READING

Talk With Doctors: Self-Awareness และสุขภาพใจที่แข...

Talk With Doctors: Self-Awareness และสุขภาพใจที่แข็งแรง คือสิ่งสำคัญที่ว่าที่คุณแม่ทุกคนควรมี

เมื่อเริ่มวางแผนมีลูก คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมทางร่างกายเป็นสำคัญ จนอาจลืมไปว่านอกเหนือจากความแข็งแรงทางร่างกายแล้ว สุขภาพใจหรือความแข็งแรงทางใจก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม

เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล—จิตแพทย์ประจำโรงพยาบาลรามาธิบดี คุณหมอที่จะมาช่วยยืนยันกับเราว่าทำไมว่าที่คุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพจิตให้ดี และคุณแม่ควรมีวิธีรับมือกับความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ได้อย่างไรบ้าง

ผู้หญิงที่กำลังเตรียมความพร้อมเพื่อตั้งครรภ์ควรดูแลสุขภาพจิตอย่างไรบ้าง

ก่อนตั้งครรภ์ต้องมีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี คือมีสุขภาพใจที่แข็งแรง เพราะว่าร่างกายกับจิตใจทำงานสัมพันธ์กัน พอสุขภาพใจแข็งแรง ระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบฮอร์โมนก็จะทำงานได้ดี แต่ถ้าเครียดมากกว่าปกติ ร่างกายจะหลั่งสารเครียด (cortisol) มากขึ้น ทำให้ประจำเดือนไม่ปกติ และส่งผลต่อการคำนวณระยะไข่ตกเพื่อการตั้งครรภ์ก็ทำได้ยากขึ้น

พอตั้งครรภ์แล้ว ก็เป็นช่วงเวลาที่ผู้หญิงเครียดมาก เพราะเขาจะต้องดูแลเด็กคนหนึ่งที่เป็นจะเป็นลูกของเราต่อไป แล้วก็ร่างกายและจิตใจก็มีความเปลี่ยนแปลง เพราะฮอร์โมนในร่างกายที่เปลี่ยนไป ถ้าคุณแม่มีพื้นฐานสุขภาพใจที่ดี ก็จะรับมือกับความเครียดได้ เวลาเจอปัญหาเรื่องอะไรก็จะปรับตัวได้

ความหมายของสุขภาพใจที่แข็งแรง

สุขภาพใจที่แข็งแรงมีหลายคำนิยามมาก แต่ละที่อาจจะนิยามไม่เหมือนกัน แต่ในทางจิตวิทยา สุขภาพจิตใจที่แข็งแรงแบ่งออกเป็น 2 ส่วน อย่างแรก คือมีจิตใจที่สงบและมั่นคงจากภายใน ส่วนที่สองคือสามารถเปลี่ยนจากปัญหาใหญ่ให้กลายเป็นปัญหาเล็กได้ และสามารถรับมือหรือปรับตัวกับสิ่งที่มันกระทบกระเทือนใจได้

ว่าที่คุณแม่จะสำรวจตัวเองได้อย่างไรว่าเป็นคนมีสุขภาพใจแข็งแรงหรือไม่

ต้องเริ่มจากสังเกตตัวเอง หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า Self-Awareness (การตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง) คุณแม่ต้องสร้างกระจกสะท้อนตัวเองด้วยการสังเกต ด้วยการตั้งคำถามง่ายๆ เช่น วันนี้เรารู้สึกยังไงบ้าง วันนี้เรามีเรื่องอะไรหรือความคิดอะไรที่วนอยู่ในหัวเป็นพิเศษหรือเปล่า เราต้องส่องกระจกเห็นข้างในจิตใจตัวเองเป็นระยะๆ เพราะชีวิตแต่ละวันของเรา มีอะไรเข้ามาเยอะมาก ถ้าเราไม่เคยดูว่าภายในจิตใจมีอะไรบ้าง เราก็จะไม่รู้เลยว่าจิตใจเราเป็นยังไง

อย่างสุขภาพกายเราสามารถมาเช็กหกทุกเดือนหรือหนึ่งปีได้ แต่สุขภาพใจมัน Dynamic กว่าร่างกายเยอะ อารมณ์ความคิดคนเราเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ฉะนั้นหมอขอแนะนำให้ตรวจเช็กสุขภาพใจของตัวเองทุกวัน ยิ่งมีทักษะ Self-Awareness มากเท่าไร ก็ยิ่งถือว่าเป็นกำไรชีวิตที่มีประโยชน์มหาศาลเลยทีเดียว

แต่ถ้าพูดกันตามตรงคนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสุขภาพใจมากเท่าสุขภาพกาย อาจเป็นเพราะสุขภาพกายเรารู้ตัวเร็วกว่า ตัวร้อนก็แค่วัดอุณภูมิร่างกายว่ามีไข้หรือเปล่า แต่จิตใจเราไม่ได้รู้ง่ายอย่างนั้น ทำให้บางคนไม่เคยวัดอุณหภูมิในจิตใจเลยว่าตัวเองมีไข้ใจไหม

ถ้า Self-Awareness คือการตระหนักรู้เกี่ยวกับตัวเอง การรู้ทันอารมณ์ของตัวเอง  วิธีที่จะช่วยฝึก Self-Awareness ได้คือฝึกสติหรือนั่งสมาธิใช่ไหม 

ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า สติและสมาธิเป็นสิ่งช่วยเสริมกัน แต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน สติคือการรู้ตัว เช่น แค่นั่งอยู่ เราก็รู้ตัวเรานั่งอยู่ อันนี้คือสติแล้ว แต่มนุษย์ไม่สามารถมีสติได้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมหลงมากกว่ารู้อยู่แล้ว หลงไปอารมณ์ หลงไปกับเรื่องภายนอก หลงไปกับความคิด เช่น คุณแม่บางคนทุกข์เพราะความคิดตัวเอง คิดด่าว่าตัวเองบ้าง บางทีก็รู้สึกว่าคนนู้นคนนี้มองเราด้วยสายตาที่ไม่ดี ทั้งที่เจ้าตัวเขายังไม่ได้คิดอะไรเลย ทั้งหมดที่หมอพูดมาเป็นความคิดที่ทำงานแล้วเราไม่รู้ตัว ดังนั้นเราจึงต้องฝึกรู้เท่าทันความคิดของตัวเองว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่ แล้วเราจะเริ่มมองเห็นว่ามันเป็นแค่การคิดไปเองของเรา แต่ถ้ารู้ไม่ทันตัวเอง ก็ไปหลงเชื่อว่ามันคือความจริง แล้วก็ทุกข์กับมันมาก

ส่วนสมาธิมีไว้ให้ใจได้พัก เพราะธรรมชาติของมนุษย์มักจะฟุ้งซ่าน ความคิดจะทำงานอยู่ตลอด คิดอะไรก็ไม่รู้วนไปมาวนมา ส่งผลให้จิตใจะเหนื่อยมาก เหนื่อยจากความคิดเรานี้แหละ งั้นเราก็กลับมาอยู่กับลมหายใจ อยู่กับร่างกาย หรือจะฟังเพลงบรรเลงก็ได้แล้วแต่ใครถนัดอะไร นี่คือการมีสมาธิ

ถ้าบังเอิญต้องเผชิญปัญหาชีวิตช่วงตั้งครรภ์ เช่น เลิกกับสามี และกำลังจะกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว จะมีวิธีดูแลสุขภาพจิตตัวเองได้อย่างไร

มันถือเป็นปัญหาใหญ่มากๆ เพราะการตั้งครรภ์ ถือเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเกิดตั้งครรภ์โดยที่มีปัญหาให้ต้องจัดการอีกก็ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ แต่ถ้าว่าที่คุณแม่จำเป็นต้องเผชิญกับปัญหา หมอขอแนะนำเทคนิคกระดาษเปล่า คือเอากระดาษเปล่ามาค่อยๆ ลิสต์ว่ามีอะไรที่เป็นด้านบวกพอที่จะช่วยเหลือเราได้ หรืออะไรที่เป็นปัญหาทำให้เรารู้สึกติดขัดบ้าง ที่สำคัญคือต้องตั้งหลักให้ได้ เอาปัญหามาแยกแล้วมองทีละประเด็น หมอเชื่อว่าเวลาเจอเรื่องแย่ๆ มันมักจะมีตัวช่วยบางอย่างอยู่ในปัญหานั้น เราลองมาดูว่ามีอะไรที่เป็นตัวช่วยเราได้บ้าง เราขอคำปรึกษาจากใครได้บ้าง เช่น ครอบครัว เพื่อนสนิท พี่น้อง หรือนักจิตวิทยาที่ปรึกษา เพราะเขาอาจจะให้แนวทางการแก้ปัญหาที่เรามองไม่เห็นก็ได้

ถ้าระหว่างตั้งครรภ์ อยากได้รับคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาที่ปรึกษาต้องทำอย่างไรบ้าง

แจ้งคุณหมอที่ดูแลได้เลย แต่กรณีที่อยากไปพบนักจิตวิทยาที่ปรึกษาเองหรือว่าที่โรงพยาบาลไม่มีนักจิตวิทยาที่ปรึกษา ก็อยากให้ไปพบจิตแพทย์เพื่อประเมินอาการและแนะนำนักจิตวิทยาที่ปรึกษาให้

ข้อควรระวังสำหรับคุณแม่ที่เป็นผู้ป่วยจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้าหรือโรคไบโพล่าร์

โรคจิตเวชที่ต้องกินยาสม่ำเสมอ ช่วงตั้งครรภ์อาจต้องมีการหยุดยาเป็นเวลานานหรือว่าต้องเปลี่ยนยา ซึ่งจะทำให้อาการของโรคกำเริบขึ้น ดังนั้นจิตแพทย์จำเป็นต้องนัดดูอาการคนไข้บ่อยขึ้น และคุณแม่ก็ควรไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง

สำหรับว่าที่คุณแม่ที่อยากลองทำแบบทดสอบ Attachment Style Test
สามารถทำได้ที่นี่: https://www.psychologytoday.com/intl/tests/relationships/relationship-attachment-style-test

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST