READING

TALK WITH DOCTOR: PM 2.5 ฝุ่นเล็กๆ ที่ส่งผลกับเด็ก...

TALK WITH DOCTOR: PM 2.5 ฝุ่นเล็กๆ ที่ส่งผลกับเด็กมหาศาล—คุยกับ พญ. สิริรักษ์ กาญจนธีระพงศ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา

PM 2.5

เป็นที่รู้กันดีว่าฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเรามากแค่ไหน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเล็ก ยิ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปัญหาค่าฝุ่นเกินมาตรฐานนั้น ทำให้คุณพ่อคุณแม่ทั้งเป็นห่วงและกังวลว่าจะเป็นอันตรายกับลูกมากกว่าที่คิด

เราจึงชวน พญ. สิริรักษ์ กาญจนธีระพงศ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางโรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกันวิทยา ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรงพยาบาลนวเวช มาพูดคุยถึงความอันตรายของฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งผลโดยตรงกับเด็กๆ และคุณแม่ตั้งครรภ์กันอีกสักครั้ง

นอกจากผลกระทบต่อทางเดินหายใจ อย่างที่เราพอจะรู้กันอยู่ มีอะไรเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่พ่อแม่ควรรู้อีกบ้าง

ฝุ่น PM 2.5 จะพัดพาเชื้อโรคอื่นๆ มาด้วย ก็เลยส่งผลให้เด็กมีอาการไม่สบายอื่นๆ ร่วมด้วย ในระยะสั้นอาจทำให้เกิดการติดเชื้อไม่ว่าจะเป็นไวรัสหรือแบคทีเรียทางเดินหายใจ เพราะฉะนั้นเวลาที่เด็กอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 เยอะๆ หรืออากาศถ่ายเทไม่ดี เด็กก็จะเกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ไม่สบายง่าย และหายได้ยาก และอาจจะเป็นตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโพรงจมูก อักเสบ หรือปอดอักเสบได้

นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อระบบหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดจะเปราะแตกง่าย ปัจจุบันเราพบคนเป็นโรคความดันโลหิตสูงมีอายุน้อยลง  จากเมื่อก่อนจะเห็นว่าคนเป็นโรคความดันโลหิตสูง มักจะอายุ 50 – 60 ปี แต่ปัจจุบันพบว่าคนที่อายุ 30 – 40 ปีที่ต้องเจอฝุ่น PM 2.5 ก็มีโอกาสเป็นได้ ซึ่งนั่นทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจตั้งแต่อายุยังน้อย

และเนื่องจากฝุ่น PM 2.5 สามารถนำพาสารก่อมะเร็งหรือสารโลหะหนักได้ มันก็จะไปรบกวนระบบที่สร้างสารต้านอนุมูลอิสระ ก่อให้เกิดการอักเสบทั่วร่างกายได้ รวมถึงเกิดการเสื่อมสภาพของร่างกายทุกระบบ โดยเฉพาะระบบเซลล์ จะเห็นว่าคนที่ทำงานหรืออยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่น PM 2.5 เป็นประจำ จะมีอาการไอเรื้อรัง สมรรถภาพทางปอดลดลง ความสามารถในการฟื้นฟูปอดลดลง ในระยะยาวก็จะมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เหนื่อยสะสม ประสิทธิภาพการทำงานของปอดก็จะลดลง นำไปสู่โรคปอดเรื้อรังโรคมะเร็งปอด และถุงลมโป่งพองในอนาคตได้

อาการเบื้องต้นที่ร่างกายส่งสัญญาณออกมาก่อนที่จะเกิดโรคร้ายแรง

ส่วนใหญ่มักจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามตัว น้ำมูกไหล ไอ มีเสมหะ รวมถึงอาการหอบเหนื่อย ทั้งหมดนี้สามารถเป็นไปได้ทั้งสิ้น เราจะเห็นได้ว่าช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 หนักๆ เด็กที่ต้องออกไปโรงเรียนมีอาการเจ็บป่วยบ่อยและหายได้ยาก

นอกจากนี้ยังมีอาการภูมิแพ้ร่วมด้วย ความจริงแล้วไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงภูมิแพ้ หรือไม่มีความเสี่ยงภูมิแพ้ พอเจอฝุ่น PM 2.5 ที่เป็นสารก่อระคายเคือง ก็ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ใหม่ๆ ขึ้นมาได้ หรือทำให้คนที่เป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว อาการกำเริบได้

“ความจริงแล้วอาการที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 กับ ภูมิแพ้มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ฝุ่น PM 2.5 จะกระทบต่อระบบในร่างกายมากกว่า ซึ่งถ้าหากเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็อาจทำให้อาการกำเริบหรือเป็นหนักมากขึ้นได้”

อาการจากฝุ่น PM 2.5 กับอาการภูมิแพ้ แตกต่างกันอย่างไร

ความจริงแล้วอาการที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 กับ ภูมิแพ้มีลักษณะคล้ายกันมาก แต่ฝุ่น PM 2.5 จะกระทบต่อระบบในร่างกายมากกว่า ซึ่งถ้าหากเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ก็อาจทำให้อาการกำเริบหรือเป็นหนักมากขึ้นได้

ข้อมูลล่าสุดพบว่า เด็กที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ คือเด็กที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้เช่นกัน เราเลยพบว่าในปัจจุบันมีเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้เร็วมากขึ้น โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่สองขวบ ซึ่งเป็นอายุเฉลี่ยที่ลดลงกว่าสิบปีที่แล้วพอสมควร

โรคภูมิแพ้มีหลายประเภท แต่หมอจะแบ่งเป็นประเภทที่พบได้บ่อย คือ หนึ่ง—ภูมิแพ้อากาศ มักจะมีอาการท่ีรบกวนในการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไป เช่น คัดจมูก มีน้ำมูกใสไหลบ่อยๆ มีน้ำมูกลงคอ ทำให้ต้องกระแอมบ่อย หรือตื่นมาแล้วจามติดต่อกันหลายครั้ง และคันจมูก คันตา แต่เด็กบางคนที่เป็นภูมิแพ้รุนแรงอยู่แล้ว ในช่วงฝุ่น PM 2.5 ระบาด ก็อาจทำให้ภูมิแพ้รุนแรงมากขึ้น เช่น มีน้ำมูกลงคอซึ่งนำไปสู่อาการกรน

สอง—ภูมิแพ้ขึ้นตาหรือเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ เด็กก็จะมีอาการคันตา กระพริบตาบ่อย บางเคสเป็นหนักก็จะมีผื่นขึ้นรอบดวงตา หรือเด็กบางคนแพ้แสงก็มี

สาม—ภูมิแพ้ผิวหนัง เด็กที่มีอาการอยู่แล้วหรือมีอาการขึ้นมาใหม่ อาการของโรคมักจะชอบขึ้นบริเวณข้อพับหรือส่วนที่ผิวมีความอับชื้น ผื่นก็จะมีลักษณะแดงและคัน หรือแห้งและลอก ในเด็กโตหรือผู้ใหญ่ก็อาจจะเป็นลมพิษ บางคนอาจจะผื่นไม่ชัดเจน แต่พอออกไปเจอฝุ่นก็จะมีอาการเหมือนโดนแมลงกัด ซึ่งจริงๆ ไม่ได้โดนแมลงกัดต่อยแต่เป็นฝุ่น PM 2.5 นี่แหละ

นอกจากนี้ในระบบผิวหนังหรือเซลล์ต่างๆ เป็นเรื่องที่หลายคนกังวลมาก เพราะทำให้เซลล์ในร่างกายเสื่อมเร็ว โดยเฉพาะเซลล์ผิวหนัง ผิวหน้าแล้วก็อาจจะแห้ง ฟื้นฟูยาก มีเม็ดสีที่มากขึ้น มันอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีแต่มันสะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้าก็ได้

และสุดท้าย โรคหอบหืด เด็กเล็กบางคนที่เจอฝุ่น PM 2.5 มาแต่อาการแสดงไม่ชัดเจน ก็จะมาในรูปแบบการติดเชื้อทางเดินหายใจ เป็นไข้ ไม่สบาย หายใจหอบหืด แต่ว่ามีความถี่ในการเป็นบ่อยขึ้น และทุกครั้งที่เด็กไม่สบายก็ต้องมาพ่นยาขยายหลอดลม ที่โรงพยาบาลอยู่เสมอ หรือบางคนสมรรถภาพทางปอดลดลง ทำให้ออกกำลังกายหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ไม่เหมือนเดิม

อาการแบบไหนที่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์โดยด่วน

เมื่อร่างกายติดเชื้อทางเดินหายใจ ก็มักจะเริ่มจากอาการมีไข้ มีน้ำมูก ไอ ซึ่งถ้าหากน้ำมูกที่มีลักษณะเหนียวและเป็นสีเขียวค่อนข้างอันตรายและอาจก่อให้เกิดเสมหะในคอ โดยเฉพาะเด็กเล็กมีโอกาสที่จะสำลักลงหลอดลมกับปอดได้ค่อนข้างสูง ดังนั้นเมื่อไรที่ลูกมีไข้สูง มีเสมหะเหนียว หรือเริ่มมีอาการหายใจหอบเหนื่อย ควรรีบพาลูกไปโรงพยาบาลเลยค่ะ

“หลังจากที่เราอยู่ร่วมกับฝุ่น PM 2.5 มาสักระยะแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะเริ่มสังเกตว่าลูกที่ได้รับฝุ่นเยอะๆ เขาจะเริ่มมีความไม่สบายตัว หงุดหงิดง่าย การนอนไม่ค่อยดี สมาธิในการเรียนก็ไม่ค่อยดี แต่จริงๆ ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่รอให้เด็กมีอาการมากขนาดนี้”

วิธีการป้องกัน สามารถทำได้อย่างไรบ้าง

หลังจากที่เราอยู่ร่วมกับฝุ่น PM 2.5 มาสักระยะแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็คงจะเริ่มสังเกตว่าลูกที่ได้รับฝุ่นเยอะๆ เขาจะเริ่มมีความไม่สบายตัว หงุดหงิดง่าย การนอนไม่ค่อยดี สมาธิในการเรียนก็ไม่ค่อยดี แต่จริงๆ ไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่รอให้เด็กมีอาการมากขนาดนี้ อยากให้เริ่มตั้งแต่การใช้ชีวิตประจำวันเลย เริ่มตั้งแต่การวัดค่า Air Quality Index (AQI) โดยเฉพาะเด็กเล็กและคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรอยู่ในที่ค่า AQI เกิน 50 และถ้าวันไหนค่าฝุ่นสูงมากก็อาจจำเป็นจะต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง

การใส่หน้ากากอนามัยคือวิธีการป้องกันฝุ่นได้ดีที่สุด แต่หน้ากากอนามัยที่ได้ผลดีที่สุดคือหน้ากาก N95 ซึ่งหน้ากากชนิดนี้อาจจะไม่ได้มีผลิตมาสำหรับเด็กมากนัก คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะหาหน้ากากอนามัยที่เป็นแผ่นกรองสามชั้น และควรให้ลูกล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นประจำ และสุดท้ายคือเครื่องฟอกอากาศ สำคัญมาก

กรณีเด็กเล็ก ถ้ายังต้องไปโรงเรียนและมีกิจกรรมกลางแจ้งที่เลี่ยงไม่ได้ ควรทำอย่างไร

ถ้าหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องใส่หน้ากากอนามัยค่ะ หรือแนะนำให้ใช้เครื่องฟอกอากาศแบบห้อยคอ ถึงแม้มันจะเป็นระบบกรองคนละแบบกับเครื่องฟอกอากาศในอาคาร แต่เครื่องฟอกอากาศแบบห้อยคอ เป็นลักษณะแบบการปล่อยประจุไอออนลบ ซึ่งถ้าหากฝุ่น PM 2.5 พัดมาบริเวณใบหน้าของเด็กๆ ตัวไอออนลบที่ผลิตจากเครื่องก็จะไปช่วยกรองอากาศ ช่วยลดปริมาณในการสูดดมฝุ่น PM 2.5 ได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันฝุ่นอื่นๆ เช่น ขนสัตว์ ละอองเกสรดอกไม้ รวมถึงเชื้อไวรัส และเชื้อแบคทีเรียทางเดินหายใจได้อีกด้วย

และในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ยาละอองพ่นจมูก ซึ่งคำเรียกยังไม่ชัดเจน แต่ตัวละอองพ่นจมูกนี้มีสารสกัดจากธรรมชาติ พอเวลาที่พ่นเข้าไปมันก็จะไปเกาะเป็นเจลที่โพรงจมูก เมื่อฝุ่นเข้าไปก็จะไปเกาะกับเจลตัวนี้ และออกมาในลักษณะของขี้มูก แนะนำว่าควรพ่นซ้ำทุก 8 ชั่วโมง ก็จะช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 สารก่อภูมิแพ้ รวมถึงเชื้อโรคที่เข้าไปในโพรงจมูกของเราได้

“คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เจอฝุ่น PM 2.5 มากเกินไปก็มีความเสี่ยงต่อการแท้ง มีคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กทารกที่คลอดออกมาก็มีโอกาสที่จะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้ นอกจากนั้น ทารกที่คลอดในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 เยอะๆ ก็เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้”

นอกจากเด็กแล้ว  ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อคุณแม่ตั้งครรภ์อย่างไรบ้าง

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่เจอฝุ่น PM 2.5 มากเกินไปก็มีความเสี่ยงต่อการแท้ง มีคลอดก่อนกำหนด หรือเด็กทารกที่คลอดออกมาก็มีโอกาสที่จะน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ได้ นอกจากนั้น ทารกที่คลอดในช่วงที่มีฝุ่น PM 2.5 เยอะๆ ก็เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะผื่นแพ้ผิวหนัง และอาจจะส่งผลต่อสมองของทารกในระยะยาว มีความเสี่ยงต่อพัฒนาการล่าช้า พัฒนาการทางการพูด พัฒนาการทางด้านความคิดและอารมณ์ได้

ดังนั้นคุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลหรือเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษ

สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ แนะนำว่าจำเป็นจะต้องหลีกเลี่ยงในการเจอฝุ่น PM 2.5 เลยค่ะ เนื่องจากว่าฝุ่น PM 2.5 เข้าทางระบบหลอดเลือดได้ เพราะฉะนั้นฝุ่นนี้ก็สามารถผ่านทางรกมาสู่ทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ก็ต้องจำเป็นที่จะต้องวัดค่า AQI 50 – 100 ไม่ควรเกินนี้

และคุณแม่ตั้งครรภ์ก็สามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีเดียวกับเด็กๆ ได้เลย สุดท้ายอยากให้คุณแม่เน้นในเรื่องของอาหารมากกว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ กินอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระเยอะๆ จำพวกกลุ่มโอเมก้า รวมถึงจุลินทรีย์ปรับลำไส้ ก็สามารถช่วยป้องกันภาวะภูมิแพ้ที่จะเกิดขึ้นกับลูกได้เช่นกัน

สัมภาษณ์วันที่ 20 มีนาคม 2566

 

—อ่านบทความ: PM 2.5 ส่งผลต่อร่างกายเด็กอย่างไรบ้าง

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST