READING

NEWS UPDATE: ไข้เลือดออกกับโควิด-19 มีอาการคล้ายกั...

NEWS UPDATE: ไข้เลือดออกกับโควิด-19 มีอาการคล้ายกันอาจทำให้สับสน แนะผู้ปกครองสังเกตอาการ

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวน ทั้งอากาศร้อนและมีพายุส่งผลให้ฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในหลายจังหวัดพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด- 19 อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการดูแลและเฝ้าสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกกับโรคโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กเล็กจะป่วยง่าย และเด็กในกลุ่มอายุ ต่ำกว่า 5 ปี ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 หากพบว่าไม่สบาย มีไข้ ปวดเมื่อยร่างกาย ท้องเสียตรวจ ATK แล้วผลเป็นลบ ให้ระวังไข้เลือดออกร่วมด้วย

ด้าน นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ เปิดเผยว่า สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค

สำหรับโควิด-19 ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการคล้ายกับโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอาจมีไข้สูง อาเจียน หรือท้องเสียได้ ประวัติการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิดในระยะ 7-10 วัน และการทำ ATK ด้วยตนเอง จะช่วยคัดกรองแยกโรคได้ ในกรณีที่แยกไม่ได้ การตรวจเลือด เช่น การหาค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count) และการตรวจหาโปรตีนเอ็น เอส-หนึ่ง ของไวรัสไข้เลือดออก โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรกของไข้จะช่วยวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

สัญญาณอันตรายที่น่าสงสัยว่า เป็นไข้เลือดออกในระยะวิกฤต และมีโอกาสเข้าสู่ภาวะช็อก ได้แก่ ปวดท้องรุนแรง กระสับกระส่าย หรือร้องงอแงผิดปกติในทารก มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อยลง ต้องนำส่งโรงพยาบาลทันที ในรายที่มีไข้สูง 2-3 วัน โดยไม่มีอาการไอ น้ำมูกที่ชัดเจน ควรพาไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัย หรือส่งตรวจเลือดเพื่อเฝ้าระวังโรคไข้เลือดออก ก่อนจะเข้าสู่ระยะวิกฤตได้ ด้านการรักษาไข้เลือดออกปัจจุบันยังไม่มียาต้านเชื้อไวรัส

สำหรับโรคไข้เลือดออก การรักษาจึงเป็นไปตามอาการ มีไข้ให้เช็ดตัวและรับประทานยาพาราเซตามอลลดไข้เท่านั้น ห้ามใช้แอสไพรินไอบูโพรเฟน ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ร่วมด้วย โควิด-19 หากอาการไม่รุนแรง จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เมื่อมีไข้หรือปวดศีรษะ ให้ทานยาลดไข้ ส่วนใหญ่จะมีอาการไข้ไม่เกิน 2 – 3 วัน จะค่อยๆ ดีขึ้น หากมีน้ำมูก ให้ทานยาลดน้ำมูกเท่าที่จำเป็น หรือถ้าน้ำมูกข้นเขียว   ส่วนในเด็กโตสามารถล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ หากมีอาการไอให้รับประทานยาแก้ไอตามอาการ และจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ หากไข้สูงกว่า 39 องศาเซลเซียส หายใจหอบเร็วกว่าปกติ หน้าอกบุ๋ม ปีกจมูกบาน ตอนหายใจ ปากเขียว ระดับออกซิเจนปลายนิ้วน้อยกว่า 94% ซึมลง งอแง ไม่ดูดนม ไม่กินอาหาร ถ่ายเหลว หรืออาเจียนมากต่อเนื่องกัน ควรรีบนำเด็กไปโรงพยาบาลตามสิทธิ์หรือ โรงพยาบาลในเขตพื้นที่รับผิดชอบ

อ้างอิง
thaihealth

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST