NEWS UPDATE: ร่างกฎหมายห้ามตีเด็กผ่านแล้ว!

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2566 สส. พรรคก้าวไกล (ก่อนถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค) ได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อแก้ไข มาตรา 1567 (2) พ่อแม่ยังคงมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควรได้ แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษด้วยวิธีด้อยค่า

ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก ที่ สส. พรรคก้าวไกลเสนอ แก้ไขมาตรา 1567 เพียงอนุมาตราเดียว คือ อนุมาตราสอง โดยระบุว่า สามารถทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนตามสมควร แต่ต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรมหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า

ร่างกฎหมายห้ามตีเด็กเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่งครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 แต่ยังพิจารณาไม่แล้วเสร็จในวันนั้นเพราะประธานในที่ประชุมสั่งเลื่อนการพิจารณาออกไป จึงพิจารณาต่อในวันที่ 24 กรกฎาคม 2567 โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติ รับหลักการ ร่างกฎหมายดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 401 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง จากประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส. พรรคเพื่อไทย ไร้เสียงไม่เห็นด้วยและงดออกเสียง กล่าวได้ว่า สส. ในสภา “เสียงไม่แตก” เห็นพ้องต้องกันที่จะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าว

ในการพิจารณาวาระหนึ่ง เมื่อ 10 กรกฎาคม 2567 ภัสรินทร์ รามวงศ์ สส. พรรคประชาชน อภิปรายหลักการและเหตุผลในการแก้ไขกฎหมาย ใจความว่า จากผลการศึกษางานวิจัยหลายชิ้นระบุตรงกันว่า การลงโทษเด็กด้วยการตีส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบประสาทพัฒนาการของเด็ก รวมถึงกระบวนการสร้างคลื่นบริเวณเยื่อหุ้มสมองที่เป็นสัญญาณของการถูกคุกคามและหวาดกลัว การทำโทษบ่อยครั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการของระบบประสาทในวัยรุ่น ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า งานวิจัยทั้งหมดแสดงให้เห็นตรงกันว่าการเฆี่ยนตีและทำร้ายเด็กไม่สามารถทำให้เด็กมีพัฒนาการได้อย่างสมควร และเด็กที่ถูกเลี้ยงมาในสภาพที่เต็มไปด้วยความรุนแรงในครอบครัวมักจบลงด้วยการแสดงออกที่ก้าวร้าวเสมอ

กมธ. พิจารณาร่างกฎหมายห้ามตีเด็ก นัดประชุมเก้านัดตั้งแต่ 31 กรกฎาคม ถึง 16 ตุลาคม 2567 ในการพิจารณาชั้นกมธ. เสนอเปลี่ยนแปลงถ้อยคำว่า ‘หรือทำโทษอื่นใดอันเป็นการด้อยค่า’ โดยใช้คำว่า ‘กระทำโดยมิชอบ’ แทนเพื่อให้ครอบคลุมถึงรูปแบบการลงโทษหลายประเภท เช่น การลงโทษด้วยวิธีด้อยค่า ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อย่างไรก็ดี นอกจากถ้อยคำข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่กมธ. เห็นต่างกัน คือ ‘การเฆี่ยนตี’ โดยกมธ. ข้างมากเสนอให้ระบุว่า ผู้ปกครองทำโทษบุตรเพื่อสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรมโดยต้องไม่กระทำทารุณกรรมหรือกระทำด้วยความรุนแรงหรือทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ไม่เป็นการเฆี่ยนตี หรือกระทำโดยมิชอบ

อย่างไรก็ดี กมธ. ข้างน้อย ณรงค์ศักดิ์ ทองสุข เห็นต่างออกไป เสนอให้ตัดคำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป โดยระบุว่า ทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ

เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ชั้นสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 30 ตุลาคม 2567 ณัฐวุฒิ บัวประทุม สส. พรรคประชาชน หนึ่งในกมธ. อภิปรายว่า คำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ที่เป็นที่ถกเถียงกันนั้น กมธ.เสียงข้างมาก ยังคงเห็นว่าต้องมีถ้อยคำดังกล่าว เพราะต้องการเน้นย้ำให้สังคมตระหนักว่า การไม่ตีเด็กจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา และส่งเสริมการพัฒนาของเด็กในระยะยาวมากกว่า แต่แม้จะตัดคำว่า ‘ไม่เป็นการเฆี่ยนตี’ ออกไป ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ปกครองสามารถเฆี่ยนตีเด็กได้ หากเฆี่ยนตีเด็กจนก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรือจิตใจ ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้นข้อเสนอทั้งข้อเสนอของกมธ. ข้างมาก และกมธ. ข้างน้อย จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อเนื้อหาสาระสำคัญ

ในการพิจารณาวาระสอง ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นด้วยกับแนวทางของ กมธ.เสียงข้างน้อย 253 เสียง เห็นด้วยกับ กมธ. เสียงข้างมาก มีจำนวนทั้งสิ้น 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง หลังจากนั้นจึงลงมติเห็นด้วยร่างในวาระสาม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 391 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง กระบวนการต่อไปคือการส่งร่างให้วุฒิสภาพิจารณาอีกสามวาระ โดยเนื้อหาร่างจะเป็นไปตามที่กมธ. ข้างน้อยเสนอ ซึ่งระบุว่า ผู้ปกครองมีสิทธิทำโทษบุตรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอนหรือปรับพฤติกรรม โดยต้องไม่เป็นการกระทำทารุณกรรม หรือกระทำร้ายด้วยความรุนแรงต่อร่างกาย จิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ

ทั้งนี้ เนื่องจากวันที่ 30 ตุลาคม 2567 เป็นวันสุดท้ายของสมัยประชุม และจะเปิดสมัยประชุมสภาอีกครั้งในวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ร่างกฎหมายห้ามตีเด็กจะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในช่วงเปิดสมัยประชุมแล้ว

อ้างอิง
ilaw

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST