูของโรงเรียนจะร่วมกันทำสื่อเพื่อการพัฒนาเด็ก สื่อการเรียนการสอน ด้วยการไปซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มามัดเป็นตุ๊กตาบ้าง ถักเชือกบ้าง หรือแม้แต่ย้อมผ้า คุณครูที่นี่ก็ทำกันมาแล้ว ส่วนของเล่นยอดฮิตติดอันดับของเด็กเตรียมอนุบาลและอนุบาลมีสองชนิดคือ เชือกถักและผ้าสี่เหลี่ยมผืนใหญ่ ย้อมสีธรรมชาติ ที่เหมือนเป็นของเล่นธรรมดาๆ แต่สร้างจินตนาการได้ไม่รู้จบ มันดีกว่าแท็บเลตหรือทีวีเป็นไหนๆ เพราะเด็กจะพลิกแพลงการเล่นกับของเล่นง่ายๆ เหล่านี้ได้ด้วยตัวเขาเอง ชนิดที่ผู้ใหญ่อย่างเราอาจคิดไม่ถึงเลยเช่นกัน

 

 

ทุกอาชีพคือครู

แม่ครัว พี่คนสวน พี่ช่างไม้ หรือแม้แต่พี่แม่บ้านของที่นี่ก็มีโอกาสได้เข้าสอนเด็กๆ เหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงทำให้บุคลากรทุกสายอาชีพขวนขวายเพิ่มเติม เพิ่มความสามารถให้ตัวเองอยู่เสมอ แต่ยังทำให้เด็กๆ เคารพและให้เกียรติทุกอาชีพอย่างเท่าเทียม… เพราะทุกอาชีพก็สามารถเป็นครูของพวกเขาได้

 

 

ผลิตของใช้เองจากวัสดุเหลือใช้จากธรรมชาติ

หลังโรงเรียนวรรณสว่างจิตยังมีโรงหมักสะเดา หมักน้ำตาล และน้ำหมักอีกหลายชนิดที่เกิดจากของเหลือใช้หรือพืชผักในครัว ที่เมื่อนำมาผสมตามสูตรต่างๆ แล้วจะกลายเป็นน้ำยาล้างจาน ปุ๋ย ซึ่งไม่เพียงใช้แค่ในโรงเรียน แต่ยังมีเหลือไปขายที่สหกรณ์โรงเรียนอีกด้วย

 

 

กล่องนมรีไซเคิล

กล่องนมที่เด็กๆ รับประทานหมดแล้ว คุณครูจะให้นำไปล้างแล้วรวบรวมใส่กล่องส่งให้ ‘โครงการหลังคาเขียว เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก’ เพื่อนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์จากของเหลือใช้ได้อีกต่อไป

ตลาดนัดสานฝัน

กิจกรรมที่ครู นักเรียน บุคลากร และผู้ปกครองร่วมกันนำสินค้าต่างๆ มาขายในตลาด เพื่อนำกำไรที่ได้ไปเช่าชุดแสดงโขนให้รุ่นพี่ ป.6 ก่อนจบการศึกษา ซึ่งเป็นงานที่ทั้งโรงเรียนให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ แสดงความสามัคคีกันอย่างสุดๆ

 

 

ปีใหม่… กินข้าวกัน

โรงเรียนจะเชิญชวนให้ผู้ปกครองนำอาหารมาร่วมรับประทานพร้อมกับเด็กๆ ที่โรงเรียน

• บรรยากาศการเรียนและรอบตัว

ห้องเรียน

สีชมพูอ่อนๆ ที่ใช้ในห้องของเด็กเตรียมอนุบาลและเด็กอนุบาลทุกห้อง ให้ความรู้สึกอบอุ่น เป็นสีของรุ่งอรุณ ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์กำลังขึ้นสู่ขอบฟ้า สีอ่อนๆ นวลตานี้ จะผสมเข้ากับกลิ่นอะโรมาในห้องเรียน เป็นการสร้างบรรยากาศเพื่อกระตุ้นพัฒนาการให้เด็กๆ ตื่นตัว พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

สนามเด็กเล่น

บ่อทราย บ่อหิน ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ให้เด็กได้สัมผัส ได้จับ ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ

(*หมายเหตุ ตอนที่เราไปเป็นช่วงหน้าฝน บ่อทรายเลยปิดอยู่ เพราะทรายชื้นและไม่ดีต่อสุขภาพเด็กนัก แต่หากเป็นหน้าร้อน โรงเรียนจะเอาทรายมาตากให้แห้ง เด็กก็จะได้เล่นอย่างสนุกสนาน)

 

แปลงเกษตร

นักเรียนแต่ละระดับชั้น แต่ละห้องเรียน จะสลับกันมาปลูกพืชผัก และนำไปทำอาหารได้จริงด้วย

 

 

ทำไมผู้ปกครองถึงเลือก ‘วรรณสว่างจิต’

“ผู้ปกครองจะบอกว่าเขาอยากให้ลูกเป็นคนดี เขาก็จะพามาที่นี่ เพราะเราสอนเด็กเรื่องการใช้ชีวิต วิธีคิด โรงเรียนเราเชื่อว่าถ้าเขาดีแล้ว ความเก่งมันจะตามมาเอง ถ้าเราทำให้เขามีวินัย มีความรับผิดชอบ อยากรู้อยากเรียนด้วยตัวเองจากข้างใน ไม่ได้โดนคนบังคับ เขาจะสามารถแสวงหาทางที่เขาจะไปได้ และมันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ค่ะ” อาจารย์จากโรงเรียนอื่นจะบอกว่า ที่นี่ยังคงความเป็นเด็กของเด็กได้จนจบ ป.6 แต่ก็พัฒนาไปตามช่วงวัยด้วย พวกเขายังเบิกบาน สดใส แต่ก็กล้าแสดงออก และมีความเป็นผู้นำ ทำงานเป็น มีความคิดเป็นของตัวเอง เพราะโรงเรียนเปิดโอกาสให้เขาทำงานเยอะ คิดเยอะ

 

ขอขอบคุณ ข้อมูลและภาพถ่ายบางส่วนจากโรงเรียนวรรณสว่างจิต

 

หลักสูตรการเรียนการสอน

คณะครูของโรงเรียนจัดทำขึ้นเอง โดยอิงจากหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด แล้วนำมาประยุกต์กับวิธีการสอนแบบบูรณาการวิชาต่างๆ มารวมกันไว้ให้เหมาะกับผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น และนำเทคโนโลยีทางการศึกษาใหม่ๆ มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เช่น Project Approach (กระบวนการเรียนการสอนแบบโครงการ) Whole Language (เรียนภาษาแบบองค์รวม) Child Center (กระบวนการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง) และ Media Literacy (กระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าถึงและรู้เท่าทันสื่อต่างๆ)

อัตราส่วนนักเรียนต่อคุณครู

แผนกเด็กเล็ก จำนวนห้องเรียนละ 20 คน ต่อคุณครู 3 คน
แผนกอนุบาล จำนวนห้องเรียนละ 25 คน ต่อคุณครู 2 คน
แผนกประถม จำนวนห้องเรียนละ 25 คน ต่อคุณครู 2 คน

การรับสมัคร

แผนกเด็กเล็ก อายุ 2-3 ปี
แผนกอนุบาล อายุ 3-6 ปี
แผนกประถม อายุ 6-12 ปี

การเปิด–ปิดภาคเรียน  (1 ปีการศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ภาคเรียน)

ภาคเรียนที่ 1 เปิดภาคเรียน 17 พฤษภาคม – 20 สิงหาคม /  ปิดภาคเรียน 21 – 31 สิงหาคม
ภาคเรียนที่ 2 เปิดภาคเรียน 1 กันยายน – 30 พฤศจิกายน / ปิดภาคเรียน 1 – 14 ธันวาคม
ภาคเรียนที่ 3 เปิดภาคเรียน 15 ธันวาคม – 10 มีนาคม / ปิดภาคเรียน 11 มีนาคม – 16 พฤษภาคม
ภาคฤดูร้อน เปิดภาคเรียน 1- 30 เมษายน (ตามความสมัครใจ)

ค่าธรรมเนียมการเรียน (1 ปีการศึกษา ชำระ 3 ครั้ง)

ระดับชั้นเด็กเล็ก ภาคเรียนละ 27,000 บาท
ระดับชั้นอนุบาล ภาคเรียนละ 30,000 บาท
ระดับชั้นประถมต้น ภาคเรียนละ 34,000 บาท
ระดับชั้นประถมปลาย ภาคเรียนละ 36,000 บาท
รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าประกันอุบัติเหตุ ค่าอาหารกลางวัน ฯลฯ

บริการพิเศษ

มีรถตู้ปรับอากาศรับ-ส่ง ชำระเป็นรายเดือน (คิดตามระยะทาง)
มีเครื่องแบบนักเรียนจำหน่ายที่โรงเรียน

ติดต่อ
เว็บไซต์ http://www.wsc.ac.th/
เฟซบุ๊ก วรรณสว่างจิต
สถานที่ตั้ง 137 ถนนพระราม 2 แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
โทร. 0-2415-1411, 0-2895-6944-5
โทรสาร 0-2415-8344
E-mail wsc@wsc.ac.th

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST