ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 25) พ.ศ. 2568 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยกฎหมายฉบับนี้ แก้ไขมาตรา 1567 (2) กำหนดให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถทำโทษบุตรได้เพื่ออบรมสั่งสอน แต่ต้องไม่เป็นการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ ทารุณกรรม หรือกระทำโดยมิชอบ
ก่อนหน้านี้ มาตรา 1567 (2) เดิม อนุญาตให้พ่อแม่ลงโทษบุตร ‘ตามสมควร’ โดยไม่มีเงื่อนไขชัดเจน ส่งผลให้เกิดข้อถกเถียงว่าการลงโทษบางรูปแบบอาจเข้าข่ายความรุนแรง โดยพ่อแม่ยังคงสามารถอ้างว่าเป็นการอบรมสั่งสอน แม้เด็กที่ถูกกระทำจะสามารถร้องเรียนผ่านกลไกยุติธรรมเพื่อให้ศาลพิจารณาถอนอำนาจปกครองของพ่อแม่หรือดำเนินคดีอาญาฐานทำร้ายร่างกายได้ แต่การเข้าถึงกระบวนการเหล่านี้ทำได้ยาก
กฎหมายฉบับใหม่จึงถูกแก้ไขให้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยตัดคำว่า ‘ตามสมควร’ ออกไป และกำหนดชัดว่า พ่อแม่ต้องไม่ทำโทษด้วยวิธีที่เป็นการทารุณกรรม ทำร้ายร่างกาย หรือจิตใจ หรือกระทำโดยมิชอบ
พระราชบัญญัตินี้ถือเป็น กฎหมายฉบับแรกที่เสนอโดยฝ่ายค้าน และผ่านการพิจารณาของรัฐสภาโดยไม่มีร่างประกบจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเป็นหมุดหมายสำคัญของไทยในการคุ้มครองสิทธิเด็ก ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และส่งเสริมแนวทางการเลี้ยงดูเชิงบวก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
รายละเอียดกระบวนการพิจารณาในวุฒิสภา
รายละเอียดกระบวนการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร
COMMENTS ARE OFF THIS POST