ความสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างพี่น้องที่พ่อแม่จะช่วยได้ ไม่ใช่แค่การสร้างความรัก ความเข้าใจระหว่างลูกแต่ละคนเท่านั้น แต่มันรวมไปถึงการช่วยให้ลูกๆ มีความเคารพต่อกัน และเข้าใจความรู้สึกของพี่น้อง ซึ่งมันจะมีผลกับพวกเขาว่าจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างพี่น้องอย่างไรไปตลอดชีวิต
วัยเด็กจึงเป็นวัยที่สำคัญที่สุดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ มาดู 12 เทคนิคดีๆ จาก ดร. แม็กดาลีน่า แบตเทิลส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กที่จะมาแนะนำคุณพ่อคุณแม่ ว่าจะสร้างความสัมพันธ์ดีๆ ระหว่างพี่น้องให้เหนียวแน่นได้อย่างไร
1. ศิลปะการขออภัย
ถ้าลูกมีทักษะการขออภัย เขาจะไม่แก้ตัว ไม่หาข้ออ้างมาลบความผิดตัวเอง แต่จะเรียนรู้ที่จะรู้ตัวว่าตัวเองทำอะไรอยู่ รู้ตัวว่าทำผิดอะไร และรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น และเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
เช่น ถ้าลูกแย่งของและทะเลาะกัน ต่างคนก็จะแก้ต่างให้ตัวเอง พ่อแม่ควรทำให้ลูกๆ รู้ว่า ทั้งคู่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อการทะเลาะกัน อย่าให้มันเป็นแค่คำพูดหรือเปิดโอกาสให้เขาแก้ตัวกัน
การขอโทษที่ไม่เหมาะสม: “ขอโทษที่ตีพี่ แต่พี่เอาของเล่นของผมไป”
การขอโทษที่เหมาะสม: “ขอโทษที่ผมตีพี่”
และถ้าพอจะมีทางชดเชยความผิดนั้นได้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องช่วยกระตุ้นลูกสักนิด เช่น ถ้าพี่ทำของเล่นของน้องพัง พี่ควรเสนอว่าจะพยายามหาของเล่นชิ้นอื่นมาชดเชย แต่ถ้าไม่… คุณพ่อคุณแม่อาจกำหนดบทลงโทษ และบอกให้ลูกเข้าใจ ว่าเขาถูกลงโทษเพราะเขาไม่คิดที่จะแก้ไขความผิดของตัวเอง
2. ศิลปะการให้อภัย
มีผลการวิจัยกล่าวว่า เมื่อใครสักคนเลือกที่จะให้อภัยหรือไม่นั้น มันเกี่ยวข้องกับทั้งความรู้สึกและร่างกายของเขา เราอาจจำเป็นต้องพูดให้อภัยทั้งที่ใจไม่ได้คิดอย่างนั้น หรืออาจไม่ยอมพูดว่าให้อภัย เพราะไม่อยากให้เหตุการณ์นั้นเกิดซ้ำ แต่ข้อมูลทางอารมณ์และร่างกายของคนเราบอกว่า ถ้าเก็บความขุ่นใจและความรู้สึกไม่ให้อภัยไว้ในใจนานๆ สุขภาพกายก็จะแย่ลงเพราะสภาพจิตใจที่ขุ่นมัว
เพราะฉะนั้น การสอนลูกให้รู้จักให้อภัยอย่างถูกวิธี จึงช่วยให้เขาแข็งแรงทั้งกายและใจ
โดยเริ่มจากการกระทำและคำพูดง่ายๆ ก่อนก็ได้ เพราะแม้ความรู้สึกขุ่นเคืองจะยังอยู่ แต่เวลาจะช่วยให้ลูกรู้สึกดีขึ้นได้จริงๆ
3. ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
พยายามคิดว่าช่วงไหนบ้างที่เด็กๆ จะมีโอกาสช่วยเหลือกันได้ แล้วให้พวกเขาช่วยเหลือกันตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ให้พี่แต่งตัว ป้อนข้าว ล้างมือ หรือทำเรื่องสนุกๆ อย่างอ่านการ์ตูน หรือร้องเพลงกับน้อง ตั้งแต่วัยที่น้องยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเมื่อโตไป พวกเขาจะช่วยเหลือกันในเรื่องใหญ่ๆ
4. บอกรักกันทุกวัน
คุณพ่อคุณแม่บางคนอาจคิดว่า การกระทำสำคัญกว่าคำพูด แต่ถ้าลูกๆ รักกันทั้งคำพูดและการกระทำก็ย่อมดีกว่า เพราะมันสอนให้พวกเขาพูดกันด้วยความนุ่มนวล
5. ท่าทางที่แสดงออกถึงความรัก
ผลวิจัยกล่าวว่า การกอดและแสดงออกทางความรักต่อกันในบ้าน มีผลต่อระดับ Oxytocin (สารหลั่งความสุข) ในร่างกายคนเรา เด็กๆ จึงต้องการการกอดและสัมผัสที่อบอุ่นจากพ่อแม่และพี่น้อง
6. ให้เด็กๆ อยู่กันเองบ้าง
ถ้าพ่อแม่ตัวติดกับลูกๆ ตลอดเวลา อาจทำให้พวกเขาไม่มีเวลาสร้างความสนิทสนมระหว่างกัน และไม่ได้เติบโตไปตามธรรมชาติของเด็ก เพราะฉะนั้น ต้องหาเวลาให้เด็กๆ เล่น เรียนรู้ ใช้เวลา และเติบโตร่วมกันนอกสายตาเราบ้าง
7. ไม่สร้างบรรยากาศของการแข่งขัน
อย่าเอาความสามารถของลูกแต่ละคนมาเปรียบเทียบกัน หรือเอาอีกคนมาข่มอีกคน จำไว้ว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกๆ เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และสร้างทีมเวิร์ก ไม่ใช่เพื่อแข่งขันกับอีกคน เช่น อย่าพูดว่า “ทำไมน้องไม่ทำความสะอาดห้องคะ ดูห้องพี่เขาสิ สะอาดมากเลย” เพราะมันจะทำให้ลูกรู้สึกไม่พอใจอีกคนได้
แทนที่จะยกย่องความสามารถที่โดดเด่นของลูกสักคน ลองชื่นชมโดยไม่ต้องเปรียบเทียบ หรือชื่นชมอะไรที่ลูกทุกคนมีเหมือนกันจะดีกว่า มันอาจจะยาก แต่ในฐานะของพ่อแม่ก็ต้องพยายามนะ
8. แบบอย่างเรื่องความเคารพและมีน้ำใจต่อกัน
คุณพ่อคุณแม่คือมาตรฐานและแบบอย่างที่ดีที่สุดของลูก ว่าพวกเขาต้องปฏิบัติต่อกันอย่างไรที่บ้าน เพราะฉะนั้น สอนพวกเขาให้เคารพซึ่งกันและกัน มีน้ำใจ ช่วยเหลือ พูดและทำดีให้เด็กๆ เห็น
9. สร้างความทรงจำที่จะติดตัวเด็กๆ ไปจนโต
ใช้เวลาทำเรื่องสนุกๆ กับลูกเยอะๆ และถ่ายภาพเก็บไว้เท่าที่เป็นไปได้ เพราะภาพสามารถแทนความรู้สึกนับพัน เพื่อให้พวกเขามีความทรงจำดีๆ ที่น่าจดจำ คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามสร้างความทรงจำที่มีค่าแบบที่ไม่ว่าเมื่อไหร่ แค่คิดถึงมันแล้วเขาก็จะยิ้มออกมาได้ยามเจอปัญหาในอนาคต
10. สร้างทักษะแก้ไขความขัดแย้งให้ลูกๆ
การทะเลาะกันของลูกๆ เป็นอะไรที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่พ่อแม่ต้องระวังให้ดี เพราะมีผลวิจัยที่พบว่า ‘ระดับความรุนแรงของความขัดแย้งระหว่างพี่น้องในวัยเด็ก สัมพันธ์กับแนวโน้มความรุนแรงในวัยผู้ใหญ่’
คุณพ่อคุณแม่อาจต้องกำหนดกฎบางอย่างที่จะลดการทะเลาะของลูกๆ และพูดให้พวกเขาเข้าใจง่ายๆ เช่น ถ้ามีการทะเลาะแย่งของเล่นกัน หรือมีคนที่ไม่ยอมแบ่งของเล่นให้อีกคน หรือไม่ยอมตกลงกันว่าใครจะเล่นก่อน หรือถ้าลูกยังไม่หยุดทะเลาะกันภายในเวลาที่กำหนด คุณจะยึดของเล่นทันที และต้องทำจริงตามที่พูดด้วย
แล้วหลังจากนั้น ต่อให้คุณไม่เห็น พวกเขาก็จะไม่ทะเลาะกันอีก
11. มองบวกและคิดดีกับพี่น้อง
ใช้ความติดใจสงสัยของลูกๆ กระชับความสัมพันธ์ของพวกเขา เช่น เมื่อพี่ผลักน้องล้มจนเจ็บ คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถามพี่ต่อหน้าน้องว่า “ลูกไม่ได้ตั้งใจทำน้องเจ็บใช่ไหม” แน่นอนว่าลูกต้องไม่ตั้งใจอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเปิดโอกาสให้พี่ได้อธิบายให้น้องฟังไปเลยว่ามันเป็นอุบัติเหตุ “พี่ขอโทษ พี่ไม่ได้ตั้งใจ แต่เผลอออกแรงเยอะไปหน่อย”
แล้วเหตุการณ์เหล่านี้จะทำให้ลูกๆ เข้าใจและยอมรับว่าพี่หรือน้องไม่ได้เป็นคนไม่ดี มันเป็นแค่อารมณ์หรืออุบัติเหตุเท่านั้น ไม่มีใครมีเจตนาจะทำร้ายอีกคน
12. โชคดีจังที่มีพี่น้อง
ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มีพี่น้อง เพราะฉะนั้น ทำให้ลูกๆ รู้ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่มีพี่น้อง ช่วยให้พวกเขาสนิทกันตั้งแต่ยังเล็ก แล้วความสัมพันธ์นี้จะดีต่อลูกๆ ไปทั้งชีวิตแน่นอน
NO COMMENT