READING

TALK WITH DOCTOR: พ่อแม่จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกเป...

TALK WITH DOCTOR: พ่อแม่จะรับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคซึมเศร้า และอยากฆ่าตัวตาย

เด็กฆ่าตัวตาย

อารมณ์สุข โกรธ เศร้า เสียใจ ล้วนเป็นอารมณ์พื้นฐานที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพจิตใจของเราเริ่มแปรปรวน เช่น หมกมุ่นกับความเศร้า รู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง ด้อยคุณค่าตัวเอง และเริ่มไม่อยากมีชีวิตอยู่ นั่นอาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงการเผชิญกับภาวะหรือโรคซึมเศร้าได้

ในปัจจุบันเราพบว่าช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น มีปัญหาทางด้านจิตใจกันมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มักจะมีข่าวเด็กวัยรุ่นฆ่าตัวตาย เพราะความเครียด ปัญหาครอบครัว ถูกกดดันจากสถานการณ์ที่รับมือและแก้ไขไม่ได้ และการถูกบูลลี่ที่โรงเรียน สอดคล้องกับข้อมูลจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ปี 2565 ที่พบว่า การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของวัยรุ่น และมีเด็กและวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี กว่าหนึ่งหมื่นคนโทร. เข้าสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำปรึกษา ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตที่พบมากที่สุดในวัยรุ่นก็คือ ความเครียด วิตกกังวล ปัญหาความรัก และภาวะซึมเศร้า (อ้างอิง)

M.O.M จึงถือโอกาสชวน คุณหมอเฟิร์ส—นพ.พุฒิสรรค์ ทัฬหวรงค์ แพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวชศาสตร์ ประจำ Mindcare Clinic มาพูดคุยเพื่อขอความรู้และตอบคำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนกังวลใจว่า หากลูกมีอาการของภาวะซึมเศร้า และส่งสัญญาณว่าอยากฆ่าตัวตาย คุณพ่อคุณแม่ควรรับมือและหาทางแก้ไขอย่างไรดี

สถานการณ์โรคซึมเศร้าในเด็กและวัยรุ่นในปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้าง

เด็กที่เป็นโรคซึมเศร้า มักพบในช่วงเด็กวัยรุ่น อายุประมาณ 14-15 ปี ซึ่งถือว่าอายุค่อนข้างน้อย แต่เป็นเพราะเด็กวัยรุ่นในปัจจุบันมีความเครียดสูง ทั้งการเรียน ครอบครัว ทำให้เด็กไม่ได้รับการดูแลทางด้านอารมณ์อย่างเพียงพอ เขาก็เลยไม่รู้วิธีการจัดการอารมณ์ตัวเอง

จะพบว่า บางครั้งเขาก็เลือกที่จะระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายร่างกายตัวเอง เช่น ทุบตีตัวเองให้เกิดความเจ็บปวดหรือกรีดแขนเลยก็มี

“วิธีที่ดีที่สุดในการสังเกตอาการว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้ดูจากการเล่น เช่น ลูกเล่นได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่ค่อยตอบสนอง เบื่อของเล่น อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากเข้าสังคมกับเพื่อนๆ หรือมีลักษณะการเล่นที่เฉื่อยชา หรือรุนแรง”

คนมักไม่เข้าใจว่าเด็กจะเป็นโรคซึมเศร้าได้อย่างไร

ความจริงแล้วโรคซึมเศร้า สามารถเกิดได้ทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ แต่ว่าอาการแต่ละช่วงวัยก็จะแตกต่างกันไป อย่างถ้าโรคซึมเศร้าในเด็กก็สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยอนุบาลเลย

เพียงแต่ถ้าเกิดกับเด็กเล็ก ก็จะสังเกตอาการได้ยากกว่าผู้ใหญ่ เพราะว่าเขายังไม่มีทักษะการสื่อสารที่ดีพอ สื่อสารอารมณ์ยังไม่ค่อยเก่ง ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการสังเกตอาการว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ให้ดูจากการเล่น เช่น ลูกเล่นได้ไม่ดีเท่าเดิม ไม่ค่อยตอบสนอง เบื่อของเล่น อยากอยู่คนเดียว ไม่อยากเข้าสังคมกับเพื่อนๆ หรือมีลักษณะการเล่นที่เฉื่อยชา หรือรุนแรง เราสามารถสังเกตได้จากตรงนี้

หรือบางคนมีอาการซึมเศร้ารุนแรง แต่ไม่แสดงอาการเท่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้าระยะเริ่มต้นก็มี ซึ่งวิธีการสังเกตเด็กที่มีอาการซึมเศร้ารุนแรง คือต้องคอยดูว่าลูกเริ่มมีการเก็บตัว ชอบแยกตัวไปอยู่คนเดียว ไม่พูดไม่คุย ทำร้ายตัวเอง ทำร้ายคนอื่น และควบคุมอารมณ์ไม่ได้เป็นประจำ

เป็นไปได้ไหมที่โรคซึมเศร้าหากเกิดขึ้นในเด็กแล้วจะหายเองได้

โดยปกติแล้ว เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้า โอกาสที่จะหายเองได้ค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องอาศัยการดูแลจากคนรอบข้าง การปรับพฤติกรรม และการดูแลจิตใจร่วมด้วย แต่ถ้าถามว่าเด็กสามารถหายเองได้ไหม ถ้าเป็นเพียงภาวะซึมเศร้าก็อาจจะหายเองได้ แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่และคนรอบข้างรับมือได้ไม่ดีพอ จากภาวะซึมเศร้าก็อาจพัฒนามาเป็นโรคซึมเศร้าได้

สัญญาณอันตรายที่บอกถึงอาการซึมเศร้าและอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายที่พ่อแม่ต้องระวังและเตรียมรับมืออะไรบ้าง

ถ้าเป็นเด็กโต คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมได้จากการที่ลูกเริ่มเก็บตัว ไม่สุงสิงกับใคร การสื่อสารจะมีลักษณะถามคำตอบคำ เริ่มบ่นว่าเบื่อ หรือไม่อยากอยู่ที่นี่อีกต่อไป ถ้าหากลูกเริ่มพูดหรือมีอาการเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรีบสอบถามลูกเลยว่าตอนนี้รู้สึกยังไง มีปัญหาอะไรหรือเปล่า เพื่อให้ลูกรู้สึกว่ามีพ่อแม่คอยอยู่ข้างๆ เสมอ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรมีท่าทีตกใจเกินเหตุ หรือซักถามด้วยความจู้จี้จุกจิก คุณพ่อคุณแม่ควรเน้นที่การสอบถามอารมณ์ และที่สำคัญคือพยายามทำความเข้าใจลูกและทำหน้าที่เป็นผู้รับฟังที่ดีเพื่อให้ลูกเปิดใจยอมเล่าปัญหาและพูดความรู้สึกของตัวเองออกมา

ถ้าในกลุ่มเด็กวัยรุ่น อาจจะดูจากอารมณ์ที่หงุดหงิดง่ายขึ้น ก้าวร้าวขึ้น คุมอารมณ์ไม่ได้ พูดจาประชดประชัน หรือน้อยใจชีวิต เช่น ทำไมต้องเจอแบบนี้ ทำไมต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ หรือมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านการเรียน ก็เป็นสัญญาณเตือนอีกรูปแบบหนึ่ง ในขณะที่เด็กบางคน เมื่อเกิดความเครียดสูงก็มีอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย เช่น ปวดหัวหรือปวดท้องได้

แล้วถ้าเป็นเรื่องที่ลูกไม่กล้าบอกหรือไม่อยากพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่

ถ้าลูกยังไม่พร้อมเล่าให้พ่อแม่ฟังโดยตรง ก็อาจจะต้องหาที่ปรึกษา เช่น ถามลูกว่าอยากเล่าให้ใครฟังไหม หรืออยากคุยกับคุณหมอเพื่อที่จะช่วยดูแลอารมณ์ของลูกที่กำลังคุกรุ่นอยู่ตอนนี้หรือเปล่า การที่พ่อแม่มีที่ปรึกษาให้ลูกก็อาจจะเป็นทางเลือกที่ดีได้เหมือนกันครับ

ครอบครัวสามารถช่วยบำบัดโรคซึมเศร้าหรือป้องกันการฆ่าตัวตายให้เด็กได้ไหม

พ่อกับแม่ช่วยดูแลได้ แต่อาจจะต้องปรึกษาวิธีการดูแลที่ถูกต้องจากคุณหมอ เช่น การรับฟังลูกมากขึ้น ช่วยหาปัจจัยหรือต้นตอในการเกิดโรคซึมเศร้าของลูก มีอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นอาการของลูกหรือเปล่า และพยายามเน้นการสื่อสารเชิงบวก ให้กำลังใจ แต่ไม่ใช่การกดดันว่าลูกต้องหาย เพราะลูกอาจรู้สึกเหมือนถูกผลักภาระมาให้

และความจริงแล้ว ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการบำบัด แต่ก็ขึ้นกับแต่ละคนและความพร้อมของแต่ละครอบครัวด้วย บางคนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างร่วมกันในการรักษา จึงไม่อาจบอกได้ว่าโรคซึมเศร้าจะรักษาด้วยวิธีไหนที่ดีที่สุด

พ่อแม่อาจไม่รู้ว่าเวลาลูกไปโรงเรียนหรือออกจากบ้านไปแล้ว เกิดปัญหาอะไรขึ้นบ้าง เช่น ถูกเพื่อนหรือคุณครูบูลลี่ที่โรงเรียน อย่างที่เคยเห็นตามข่าว

ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นที่ไหน พ่อแม่ก็ควรทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยเมื่อกลับเข้าบ้าน ทำให้ลูกรู้สึกว่าบ้านเป็นที่ที่ปลอดภัย มีพ่อแม่คอยอยู่ข้างๆ เสมอ และไม่ว่าจะเพราะอะไร พ่อแม่ไม่ควรพูดซ้ำเติมลูกอย่างเด็ดขาด เช่น ก็เพราะลูกเป็นเด็กแบบนี้… นั่นจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกไม่มีที่พึ่ง หรือโลกนี้ไม่เหลือใครที่เข้าใจอีกต่อไปแล้ว โรคซึมเศร้าก็จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ลูกไม่อยากอยู่บนโลกนี้อีกต่อไป เพราะแม้กระทั่งพ่อแม่ก็ยังไม่เข้าใจเขา

แต่นอกจากนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปรึกษากับคุณครูหรือโรงเรียนของลูก ว่าจะมีวิธีการจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไรบ้าง

“เวลาที่ลูกเกิดปัญหา พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าถึงปัญหาของลูกให้ได้ก่อน หลังจากนั้นค่อยทำความเข้าใจ อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวคนเดียว”

ก่อนหน้านี้ มีข่าวเด็กนักเรียนถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน แล้วเครียดจนฆ่าตัวตาย (อ้างอิง) กรณีอย่างนี้ พ่อแม่จะสามารถปกป้องหรือสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ลูกไปถึงจุดที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายได้อย่างไร 

ในกรณีนี้จริงๆ หมอก็ตอบไม่ได้ว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า เพราะไม่แน่ใจว่าก่อนหน้านี้อารมณ์เขาเป็นยังไงบ้าง เขารู้สึกผิดมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องที่อาจจะต้องดูไปแต่ละคน

แต่ถ้าถามวิธีป้องกันไม่ให้ลูกฆ่าตัวตาย เช่น ถ้าเราพบว่าลูกไปถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน พ่อแม่ต้องเข้าใจลูกก่อน ว่าความจริงแล้ว ลูกต้องการให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ไหม แล้วเราจะดูแลจิตใจลูกยังไงหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้

เพราะฉะนั้น เวลาที่ลูกเกิดปัญหา พ่อแม่จำเป็นต้องเข้าถึงปัญหาของลูกให้ได้ก่อน หลังจากนั้นค่อยทำความเข้าใจ อย่าทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาต้องแก้ไขปัญหาด้วยตัวคนเดียว

สัมภาษณ์วันที่ 25 มกราคม 2566

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST