“ร่างกายซื่อตรง เวลาเจ็บน้ำตาก็ไหล แต่หัวใจขี้โกหก ถึงเจ็บปวด แต่ก็ทำเป็นเงียบ” หนึ่งในประโยคดีๆ จากซีรีส์เกาหลี it’s okay to not be okay ที่พอจะใช้อธิบายความซับซ้อนของปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเราได้
ความยากเย็นของการใช้ชีวิตแบบผู้ใหญ่ อาจทำให้ใครหลายคนนึกอยากกลับไปใช้ชีวิตและมีความสุขอยู่ในช่วงวัยเด็ก ด้วยความเข้าใจว่าจิตใจที่ไร้เดียงสาของเด็ก คงจะไม่ระคายต่อความทุกข์ร้อนใดๆ ในโลก หรือต่อให้มีเรื่องร้องไห้เสียใจ เด็กก็คงจะลืมเรื่องราวเหล่านั้นได้ง่ายดายกว่าผู้ใหญ่อยู่ดี
M.O.M มีโอกาสพูดคุยกับ พญ. เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาเด็กและวัยรุ่น ประจำโรงพยาบาลมนารมย์ ด้วยข้อสงสัยที่ว่า ถ้าเด็กเป็นช่วงวัยที่ไม่ค่อยได้รับมือกับความเครียดแล้ว โรคซึมเศร้าในเด็กเกิดขึ้นได้อย่างไร และความขัดแย้งแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ของคนในครอบครัวส่งผลต่อเด็กได้อย่างไรบ้าง
เวลาพูดถึงโรคซึมเศร้าในเด็ก คนมักจะไม่เข้าใจว่าเด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร หรือความจริงแล้วโรคซึมเศร้าสามารถถ่ายทอดจากแม่สู่ลูกได้ตั้งแต่กำเนิดกันแน่
โอกาสของการเกิดโรคซึมเศร้ามันก็มีเรื่องของกรรมพันธุ์อยู่บ้าง เราพบว่าถ้าพ่อแม่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อนหรือระหว่างตั้งครรภ์ ก็จะมีผลให้ลูกมีความเสี่ยงที่จะเป็นมากขึ้น
ส่วนอาการซึมเศร้าที่เกิดกับคุณแม่หลังคลอด ความเครียดของคุณแม่จะทำให้มีความเอาใจใส่ลูกน้อยลง แม่ก็รู้สึกอยากร้องไห้ตลอดเวลา ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่มีกำลังใจในการเลี้ยงดูลูก อาการเหล่านี้จะมีผลต่อการเลี้ยงดูลูกโดยตรงมากกว่า
ในกรณีที่พ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า เรามีวิธีประคับประคองหรือป้องกันเด็กไม่ให้ได้รับผลกระทบอย่างไร
หนึ่งคือเฝ้าระวัง ผู้ใหญ่ต้องช่วยกันสกรีนว่าเด็กที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมของผู้ป่วยซึมเศร้าว่าเขายังโอเคอยู่ไหม อาจจะให้ลองทำแบบทดสอบบ้าง ที่สำคัญคือเราต้องสอนให้เด็กรู้จักรักและเข้าใจตัวเอง รู้จักประเมินอารมณ์ตัวเอง เช่น สนุก เศร้า เซ็ง เบื่อ ไปพร้อมกับสอนให้รู้จักวิธีจัดการอารมณ์เหล่านั้นด้วย
นอกจากนี้ก็มีเรื่องของการผ่อนคลายและการจัดการปัญหาในเบื้องต้น ที่สำคัญเลยก็คือเราจะเน้นให้เด็กพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อน หรือคุณครู
ส่วนพ่อแม่ที่ป่วยด้วยโรคซึมเศร้า อาจต้องหาคนมาช่วยดูแลลูกในช่วงที่ตัวเองมีอาการ เพื่อปรับสิ่งแวดล้อมและลดความเสี่ยงที่ลูกจะได้รับผลกระทบให้น้อยลง
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของลูก หรือเริ่มสงสัยว่าลูกมีแนวโน้มจะป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไร
ก่อนอื่นคือเราจะแบ่งเด็กออกเป็นสองช่วงวัย คือวัยเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยประถมต้น และเด็กวัยประถมปลาย ส่วนใหญ่แล้ว เด็กเล็กจะได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะจากครอบครัวมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ทะเลาะกัน การเลี้ยงลูกท่ามกลางความขัดแย้ง ครอบครัวอยู่ในสถานการณ์ที่กดดันและขาดแคลน หรือคุณพ่อคุณแม่บ่นว่าเหนื่อยจากการทำงานตลอดเวลา เมื่อลูกได้ยินอย่างนั้นบ่อยๆ ก็จะส่งผลกระทบที่ไม่ดีต่อจิตใจลูก ดังนั้นพ่อแม่อาจต้องเปลี่ยนวิธีการแทนที่จะบ่นต่อหน้าลูกก็เปลี่ยนเป็นพูดคุยและปรึกษากันเองจะดีกว่า
ส่วนเด็กวัยประถมปลายจะเริ่มมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น จากเพื่อนหรือโรงเรียน ถ้าเริ่มสังเกตว่าลูกมีแนวโน้มก็ต้องลองปรับสิ่งแวดล้อม
แต่ก่อนอื่นคือเราต้องเด็กให้ดูแลตัวเองก่อน กินให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สองคือพ่อแม่ต้องชวนคุยหรือทำให้เด็กเข้าหาและเล่าเรื่องราวให้ฟังได้ ไม่ว่าจะเรื่องโรงเรียน เรื่องเพื่อน หรืออื่นๆ สามคือลองให้ลูกทำแบบทดสอบหรือแบบประเมิน เรามีแบบประเมินตามเว็บไซต์มากมาย ถ้าผลการประเมินออกมาใกล้กับอาการที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ก็อาจจะต้องลองเข้ามาปรึกษานักจิตวิทยา หรือทีมสุขภาพจิตได้
แสดงว่าที่ผู้ใหญ่เข้าใจว่าเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ยังไม่รู้จักความเครียดหรือความกดดันแบบผู้ใหญ่น่าจะเป็นความเข้าใจที่ผิด
ส่วนใหญ่เด็กจะมีความกดดันอยู่ไม่กี่เรื่อง เช่น พ่อแม่หรือคุณครูกดดันเรื่องเรียน หรือเด็กที่พยายามกดดันตัวเองก็มี แต่เราสามารถช่วยให้ลูกผ่อนคลายจากความเครียดได้ เช่น ถ้าเด็กมีปัญหาการเรียน อาจจะใช้วิธีช่วยสอนเสริมนอกเวลาได้ เพราะฉะนั้นควรดูที่แต่ละสาเหตุ แต่ถ้าเด็กมีความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าในระดับปานกลางถึงรุนแรง รุนแรงในที่นี้คือมีการคิดฆ่าตัวตาย หรือมีการวางแผน ก็ควรพาไปพบจิตแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยด่วน
โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่น สามารถรักษาได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่หรือไม่อาการที่เกิด
ในวัยรุ่นถ้าเป็นขั้นรุนแรง ก็อาจจะไม่แตกต่างกับโรคซึมเศร้าในผู้ใหญ่ และหากพบกว่าป่วยตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น เราถือว่าเป็นเร็ว ถ้ารู้ตัวว่าป่วยเร็ว ได้รับการรักษาเร็ว ก็จะมีโอกาสหายได้ไวขึ้น
ส่วนโรคซึมเศร้าในเด็ก บางคนบอกว่าเขาเคยเป็นตั้งแต่สมัยประถม แล้วก็หายไป และอาการก็กลับมาอีกทีในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องฮอร์โมน สังคม สิ่งแวดล้อม ยิ่งเดี๋ยวนี้มีโซเชี่ยลฯ มีเรื่องของการบุลลี่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ก็มีโอกาสที่อาการของโรคจะกลับมาและต่อเนื่องไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ได้
สังคมไทยตอนนี้ หลายครอบครัวอาจจะอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้ง เด็กกับผู้ใหญ่มีความคิดเห็นต่างกัน จนเด็กๆ รู้สึกเครียด พ่อแม่ควรทำอย่างไร
อยากให้สอนเด็กให้รู้จักรักตัวเอง รู้สิทธิของตัวเองไปพร้อมกับให้เกียรติคนอื่น เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจว่า ถ้าคนอื่นคิดต่างกัน มีเพศสภาพที่ต่างกัน ความชอบ ความเชื่อ หรืออะไรที่ต่างกัน มันไม่ใช่เรื่องใหญ่
สิ่งนี้ควรได้รับการฝึกตั้งแต่เด็ก พูดคุยและรับฟังกัน เพราะช่วงหลังเราจะเห็นว่าเด็กมีวิธีจัดการกับตัวเองหรือจัดการความสัมพันธ์มันไม่ค่อยดีนัก เช่น จู่โจมเพื่อนได้ง่าย และไม่ให้เกียรติคนอื่น
เพราะฉะนั้นทั้งครอบครัวและโรงเรียนควรจะสอนให้รู้จักรักและเคารพสิทธิทั้งของตัวเองและผู้อื่น และรู้จักทำความเข้าใจกับความคิดเห็นที่แตกต่าง
และถ้าถามว่าพ่อแม่ควรทำอย่างไร ที่สำคัญมากก็คือรับฟังลูกเยอะๆ
นอกจากการรับฟังกันและกันแล้ว ความแตกต่างทางความคิดระหว่างเด็กกับคนในครอบครัว จะร้ายแรงถึงขั้นนำไปสู่ปัญหาโรคซึมเศร้าในเด็กได้หรือไม่
เป็นไปได้ค่ะ เช่น พ่อแม่ความคิดไม่ตรงกัน พ่อแม่ไม่อดทนซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนของตัวเองชัดเจน อาจจะทะเลาะกันเรื่องเล็กน้อยก็จริง แต่ถ้าหากทะเลาะกันบ่อย ก็จะทำให้เด็กลำบากใจได้เหมือนกัน เราพบว่าว่าครอบครัวที่มีปัญหาเล็กๆ น้อยๆ แต่สุดท้ายเกิดการหย่าร้างก็ส่งผลกระทบต่อเด็กได้มาก
มันเป็นไปไม่ได้หรอกที่คนในครอบครัวจะไม่ทะเลาะกันเลย แต่ก็ควรทะเลาะกันโดยที่เด็กไม่ต้องเข้ามารับรู้หรืออยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งนั้นมากหรือบ่อยเกินไป คือที่จริงแล้วเด็กสามารถรับรู้ปัญหาของครอบครัวได้ เช่น ครอบครัวมีรายได้ไม่มากนัก เขาจะร้องขออะไรมากไม่ได้ หรือคนในครอบครัวอาจจะมีความคิดเห็นที่ต่างกันก็ได้ แต่ไม่ควรให้เด็กมาแบกรับภาระความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พ่อแม่หลายคนทะเลาะกันเสร็จไม่รู้จะทำอย่างไงก็มาเล่าให้ลูกฟัง ลูกก็อาจเกิดความเครียดที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
COMMENTS ARE OFF THIS POST