ลูกแพ้อาหาร จะมีวันหายได้ไหมนะ

ลูกแพ้อาหาร

อาการแพ้อาหารในเด็ก เป็นเรื่องที่อันตรายและพบเจอได้บ่อยจนกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่บรรดาคุณแม่ต้องพยายามหาข้อมูล เพื่อเตรียมความพร้อมในวันที่พบว่าลูกน้อยของเราก็มีอาการไม่ถูกจริตกับอาหารบางอย่างที่กินเข้าไปในชีวิตประจำวัน

ลำพังอยู่ในการดูแลของคนในครอบครัวเองก็ยังพอจะสบายใจได้ ว่ามีคนพร้อมจะช่วยกันกีดกันและกำจัดเจ้าอาหารที่ทำให้ลูกเจ็บไข้ได้ป่วยออกไปจากชีวิตของเขา แต่ถ้าอาการนี้ติดตัวไปจนถึงวัยที่ลูกต้องเริ่มออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน คุณพ่อคุณแม่จะสบายใจได้อย่างไรว่า หาก ลูกแพ้อาหาร แล้วลูกจะไม่เผลอหรือพลาดไปกินอาหารที่ปนเปื้อนไปด้วยอาหารที่ตัวเองแพ้ จนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ และในบางรายอาจรุนแรงถึงแก่ชีวิต

M.O.M ชวนไปคุยกับ คุณหมอก้อย—ผศ.พญ. ปัญจมา ปาจารย์, กุมารแพทย์ สาขาภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยา (Allergy & Immunology) ถึงวิธีการรักษาอาการภูมิแพ้อาหาร (Oral Immunotherapy) ว่ามีความยากง่ายอย่างไร จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาจริงหรือไม่ รวมถึงความเชื่อที่ว่า ลูกแพ้อาหาร แพ้อะไรก็พยายามกินเข้าไปจนกว่าจะชนะนั้นเป็นไปได้จริงหรือ…

เคยได้ยินมาว่า ‘ลูกแพ้อาหารเพราะขณะตั้งท้องคุณแม่พยายามโดปมากเกินไป’

การกินอาหารบางชนิดมากเกินไปขณะมารดาตั้งครรภ์อาจจะมีส่วนให้ลูกเกิดมาแพ้อาหารชนิดนั้นได้ แต่ปัจจุบันเราแนะนำให้เดินทางสายกลาง คือไม่ควรกินอาหารบางอย่างมากเกินไป แต่ก็ไม่ควรจะต้องถึงกับเลี่ยงไปเลย เพราะคุณแม่บางกลุ่มตอนท้องไม่ยอมกินอาหารที่อยู่ใน Top 8* เลย เพราะกลัวว่าลูกจะแพ้ ปรากฏว่านอกจากอาจจะไม่ได้ป้องกันแล้ว มันยังทำให้เด็กขาดสารอาหารด้วย

หรือมีครอบครัวหนึ่งที่หมอเจอ คุณแม่มีลูกคนแรกแพ้แป้งสาลี ต่อมาพอท้องลูกคนที่สอง คุณแม่ก็งดกินแป้งสาลีเลย ปรากฏว่าลูกคนที่สองแพ้มากกว่าลูกคนแรกอีก หรือบางคนกลัวลูกแพ้นม ตอนท้องตัวเองก็เลยกินแต่นมถั่วเหลือง ปรากฏว่าลูกก็มาแพ้ถั่วเหลืองแทนอยู่ดี

เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันหมอจะแนะนำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์กินตามปกติ พยายามบาลานซ์ แล้วก็อย่าไปตั้งใจกินอาหารชนิดไหนเป็นพิเศษ

นอกจากนี้การแพ้บางอย่าง เช่น อาหารทะเล ก็อาจจะมาเกิดขึ้นเองตอนโตก็ได้

(Top 8 Food Allergens* ได้แก่ นม ไข่ แป้งสาลี ถั่วเปลือกแข็ง ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ปลา และอาหารทะเล)

เด็กที่แพ้อาหารสามารถหายเองได้ หรือจำเป็นต้องรักษา

โดยปกติทั่วไป เบื้องต้นเราจะแนะนำให้เลี่ยงอาหารที่แพ้ไปก่อน เพราะเด็กส่วนใหญ่ อาการแพ้จะสามารถดีขึ้นและหายได้เองตามธรรมชาติ แต่จะเป็นช่วงอายุไหนนั้นก็ขึ้นกับอาการที่แพ้ ความรุนแรงของการแพ้ และชนิดของอาหารที่แพ้ ตัวอย่างเช่น อาการหลังกินแล้วถ่ายเป็นมูก ภาวะนี้ส่วนใหญ่เกิดในเด็กเล็ก และมักจะดีขึ้นเมื่ออายุประมาณ 1-2 ปี แต่ถ้ากินแล้วเป็นลมพิษ หรือว่าเป็นหอบหืด หรือแพ้รุนแรงกว่านั้น ก็อาจจะหายช้ากว่า แต่ส่วนหนึ่งก็สามารถดีขึ้นได้

ชนิดของอาหารที่แพ้ โดยทั่วไปเด็กที่แพ้นมหรือไข่ บางคนจะหายตอนอายุ 3-5 ปี ถ้าเป็นแป้งสาลี อาจจะ 5-6 ปี หลังจากนั้นเขาก็จะกลับมากินได้ตามปกติ ส่วนถ้าแพ้กลุ่มถั่วลิสงหรืออาหารทะเล โอกาสในการหายแพ้จะน้อยกว่า แต่ทั้งหมดนี้ก็ต้องดูเป็นรายๆ ไป

ปัจจุบันการแพ้ที่รักษาให้หายได้คือลักษณะการแพ้แบบเฉียบพลัน ซึ่งหมายถึงการมีอาการ ได้แก่ ลมพิษ ปากบวม ตาบวม หอบเหนื่อย อาเจียน หลังจากกินอาหารเข้าไป 2-4 ชั่วโมง และถ้ามีอาการตั้งแต่สองระบบขึ้นไป เช่น มีผื่นขึ้นร่วมกับอาการหอบเหนื่อย หรือผื่นขึ้นร่วมกับอาเจียน ถือว่าแพ้รุนแรง โดยในกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งอาจมีอาการดีขึ้นตามช่วงอายุและหายเองได้ แต่ส่วนหนึ่งก็ไม่หาย

ที่จริงการรักษานี่เราทำเพื่อให้เด็กและครอบครัว
ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและดำรงชีวิตได้ปลอดภัยมากขึ้น
แต่ถ้ารักษาแล้วทุกอย่างแย่ลง ก็คงไม่มีประโยชน์

ในกรณีที่จำเป็นต้องรักษา

หมอจะเริ่มรักษาตั้งแต่เด็กอายุประมาณ 5 ขวบ เพราะว่าถ้าอายุน้อยกว่านั้น เด็กจะยังบอกหรืออธิบายอาการตัวเองไม่ได้ เพราะระหว่างที่รักษาเราต้องระวังและสังเกตอาการเขาทุกวัน เช่น คันคอไหม ปวดท้องไหม ถ้าไปเริ่มในเด็กที่อายุน้อยเกินไป เขาบอกอาการตัวเองไม่ได้ มันก็จะอันตราย และอีกอย่างคือเราอยากจะเปิดโอกาสให้เขาหายเองก่อน

ส่วนข้อบ่งชี้อีกอย่างของหมอที่จะรักษาก็คือ เด็กและผู้ปกครองต้องยินยอมพร้อมใจที่จะรักษา ถ้าเด็กไม่อยากทำการรักษา พ่อแม่สามารถดูแลให้ลูกเลี่ยงอาหารที่แพ้ได้ แต่ต้องไม่พลาด และไม่รบกวนชีวิตประจำวันมากเกินไป ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพราะว่าการรักษาจะต้องค่อยเป็นค่อยไป และต้องอาศัยการมีวินัยอย่างสูง เด็กต้องกินสิ่งนั้นทุกวัน และต้องมีคนดูแลคอยสังเกตอาการ เพราะบางครั้งอาจจะมีอาการแพ้ในระหว่างทำการรักษาได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเขาโดนหมอบังคับหรือพ่อแม่บังคับให้กิน มันก็จะยิ่งเกิดการต่อต้าน ซึ่งส่วนตัวหมอคิดว่าการรักษานี่เราทำเพื่อให้เด็กและครอบครัวได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตมากขึ้น แต่ถ้ารักษาแล้วทุกอย่างแย่ลง ก็คงไม่มีประโยชน์

คุณภาพชีวิตของเด็กและผู้ปกครองที่มีปัญหา และเราแนะนำให้ทำการรักษา เช่น เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้เพราะแพ้อาหารเยอะเกินไป โรงเรียนไม่รับเข้าเรียนเลยก็มี หรือบางทีโรงเรียนรับ แต่การดูแลก็พลาดบ่อย เช่น มีเพื่อนเอาขนมให้เด็กกิน หรือโรงเรียนจัดอาหารที่ปนเปื้อนอาหารที่เด็กแพ้อยู่ ทำให้เด็กมีอาการแพ้บ่อยๆ ซึ่งอันตรายมาก

ที่จริงการเลี่ยงอาหารก็ไม่ง่ายเท่าที่คิด โดยเฉพาะแป้งสาลี เพราะมักปนเปื้อนในอาหารหลายอย่าง เด็กกลุ่มนี้ถ้าแพ้รุนแรงจะอันตรายมาก หมอมีเคสเด็กคนนึงที่มาแอดมิตแทบทุกเดือน ทั้งที่ตัวเขาเองก็พยายามเลี่ยงแป้งสาลีแล้ว ล่าสุดที่มา เพราะน้องไปกินข้าวมันไก่ ซึ่งก็น่าจะปลอดภัย แต่ปรากฏว่าร้านข้าวมันไก่ขายรวมกับข้าวมันไก่ทอด และคนทำไม่ได้เช็ดเขียงที่หั่นไก่ทอด เขากินเข้าไปก็แพ้รุนแรงมาเลย ในรายนี้เราก็แนะนำให้รักษา

หรือบางคนอาจจะไม่ได้แพ้รุนแรงมาก แต่แพ้มาจนโตแล้ว นานแล้ว มันไม่หายสักที แล้วเขาต้องการที่จะใช้ชีวิต อยากเข้าสังคม เด็กแพ้อาหารบางคนคุณครูไม่อยากเสี่ยงก็ตัดปัญหาด้วยการไม่ให้ทำกิจกรรม เช่น ไปค่าย ไปแคมป์ที่ดูแลเรื่องอาหารยาก หรือบางทีพ่อแม่ก็เป็นห่วงจนไม่ปล่อยให้ไปไหน เราก็ต้องคุยกันระหว่างพ่อแม่และหมอ ว่ากรณีไหนที่สมควรจะรักษา

วิธี Oral Immunotherapy และระยะเวลาในการรักษา

ขึ้นกับว่าแพ้เยอะหรือแพ้น้อย และเราเริ่มต้นรักษาเร็วแค่ไหน อย่างเด็กที่แพ้แป้งสาลี ถ้าแพ้มาก เราก็เริ่มจากการให้กินแป้ง 1 มิลลิกรัม ซึ่งมันน้อยมาก เป็นแค่เศษเสี้ยวมากๆ แต่ครั้งแรกเราจะต้องหาปริมาณมากที่สุดที่เขาจะกินได้โดยไม่เกิดอาการก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณทีละน้อย แล้วก็ให้กลับไปกินเองในปริมาณที่ปลอดภัยทุกวัน จากนั้นจะนัดมาเพิ่มปริมาณที่โรงพยาบาลเป็นระยะ อย่างเช่นแป้งสาลี จุดมุ่งหมายของเราคือค่อยๆ เพิ่มไปจนเขาสามารถกินแป้งได้เท่ากับขนมปังประมาณสองแผ่นครึ่ง หรือสามแผ่นต่อวัน เพราะฉะนั้น ระยะเวลาในการเพิ่มปริมาณขึ้นอยู่กับจุดเริ่มต้น ถ้าเราเริ่มจากกินได้แค่ผงแป้ง กว่าจะพัฒนาไปถึงการเป็นขนมปังแผ่นได้ มันก็ต้องใช้เวลานานมาก แต่บางคนแพ้ไม่มาก เขาอาจจะเริ่มจากขนมปัง 1/8 แผ่นได้เลย ก็ใช้เวลาไม่นานมากเท่าไร

แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่า เขารักษาแล้วกลับมาหาหมอได้บ่อยแค่ไหน และมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งถ้ามีก็ต้องปรับการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละคน

โดยทั่วไปเด็กที่กินขนมปังสองแผ่นครึ่งได้แล้ว ชีวิตระหว่างวันเขาจะดีขึ้นมาก เพราะเขาจะเริ่มกินอาหารที่มันปนเปื้อนแป้งสาลีได้แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้กินไม่ได้เลย และอาจจะซื้อขนมกินเองที่โรงเรียนได้บางอย่าง แต่ทั้งหมดนี้ย้ำว่าต้องดูเป็นรายๆ ไป

ถ้าแพ้อาหารหลายชนิดก็ต้องทำการรักษาทีละอย่าง

ควรจะทำทีละอย่าง เพราะไม่งั้นจะงงว่าอาการที่เขาเป็นที่เกิดขึ้นเพราะอาหารตัวไหนกันแน่

แปลว่าทุกอาการแพ้อาหารจริงๆ แล้วสามารถรักษาให้หายได้

จริงๆ คนไข้ส่วนใหญ่อาจจะเรียกว่าสามารถกินได้โดยไม่มีอาการมากกว่า เพราะการหายที่แท้จริงคือเขาไม่จำเป็นต้องกินทุกวัน และจะกินปริมาณเท่าไรก็ได้ ซึ่งอัตราส่วนของคนที่หายในลักษณะนี้ยังไม่เยอะ แต่คนไข้ที่ทำการรักษาอยู่ จะต้องกินอาหารที่ตัวเองแพ้อย่างต่อเนื่อง แต่แค่นั้นก็ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้นแน่นอน

จากประสบการณ์ของคุณหมอ แพ้อะไรรักษายากที่สุด

ในต่างประเทศจะมีคนแพ้ถั่วลิสง นม และไข่มากหน่อย แต่คนไทยส่วนมากจะมีปัญหาแพ้แป้งสาลีและอาหารทะเล ปัญหาคือสำหรับอาหารทะเล เรายังไม่รู้ว่าปริมาณแค่ไหนที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันพอที่จะทำให้อาการแพ้หายไปได้ ทำให้เรายังไม่สามารถรักษาได้จริงๆ แต่อาจทำให้กินได้ในปริมาณที่ปนเปื้อนแล้วไม่เกิดอาการแพ้รุนแรง ซึ่งช่วยให้คนไข้ใช้ชีวิตได้ปลอดภัยขึ้นได้

สมมติว่ารักษาคนแพ้แป้งสาลีจนเขากินขนมปังได้หนึ่งแผ่น แล้วบอกว่าขอกินแค่นี้ต่อไปเรื่อยๆ ได้ไหม มันก็ได้ แต่มันไม่ได้เป็นปริมาณที่ไปกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ที่ต้องกินให้ถึงสองแผ่นครึ่งหรือสามแผ่นนี่เพราะว่ามันมีหลักการที่เขาคำนวณกันมาแล้วว่ามันช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ ไม่ว่าจะเป็นไข่หรือนม มันก็จะมีโดสที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

ปัจจุบันมีเด็กเข้ามารักษาอาการแพ้อาหารเยอะไหม

เยอะค่ะ หมายถึงคนที่กินเข้าไปแล้ว มีอาการแล้ว ถึงเข้ามารักษาเป็นครั้งๆ ไปนะ แต่เด็กที่เข้าข่ายต้องรักษาด้วยวิธีนี้ ยังไม่ได้เยอะมาก

สิ่งที่หมออยากจะบอกมากๆ ก็คือ
เราอย่าไปคิดว่า กินเองไปเรื่อยๆ แล้วมันจะหาย หรือพยายามจะรักษาด้วยตัวเอง
เพราะหลายคนก็เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการรักษาผิด
คิดว่ากลับไปลองกินเองก็ได้ ซึ่งอันตรายมาก

ถ้าเคยมีอาการแพ้แล้วไม่ได้รับการรักษา

ถ้าไม่รักษาก็ต้องพยายามเลี่ยง แต่ถ้าพลาดและมีอาการไม่รุนแรงก็กินยาแก้แพ้ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง ก็ต้องฉีดอะดรีนาลีนเพื่อช่วยชีวิต อันนี้เป็นอีกเรื่องที่สำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องกล้าที่จะฉีดอะดรีนาลีนให้ลูก เพราะว่าเราไม่มีทางรู้ว่าลูกจะไปเกิดอาการที่ไหน มันอาจจะฉุกเฉินมาก เด็กเองก็ควรที่จะฉีดอะดรีนาลีนให้ตัวเองได้ ซึ่งคนที่เคยมารักษา หมอก็จะเทรนจนมั่นใจว่าเขาช่วยเหลือตัวเองได้

และสิ่งที่หมออยากจะบอกมากๆ ก็คือ เราอย่าไปคิดว่า กินเองไปเรื่อยๆ แล้วมันจะหาย หรือพยายามจะรักษาด้วยตัวเอง เพราะหลายคนก็เข้าใจคอนเซ็ปต์ของการรักษาผิด คิดว่ากลับไปลองกินเองก็ได้ แต่คนไข้ไม่ได้คำนวณโดสของอาหารอย่างที่หมอทำ และการที่เรานัดมาเพิ่มปริมาณที่โรงพยาบาลเราจะต้องมีการเตรียมพร้อมยาฉุกเฉิน มีหมอ พยาบาลพร้อม สังเกตอาการใกล้ชิด ดังนั้นถ้าไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ช่วย ก็จะอันตรายมาก

เหมือนหมอเคยเห็นข่าวเด็กที่ไปแพ้อาหารในโรงเรียน แล้วครูบอกว่าแพ้ก็ลองกินเข้าไปเดี๋ยวมันก็หาย อันนี้หมอไม่แนะนำเด็ดขาด ถ้าจะรักษาต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ

แต่คนส่วนหนึ่งก็มีความเชื่อว่าแพ้อะไรก็กินเข้าไป เดี๋ยวก็ชนะ

คือจริงๆ มันก็ใช่ หมอก็ใช้วิธีเดียวกัน แต่มันต้องมีการคำนวณโดสหรือปริมาณการกินที่ถูกต้องมารองรับ แล้วก็ต้องมีการเตรียมตัวป้องกันที่ดีพอ ไม่แนะนำให้ลองทำเองเด็ดขาด

ถ้าให้ย้ำ หมออยากฝากแค่ว่า อย่าไปรักษากันเอง เพราะมันอันตราย แล้วก็ไม่จำเป็นต้องรีบรักษา คุณพ่อคุณแม่บางคน ลูกสองขวบก็เริ่มพามารักษา หมอก็จะบอกว่ายังไม่ต้องรีบ ใช้วิธีเลี่ยงอาหารนั้นไปก่อน บางทีโตอีกนิดแล้วอาการอาจจะหายไปเองก็ได้ เว้นแต่ถ้ามันถึงจุดที่เลยวัยที่ควรจะหายแล้วก็ยังไม่มีวี่แววว่าจะหาย หมอถึงแนะนำให้มารักษา เพราะคนไข้ส่วนใหญ่ที่รักษาไปแล้ว เขากลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

ถ้าลูกไม่เคยมีอาการอะไร คุณพ่อคุณแม่จะพามาตรวจว่าลูกแพ้อะไรบ้างได้ไหม

ถ้าไม่มีอาการมาก่อน แล้วมาลองทำสะกิดผิวหนัง (Skin Test) มันอาจจะแสดงอาการทั้งที่ไม่ได้แพ้ก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่มีอาการอะไรผิดปกติ แข็งแรงดี ก็ไม่ต้องมาเทสต์ (หัวเราะ)

แต่ถ้าครอบครัวที่เคยมีลูกที่มีอาการแพ้หนักมากมาก่อน พอมีคนต่อมาก็กลัวว่าจะแพ้เหมือนกัน อันนี้อยากลองตรวจก่อนเพื่อลดความเสี่ยงก็ทำได้ค่ะ

 

 

ปิดท้ายการพูดคุย คุณหมอก้อยอธิบายเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลคร่าวๆ ว่าถึงจะเป็นการรักษาระยะยาว แต่ก็ไม่ได้สิ้นเปลืองอย่างที่คิด เช่น โรงพยาบาลศิริราชที่คุณหมอประจำอยู่ ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะอยู่ที่การแอดมิตช่วงแรกของการรักษาที่ต้องมีพยาบาลคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หลังจากนั้นก็จะเป็นการติดตามอาการเพื่อเพิ่มปริมาณโดสเท่านั้น

ซึ่งทั้งหมดนี้คุณหมอก้อยย้ำว่า การรักษาภูมิแพ้อาหารนั้น จำเป็นต้องทำเมื่อการแพ้นั้นทำให้เกิดอันตรายและสร้างปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวันมากเกินไป ที่สำคัญคือหากต้องการรักษา ก็ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์เท่านั้นนะคะ

สัมภาษณ์วันที่ 31 พฤษภาคม 2561

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST