READING

TALK WITH DOCTOR: ไขข้อกังวลใจ ‘วัคซีนโควิด-19 กับ...

TALK WITH DOCTOR: ไขข้อกังวลใจ ‘วัคซีนโควิด-19 กับการตั้งครรภ์ ฉีดแล้วทำให้มีลูกยากจริงไหม ตั้งครรภ์อยู่ฉีดวัคซีนได้หรือเปล่า’

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังดำเนินไปเพื่อให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายไปในทางที่ดี แต่ก็อาจจะมีคนที่ยังกังวลใจว่าการฉีดวัคซีน จะทำให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการไม่พึงประสงค์ตามมาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่กำลังวางแผนมีลูกหรือตั้งครรภ์อยู่ก็ยังคงมีคำถามและความไม่แน่ใจว่าฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 จะทำให้มีลูกยากมากขึ้นหรือส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่

วันนี้เราจึงชวน คุณหมอพิม—พญ.สิริสุข อุ่ยตระกูล สูตินรีแพทย์เฉพาะทางด้านการรักษามีบุตรยาก มาตอบคำถามที่คุณพ่อคุณแม่หลายคนยังกังวลใจกันอยู่ค่ะ

• สำหรับครอบครัวที่กำลังวางแผนหรือตั้งใจว่าจะมีลูก สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ไหม

ตอนนี้สามารถรับวัคซีนได้เลย ตามไกด์ไลน์ของประเทศสหรัฐอเมริกาบอก ไม่ว่าจะวางแผนตั้งครรภ์หรือไม่ ก็ไม่จำเป็นต้องตรวจการตั้งครรภ์ก่อนฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยซ้ำ เพราะความจริงคือถ้าตอนนี้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ ก็แนะนำว่าให้ฉีดวัคซีนได้เลย เพราะตอนนี้ยังไม่มีรายงานและข้อมูลมากเพียงพอที่จะบอกว่าวัคซีนโควิด-19 จะส่งผลต่อเด็กในครรภ์

แต่เพราะวัคซีนโควิด-19 ยังเป็นวัคซีนที่ใหม่ ในอนาคตอาจจะมีรายงานออกมาเรื่อยๆ ก็ได้

ฝั่งอเมริกาที่ใช้วัคซีนโควิด-19 ชนิดmRNA ซึ่งก็คือ Pfizer และ Moderna เป็นหลัก ในฝั่งยุโรปก็จะใช้ AstraZeneca หรือแม้แต่วัคซีน Sinovac ของจีนก็ยังไม่มีรายงานว่าทำให้เกิดความผิดปกติกับคนที่วางแผนจะมีบุตร

บางคนอาจกังวลว่ากำลังจะตั้งครรภ์ แล้วถ้าไปฉีดวัคซีนโควิด-19 จะปลอดภัยไหม แต่ถ้าดูกระบวนการผลิตวัคซีน อย่าง Sinovac ก็คือการเอาเชื้อที่ตายแล้วมาฉีด เหมือนฉีดวัคซีนบาดทะยักสามารถฉีดให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ได้

แต่สำหรับวัคซีน Pzifer และ moderna มีผลการฉีดให้ผู้หญิงตั้งครรภ์ 30,000 คน ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์ขึ้นไปจนถึงใกล้คลอด ก็ยังไม่พบความผิดปกติทั้งกับคุณแม่และลูกในครรภ์

ด้านราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ก็ยืนยันว่าคนท้องสามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มีอยู่ในประเศไทยได้ แต่แนะนำว่าควรฉีดเมื่ออายุครรภ์ได้ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

แล้วตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลออกมาชัดเจนออกมาว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้มีสเปิร์มหรือรังไข่ลดลง ถึงแม้ว่าเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าไปอยู่ในน้ำอสุจิได้ เข้าไปอยู่ในฟองไข่ได้ก็ตาม

หลายครอบครัวมีความกังวลใจ เพราะอาจจะเคยได้ยินว่าฉีดวัคซีนแล้วอาจเกิดภาวะมีบุตรยาก มีความจริงเรื่องนี้หรือไม่

ด้วยตัววัคซีนเองไม่น่าส่งผลต่อการมีลูกยาก เพราะกระบวนการผลิตวัคซีนโควิด-19 ก็เหมือนกับวัคซีนหลายตัวที่มีมาก่อนหน้านี้ เช่น วัคซีน Sinovac ก็คล้ายวัคซีนป้องกันบาดทะยัก และวัคซีนป้องกันบาดทะยักก็ไม่ได้ส่งผลให้มีลูกยากมากขึ้น

แล้วตอนนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลออกมาชัดเจนออกมาว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ทำให้มีสเปิร์มหรือรังไข่ลดลง ถึงแม้ว่าเชื้อโควิด-19 สามารถเข้าไปอยู่ในน้ำอสุจิได้ เข้าไปอยู่ในฟองไข่ได้ก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลว่าเชื้อโควิด-19 ที่อยู่ในน้ำอสุจิหรือฟองไข่จะทำให้เกิดความผิดปกติรุนแรงต่อการมีลูก

• ถ้าหากคุณพ่อหรือคุณแม่ที่มีภาวะมีบุตรยากอยู่แล้ว หรือกำลังรักษาภาวะการมีบุตรยากอยู่ ก็ไม่จำเป็นต้องเลี่ยงการเข้ารับวัคซีนโควิด-19 

บางคนอาจจะกังวลว่า ต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบโดสก่อนตั้งครรภ์ ทำให้ต้องเว้นระยะการรักษาภาวะมีบุตรยาก แต่เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยออกมาว่าวัคซีนโควิด-19 ทำให้มีลูกยาก จึงขอแนะนำให้พิจารณาเป็นกรณีไป เช่น หากคู่สมรสที่อยู่ในช่วงวางแผนหรืออยู่ระหว่างการรักษามีบุตรยาก ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ครบโดสก่อนการตั้งครรภ์ได้ ส่วนในรายที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์แล้ว ก็แนะนำให้ตั้งครรภ์ครบ 12 สัปดาห์ก่อน แล้วจึงค่อยรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 หรือในคนไข้บางรายที่เริ่มกระบวนการรักษาโดยการทำเด็กหลอดแก้วแล้ว จนตอนนี้ได้เป็นตัวอ่อนที่แช่แข็งเก็บไว้ ก็อาจจะแนะนำให้รับการฉีดโควิด-19 ให้ครบโดสก่อน แล้วค่อยมาย้ายตัวอ่อนกลับสู่โพรงมดลูกเพื่อตั้งครรภ์ทีหลัง

อย่างไรก็ตาม การเข้ามาปรึกษาเรื่องวิธีรักษา ความเสี่ยง หรือภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากการฉีดวัคซีน เพื่อวางแผนการตั้งครรภ์ในอนาคต ก็เป็นเรื่องที่สามารถทำได้เลยทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอฉีดวัคซีนให้ครบโดหรือรอให้โควิด-19 หายไปซะก่อน เพราะถ้าหากเรารอจนเมื่อเราอายุมากขึ้นไปเรื่อย ๆ เราอาจจะกลายเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหามีลูกยากมากกว่าเดิมก็ได้

• หลังจากฉีดวัคซีนแล้ว หากมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ต้องระวังเป็นพิเศษหรือไม่

ในต่างประเทศมีหลายเคสที่ฉีดวัคซีนโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ และก็ไม่ได้พบปัญหาหรือความผิดปกติเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นการวางแผนมีลูก หรือจะปล่อยให้ตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติก็สามารถทำได้ แต่ในกลุ่มมีบุตรยากที่ใช้วิธีทำ IVF หรือเด็กหลอดแก้ว ซึ่งเป็นการแช่แข็งตัวอ่อนเอาไว้ แล้วค่อยละลายตัวอ่อนนำกลับเข้ามาใส่ในโพรงมดลูก ซึ่งจะสามารถละลายตัวอ่อนตอนไหนก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าคุณแม่กังวลมากว่าวัคซีนจะมีผลกับเด็ก จะรอฉีดวัคซีนให้ครบก่อนก็ได้

• ถ้าคุณแม่ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์จะส่งผลต่อลูกในครรภ์หรือไม่

ขึ้นอยู่กับว่าเป็นการติดเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรงแค่ไหน ต้องดูว่าคุณแม่มีอาการเหนื่อยหอบมากขนาดไหน ออกซิเจนที่ได้เป็นยังไงบ้าง เนื่องจากคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ การบริหารปอดก็จะต่ำกว่าผู้หญิงปกติอยู่แล้ว คนตั้งครรภ์ก็เลยจัดอยู่ในกลุ่มผู้ที่มีโอกาสจะเกิดความเสี่ยงสูงได้ เพราะฉะนั้นคนตั้งครรภ์ที่คิดว่ามีโอกาสที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ ก็ยิ่งแนะนำให้ฉีดวัคซีนเลยจะดีกว่า

แต่ถ้าคุณแม่ติดเชื้อโควิด-19 โดยที่ไม่มีอาการผิดปกติหรือรุนแรงอะไร ยังไม่ได้เหนื่อยหอบจนต้องใส่ท่อช่วยหายใจก็อาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อลูกในครรภ์ แต่ถ้าคุณแม่มีไข้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด-19 ก็อาจจะทำให้เกิดภาวะคลอดก่อนกำหนด หรือถ้าติดเชื้อแล้วมีไข้สูงในช่วงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์แรก อาจจะทำให้เกิดภาวะแท้งลูกได้ แต่เกิดจากการที่มีไข้สูงแล้วแท้ง ไม่ใช่แท้งจากการติดเชื้อโควิด-19 เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการติดเชื้อมากกว่า

การฉีดวัคซีนจึงช่วยลดความรุนแรงและการเกิดภาวะแทรกซ้อนทั้งคุณแม่และลูกในครรภ์ได้

• การรักษาโควิด-19 ในคุณแม่ตั้งครรภ์มีข้อควรระวังหรือไม่อย่างไร

การรักษาเหมือนกับคนไข้ทั่วไปเลย ในส่วนของโรคติดเชื้อโควิด-19 คุณหมออายุรกรรมจะเป็นคนดูแล ไม่ว่าจะเป็นอาการระบบทางเดินหายใจ หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ

ส่วนหมอสูติฯ จะช่วยมอนิเตอร์ลูกกับคุณแม่ว่ามีภาวะอะไรที่ทำให้จำเป็นต้องคลอดก่อนกำหนดหรือเปล่า ส่วนเรื่องยาที่ใช้ในการรักษาก็คล้ายกัน แทบไม่มีความแตกต่าง

• ที่ผ่านมีความสับสนสำหรับผู้ที่กำลังคุมกำเนิด โดยเฉพาะคนที่กินยาคุม ว่าจำเป็นต้องงดยาคุมหรือไม่ 

การคุมกำเนิดมีหลายวิธี สามารถแบ่งได้เป็น

การคุมกำเนิดโดยไม่ใช้ยาฮอร์โมน เช่น ถุงยางอนามัย ห่วงคุมกำเนิด ซึ่งการคุมกำเนิดวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่ต้องกังวลอะไรเลย

การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมนชนิดเดียว เช่น ฝังยาคุม ฉีดยาคุม ยาคุมกลุ่มนี้เป็นยาคุมกลุ่มที่เราสามารถใช้ในคนที่เป็นโรคทางอายุรกรรมได้เกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ โรคแพ้ภูมิตัวเอง

การคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมนสองชนิด เช่น กินยาคุมกำเนิดที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนทำให้มีโอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงกว่าคนที่ไม่ได้ทานยาอยู่แล้ว โดยไม่ขึ้นกับระยะเวลาที่ทานยาคุมกำเนิด แต่ส่วนใหญ่ในคนไทย โอกาสเกิดน้อยกว่าคนต่างชาติมาก เพราะอาจขึ้นกับเชื้อชาติหรือยีนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับการคุมกำเนิดแบบใช้ฮอร์โมนสองชนิด ไม่น่าทำให้โอกาสเกิดลิ่มเลือดอุดตันสูงขึ้น

 

แต่ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าการทานยาคุมกำเนิดจะทำให้มีโอกาสเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันสูง แต่ผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดก็สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้โดยไม่จำเป็นต้องหยุดยาคุมกำเนิดก่อน เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดที่มีในปัจจุบัน ยังไม่พบว่าการฉีดวัคซีนโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในผู้ที่ทานยาคุมกำเนิด รวมทั้งสตรีที่กำลังตั้งครรภ์หลังจาก 12 สัปดาห์ไปแล้ว หรือสตรีที่กำลังให้นมบุตรก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรปรึกษากับกับแพทย์เจ้าของไข้อีกครั้ง ซึ่งแพทย์ก็จะพิจารณาตามความเสี่ยง และโรคประจำตัวอีกครั้ง

สัมภาษณ์วันที่: 9 มิถุนายน 2564

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST