READING

TALK WITH DOCTOR: คุยกับหมอวิน—ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยปร...

TALK WITH DOCTOR: คุยกับหมอวิน—ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ ในวันที่โควิด-19 เข้าใกล้เด็กมากขึ้นทุกที

คุยกับหมอวิน เลี้ยงลูกตามใจหมอ ในวันที่โควิด-19 เข้าใกล้เด็กมากขึ้น

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย มีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นและต่อเนื่องทุกวัน

หนึ่งในสิ่งที่น่ากังวลก็คือการระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ เราได้เห็นว่ามีทั้งทารกและเด็กเล็กเป็นผู้ติดเชื้อและถูกส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลสนาม ส่งผลให้คุณพ่อคุณแม่จากที่กังวลอยู่แล้วก็ยิ่งกังวลมากขึ้นไปอีก เพราะนั่นหมายความว่า ถึงจำนวนการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กจะมีไม่มาก และมักไม่มีอาการรุนแรง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงของโรคนี้อีกต่อไป

วันนี้ M.O.M จึงชวน คุณหมอวิน—ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ มาให้ความรู้เรื่องของโควิด-19 ในเด็กกันค่ะ

จะเห็นว่าโควิด-19 ระลอกนี้ มีเด็กเป็นผู้ติดเชื้อมากขึ้น อยากทราบว่าโอกาสที่เด็กจะเป็นผู้แพร่เชื้อต่อมีมากเท่าผู้ใหญ่ไหม

ข้อมูลของเด็กในปัจจุบันยังมีไม่มากนัก และการกระจายเชื้อไวรัสก็ยังมีไม่มากเท่าผู้ใหญ่ เพราะเด็กเป็นประชากรกลุ่มที่มีอาการน้อยและไม่ได้เป็นกลุ่มแรกที่รับเชื้อ

โควิด-19 จะแตกต่างกับโรคการติดเชื้ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ มือเท้าปาก เพราะเชื้อไวรัสกลุ่มนี้จะมีเด็กเป็นพาหะ เนื่องจากภูมิต้านทานยังมีไม่เท่ากับผู้ใหญ่ แต่กับโควิด-19 คนที่เป็นพาหะนำเชื้อเข้ามาในบ้านก็คือคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้นโอกาสที่เด็กจะแพร่เชื้อจากเด็กสู่เด็กด้วยกันเองจึงยังไม่พบข้อมูลในประเทศไทย หรือถึงมีโอกาสก็น้อยมาก

จากข้อมูลการติดเชื้อของเด็กไทยอายุ 0-14 ปี คิดเป็นร้อยละ 3 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะจะสังเกตเห็นว่าโควิด-19 ระลอกนี้เด็กสามารถติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการระบาดสองระลอกที่ผ่านมา

เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 จำเป็นต้องไปอยู่โรงพยาบาลหรือเปล่า 

ตามแนวทางการปฏิบัติของกระทรวงสาธารณะสุข คนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่จำเป็นที่จะต้องไปอยู่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนามก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราอยู่

แต่โอกาสที่เด็กจะติดเชื้อโควิด-19 เพียงคนเดียวในบ้านแทบไม่มีเลย เพราะส่วนมากผู้ใหญ่จะเป็นคนที่นำเชื้อเข้ามาสู่เด็ก หรือถ้าคุณพ่อคุณแม่ลูกออกไปพื้นที่เสี่ยงด้วยกัน เมื่อติดเชื้อก็สามารถแอดมิตที่โรงพยาบาลด้วยกันได้

หากมีการแอดมิตทั้งครอบครัวเด็กถูกส่งไปรักษาตัวพร้อมกัน จะมีวิธีการดูแลเด็กอย่างไร

จะต้องดูว่าเด็กเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงหรือเปล่า เช่น มีโรคประจำตัว ก็จะแบ่งออกเป็น

กลุ่มที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด โรคปอด

กลุ่มที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ภูมิคุ้มกันบกพร่องตั้งแต่กำเนิด เด็กที่ได้รับยาเคมีบำบัด

ซึ่งถ้าหากเด็กที่มีกลุ่มเสี่ยงสูงเข้าไปรักษาจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดมากกว่ากลุ่มเด็กสุขภาพดี

โดยการรักษาโควิด-19 ในกลุ่มเด็กก็จะมีวิธีการเหมือนกับผู้ใหญ่ โดยมีการวัดสัญญาณชีพและออกซิเจนในเลือด และเป้าหมายของการส่งตัวผู้ป่วยโควิด-19 เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนามคือ การแยกโรคเพื่อไม่ให้ไปแพร่เชื้อต่อ และเฝ้าสังเกตอาการ โดยส่วนใหญ่คนไข้จะเริ่มมีอาการหลังมีการสัมผัสเชื้อ 2-6 วัน หรืออาจจะลามไปถึง 10-14 วันก็ได้ ซึ่งปกติอาการจะหนักหรือไม่หนักจะอยู่ที่สัปดาห์แรกหลังจากได้รับเชื้อ

ในกรณีที่เด็กเป็นคนที่ออกไปสัมผัสเชื้อมาจากข้างนอก พ่อแม่ควรทำอย่างไร

ณ ตอนนี้ให้คิดว่าทุกคนติดเชื้อโควิด-19 อยู่ เพราะฉะนั้นการออกไปข้างนอกทุกครั้งควรจะต้องป้องกันตัวเองและคนในครอบครัวให้ดี บางครั้งเด็กบังเอิญไปอยู่ใกล้หรือสัมผัสคนที่ถอดหน้ากากอนามัย และอยู่ด้วยกันนานกว่า 15 นาทีขึ้นไป ก็ให้ถือว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ควรเข้ารับการตรวจ หรือกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อสังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ ก็ควรรีบไปตรวจเช่นเดียวกัน

หากต้องมีการกักตัวภายในบ้านจะต้องมีวิธีการอย่างไร

เชื้อโควิด-19 จะรับได้จากละอองสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำมูก น้ำลาย จากการไอ จาม เพราะฉะนั้นใช้มาตรการเดียวกันเหมือนออกไปนอกบ้านเลย
ใส่หน้ากากอนามัยด้านใน แล้วก็ใส่หน้ากากผ้าทับอีกที จะช่วยลดการรับเชื้อและแพร่เชื้อได้ดีมากขึ้นกว่าการใส่หน้ากากอนามัยเพียงชั้นเดียว
หมั่นล้างมือบ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการเอามือไปสัมผัสใบหน้าเพราะเชื้อจะเข้าสู่ทางร่างกายผ่านจมูก ปาก และตา
เว้นระยะห่าง
กินอาหารที่ปรุงสุกและใช้ช้อนกลาง
ไม่ทำกิจกรรมที่ใช้ของร่วมกัน
หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่ใช้ร่วมกันบ่อยๆ เช่น ราวบันได ก๊อกน้ำ ลูกบิดประตู

เด็กเล็กและเด็ก (อายุต่ำกว่า 12 ปี) มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือเปล่า

ปัจจุบันวัคซีนที่มีการฉีกในประเทศไทยตอนนี้ คือ Sinovac และ Astrazeneca ซึ่งจะฉีดให้กับคนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ถ้านับวัคซีนที่ลงทะเบียนทั่วโลกทั้งหมด 13 ตัว น่าจะมีตัวเดียวที่มีข้อมูลชัดเจนว่าสามารถฉีดเด็กได้ก็คือ Pzifer ซึ่งตอนนี้ทางอเมริกาและยุโรปเริ่มประกาศให้ใช้ในเด็กที่มีอายุ 12-15 ปีได้แล้ว และตอนนี้กำลังทำเรื่องอนุมัติให้ใช้ในเด็กตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป ดังนั้น ภายในปีหน้าเด็กน่าจะได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นในประเทศที่นำเข้าวัคซีน Pzifer

เป้าหมายการฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ กลุ่มผู้ใหญ่สุขภาพดีที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี เพราะผู้ใหญ่กลุ่มนี้เป็นกลุ่มแพร่เชื้อ การฉีดวัคซีนจึงเป็นการช่วยการยับยั้งเชื้อ ส่วนอีกหนึ่งกลุ่มคือผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี การฉีดในกลุ่มนี้เพื่อป้องกันการเสียชีวิตและการเกิดโรคที่รุนแรง ดังนั้นการฉีดวัคซีนผู้ใหญ่สองกลุ่มนี้ก็สามารถช่วยป้องกันเด็กจาก โควิด-19 ได้อยู่แล้ว


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST