READING

สูงยาว เข่าดี… เคล็ดไม่ลับที่จะทำให้ลูกๆ สูง...

สูงยาว เข่าดี… เคล็ดไม่ลับที่จะทำให้ลูกๆ สูงและสุขภาพดีไปด้วยกัน

ก็เราไม่สูง จะทำยังไงให้ลูกสูง, ต้องกินอะไร, ออกกำลังกายแบบไหน… พญ. อมรรัตน์ อาภรณ์วิชานพ—กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์ ขออาสามาไขข้อข้องใจนี้

ปัจจัยความสูง หรือ Final Height คือความสูงสุดท้ายของแต่ละคน หลักๆ แล้วมาจากปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. กรรมพันธุ์ที่ถูกกำหนดมา

2. พลังงานโภชนาการที่เพียงพอ

3. ฮอร์โมนในร่างกาย มาถูกที่ถูกเวลาหรือกระตุ้นถูกหรือเปล่า

ที่เหลือก็เป็นเรื่องรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละคน เช่น การเจ็บป่วย เด็กบางคนมีโรคเรื้อรังติดตัวมา หรือเด็กบางคนจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ สิ่งเหล่านี้จะมีผลทำให้ความสูงแต่ละคนไม่เท่าเทียมกัน

ดังนั้น การเล่นกีฬาจะมีผลต่อการเพิ่มความสูงหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้ชีวิตอย่างไรด้วยค่ะ

1. กรรมพันธุ์นั้นสำคัญไฉน

kids_tall_1

กรรมพันธ์ุมีผลต่อความสูงมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ แล้วกรรมพันธุ์เป็นตัวกำหนดความสูงของแต่ละคน แต่ประเด็นที่จะชี้ให้เห็นก็คือ ‘พ่อแม่ทุกคนที่มีความสูงสุดท้าย ณ ตอนนี้ เขาสูงเต็มศักยภาพของตัวเองหรือยัง’ ที่เราเห็นเขาตัวเล็กๆ อาจเกิดจากตอนเด็ก ได้รับโภชนาการหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ฮอร์โมนไม่เพียงพอก็อาจเป็นไปได้

แต่ถ้าผู้ใหญ่ท่านนั้นๆ เติบโตได้เต็มศักยภาพของกรรมพันธุ์แล้ว ลูกก็จะไม่หนีไปจากกันมากนัก

ถ้าพ่อแม่สูงไม่สุดตามกรรมพันธุ์ ลูกจะมีสิทธิ์สูงกว่าไหม

มีสิทธิ์เป็นไปได้ค่ะ

เพราะแต่ละคนมียีนกำกับมาแล้วว่าให้มีความสูงประมาณนี้ เพียงแต่ว่าเราทำให้มันเต็มที่ได้หรือเปล่าในแต่ละคน อย่างพี่น้องบางคนสูง บางคนเตี้ย เรื่องความสูงกับกรรมพันธุ์จึงอยู่ที่ว่า เขาทำได้สุดศักยภาพของตัวเองหรือไม่

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือชาวญี่ปุ่น หลังจากเปิดประเทศหลังสงครามโลกก็สูงขึ้นกัน

มีอาจารย์และนักวิทยาศาสตร์หลายๆ ท่านพยายามอธิบายว่า เขาทำเต็มศักยภาพของเขา ในช่วงที่ปิดประเทศ คือดูแลอาหารการกิน ออกกำลังกาย อัดจนเต็มปุ๊บก็แต่งงานกัน เป็นการสร้างมาตรฐานใหม่ให้รุ่นลูกสูงขึ้น เห็นได้จากปรากฏการณ์ว่าพ่อแม่เดียวกัน ลูกแต่ละคนก็อาจมีความสูงที่ต่างกันมากๆ ได้

2. โภชนาการที่จะทำให้สูง

kids_tall_2

อาหารการกินแบ่งออกเป็นหมวดพลังงานที่มาจากแป้ง โปรตีน และเนื้อสัตว์นั้นต้องเพียงพอ ต้องกินให้ถึงปริมาณที่ร่างกายต้องการ

กลุ่มอาหารที่กินเพื่อบำรุงเรื่องความสูงเป็นพิเศษ

จริงๆ ทุกอย่างที่เป็นกลุ่มอาหารห้าหมู่ สารทุกตัวที่เป็นองค์ประกอบในอาหารก็ต้องไม่ขาด แต่ตัวชูโรงคือ

– แคลเซียม: ส่วนประกอบหลักในการสร้างกระดูก

– วิตามินดี: ช่วยดึงให้แคลเซียมเข้าไปในกระดูก และสะสมตัวในกระดูกได้ ซึ่งต้องกินไขมันด้วย เพราะไขมันเป็นตัวทำละลายวิตามินดี ทำให้วิตามินดีดูดซึมได้ดีขึ้น แต่วิตามินดี นอกจากได้จากอาหารแล้ว ยังต้องถูกสังเคราะห์ด้วยแสง เพราะฉะนั้น เด็กๆ ควรได้รับแสงแดด ตากแดดวันละ 15-20 นาทีต่อวัน เพื่อส่งเสริมให้วิตามินเพียงพอ

– ฟอสเฟต: ช่วยเผาผลาญสารอาหารต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งมันมีอยู่แล้วในธรรมชาติ ไม่ต้องกินเยอะ

– โปรตีน

– พลังงานโดยรวม

พวกนี้คือดีหมด แต่ทุกตัวห้ามขาดนะคะ

แหล่งอาหารสำคัญมาจากที่ไหน

ตัวเอกที่เราต้องยกให้ก็คือ ‘นม’ เพราะว่านมหนึ่งกล่อง ประมาณ 250 มิลลิลิตร จะให้แคลเซียมอยู่ที่ประมาณ 240 มิลลิกรัม และยังมีสารอาหารอื่นที่เด็กวัยกำลังโตต้องการอย่างครบถ้วนในการเพิ่มความสูงอีกด้วย

เพราะฉะนั้น สำหรับนม เพื่อให้มีสารประกอบแคลเซียมเพียงพอ ดื่มสัก 2-4 กล่องต่อวันก็เพียงพอแล้วค่ะ

แต่สารอาหารอื่นก็ยังสำคัญนะ

ข้อสำคัญของเด็กสมัยนี้ที่เราคิดว่าแปลกก็คือ พ่อแม่ไม่สนใจข้าว ให้น้องดื่มแต่นม ปรากฏว่าในนมขาดวิตามินซี ซึ่งราวๆ ปีที่แล้วมีเคสน้องวัยสี่ขวบเดินไม่ได้ เพราะว่ากินแต่นมมาตลอด ไม่มีข้าวเลย จนขาดวิตามินดี มีเลือดออกใต้ข้อ ทำให้เดินไม่ได้

“เพราะฉะนั้น อย่ามุ่งแต่ดื่มนมอย่างเดียว สารอาหารอื่นก็ยังต้องกิน
เพราะว่าชีวิตเราไม่ได้ใช้ความสูงอย่างเดียว
ชีวิตเราต้องการอย่างอื่นด้วย ต้องแข็งแรงด้วย”

 

แนะนำแหล่งอาหารอื่นที่มีแคลเซียมสูง

นมเป็นพระเอกสำคัญ โยเกิร์ตก็สำคัญ นอกนั้นเป็นพวกอาหารห้าหมู่ ข้าวและปลาก็มีแคลเซียม โดยเฉพาะปลาที่กินทั้งก้าง ปลาแห้ง เมล็ดธัญพืชต่างๆ มีส่วนประกอบของวิตามินหลักๆ เต้าหู้ก้อน เต้าหู้ขาวที่เป็นก้อนๆ แต่น้ำเต้าหู้แคลเซียมน้อย เต้าหู้ก้อนจะมีปริมาณแคลเซียมเยอะกว่า อยู่ที่ราวๆ 100 มิลลิกรัม/หนึ่งหน่วยบริโภค แต่ถ้าเป็นเต้าหู้ไข่มีไม่ถึง 100 มิลลิกรัม เราก็ต้องกินให้เยอะขึ้น

สารอาหารที่กินเข้าไปจะมีผล ณ ตอนนั้น หรือกินแล้วสามารถสะสมให้มีผลในอนาคต

การที่เรากินเข้าไปทุกวัน ร่างกายเราจะดูดซึมเข้าไปเก็บไว้ทุกวันเช่นกัน แต่ละวันกินมากกินน้อยไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือให้ดูที่ช่วงอายุ

สารอาหารสมัยนี้ต้องเลือกให้ดี ไม่ใช่แค่ให้พลังงานอย่างเดียวแล้วจะสูงได้

ระวังแป้งส่วนเกินจากข้าว เพราะจริงๆ แล้วคาร์โบไฮเดรตจากข้าวก็เพียงพอแล้ว แถมมันยังมีวิตามินบี แร่ธาตุ สังกะสี และอื่นๆ เพราะฉะนั้นกินข้าวดีกว่า ได้สารอาหารครบถ้วนมากกว่า มีกากอาหารด้วย แต่พลังงานจากอย่างอื่นไม่ให้สารอาหาร และถ้ากินเกินยังกลายเป็นไขมันสะสมด้วย

ดังนั้น คาร์โบไฮเดรตส่วนเกินอื่นๆ ขอให้เลี่ยง เช่น นมเปรี้ยวพร้อมดื่ม เพราะน้ำตาลเยอะมาก ระวังให้ดี เพราะเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพควรมีน้ำตาลไม่เกิน 10%

3. อายุเท่าไร บำรุงแล้วตัวลูกจะยืด

kids_tall_3

สมาคมกุมารแพทย์ทั้งในฝั่งตะวันตกและประเทศไทยกำหนดออกมาว่า เพื่อให้เด็กๆ ได้ความสูงตามที่บุคคลนั้นๆ ควรจะเป็น เด็กควรได้รับ ‘แคลเซียม’ ในปริมาณที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็นช่วงวัย ดังนี้

1-8 ปีแรก ประมาณ 800 มิลลิกรัม/วัน

แต่ถ้าเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว ควรมีแคลเซียมในปริมาณสัก 800-1,500 มิลลิกรัม/วัน

ยิ่งเป็นช่วงแอ็กทีฟ คือช่วงที่น้องสูงเร็ว บางเคสต้องใช้ถึง 1,200-1,500 มิลลิกรัม/วัน

เด็กต้องกินแคลเซียมให้ถึง 800-1,500 มิลลิกรัม/วัน เลยไหม

ไม่จำเป็น กินสัก 70-80% ก็พอ แล้วหลังจากนั้นให้กินอาหารอย่างอื่นด้วย

เด็กวัยไหนต้องบำรุงให้เยอะเข้าไว้

เข้าสู่วัยรุ่นอายุ 9 ปีขึ้นไป เป็นช่วงที่ใช้เยอะมาก ถ้าช่วงนั้นไม่ได้กิน ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าเราสะสมช่วงที่เราไม่ใช้ มันก็ดีแหละ มีสะสม แต่ว่าถ้าจะใช้จริงๆ ณ ตอนนี้ มันไม่มีก็ไม่ได้ไง… มันไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

4. ฮอร์โมนกับความสูง

kids_tall_3

Growth Hormone (ฮอร์โมนเจริญเติบโต) เป็นฮอร์โมนที่เป็นตัวสั่งการสำคัญ ที่มาในช่วงเวลานอน เราจึงบอกเด็กๆ ว่าอย่านอนดึก สี่ทุ่มต้องเข้านอน หลับให้สนิท ร่างกายต้องพักผ่อนให้เต็มที่เพื่อให้ Growth Hormone หลั่งออกมา เมื่อสารอาหารพร้อม พลังงานทุกอย่างพร้อม ระบบในร่างกายก็จะทำงานสมบูรณ์ ตื่นเช้ามาใช้งานได้เต็มที่ เด็กก็จะโตเร็ว

ซึ่งในผู้ใหญ่ ฮอร์โมนนี้จะช่วยให้หน้าตาสดใส เบิร์นพลังงาน ถึงจะออกมาเพียงน้อยนิด แต่ก็ช่วยเบิร์นได้ ในขณะที่เด็กๆ ก็จะออกเยอะหน่อย ร่วมกับการออกกำลังกาย ถ้ามีไม่เพียงพอมันก็สั่งการได้ไม่เต็มที่

การกระตุ้นฮอร์โมนในแต่ละวัยนั้น วัยไหนเหมาะกับการกระตุ้นอย่างไร

เราจะแบ่งการเจริญเติบโตออกเป็นสองช่วง คือช่วงวัยเด็กที่เจริญเติบโตตามเกณฑ์ด้วย Growth Hormone กับพอเข้าสู่วัยที่จะมีพัฒนาการทางเพศ

อย่างเช่น ผู้หญิงมีเต้านม ผู้ชายมีอวัยวะเพศที่ยาวใหญ่ขึ้น นี่จะเป็นช่วงที่เราสร้างฮอร์โมนเพศสูง โดยฮอร์โมนเพศจะช่วยกระตุ้นให้ฮอร์โมนเจริญเติบโตสูงขึ้นด้วย การเจริญเติบโตของร่างกายก็จะพุ่งขึ้นไปอีก

เด็กๆ จะหยุดสูงเมื่อ…

ส่วนใหญ่เราจะหยุดสูงหลังจากที่ฮอร์โมนเพศทำงานได้ 2-3 ปี เราจะมีความสูงที่ประมาณ 95% ของ Final Height

ช่วงที่ฮอร์โมนเพศทำงานแล้ว 2-3 ปี แปลว่าเราเริ่มโตเต็มวัยแล้ว ความสูงจะไปต่อได้อีก 4-8 เซนติเมตร ก่อนที่จะหยุด

เด็กผู้หญิงกับเด็กผู้ชายหยุดสูงต่างกันอย่างไร

เด็กผู้หญิง เต้านมจะมาก่อน ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่อายุประมาณ 10 ปี หลังจากนั้นอีก 2-3 ปีประจำเดือนจะมา แล้วแต่กรณี ซึ่งใน 2-3 ปีนี้ จะเป็นช่วงที่ความสูงเพิ่มเร็วมาก ราวๆ 8-12 เซนติเมตรต่อปี

คือถ้าจะกระตุ้นความสูงก็ควรเป็นช่วงนี้ บำรุงเลย อย่าทำตัวตกมาตรฐาน ก็จะมีสิทธิ์สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าประจำเดือนมาปุ๊บก็แปลว่าใกล้โตเต็มวัยแล้ว ใกล้จะไม่สูงแล้ว ส่วนใหญ่นับจากนั้นไปจะสูงได้ไม่เกิน 8-12 เซนติเมตร

 

เด็กผู้ชาย จะกำไรหน่อย ฮอร์โมนเพศจะเริ่มทำงานที่อายุประมาณ 12-13 ปี และหลังจากนั้น 2-3 ปีถึงจะโตเต็มวัย หลังจากโตเต็มวัยมักจะสูงขึ้นไปได้อีก 4-8 เซนติเมตร ซึ่งมักไปจบที่อายุประมาณ 18-20 ปี อีกทั้งช่วงเรตการโตของเขาจะมากกว่าผู้หญิง เพราะฉะนั้น รูปร่างของผู้ชายจึงมักกำยำสูงใหญ่กว่าผู้หญิง

แล้วจะทำให้ร่างกายทั้งระบบร่วมมือกันทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการออกกำลังกายแบบไหน เริ่มได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ติดตามได้เร็วๆ นี้


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST