READING

คุณแม่ (ขี้นอยด์) อยากรู้ คุณหมอก็อยากตอบ…...

คุณแม่ (ขี้นอยด์) อยากรู้ คุณหมอก็อยากตอบ…

บุกไปหา คุณหมอณัทธร พิทยรัตน์เสถียร—จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อเอาคำถามจากคุณแม่ขี้นอยด์ไปให้คุณหมอช่วยแนะแนวทางและวิธีรับมือกับความวิตกกังวลที่เข้ามาหาโดยไม่ได้เชื้อเชิญ

คุณแม่ถาม: กังวลว่าลูกจะออกมาไม่สมบูรณ์

เป็นความกังวลปกติของพ่อแม่มือใหม่ ต้องดูว่าที่เรากังวลมันสมเหตุสมผลหรือมากเกินไปไหม สมเหตุสมผลคือเราต้องรู้ว่าเวลาตั้งครรภ์ บางกรณีก็มีความเสี่ยงที่เด็กจะไม่สมบูรณ์ เช่น แม่หรือพ่ออายุมากย่อมเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางพันธุกรรมมากขึ้น แต่ในความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นก็มีวิธีทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้ตรวจเพื่อหาทางแก้ไขเพิ่มขึ้นด้วย แต่ถึงวิทยาศาสตร์จะเจริญแค่ไหน ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ เราสามารถป้องกันและระวังได้ก็จริง แต่มันก็ทำได้แค่ระดับหนึ่ง ไม่มีทางลดความเสี่ยงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงจุดหนึ่งก็ต้องยอมรับและผ่อนคลาย เพราะว่ากังวลไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร

คุณแม่ถาม: น้ำนมไม่พอ หัวนมบอด แพ้อาหารจนกลัวลูกจะขาดสารอาหาร ไม่มีเวลาให้ลูก ฉันเป็นแม่ที่แย่ไหม

ก็ต้องตั้งคำถามว่า แม่ที่ดีมีลักษณะยังไงบ้างสำหรับเรา ไล่เป็นข้อเลย 1-10 ต้องดูแลเอาใจใส่ ให้อาหาร ปกป้องอันตราย ใส่ใจความรู้สึกลูก ให้ความช่วยเหลือนู่นนี่

การให้นมลูกหรือให้เวลาอาจจะเป็นข้อหนึ่งในนั้น แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ถ้าไม่สามารถให้นมลูกได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นแม่ที่ไม่ดี เพราะมีเพียงแค่ข้อเดียวที่เราทำไม่ได้

ไม่มีเวลาให้ลูก ก็ต้องดูว่าไม่มีให้เลย หรือไม่มีอย่างที่เราอยากมี ส่วนที่เราให้เวลาเขา เราใช้เวลาได้คุ้มค่าดูแลเต็มที่หรือยัง มันอาจไม่ได้เพอร์เฟ็กต์แต่ก็ไม่ได้แปลว่าไม่มีความหมาย เราไม่สามารถตัดสินความเป็นแม่ที่ดีจากการให้นมหรือการมีเวลาให้วันละ 5-6 ชั่วโมง มีอย่างอื่นอีกเยอะที่เราทำได้ ทำอะไรได้ก็ทำให้เต็มที่

เวลาไปคิดโทษตัวเองว่าเป็นแม่ที่ไม่ดี ถามว่ามีประโยชน์กับตัวเองไหม ถ้าเทียบกับการที่เราเข้าใจตัวเอง เรามีเมตตาต่อตัวเองว่าเราทำเต็มที่เท่าที่เรามีกำลัง ถ้าสุขภาพจิตเราดีขึ้น ลูกเราก็ดีขึ้นไปด้วย

คุณแม่ถาม: เลิกกินกาแฟ ช็อกโกแลต ปลาดิบ ส้มตำปูปลาร้า การไม่ได้กินของที่ตัวเองชอบทำให้เครียดและหงุดหงิด แต่เป็นแม่ก็ต้องอดทนใช่ไหม

อันดับแรกต้องดูก่อนว่า ที่เขาห้ามมันเป็นกฎที่ต้องปฏิบัติจริงหรือเปล่า บางอย่างอาจจะมีหลักฐานทางการแพทย์ เช่น กินแอลกอฮอล์แล้วไม่ดี อันนี้จริง แต่บางอย่างมันเป็นความเชื่อที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เวลาเจอแบบนี้ต้องตรวจสอบก่อนว่ามันไม่ควรจริงมั้ย ของแบบนี้ควรคิดและหาข้อมูลเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าเชื่อเฉยๆ มันมีผลกับลูกจริงๆ หรือแค่เขาว่าต่อๆ กันมา

แต่ถ้ามันไม่ดีจริงๆ ก็ต้องอดทนจริงๆ คิดว่าเราเสียสละเพื่อสุขภาพลูก ผ่านไปหกเดือนหรือเลิกให้นมลูกแล้วจะกลับไปกินเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ระหว่างที่อดทนก็ใช้วิธีควบคุมสิ่งเร้า ไม่ต้องไปเห็น ถ้าไปคิดหมกมุ่นวนเวียนยิ่งทรมานเข้าไปกันใหญ่

คุณแม่ถาม: ทำไมแม่โอ๋แล้วลูกร้อง แต่ยายโอ๋แล้วลูกเงียบ น้อยใจลูกนี่ผิดไหม

ไม่ผิดหรอก มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกเรา ตั้งแต่ท้องจนคลอดฮอร์โมนก็แกว่งไปแกว่งมา อารมณ์ก็เลยแปรปรวนไปด้วย ถ้าตั้งสติดูดีๆ ทบทวนตัวเองดูว่าการที่เด็กหยุดร้องไห้ เขาหยุดเพราะความรักเหรอ มันเกี่ยวไหมว่าเด็กหยุดร้องเพราะเด็กรักคนนั้นเหรอ…

ที่ต้องระวังคือ สมมติว่าเราคิดว่าลูกไม่รัก แล้วเชื่อโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบ พอเชื่อก็น้อยใจ พอน้อยใจก็ไม่ยอมเข้าหาลูก ลูกก็ไม่คุ้นกับเรา พอเข้าหาเขาก็ร้อง ก็จะมาคิดอีกว่าเราเป็นแม่ที่ลูกไม่รัก ทั้งที่จริงอาจเป็นเพราะเรามโนไปเองแต่แรก การคิดทางลบมันเกิดขึ้นได้ แต่คิดแล้วต้องตั้งสติตรวจสอบด้วยว่ามันจริงไหม ถ้ายังไม่แน่ใจก็อย่าเพิ่งหนีไปไหน พยายามไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็รู้วิธีรับมือกับเขาเอง

คุณแม่ถาม: ลูกร้องที แม่ก็สติกระเจิง ทำอะไรไม่ถูก มีวิธีเรียกสติไหมคะ

ลูกร้องมันก็เหมือนกับการกระตุ้นระบบประสาทของเราโดยอัตโนมัติ หัวใจเต้นเร็ว ระบบร่างกายปั่นป่วน สมองไม่ทำงาน เพราะงั้นสงบร่างกาย หายใจเข้าออกลึกๆ อยู่ตรงนั้นก่อน ให้ลูกร้องไห้อีกสักนาทีหรือสองนาทีก็ไม่เป็นอะไร ดีกว่าเรารีบทำอะไรบุ่มบ่ามไม่มีสติ พอตั้งสติได้แล้ว วิธีทำให้ลูกสงบค่อยว่ากันอีกที

แต่การเป็นพ่อแม่มือใหม่ ทุกอย่างมันเร็วไปหมด อดหลับอดนอน ร่างกายอาจจะไม่ค่อยพร้อม พอคิดอะไรไม่ออก อารมณ์ก็จะเยอะ ในแง่การดูแลตัวเอง พ่อแม่ก็ต้องมีช่วงเวลาที่ได้ผ่อนคลาย ได้สงบ ได้นอน สงบนี่อาจจะหมายถึงมีเวลาได้หายใจเข้าออกลึกๆ ได้อยู่กับตัวเอง แทนที่จะดูทีวีหรือเล่นโซเชียลฯ

หรือเตรียมตัวอ่านคู่มือการเลี้ยงลูกทั้งหลาย แล้วทำแผนของตัวเองไว้เลย ว่าถ้าเจอแบบนี้จะทำ 1 2 3 4 5…

คุณแม่ถาม: เป็นคุณแม่ ทั้งอ้วนขึ้น ทั้งสวยน้อยลง สามีจะรักเราน้อยลงไหม

ก็ต้องตั้งคำถามกลับไปอีกว่า สามีรักเราเพราะอ้วนผอมอย่างเดียวหรือเปล่า หรือมีคุณลักษณะอะไรที่ผู้ชายคนหนึ่งจะรักผู้หญิงคนหนึ่ง ถ้ามีอย่างอื่นด้วยเราก็ทำอย่างอื่นไปด้วย ถ้ามัวแต่โฟกัสเรื่องอ้วนขึ้นหรือสวยน้อยลง เราอาจจะลืมใส่ใจอารมณ์และความรู้สึกของเขา บางทีเราเลี้ยงลูก เขาก็เหงา เขาก็เบื่อ เขาก็อาจจะต้องการคนมาถามไถ่ สามีก็อาจจะเหมือนลูกคนหนึ่งที่เขาต้องการการดูแลเหมือนกัน (หัวเราะ)

การเตรียมตัวที่จะมีสมาชิกเพิ่มในครอบครัวก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องคุยกันไว้ก่อน ว่าชีวิตจะเปลี่ยนไปยังไงบ้าง บทบาทของเธอจะเป็นยังไง ของฉันจะเป็นยังไง หลังคลอดถ้าฉันเปลี่ยนไป ถ้าฉันอารมณ์ไม่ดีเธอจะเข้าใจฉันไหม ต้องเตรียมตัวกันไว้ก่อน

“บางทีพ่อแม่ก็ชอบกังวลกับอนาคตมากไป
จริงๆ อยู่กับปัจจุบันแล้วก็เลี้ยงลูกในแต่ละเดือนแต่ละปี
เอ็นจอยกับช่วงเวลาที่เขากำลังเติบโตดีกว่า”

M.O.M – คุณแม่ที่กำลังตั้งท้องหรือเพิ่งคลอด ส่วนใหญ่มาหาคุณหมอด้วยสาเหตุอะไร

ส่วนใหญ่ที่มาหาจิตแพทย์ก็เพราะเขาเศร้า อ่อนไหว เลี้ยงลูกเองไม่ได้ แทนที่มีลูกแล้วจะมีความสุข กลายเป็นมองเห็นแต่เรื่องร้ายๆ ลบๆ ของครอบครัว รู้สึกไม่เป็นที่รักหรือแย่ขนาดอยากตาย อันนี้เจอพอสมควรเลยนะ เรียกว่า Postpartum Depression เป็นปัญหาที่สำคัญ ถ้าไม่ได้รับการดูแลก็อาจเกิดผลกระทบกับตัวเองและลูก ถ้ามันเป็นโรคก็ต้องรักษา ต้องมาหาจิตแพทย์ เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา

(อ่านประสบการณ์ของ Postpartum Depression ได้ที่ Baby Blue: เป็นแม่ควรจะสดใส แต่ทำไมฉันเศร้า)

M.O.M – เรื่องอะไรที่คุณหมอคิดว่าคนเป็นแม่กังวลกันมากจนน่าเป็นห่วง

คนไทยมีความคิดยาว กังวลอนาคต ห่วงลูก แค่เพิ่งท้องหรือเพิ่งคลอดก็คิดไปถึงลูกเรียนประถม เรียนมัธยม ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด จริงๆ อยู่กับปัจจุบันแล้วก็เลี้ยงลูกในแต่ละเดือนแต่ละปี เอ็นจอยกับช่วงเวลาที่เขากำลังเติบโตดีกว่า บางทีพ่อแม่ก็ชอบกังวลกับอนาคตมากไป ห่วงเรื่องการแข่งขัน การเข้าโรงเรียน ทั้งที่ลูกยังเป็นเด็กเล็ก เขาต้องการการปฏิสัมพันธ์ ต้องการคนคุยด้วย หัวเราะกับเขา เล่นกับเขา มันคือการที่พ่อแม่ต้องมีสติอยู่กับปัจจุบัน เพราะกังวลมากไปมันก็ไม่ดี


Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST