เหตุการณ์น่าเศร้าและไม่ควรเกิดขึ้น เช่น การลืมเด็กไว้ในรถยนต์ จนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิต กลับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ไม่เคยเลือนหายไปจากสังคมไทย และเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ผู้ใหญ่ในสังคมก็ตื่นตัวและหันมาให้ความสนใจกับการสอนทักษะเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขันให้กับเด็กๆ ของเรา แต่เมื่อเวลาผ่านไป เหตุการณ์น่าเศร้าก็กลับมาเกิดเป็นข่าวให้รู้สึกเศร้าใจกันได้อีก
ทางด้าน ผศ.นพ. สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ก็ได้ออกมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่หลายคนเข้าใจว่าการติดอยู่ในรถและเสียชีวิตนั้นเกิดจากการขาดอากาศหายใจ ทำให้เข้าใจไปเองว่า หากจต้องการให้ลูกรอในรถ เพียงแง้มกระจกให้อากาศถ่ายเทได้ก็เพียงพอ
แต่จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ ให้คุณหมออธิบายอีกครั้งดีกว่าค่ะ
การติดอยู่ในรถที่จอดและดับเครื่องสนิทแล้วเสียชีวิต เกิดจากการขาดอากาศหายใจจริงหรือเปล่า
เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาตลอดว่าถ้าติดอยู่ในรถแล้วจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ แต่ความจริงแล้วการเสียชีวิตเกิดจากภาวะฮีทสโตรก (heat stroke) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับลดอุณภูมิให้ต่ำกว่าอุณหภูมิข้างนอกได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงจนสูญเสียการทำงาน และอุณหภูมิที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
รถที่จอดตากแดด อุณภูมิในรถจะสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แค่ 5 นาทีแรก อุณหภูมิก็สูงถึง 75% ของอุณหภูมิสูงสุดแล้ว เช่น อุณภูมิภายนอก 25 องศา แต่อุณหภูมิในรถสามารถสูงขึ้นได้ถึง 50-60 องศา แม้ว่าจะลดกระจกหน้าต่างลงมาสองนิ้ว หรือจะเปิดหน้าต่างทั้งบานเอาไว้ อุณหภูมิในรถก็ยังสูงมาก และไม่เพียงพอที่จะช่วยระบายความร้อนได้ ดังนั้น คิดว่าถ้าติดอยู่ในรถประมาณ 20-30 นาที ก็สามารถเสียชีวิตได้แล้ว
“ความเข้าใจผิดที่ว่าเด็กถูกทิ้งในรถจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เป็นเรื่องที่สื่อควรแก้ไข เพราะจะทำให้หลายคนคิดว่าเราสามารถปล่อยเด็กทิ้งในรถ แล้วเปิดหน้าต่างแง้มไว้ได้ ซึ่งจริงๆ มันทำไม่ได้และอันตรายมาก”
แสดงว่าหากเด็กอยู่ในรถที่ดับเครื่องแล้วเปิดหน้าต่างทิ้งเอาไว้ ก็ยังไม่เพียงพอ
การเปิดหน้าต่าง อาจจะช่วยได้ในกรณีที่เด็กร้องหรือตะโกน เราก็จะได้ยินง่ายมากกว่า แต่อย่าคิดว่าการเปิดหน้าต่างจะช่วยให้ไม่เกิดภาวะวะฮีทสโตรกในสถานการณ์นั้นได้
เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การขาดอากาศหายใจกับฮีทสโตรกเป็นคนละเรื่องกัน ภายในรถยนต์ไม่มีทางขาดอากาศหายใจได้ เพราะอากาศหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา แม้ว่าจะปิดประตูหน้าต่างทุกบาน อากาศภายในรถยนต์ก็ยังคงเพียงพอ ความเข้าใจผิดที่ว่าเด็กถูกทิ้งในรถจะเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ เป็นเรื่องที่สื่อควรแก้ไข เพราะจะทำให้หลายคนคิดว่าเราสามารถปล่อยเด็กทิ้งในรถ แล้วเปิดหน้าต่างแง้มไว้ได้ ซึ่งจริงๆ มันทำไม่ได้และอันตรายมากแม้จะไม่ถึงชั่วโมง
อาการเบื้องต้นของภาวะฮีทสโตรกมีลักษณะอย่างไรบ้าง
ภาวะฮีทสโตรก (heat stroke) มักจะพบในเด็กและผู้สูงอายุ เพราะว่าร่างกายปรับอุณหภูมิได้ยากกว่าคนกลุ่มอื่นมาก อาการเบื้องต้นก็จะเริ่มมีอาการผิวหนังแห้งและร้อน หรือตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีเหงื่อออก หัวใจเต้นเร็ว ความดันต่ำ และถ้าปล่อยให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงมากต่อไป ก็ทำให้เกิดการเสียชีวิตได้
ฟังแล้วอาการของภาวะฮีทสโตรกดูคล้ายกับโรคลมแดด จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างนี้เหมือนกันหรือเปล่า
จริงๆ ก็คล้ายกัน แต่บางคนจะเกิดโรคลมแดดได้ในกรณีอื่น เช่น เดินมากๆ แล้วเป็นลม อยู่ในที่แดดร้อนแล้วเป็นลม อะไรแบบนี้ จริงๆ โรคลมแดดไม่ใช่สิ่งเดียวกับฮีทสโตรก แต่เบื้องต้นก็คืออาการเดียวกันครับ
ทั้งนี้แพทย์บางท่าน เนื่องจากไม่มีคำแทน อาจใช้คำว่าลมแดด แทนฮีทสโตรกก็มีครับ
ในต่างประเทศที่เป็นเมืองร้อน หรือได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนที่ทำให้เกิดผู้เสียชีวิต ก็เป็นภาวะฮีทสโตรก ซึ่งมีอาการเดียวกัน
หากพบเจอผู้ที่เกิดภาวะฮีทสโตรก สามารถช่วยเหลือเบื้องต้นได้อย่างไรบ้าง
รีบทำให้ตัวผู้ป่วยเย็นลง และรีบนำส่งโรงพยาบาลเลยครับ เนื่องจากอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นมาก เช่นเอาผ้าเย็นเช็ดตัว
ถ้ามีเหตุจำเป็นที่พ่อแม่จะต้องให้ลูกรอในรถ ควรทำอย่างไร
จริงๆ ไม่ควรเลยครับ แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นจริงๆ ก็ต้องไม่จอดรถไว้กลางแดด แต่สภาพอากาศเมืองไทย แม้จะจอดในที่ร่ม อากาศก็ร้อนและไม่เหมาะสมอยู่ดี หรือถ้าจะใช้วิธีสตาร์ตรถยนต์เอาไว้ในขณะที่ลูกรอหรือนอนหลับในรถก็ต้องเป็นรถที่มีคุณภาพดี เพราะรถบางคัน ถ้าติดเครื่องเอาไว้ก็ทำให้ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สะสมในรถ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้
และถ้าพูดถึงการสตาร์ตรถยนต์จอดทิ้งไว้ ก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำอยู่ดี ในแง่ของสภาพแวดล้อมก็ทำให้เกิดมลภาวะ และเปลืองทรัพยากร และแง่ความปลอดภัยของเด็ก ก็ต้องเป็นรถที่มีคุณภาพดีพอ ดังนั้นวิธีที่ถูกต้องที่สุด คือการพาลูกออกมาข้างนอกรถยนต์
ในมุมมองของคุณหมอ คิดว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก
ผมคิดว่าควรมีสองอย่าง คือผู้ใหญ่ต้องรอบคอบ ต้องตรวจเช็กให้แน่ใจและละเอียดก่อนว่าเด็กลงจากรถครบหรือไม่ และต้องฝึกให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดเบื้องต้นให้ได้
การฝึกเอาตัวรอดของเด็ก เป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้และฝึกฝน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ใหญ่มีหน้าที่ต้องดูแลเด็กและเน้นย้ำเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะเด็กเวลาเจอเหตุการณ์แบบนี้เขาอาจจะตื่นตระหนก อาจจะทำอะไรไม่ถูก หรือในกรณีที่เด็กกำลังนอนหลับระหว่างเดินทาง พอถึงที่หมายเขาอาจจะกำลังงัวเงีย ไม่ทันคิดว่าตัวเองจะติดอยู่ในรถ ผู้ใหญ่จึงสำคัญมากที่จะคอยให้ความช่วยเหลือเด็ก
และอาจจะต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ชัดเจนไปเลย กำหนดให้คุณครูต้องเช็กลิสต์ว่าเด็กขึ้นลงรถครบหรือเปล่า หรือมีระบบเซฟตี้ภายในรถรับ-ส่งของโรงเรียน เพื่อเตือนว่ายังมีเด็กหลงเหลืออยู่ในรถ ก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายออกจากตรงนั้น
สัมภาษณ์วันที่ 2 กันยายน 2565
COMMENTS ARE OFF THIS POST