READING

TALK WITH DOCTOR: ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่เศร้าเป็น คุย...

TALK WITH DOCTOR: ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ที่เศร้าเป็น คุยกับ รศ. พญ. นิดา ลิ้มสุวรรณ เรื่อง‘โรคซึมเศร้าในเด็ก’

อารมณ์และจิตใจของมนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความหลากหลาย ไม่ว่าจะมีความสุข โกรธ เศร้า เสียใจ เบื่อ เฉยๆ ล้วนเป็นทุกสิ่งประกอบร่างให้ทุกคนมีความสมบูรณ์ในแบบตัวเองมากขึ้น

การจัดการอารมณ์ จึงถือเป็นหนึ่งในพัฒนาการด้านจิตใจของเด็ก เด็กที่มีพัฒนาการด้านจิตใจที่ดี ก็จะสามารถควบคุมการแสดงออกที่เกิดจากอารมณ์ต่างๆ ของตัวเองได้ 

และเมื่อไหร่ที่จิตใจและอารมณ์ของคนเราแปรปรวน ไม่เป็นไปอย่างปกติ เช่น  สุขมากเกินไป เศร้ามากเกินไป เบื่อมากเกินไป เป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ย่อมเป็นสัญญาณบอกถึงความผิดปกติบางอย่าง และอาจนำไปสู่ปัญหาการเป็นโรคทางจิตเวชได้

โรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวช ที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ ที่ต้องเผชิญกับอาการของโรคซึมเศร้า เพราะเด็กๆ เองก็สามารถเจ็บป่วยด้วยโรคเดียวกันนี้ได้เช่นกัน

M.O.M ได้มีโอกาสพูดคุยกับ รศ. พญ. นิดา ลิ้มสุวรรณ คุณหมอจากภาคจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เกี่ยวกับ ‘โรคซึมเศร้าในเด็ก’ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่คอยดูแล ป้องกัน หรือหาทางรับมือกับอาการซึมเศร้าที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กๆ ของเราได้

ปัจจุบันสถานการณ์โรคซึมเศร้าที่เกิดขึ้นกับเด็กเป็นอย่างไรบ้าง

จริงๆ โรคซึมเศร้าจะออกแบ่งเป็นสองช่วงหลักๆ คือเด็กและวัยรุ่น ถ้าเป็นเด็กส่วนใหญ่แล้วเราจะเจอน้อย คือประมาณสองเปอร์เซ็นต์เท่านั้น  แต่พอเข้าช่วงวัยรุ่นอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าค่อนข้างจะเยอะ หรือพบประมาณ 8-11 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าโรคซึมเศร้าในเด็กเกิดน้อยกว่าในวัยรุ่นมาก

ส่วนมากเด็กจะเริ่มมีอาการบ่งชี้ว่าป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่อายุเท่าไร และเด็กสามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตั้งแต่แรกเกิดได้หรือไม่

โรคซึมเศร้าในเด็กจะมีอาการที่แสดงออกมาในลักษณะที่แตกต่างกับวัยรุ่น โดยในเด็กอาการจะแบ่งตามช่วงวัย เช่น วัยเด็กเล็ก ตั้งแต่ก่อนอนุบาลหรือวัยอนุบาล อาการของเด็กก็คืองอแงง่ายขึ้น สีหน้าท่าทางดูไม่ร่าเริง และผิดจากเด็กวัยเดียวกันส่วนใหญ่ที่จะชอบเล่นซุกซน 

พอโตขึ้นมาเป็นเด็กประถม ก็อาจจะแสดงอาการออกมา แต่เขาจะไม่พูดนะว่ากำลังเศร้า เขาจะแยกตัวดูไม่ร่าเริง แล้วก็อาจจะบ่นปวดหัว ปวดท้อง ไม่สบาย เจ็บป่วยตามส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยที่หาสาเหตุไม่เจอ และอาจจะคล้ายคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง

พอช่วงวัยรุ่น อาการก็จะคล้ายกับผู้ใหญ่มากขึ้น วัยรุ่นเขาจะสามารถพูดบรรยายอาการได้ ก็จะบ่นเบื่อ บ่นเศร้า ไม่มีแรง ไม่อยากจะทำอะไร รู้สึกไม่มีอนาคต

ส่วนอาการซึมเศร้าในเด็กแรกเกิดไม่ค่อยมี เพราะเด็กแรกเกิดยังไม่สามารถมีอาการบ่งชี้ที่ชัดเจน

เราจะมีวิธีการสังเกตอย่างไรว่าเด็กมีอาการเศร้าทั่วไป หรือกำลังเสี่ยงกับการป่วยโรคซึมเศร้า

เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถบรรยายความรู้สึกได้ละเอียดอ่อนเหมือนผู้ใหญ่ ทำให้เขาแสดงออกมาเป็นสีหน้าท่าทาง พฤติกรรมการกินการนอนที่เปลี่ยนไป งอแงง่าย บางทีก็ติดผู้ปกครองมากขึ้น ปกติเคยเล่น เคยร่าเริง ก็เปลี่ยนเป็นไม่สนใจที่จะทำอะไร ผู้ใหญ่ต้องใช้วิธีสังเกตพฤติกรรมของเขาด้วย

คือปกติถ้าเด็กเจอเรื่องหรือเหตุอะไรมา เขาก็อาจจะดูซึมได้เศร้าได้ในช่วงเวลานั้นๆ แต่พอผ่านพ้นไป ก็จะเริ่มดีขึ้น แต่ถ้าป่วยเป็นโรคซึมเศร้า เขาจะเป็นอย่างนั้นไปตลอด ผิดจากคนเดิมที่เคยร่าเริง ผิดไปจากเดิมที่เขาเคยเป็น

พ่อแม่หรือผู้ปกครองมีวิธีป้องกันโรคซึมเศร้าในเด็กได้ไหม หรือถ้าป้องกันไม่ทันแล้ว ควรรับมืออย่างไร

โดยทั่วไปแล้วเด็กที่มีอาการซึมเศร้าก็จะมีสาเหตุ ก็คือตั้งแต่มีพันธุกรรม มีญาติร่วมสายเลือดที่เป็น ก็ทำให้มีโอกาสเสี่ยงมากขึ้น หรือสิ่งแวดล้อมที่เด็กอยู่ เช่น มีการทารุณกรรม มีการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือประสบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย จนถึงการอยู่ในบรรยากาศที่พ่อแม่ทะเลาะกัน

วิธีป้องกันก็ต้องปรับที่ต้นเหตุเหล่านี้ พยายามเลี้ยงดูด้วยวิธีที่เหมาะสม มีคนเลี้ยงดูเด็กที่มั่นคงแล้วก็สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา การเปลี่ยนคนดูแลเด็กบ่อยๆ บางทีจะทำให้เด็กสับสน เพราะเขาเคยถูกเลี้ยงมาจากคนนี้ การเปลี่ยนคนดูแลทำให้เด็กรู้สึกเหมือนสูญเสียคนสนิทหรือคนที่เข้าใจเขาได้ 

เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันเด็กเล็กจากโรคซึมเศร้า ก็คือการเลี้ยงดูจะต้องมั่นคงปลอดภัย เหมาะสมตามพัฒนาการและมีความสม่ำเสมอ ผู้เลี้ยงดูก็ต้องมีคุณสมบัติที่ตอบสนองกับเด็กได้ดี ไวต่อความรู้สึก รู้จักแสดงความเห็นอกเห็นใจ

ส่วนเด็กโต โดยทั่วไป สาเหตุอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องภายในครอบครัว  เพราะเด็กไปโรงเรียน ก็อาจจะมีปัญหามาจากโรงเเรียน ไม่ว่าจะเป็นการโดนกลั่นแกล้ง การถูกบูลลี่ หรือการถูกทำอะไรรุนแรงภายในโรงเรียน วิธีการป้องกัน จึงควรทำให้โรงเรียนของเด็กเป็นสังคมที่ปลอดภัย ปลอดความรุนแรง ไม่อย่างนั้นสิ่งเหล่านี้ก็จะสะสมในใจเด็กไปเรื่อยๆ

ส่วนสาเหตุที่แก้ไม่ได้ คือสาเหตุทางพันธุกรรม สิ่งที่ปรับได้คือปรับสิ่งแวดล้อม และอีกวิธีที่จะป้องกันได้คือต้องหมั่นสังเกต หมายถึงว่าถ้าเห็นว่าเด็กมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้ปกครอง โรงเรียน หรือแม้แต่เพื่อน เห็นว่าใครมีพฤติกรรมอะไรเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น เวลานอนผิดไปจากเดิม สีหน้าท่าทางไม่สดชื่นแจ่มใสเหมือนเดิม ก็ลองพามาตรวจประเมินอาการเพื่อเข้ารับการรักษาได้ ไม่ควรปล่อยให้เรื้อรัง เพราะถ้าปล่อยไว้นาน เด็กอาจจะมีอาการทำร้ายตัวเอง ถ้าเราเริ่มเห็นตั้งแต่เขามีปัญหา ก็เหมือนเป็นเหมือนการป้องกันให้อาการของโรคไม่รุนแรงมากขึ้นได้

เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้าถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ จะทำให้กลายเป็นผู้ป่วยต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่เลยใช่หรือไม่คะ

ใช่ค่ะ โรคนี้ตามธรรมชาติแล้วมันเป็นโรคเรื้อรัง ถ้าไม่ได้รับการรักษา หรือไม่ได้แก้ไขที่สาเหตุ มันก็จะสามารถทำความเสียหายกับชีวิตไปได้ตลอดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่

ถ้าเราพบว่าเด็กกำลังมีอาการของโรคซึมเศร้าอย่างหนัก ควรรับมืออย่างไร 

อย่างแรกคือต้องคิดว่าการบอกเด็กว่า “ไม่เป็นไร” มันก็เหมือนฮาวทู คือมันใช้ไม่ได้กับทุกคน การที่เราเป็นผู้ใหญ่ดูแลเขา คุณสมบัติอย่างแรกเลยคือการยอมรับ ไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็ตาม ต้องพร้อมอยู่กับเขาตรงนั้น แสดงความเห็นอกเห็นใจ แสดงออกว่าเรายินดีพร้อมที่จะรับฟัง มันจะช่วยทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยเพียงพอที่จะระบายความรู้สึกต่างๆ ออกมา

แต่การให้คำแนะนำว่า ต้องไปทำแบบนั้นสิ แบบนี้สิ คือถ้าเขาทำได้ เขาทำไปแล้ว เช่น ไปออกกำลังกายสิจะได้หายเศร้า แต่ความเป็นจริงคือคนที่กำลังรู้สึกแย่อยู่ มันก็ไม่อยากไปออกกำลังกาย ไม่ใช่ว่าให้คำแนะนำไม่ได้นะ แต่ต้องแสดงความเข้าใจเขาก่อน 

โดยทั่วไปที่มีปัญหากันก็คือผู้ใหญ่ไม่ได้รับฟังเด็ก ไม่ได้แสดงความเข้าใจ แต่ชี้แนะไปแล้วว่าให้ไปทำอย่างนั้นอย่างนี้ หรือบอกเด็กว่าอย่าไปคิดมาก ซึ่งมันเหมือนทำให้แย่ลงมากกว่า 

แต่ถ้าเกิด คุณรับฟังเขาก่อน เขามีอะไรในใจ ให้เขาได้เล่า หรือร้องไห้เลยก็ได้ เสร็จแล้วเราค่อยให้คำแนะนำในตอนท้าย เขาก็จะพอรับได้ ซึ่งมันต่างจากการให้คำแนะนำไปก่อน โดยที่ไม่แสดงความเข้าใจในเรื่องราวของเขาเลย

ปัญหาสำหรับเด็กที่ต่างจากผู้ใหญ่คือเด็กพูดไม่เก่ง บรรยายความรู้สึกได้ไม่เก่ง หรือเขาอาจจะยังมีทักษะทางภาษาไม่ดีขนาดนั้น เพราะฉะนั้นการเข้าถึงความรู้สึกและอารมณ์ของเด็ก ต้องสังเกต

 

สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563

Anittha R

หลงรักธรรมชาติของความเป็นเด็ก ชอบดูหนัง ชอบหนังสือนิทาน รักการเลี้ยงต้นไม้ และใฝ่ฝันอยากทำสวนกระบองเพรชที่มีดอกเยอะๆ

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST