READING

คุยกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์: รถหัดเดิน ไ...

คุยกับ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์: รถหัดเดิน ไม่ได้ช่วยหัดเดิน และยังอันตรายกว่าที่เราคิด

หากลองย้อนหาข่าวครอบครัวที่ต้องสูญเสียลูกน้อยไปเพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจาก ‘รถหัดเดิน’ จะพบว่าประเทศไทยเรามีครอบครัวที่ต้องประสบกับเหตุการณ์ดังกล่าวอยู่เสมอ

หลายครั้งที่มีการภาวนาขอให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก็พบว่า ยังมีเด็กอีกหลายคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากรถหัดเดิน ไม่ว่าจะเป็นตกจากที่สูง รถล้มพลิกคว่ำบนพื้นต่างระดับ รถไถลตกลงมาจากบันไดเลื่อน จมน้ำ ทุกกรณีล้วนนำมาซึ่งความบาดเจ็บและบางรายก็อันตรายถึงชีวิตในที่สุด

หลังจากข่าวเหตุการณ์ที่รถหัดเดินทำให้เกิดความสูญเสียเมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้เห็นแถลงการณ์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ว่าด้วยอันตรายจากรถหัดเดินกับสังคม โดยคุณหมอ รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์—ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว เราจึงถือโอกาส เชิญคุณหมออดิศักดิ์ มาพูดคุยเพื่อคลายความสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์หรือโทษของรถหัดเดินเจ้าปัญหากันอีกครั้ง ด้วยความหวังว่า วันหนึ่งเหตุการณ์เช่นนี้จะหมดไปจริงๆ สักที

ตามปกติเด็กหัดเดินจะเริ่มช่วงอายุเท่าไร

ส่วนใหญ่ก็ประมาณ 11-13 เดือน เดือน หรือถ้าเร็วหน่อยก็ประมาณสิบเดือน

 

กลไกลทางร่างกายของเด็กวัยหัดเดินจะเป็นอย่างไร

ตามธรรมชาติ เด็กคว่ำตัวได้ประมาณสี่เดือน หงายเองได้ประมาณหกเดือน คืบได้ประมาณเจ็ดเดือน คลานได้ประมาณแปดเดือน หลังจากนั้นก็เริ่มเกาะโหนตัว ยืน และก็เริ่มไต่เดิน พอประมาณสักสิบถึงสิบเอ็ดเดือนก็ตั้งไข่ และเริ่มก้าวเดิน

ปกติเวลาก้าวเดิน คนเราจะต้องยกเท้าออกไปทางด้านหน้า เอาส้นเท้าลงก่อน ถ้าพ่อแม่ให้อยู่ในรถหัดเดินตั้งแต่ 5-6 เดือน เด็กยังนั่งไม่แข็ง เขาก็จะพยายามเอาหน้าอกกระแทกไปด้านหน้าเพื่อให้รถเคลื่อนที่ เมื่อเริ่มเคลื่อนที่ได้ก็จะใช้ปลายเท้าจิกลงพื้นและไถเอา พอถึงเวลาตั้งไข่ได้ และจะโน้มหน้าอกไปด้านหน้าแล้วจิกปลายเท้าลง มันก็จะเดินสะเปะสะปะเป็นปู ก็แล้วเดินไม่ได้สักที

 

ซึ่งการหัดเดินด้วยการโน้มหน้าอกไปข้างหน้า ถือว่าเป็นวิธีการเดินที่ไม่ถูกต้องใช่ไหม

เป็นวิธีที่ผิด เวลาเดินต้องเอาขาก้าวออกมาก่อน ต้องไม่เอนตัวไปข้างหน้า การเดินด้วยหน้าอกนำ ปลายเท้าจิก เวลาเดินจริงจะทำให้เด็กล้มง่าย

และจะส่งผลต่อการเดินไปจนถึงตอนโตหรือเปล่า

ไม่ เขาแค่จะเดินได้ช้ากว่าเด็กทั่วไปประมาณ 4-6 สัปดาห์ แต่สุดท้ายเด็กก็จะต้องฝึกวิธีเดินที่ถูกต้องจนได้

เมื่อก่อนเราไม่ค่อยรู้กันว่ารถหัดเดินเป็นอันตรายกับเด็ก ช่วงไหนที่เราเริ่มมารู้ว่ามันอันตรายและไม่เหมาะสมในการใช้หัดเดินในเด็กเล็ก

ในประเทศไทยเริ่มรู้ว่ารถหัดเดินเป็นอันตรายเมื่อ 13 ปีที่แล้ว สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภคเขาออกประกาศคณะกรรมว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 22 (พ.ศ. 2549) ให้เลิกเรียกว่ารถหัดเดิน และเขียนกำกับฉลากไว้ว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่ช่วยในการหัดเดิน มีอันตรายถึงแก่ชีวิต ผู้ดูแลต้องอยู่ใกล้

ความรู้เรื่องนี้เราเอามาจากงานวิจัยของต่างประเทศ ในต่างประเทศเขารู้ก่อนหน้าเราอย่างน้อยก็ 20 ปีแล้ว พอเริ่มมีงานวิจัยและก็เริ่มมีการแบนรถหัดเดินในประเทศแถบยุโรป เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย และบางรัฐในสหรัฐอเมริกา หรือบางรัฐยังให้มีการซื้อขายได้ แต่มีการปรับมาตรฐานกว้างขึ้น แล้วก็ให้ความรู้กับพ่อแม่เกี่ยวกับการใช้รถหัดเดิน ทำให้มีอัตราการบาดเจ็บของเด็กลดลง จากปีละสองหมื่นกว่าราย เหลือปีละสามพันกว่า แต่มันก็ยังไร้เหตุผลที่จะปล่อยให้เด็กสามพันกว่าคนบาดเจ็บ ทำให้สมาคมกุมารแพทย์ สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้แบนการใช้รถหัดเดินในทุกรัฐเมื่อปีที่แล้ว

แต่ตอนนี้ เราจะมาบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะข้างกล่องเขาเรียกว่ารถพยุงตัวมาตั้งนานแล้ว เขาไม่ให้เรียกว่ารถหัดเดิน แต่เราก็ยังเรียกติดปากว่ารถหัดเดิน ความจริงบริษัทไหนทำมาขายแล้วเรียกว่ารถหัดเดินก็ผิดกฎหมายทั้งนั้น

แต่บ้านเราก็ยังไม่ได้ห้ามขาย แค่เปลี่ยนชื่อจากรถหัดเดินเป็นรถพยุงตัว และใส่คำเตือนเข้าไป

ใช่ ตอนนั้นเขาบอกว่าบ้านเรายังมีคนนิยมใช้อยู่ สินค้าก็ยังมีอยู่ในสต็อก ก็เลยขอเวลา ที่นี่เวลามันก็ล่วงเลยมานาน ปรากฏว่าคนซื้อไม่ยอมอ่านคำเตือน ทำให้มีเด็กตาย เด็กบาดเจ็บอยู่เรื่อยๆ ที่จริงฉลากเตือนก็ได้ผลระดับหนึ่ง คนเริ่มก็ไม่ค่อยซื้อ แต่ก็ยังมีคนใช้อยู่ดี แล้วก็สุดก็ลูกเขาก็ได้รับบาดเจ็บ

รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์—ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ขอบคุณภาพจาก https://med.mahidol.ac.th/atrama/issue011/research-focus

ในประเทศไทยมีตัวเลขสถิติว่าเด็กที่บาดเจ็บจากรถหัดเดินเท่าไร

ไม่มี เพราะว่าเราไม่ได้บันทึก เวลาเด็กบาดเจ็บและเข้ามาในห้องฉุกเฉินที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลเขาจะไม่บันทึกว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุมาจากอะไร แต่เขาจะเขียนว่าบาดเจ็บจากอะไร บาดเจ็บที่ไหน สภาพการบาดเจ็บว่าเป็นอย่างไร เช่น พลัดตกหกล้ม หัวแตก ชนกระแทก น้ำร้อนลวก รถชน จมน้ำ ถ้าเด็กรถชนและนั่งอยู่ในรถหัดเดิน จะไม่มีระบบรายงานผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายแก่เด็ก แต่ในต่างประเทศจะมีระบบรายงานผลิตภัณฑ์ว่าเด็กได้รับบาดเจ็บจากผลิตภัณฑ์อะไร เพราะฉะนั้นเขาจะรู้ทันทีว่าเด็กบาดเจ็บมาจากผลิตภัณฑ์อะไร กี่คน ซึ่งในสหรัฐอเมริกาเรียกว่า NEISS (National Electronic Injury Surveillance System) และส่วนของยุโรปเรียกว่า EHLASS (European Home and Leisure Accidents Surveillance System)

“อุปกรณ์ที่ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ ให้คอยกระตุ้นเขา เวลาเขาเริ่มพลิกคว่ำได้ ก็กระตุ้นให้เขาพลิกคว่ำให้ได้ตามวัยหรือก่อนวัย แล้วค่อยพลิกหงาย หัดคืบหัดคลาน ลุกนั่ง เกาะยืน ตั้งไข่ ก้าวเดิน พวกนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้เองทั้งนั้น”

ถ้าไม่นับเรื่องอุบัติเหตุ การใช้รถหัดเดินกับเด็กเล็กมีประโยชน์ไหม

มันไม่มีประโยชน์อะไร ประโยชน์สองอย่างที่พ่อแม่เข้าใจผิด หนึ่ง—ช่วยในการหัดเดิน สอง—พ่อแม่ไม่ว่าง ทำให้เอารถหัดเดินมาใช้กับเด็ก อันแรกที่เข้าใจว่าช่วยให้หัดเดิน ความจริงมันก็ไม่ได้ช่วยหัดเดิน แต่ทำให้เด็กเดินได้ช้า อันที่สอง ถ้าบอกว่าพ่อแม่ไม่ว่าง อันนี้ยิ่งแย่ใหญ่ ถ้าคุณเผลอละสายตาจากเด็กไป แป๊บเดียวลูกก็เคลื่อนที่ไปไหนต่อไหนแล้วก็ไม่รู้ บางคนประสบอุบัติเหตุ ตกน้ำ จมน้ำ ถูกรถชน อย่างนี้มันใช้ไม่ได้ ยิ่งพ่อแม่ไม่ว่าง ยิ่งห้ามใช้ ทั้งสองเหตุผลเป็นโทษทั้งสิ้น

ถ้าไม่ใช้รถพยุงตัว อุปกรณ์อะไรที่จะช่วยพัฒนาในการทรงตัว การยืนหรือการเดินสำหรับเด็กที่คุณหมออยากแนะนำ

อุปกรณ์ที่ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ ให้คอยกระตุ้นเขา เวลาเขาเริ่มพลิกคว่ำได้ ก็กระตุ้นให้เขาพลิกคว่ำให้ได้ตามวัยหรือก่อนวัย แล้วค่อยพลิกหงาย หัดคืบหัดคลาน ลุกนั่ง เกาะยืน ตั้งไข่ ก้าวเดิน พวกนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้เองทั้งนั้น

คุณแม่บางคนอาจจะบอกว่าซื้อรถหัดเดินมาให้ลูกนั่งกินข้าวหรือให้ลูกนั่งเล่นเฉยๆ

แต่เพราะมันมีล้อไง รถหัดเดินมันไม่อยู่กับที่ มันเคลื่อนที่ไปไหนมาไหนและก่อให้เกิดอันตรายได้ ถ้าจะให้ลูกใช้ ก็ซื้อรถพยุงตัว แบบมีที่นั่ง มีของเล่นเหมือนกัน แต่ไม่ต้องมีล้อ

อุปกรณ์ เช่น Jumperoo, Around We go, รถผลักเดินไม้ สามารถช่วยให้เด็กหัดเดินได้หรือไม่ และมีอันตรายหรือไม่อย่างไร

อันนี้หมอยังให้คำตอบไม่ได้ ต้องเห็นของจริงก่อน บางตัวก็ออกแบบมาด้วยความหวังดี สุดท้ายแล้วก็ใช้ผิดจนเกิดอันตรายก็มี

นอกจากรถหัดเดินที่เป็นอุปกรณ์อันตรายแล้ว มีอุปกรณ์อันไหนอีกบ้างที่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็ก

ของใช้เด็กทารกถ้าออกแบบหรือทำมาไม่ถูกต้องหรือไม่มีมาตรฐานหรือเขามีมาตรฐานแล้วแต่ไม่ทำตาม ก็เป็นอันตรายทั้งนั้น บ้านเราไม่มีมาตรฐานควบคุมอุปกรณ์เกือบทุกประเภทของเด็ก แต่ในต่างประเทศเขาจะมีมาตรฐานความปลอดภัยควบคุมทุกตัว และบังคับใช้ด้วย ถ้าไม่มีมาตรฐาน ก็ขายไม่ได้

 

เราจะรู้ได้ยังไงว่าของที่ซื้อให้เด็กมีมาตรฐานหรือไม่มีมาตรฐาน

ก็อย่างที่บอก บ้านเราไม่มีมาตรฐาน พ่อแม่ที่ซื้อไม่มีทางรู้ ยกเว้นจะสั่งซื้อมาจากต่างประเทศ และมีเครื่องหมายมาตรฐานต่างประเทศอยู่ ซึ่งก็ต้องไปศึกษาอ่านดูเองอีกที แต่ถ้าจะหวังว่ากระทรวงอุตสาหกรรมคุมมาตรฐานของใช้เด็กไว้ ใครไม่มีมาตรฐาน เขาคงไม่ให้ขายอยู่แล้ว เราหวังแบบนี้ไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้ควบคุมขนาดนั้น ตัวอย่างเช่น เตียงเด็ก ต้องมีช่องห่างของซี่ราวกันตก ไม่เกิน 6 เซนติเมตร ไม่อย่างนั้นเด็กเอาขารอดออกไปได้ แล้วก็เอาหัวติดตายในท่าแขวนคอได้ แต่บ้านเราเนี่ยไม่มีมาตรฐานบังคับเรื่องเตียงเด็ก มีแต่ปัญหาทั่วไป แปลว่าถ้าคุณทำตามมาตรฐาน ก็ติดเครื่องหมาย มอก. ได้ แต่ถ้าไม่ทำตามมาตรฐานคุณก็ห้ามติดเครื่องหมาย มอก. แต่คุณยังขายได้

 

เรามีรถหัดเดินที่ได้มาตรฐานหรือไม่

รถหัดเดินไม่มีมาตรฐานอยู่แล้ว เพราะว่ามันอันตราย มันต้องถูกแบนอย่างเดียว เพราะรถพยุงตัวที่มีล้อ มันไม่มีการออกแบบให้ปลอดภัย ยกเว้นว่าจะเอาล้อออก ถึงจะเรียกว่าเป็นรถพยุงตัวที่ออกแบบได้มาตรฐาน แล้วมาตรฐานคือไม่มีลูกล้อในการเคลื่อนที่อย่างงี้ได้ แต่ทุกวันนี้มันไม่มีมาตรฐาน

 

สำหรับครอบครัวที่ยังลังเลว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อรถหัดเดินให้ลูก หรืออาจจะมีอยู่แล้ว แต่จะใช้หรือไม่ใช้ อยากให้คุณหมอแนะนำอีกครั้งว่าจะเอายังไงดี

ให้ไปอ่านข้างกล่อง ไปอ่านฉลาก ฉลากเขาเขียนว่าไม่ช่วยในการหัดเดินแล้วก็มีอันตรายถึงชีวิต ที่เหลือคุณก็ต้องตัดสินใจเอง

 

 

สัมภาษณ์วันที่ 14 พฤษภาคม 2562

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

COMMENTS ARE OFF THIS POST