READING

สัตวแพทย์ Talk: เลี้ยงลูกกับหมาแมว โปรดฟังทางนี้!...

สัตวแพทย์ Talk: เลี้ยงลูกกับหมาแมว โปรดฟังทางนี้!

คำถามเต็มไปหมด แต่ถ้ายังไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี น.สพ. ณัฏฐ์ธิติ วิไลรัตน์ สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน จะมาขอตอบให้กระจ่าง

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยง

เด็กอายุเท่าไหร่ถึงมีสัตว์เลี้ยงได้

อายุเท่าไหร่ก็เลี้ยงได้ครับ แต่ถ้าเด็กอายุน้อยๆ ก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ รักษาความสะอาด ฉีดวัคซีนให้ครบทั้งเด็กและสัตว์เลี้ยงนะครับ เพราะสัตว์ก็มีโรคที่ส่งผ่านสู่คนได้

โรคที่ต้องระวัง

อย่างโรคพิษสุนัขบ้า ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาได้ เมื่อเริ่มแสดงอาการ สัตว์หรือผู้ป่วยจึงมีอัตราการเสียชีวิต 100% การป้องกันโดยการฉีดยาให้ตัวเองและสััตว์เลี้ยงตามที่แพทย์และสัตวแพทย์แนะนำจึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด

นอกจากนี้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก็อาจต้องระวังเช่นกันครับ เพราะเชื้อโรคบางชนิด เช่น โปรโตซัวบางชนิดที่ติดมาจากแมว อาจทำให้คุณแม่ติดเชื้อและแท้งได้

*โรคพิษสุนัขบ้า เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน และติดต่อได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เชื้อแพร่กระจายผ่านทางสารคัดหลั่งต่างๆ เช่น น้ำลาย น้ำมูก น้ำตา สามารถติดเชื้อผ่านทางการกัด หรือสัมผัสเชื้อเข้าสู่บาดแผล หลังจากเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะติดเชื้อไปที่ระบบประสาท และใช้เวลาฟักตัวหลายสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกัดก่อนจะแสดงอาการ

ถ้าลูกแอบกินอาหารกับสัตว์เลี้ยงจะอันตรายไหม

การกินอาหารนี้จะขึ้นอยู่กับความสะอาดเหมือนคนเลยครับ ถ้าเขาได้วัคซีนครบกันทั้งคนและสัตว์เลี้ยงแล้วก็ไม่เป็นอะไร เพราะความสะอาดของอาหารจะเชื่อถือได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับคนให้ครับ

เรื่องความสะอาดอื่นๆ

เจ้าของหลายท่านก็สามารถนอนร่วมกับสัตว์ได้ไม่มีปัญหา หากเจ้าของไม่ได้มีอาการแพ้ฝุ่นหรือขนสัตว์ รักษาความสะอาดและฝึกให้สัตว์เลี้ยงรักษาความสะอาดด้วย เพราะฉะนั้นพฤติกรรมหลายอย่างของสัตว์เลี้ยงก็มาจากผู้เลี้ยงเช่นกัน ว่าใส่ใจและฝึกเขาอย่างไรด้วย

ถ้าเด็กถูกสัตว์เลี้ยงกัด

ถ้าเกิดเหตุลูกถูกสุนัข แมว รวมถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ กัด

การดูแลเบื้องต้นหลังจากถูกกัดทันทีก็คือ ล้างบริเวณแผลด้วยสบู่ และ Providone-Iodine (Betadine®) หรือแอลกอฮอล์ 70% ในปริมาณมาก และรีบพาไปพบคุณหมอเพื่อรับวัคซีน Post-Exposure Rabies Vaccine และ Tetanus Toxoid

แล้วจะเตรียมตัวน้องแมวน้องหมาที่บ้านยังไงให้ปลอดภัยต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัว คุณหมอณัฏฐ์ธิติก็เตรียมคำแนะนำพื้นฐานในการเลี้ยงสัตว์มาให้แล้ว ถ้าทำครบตามนี้ ก็สบายใจ หายห่วงทั้งครอบครัว

คิดให้ดีก่อนเลี้ยง

1. เขาเป็นใครหนอ เขามาจากไหน

อันดับแรกต้องตั้งคำถามและตอบให้ได้ด้วยว่า สัตว์เลี้ยงของเรามาจากไหน สายพันธุ์อะไร อายุเท่าไหร่ นิสัยใจคอ ประวัติการรักษาหรือป้องกันโรคเป็นอย่างไร เพราะทั้งหมดนี้มีผลต่อโรคภัยไข้เจ็บของสัตว์ ซึ่งหมายความว่าการซื้อสัตว์เลี้ยงจากฟาร์มที่ได้มาตรฐาน หรือมีใบรับรองสายพันธุ์จะมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

นอกจากนี้สุนัขหรือแมวบางสายพันธุ์ที่มีนิสัยดุร้าย หวงของ หวงถิ่น หรือถูกพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ทำหน้าที่ต้อนสัตว์ ก็ไม่เหมาะที่จะเลี้ยงกับเด็กๆ

2. ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์แต่ละตัว

ทำความเข้าใจพฤติกรรมทางสายพันธุ์ของพวกมัน หากได้รับมาตั้งแต่เล็กต้องใส่ใจดูแลมากกว่าปกติเพื่อให้เขาคุ้นชินกับคน เพราะพฤติกรรม นิสัย หรือการเข้าสังคมของสัตว์จะถูกพัฒนาขึ้นมากในช่วงอายุไม่กี่เดือนแรก

หากได้รับสัตว์มาตอนมีอายุแล้วต้องดูที่นิสัยใจคอ เช่น ดุร้าย ขี้อ้อน เข้ากับเด็กได้หรือไม่ ถ้าเข้าไม่ได้ก็ต้องหาทางฝึกพวกเขา

3. เมื่อเลี้ยงแล้วก็ต้องดูแลให้ดีๆ

ไม่ว่าจะเป็นการอาบน้ำ เช็ดหู ตัดเล็บ แปรงฟัน จนถึงการเลือกอาหารให้เหมาะสมกับอายุและสายพันธุ์ แต่สิ่งสำคัญคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เพราะเชื้อโรคบางชนิดสามารถแพร่จากสัตว์สู่คนได้

พาเจ้าสี่ขาไปฉีดวัคซีน

ควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีควัคซีนตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับอายุ และภูมิคุ้มกันที่ได้รับถ่ายทอดมาตั้งแต่เกิด ประวัติการรับวัคซีน ประวัติการแพ้วัคซีน และสุขภาพของสัตว์เลี้ยงเอง

ซึ่งวัคซีนพื้นฐานในสุนัขและแมวนั้นแบ่งเป็นสามหมวดหลัก ดังนี้

1. วัคซีนหลัก (Core Vaccine) คือวัคซีนที่ต้องให้สุนัขและแมวทุกตัวเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อรุนแรงที่มีการแพร่ระบาดทั่วโลก

 

วัคซีนหลักสำหรับสุนัข ได้แก่

– วัคซีนไข้หัดสุนัข (Canine Distemper Virus: CDV)

– วัคซีนโรคตับอักเสบติดต่อหรืออะดีโนไวรัส (Canine Adenovirus: CAV)

– วัคซีนลำไส้อักเสบติดต่อหรือพาร์โวไวรัส (Canine Parvovirus; CPV)

 

วัคซีนหลักสำหรับแมว ได้แก่

– วัคซีนไข้หัดแมว (Feline Panleukopenia Virus: FPV)

– วัคซีนแคลิซิไวรัส (Feline Calicivirus) ป้องกันโรคที่มีผลต่อระบบทางเดินหายใจ

– วัคซีนเฮอร์ปีส์ไวรัส-1 (Feline Herpesvirus-1) ป้องกันโรคผิวหนังบริเวณปากและอวัยวะเพศ

*บางพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อพิษสุนัขบ้าเช่นในประเทศไทย จะระบุว่า วัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies Vaccine) เป็นวัคซีนหลักของทั้งสุนัขและแมว
โดยวัคซีนหลักแนะนำให้ครั้งแรกเมื่อสัตว์มีอายุ 8-9 สัปดาห์ขึ้นไป โดยฉีดอย่างน้อย 3 เข็มห่างกัน 3-4 สัปดาห์ และเข็มสุดท้ายเมื่อสัตว์อายุมากกว่า 16 สัปดาห์ขึ้นไป

 

2. วัคซีนทางเลือก (Non-Core Vaccine) ให้ตามความเสี่ยงต่อการโดนสัมผัสโรค

 

วัคซีนทางเลือกสำหรับสุนัข ได้แก่

– วัคซีนพาราอินฟลูเอนซ่าไวรัส (Canine Parainfluenza Virus: CPiV) ป้องกันการติดเชื้อของระบบหายใจ

– วัคซีนบอร์เดอเทลล่า (Bordetella Bronchiseptica) ป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ

– นอกจากนี้ยังมีวัคซีนโรคไข้ฉี่หนู (Leptospirosis) ที่ใช้เฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาด

 

วัคซีนทางเลือกสำหรับแมว ได้แก่

– วัคซีนลูคีเมียไวรัส (Feline Leukemia Virus: FeLV) ใช้เฉพาะในแมวที่ไม่ติดเชื้อ FeLV เท่านั้น จึงต้องมีการตรวจโรคก่อนทุกครั้ง

– วัคซีนคลาไมเดีย (Chlamydophila Felis) ป้องกันแบคทีเรียที่ทำให้เนื้อเยื่ออักเสบ

– วัคซีนบอร์เดอเทลล่า (Bordetella Bronchiseptica) ป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST