มาช่วยกันสอนให้เด็กๆ เห็นว่าสัตว์ป่านั้นสำคัญ และเพราะอะไรจึงควรมีพวกมันอยู่ในธรรมชาติ แต่จะพูดเรื่องระบบนิเวศหรือสมดุลของธรรมชาติอาจยากเกินไป แล้วคุณพ่อคุณแม่จะปลูกฝังให้เด็กๆ เข้าใจการมีอยู่และความสำคัญของสัตว์ป่าในธรรมชาติได้อย่างไร
ลองดู 6 วิธีที่จะช่วยให้เด็กๆ รู้จักรัก ใส่ใจ และไม่โตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ทำร้ายสัตว์กันดีกว่า
1. ให้สัตว์เลี้ยงที่บ้านช่วยบอก

ให้ลูกเรียนรู้ว่า ‘เราใช้โลกใบนี้ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ’ เพื่อให้เด็กๆ ปฏิบัติตัวทั้งกับพืชและสัตว์ในฐานะที่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลกเหมือนกัน
อาจให้ลูกรับผิดชอบการให้อาหาร หรือล้างจานข้าวของสัตว์เลี้ยงที่บ้าน ไม่ใช่เพื่อปลูกฝังเรื่องหน้าที่หรือความรับผิดชอบเท่านั้น แต่เด็กๆ จะเข้าใจว่าการให้อาหารที่ดี จะช่วยให้สัตว์เลี้ยงมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข แล้วเขาจะใส่ใจต่อการให้ และการใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเช่นกัน
2. หนังสือที่ช่วยสอนให้ใส่ใจต่อสัตว์

มีหนังสือดีๆ มากมายที่ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจ เห็นใจ และหวังดีต่อสิ่งมีชีวิตร่วมโลกต่างๆ
ตัวอย่างรายชื่อหนังสือที่แนะนำโดย Jackie Small—คุณแม่ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ My Little Bookcase เผื่อว่าคุณพ่อคุณแม่จะลองหามาอ่านเล่นกับลูกๆ นะคะ
– How to Heal a Broken Wing เรื่องและภาพโดย Bob Graham
เรื่องอบอุ่นหัวใจของเด็กชายตัวเล็กที่บังเอิญพบนกน้อยบาดเจ็บ และพยายามทำทุกอย่างเพื่อดูแลรักษาให้นกน้อยได้กางปีกบินอีกครั้ง
– A Bit Lost เรื่องและภาพโดย Chris Haughton
นกฮูกตัวน้อยผู้พลัดตกจากรัง แต่เดือดร้อนสัตว์ทั้งป่าที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันพาน้องฮูกน้อยคืนสู่อ้อมอกแม่
– For All Creatures เรื่องและภาพโดย Glenda Millard และ Rebecca Cool
หนังสือที่กล่าวขอบคุณความงามของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ตั้งแต่เห็บหมัดตัวจิ๋ว ไปจนถึงปลาวาฬตัวยักษ์
– Millicent and Meer เรื่องและภาพโดย Richard Byrne
เพื่อนใหม่แสนวิเศษที่ตกลงมาจากฟากฟ้า เกิดเป็นมิตรภาพต่างสายพันธุ์ระหว่างเด็กหญิงตัวน้อยกับสัตว์ที่เธอเรียกว่าแมว… แต่จริงๆ แล้วมันคือเมียร์แคต
– Looking for Rex เรื่องโดย Jan Ormerod, ภาพโดย Carol Thompson
เมื่อหลานๆ อยากเห็นคุณตากลับมาสดใส เลยไปหาหมาน้อยมาเลี้ยง แต่คุณตาไม่ยอม งานนี้เด็กๆ เลยต้องแท็กทีมหาบทพิสูจน์ให้คุณตาเห็นว่าสัตว์เลี้ยงมันดีต่อใจ!
3. หาตุ๊กตา ของเล่นรูปสัตว์ป่าให้ลูก หรือชวนลูกประดิษฐ์มันขึ้นเอง

เด็กๆ มักจะติดของเล่นหรือตุ๊กตาของตัวเอง ถ้าเขาเล่นมันมาตั้งแต่เล็กๆ ก็จะเริ่มมีภาพจำความสัมพันธ์อันดีกับสัตว์ป่าชนิดนั้นๆ เพราะฉะนั้นจะหาสัตว์ป่าอย่าง จระเข้ สิงโต หมี หรือแม้แต่ปลาฉลามหลายๆ ตัวมาเป็นเพื่อนลูกก็ไม่ผิด แล้วเขาจะรู้ว่าเราควรอ่อนโยนและนุ่มนวลกับพวกมันได้อย่างไร
หรือจะชวนลูกวาด ปั้น ระบายสี ขีดเขียน ตัดแปะรูปสัตว์ป่า แล้วอธิบายชื่อให้เด็กๆ ทำความรู้จักก็ย่อมได้
4. ร้อง เต้น เล่นเพลง เลียนเสียง เลียนแบบสัตว์ป่า

คุณพ่อคุณแม่จะคำราม ขัน ขู่ เห่า หอน บินไปกับลูก ทำเสียงหมี เสียงหมาป่า หรือสิงโตเจ้าป่าก็ไม่ผิดอะไร เพราะมันช่วยให้ลูกเรียนรู้พฤติกรรมและวิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น หรือจะร้องตามเพลงเด็กหลายๆ เพลงให้เขาซึมซับจนรู้สึกผูกพันและหวงแหน เหมือนเป็นเพื่อนพ้องที่อยากให้มีอยู่ในป่า และไม่คิดที่จะไปทำร้ายพวกมัน
5. พูดคุยเรื่องสัตว์ป่า

อาจจะเป็นจากการชี้ให้ดูในทีวี หนังสือ หรือพาไปชมตามสวนสัตว์ เพื่อบอกให้เด็กๆ รู้ว่าสัตว์แต่ละตัวแต่ละชนิดเป็นอย่างไร มีหน้าตา พฤติกรรม นิสัย ความน่ารักน่าเอ็นดู หรือข้อควรระวังอย่างไรบ้าง พร้อมทั้งแสดงให้ลูกๆ เห็นว่าเพราะอะไรคนเราถึงต้องรักและหวงแหนพวกมันเอาไว้ แล้วเด็กๆ จะค่อยๆ ซึมซับพฤติกรรมตามคุณพ่อคุณแม่เอง
6. ไปสัมผัสของจริง

เด็กอายุหกเดือนขึ้นไปจะชอบสัมผัสสัตว์ต่างๆ แต่จะพาไปสัมผัสสัตว์ป่าเลยก็คงไม่ดีนัก เพราะฉะนั้นหาสิ่งมีชีวิตรอบบ้านให้เขาสังเกตหรือลองสัมผัสดู เพราะมันจะทำให้เด็กรู้จักเบามือและใส่ใจ ว่าจะต้องสัมผัสสัตว์อื่นอย่างไรไม่ให้มันเจ็บ
แล้วพอโตขึ้นอีกหน่อย ค่อยพาไปเข้าค่ายในป่าแบบที่ปลอดภัย ให้ได้สัมผัสธรรมชาติของจริงก็ยังได้
NO COMMENT