READING

“อย่าหลอกเด็กนะคุณพ่อคุณแม่”...

“อย่าหลอกเด็กนะคุณพ่อคุณแม่”

10 เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มักเผลอหลอกลูกๆ ไปโดยไม่รู้ตัว แต่เด็กๆ อาจจะซึมซับวิธีโกหกเหล่านี้ไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็ก Dr. E. Magdalena Battles เลยมีคำแนะนำมาให้ ว่าพ่อแม่จะเลี่ยงการโกหกเด็กอย่างไรได้บ้าง ซึ่งสถานการณ์บางอย่างสามารถเอามาปรับใช้กับคุณพ่อคุณแม่คนไทยได้เช่นกันนะคะ

1. “ซานตาคลอสมองลูกอยู่นะ”

แทนที่จะขู่ลูกว่าทำแบบนี้แล้วลุงซานต้าจะไม่ให้ของขวัญ ลองเปลี่ยนเป็นยึดอะไรบางอย่างที่ลูกมีอยู่ เพื่อให้เขารู้ว่าพฤติกรรมที่ทำจะมีผลลัพธ์เกิดขึ้นทันที เช่น ถ้าลูกทะเลาะกัน แล้วคุณบอกพวกเขาว่าลุงซานต้าดูลูกอยู่ สุดท้ายลูกก็จะค้นพบว่าคุณหลอกเขาอยู่ดี

ดังนั้น กำหนดบทลงโทษที่เป็นจริงเป็นจัง เช่น งดเล่นเกม งดดูทีวี หรือให้ลูกไปอยู่ในมุม time out (กำหนดพื้นที่สำหรับนั่งสำนึกผิด) ทันทีที่เขาทำผิดจะดีกว่า

2. “พ่อแม่จะไม่ยอมให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นกับลูกเด็ดขาด”

มันอาจเป็นความตั้งใจจริงของพ่อแม่ทุกคน แต่มันก็เป็นไปไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น พูดความจริงกับลูก แต่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาจะได้รับการปกป้องจากพ่อและแม่อย่างเต็มที่ แต่ต้องบอกให้เขารู้จักการปกป้องตัวเองไว้ด้วย เช่น เมื่อพากันออกไปข้างนอก พ่อแม่อาจบอกกับลูกๆ ว่า “พ่อแม่จะปกป้องหนูให้ถึงที่สุด แต่หนูก็ไม่ควรเดินห่างจากพ่อแม่นะ”

3. “สวนสาธารณะปิดจ้ะ”

สวนสาธารณะไม่ได้ปิด แต่คุณติดธุระจนพาลูกไปเที่ยวเล่นไม่ได้ แทนที่จะโกหกก็อธิบายความจริงไปดีกว่า ลูกอาจร้องไห้หรือไม่พอใจ แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเขาจะได้เรียนรู้ว่าชีวิตจริง เขาอาจไม่ได้ทุกสิ่งที่เขาร้องขอหรืออยากได้เสมอไป

การบอกความจริงกับลูก จะช่วยให้คุณเป็นพ่อแม่ที่เชื่อถือได้เสมอในสายตาลูก

4. “เชื่อพ่อกับแม่นะ ไม่เจ็บหรอก”

ลูกร้องไห้งอแงเพราะกำลังจะโดนฉีดยา คุณอาจจะเผลอปลอบใจเขาว่ามันไม่เจ็บ เพื่อให้เขาหยุดร้อง แต่ลูกก็รู้ว่าคุณโกหก เพราะคุณโกหกเขาไว้ตั้งแต่ครั้งแรกที่โดนฉีดยา ต่อมา ถ้าเขารู้สึกเจ็บจากการฉีดยา เขาจะนึกโทษคุณทันที

ทางที่ดีคือบอกให้เขารู้ว่ามันเจ็บแน่ๆ แต่แป๊บเดียวก็จะหายเป็นปกติ แล้วอธิบายว่าทำไมเขาต้องฉีดยา แล้วลูกจะเชื่อใจคุณมากขึ้นเป็นกอง

5. “ลูกคือศิลปินที่ยอดเยี่ยม หนูวาดภาพได้สุดยอดมาก!”

อย่าชมลูกพร่ำเพรื่อ ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นจริงๆ เชื่อไหมว่า เด็กไม่ได้หลอกง่ายอย่างที่คุณคิด พวกเขาจับน้ำเสียงกับภาษากายได้ และรู้ด้วยเวลาที่คุณไม่จริงใจ

เพราะฉะนั้น ชื่นชมในความสร้างสรรค์และความพยายามของลูกดีกว่า

6. “ได้เวลานอนแล้ว”

มันจะมีบางวันที่คุณอยากให้ลูกเข้านอนเร็วกว่าปกติ แต่ในเมื่อยังไม่ถึงเวลา ก็ไม่ควรไปบอกเขาว่าถึงเวลานอนของเขา ลองเปลี่ยนเป็นบอกว่า ได้เวลาเตรียมตัวเข้านอนแทนก็ยังได้

คำพูดมีความหมายมาก คุณต้องแน่ใจว่าตัวเองต้องการสื่อความหมายอะไรกับลูก เพราะมันเกี่ยวพันถึงความเชื่อมั่นระหว่างคุณกับลูก ถึงมันจะเป็นการโกหกเล็กๆ น้อยๆ แต่มันอาจนำไปสู่ประเด็นอื่นได้

7. “ไม่รู้ว่าใครเอางานที่ติดบนตู้เย็นของลูกไป”

คุณเป็นคนเก็บมันไปทิ้ง เพราะเราไม่สามารถเก็บผลงานทุกชิ้นของลูกๆ ได้หรอก

วิธีที่ดีที่สุดคืออธิบายความจริงให้ลูกฟัง แล้วให้ลูกเห็นว่าคุณมีกล่องหรือตู้เพื่อเก็บงานชิ้นที่มีความหมายต่อเขาจริงๆ และถ้ากล่องนั้นเต็ม ก็แปลว่าถึงเวลาที่ลูกจะต้องจัดการกับผลงานบางชิ้นออกไปบ้าง มันจะทำให้ลูกๆ มีความรับผิดชอบต่อชิ้นงานของตัวเอง

8. “ใกล้จะถึงแล้ว”

ความตั้งใจของคุณเป็นเรื่องดี เพราะคุณต้องการจะไปให้ถึงลูกเดี๋ยวนั้นจริงๆ แต่ในเมื่อคุณติดธุระอยู่ ก็บอกลูกไปเลยว่าคุณกำลังทำอะไร แต่หลังจากนั้นก็จะรีบไปหาเขาทันที

9. “พ่อกับแม่จะออกไปโดยไม่รอแล้วนะ”

แทนที่จะพูดอะไรที่น่ากลัว แต่คุณไม่มีวันทำแบบนั้น ลองพูดอะไรที่เป็นไปได้ เช่น ถ้าลูกไม่ใส่รองเท้าแล้วไปขึ้นรถภายในห้านาที ตอนเย็นหนูจะไม่ได้ดูทีวีแน่นอน และต้องมั่นใจว่าคุณทำตามที่พูดออกไปทุกครั้ง แล้วคุณจะพบว่าลูกจะเชื่อสิ่งที่คุณพูด ไม่ใช่เพราะกลัว แต่เพราะคำพูดของคุณมีน้ำหนักเสมอ

10. “เรามีเงินไม่พอที่จะ…”

ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง แทนที่จะโกหก ให้อธิบายเหตุผลในแบบที่ลูกจะเข้าใจได้ เขาจะเรียนรู้ที่จะได้อย่างเสียอย่าง และพ่อกับแม่ก็จะไม่ต้องคอยโกหกบ่อยๆ

หากเปรียบเทียบกันแล้ว การพูดความจริงดีกว่าการโกหกเป็นไหนๆ เพราะฉะนั้น สิ่งที่พ่อกับแม่ควรทำก็คือ…

1. ดูให้ออกว่าพฤติกรรมที่ควรปรับปรุงของลูกคืออะไร และรีบแก้ไข

เช่น ถ้าลูกงอแงทุกครั้งที่อยากได้ลูกอม แล้วคุณเอาตัวรอดด้วยการบอกว่า “เอาไว้คราวหน้าค่อยซื้อ” เขาก็จะงอแงต่อเพื่อขอลูกอมต่อไปเรื่อยๆ ดังนั้น บอกเหตุผลที่คุณไม่อยากให้เขากินลูกอม และถ้าเขาไม่เชื่อฟังก็ต้องมีการลงโทษ เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าคำพูดของคุณมีพลัง เชื่อถือได้

2. พูดความจริงดีกว่าพยายามหลีกเลี่ยงเพราะกลัวลูกเสียใจ

พูดความจริงออกไปแล้วลูกเสียใจในตอนนั้น ยังดีกว่าทำลายความเชื่อมั่นระหว่างคุณกับเขาไป เช่น ถ้าคุณลืมไปเชียร์ลูกแข่งฟุตบอล เพราะมัวแต่กินข้าวกับเพื่อน แทนที่จะแก้ตัวว่าติดธุระสำคัญเพราะกลัวลูกเสียใจ ควรขอโทษลูกไปตรงๆ เพราะความซื่อสัตย์เป็นสิ่งสำคัญ แม้คุณจะพลาด แต่ลูกก็จะเชื่อในคำพูดของคุณเสมอ

และความจริงก็คือ เด็กๆ สามารถรับมือกับความผิดหวังได้ดีกว่าที่ผู้ใหญ่คิด คุณสามารถพูดความจริงกับพวกเขาได้

ที่มา
Lifehack

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST