READING

ตะคอกเสียงดังใส่ลูกทำไม มาดูเทคนิคดีๆ ที่จะทำให้ล...

ตะคอกเสียงดังใส่ลูกทำไม มาดูเทคนิคดีๆ ที่จะทำให้ลูกฟังเรา

รู้ไหมสำหรับเด็กๆ แล้วการตะโกนเสียงดังใส่เขามีผลเทียบเท่ากับการตี

คุณพ่อคุณแม่ที่มักตะโกนหรือพูดให้ดังขึ้นเวลาลูกไม่ยอมฟัง แม้จะรู้ว่ามันไม่ใช่วิธีที่ดี แต่หลายครั้งก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว… ลองใจเย็นๆ แล้วหาทางรับมือกับความดื้อของเจ้าตัวแสบด้วยวิธีอื่นกันดีกว่า

1. การตะคอกลูกไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไรเลย

พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการตะคอกลูก ถ้าทำบ่อยๆ สุดท้ายมันจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะคุณจะต้องตะโกนให้ดังขึ้นเรื่อยๆ

สุดท้ายแล้วลูกจะรู้ว่ามันก็เป็นแค่การตะคอก แต่จะไม่ปรับปรุงพฤติกรรมอยู่ดี

2. ใช้วิธียื่นคำขาด การกระซิบที่เด็ดขาดอาจได้ผลมากกว่า

ลองสื่อสารด้วยภาษานุ่มนวลที่เด็กเข้าใจได้ทันที และรู้ว่าจะมีผลอะไรตามมาถ้าเขาไม่ทำตามที่คุณกล่าว มันเป็นวิธีง่ายๆ ที่ใช้แก้พฤติกรรมลูก ซึ่งมีพื้นฐานอยู่สามขั้นตอน ดังนี้

  • ถ้าลูกทำอะไรไม่เหมาะสม ให้บอกลูกด้วยน้ำเสียงปกติแต่จริงจังว่าทำไมมันถึงผิด และต้องแก้ไขอย่างไร ถ้าลูกไม่เชื่อฟังจะมีผลตามมาอย่างไร

 

  • ขอบคุณที่ลูกเชื่อฟัง แต่จะไม่มีการเตือนซ้ำสำหรับเด็กดื้อ

ถ้าลูกหยุดพฤติกรรมนั้นแล้ว ให้อธิบายเหตุผลทั้งหมดและขอบคุณที่รับฟังเรา แต่ถ้าเขาไม่หยุด คุณต้องลงโทษตามที่คุณบอกไว้

 

  • พูดให้ลูกเข้าใจว่าเพราะอะไรถึงต้องลงโทษ

3. พูดแล้วต้องทำ ทำให้ลูกรู้ว่าคุณเอาจริง

คำเตือนของคุณต้องชัดเจน และบทลงโทษจะต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ เพราะถ้าลูกรู้ว่าคุณไม่สามารถทำตามที่พูดได้ เขาก็จะไม่เปลี่ยนพฤติกรรมเช่นกัน

4. การเปลี่ยนพฤติกรรมแบบถาวรต้องเกิดขึ้นจากหัวใจ

คุณต้องทำให้ลูกเข้าใจด้วยหัวใจ ไม่ใช่สมองที่ทำไปตามคำสั่งเหมือนหุ่นยนต์เพราะกลัวโดนลงโทษ คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจปัญหาและแก้ที่ต้นเหตุ ให้ลูกเปลี่ยนทั้งความคิดและความรู้สึก มีทิปส์เล็กๆ ว่าคุณต้องพูดในลักษณะที่ อยู่ในระดับเดียวกับลูก เพราะถ้าคุณยืนพูดอยู่เหนือหัว โบกไม้โบกมือ แล้วใช้น้ำเสียงที่ขึงขังเกินจริง ความหวังดีเหล่านั้นลูกจะไม่พยายามเข้าใจมัน

วิธีที่จะสื่อสารกับลูกๆ ให้เขารับฟัง

ย่อตัวหรือนั่งคุยในระดับเดียวกับลูก

ดวงตาเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทรงพลัง มองให้เห็นดวงตาของกันและกัน ใช้ดวงตาสื่อสารกับเขาขณะที่พูด ให้เขารู้ว่าเรื่องที่พูดอยู่มีความสำคัญ

เรียกชื่อลูก

ทำให้มันเป็นเรื่องส่วนตัว เรียกชื่อของลูกตอนที่พูด แล้วเขาจะรู้ว่านี่คือเรื่องของเขา ไม่เกี่ยวกับคนอื่น

ใช้วิธีที่นุ่มนวล

คิดให้ดีก่อนจะขึ้นเสียงกับลูก คิดเสมอว่าลูกเป็นเด็ก ลูกไม่ได้มีประสบการณ์ชีวิตแบบคุณ พวกเขาเพิ่งจะเรียนรู้และเติบโต ดังนั้น พูดคุยด้วยความเห็นอกเห็นใจ ใช้โทนเสียงที่นุ่มนวลแต่มั่นคง และหมายความตามที่พูด หลีกเลี่ยงการขึ้นเสียง

ใช้คำง่ายๆ

เด็กน้อยยังไม่เข้าใจคำหรือความหมายที่ยิ่งใหญ่ เพราะฉะนั้นใช้คำให้ง่าย ได้ใจความ อย่าพูดอะไรแบบผู้ใหญ่หรือข้อความยาวๆ เพราะเขาอาจสับสนประเด็น

ฟังที่ลูกพูด

ตอนที่คุณนั่งลงตรงข้ามกับลูก มันจะไม่ใช่การสื่อสารทางเดียวอีกต่อไป ให้เวลาเขาตอบคุณกลับบ้าง และคุณต้องฟังเขา

ใช้ ‘ตัวเรา’ เป็นหลักในการพูด และให้ลูกทำเช่นนี้ด้วย

เริ่มบทสนทนาด้วยคำว่าพ่อหรือแม่ เพราะมันชัดเจนกว่า เช่น “แม่เสียใจที่หนูตีเพื่อนนะ” เพื่อแสดงให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่เขาทำนั้นส่งผลกระทบต่อคนอื่น รวมถึงความรู้สึกของคุณด้วย ซึ่งเด็กจะรับความรู้สึกนี้ได้มากกว่าการบอกว่าเขาทำผิด

พยายามให้ลูกพูดด้วยความเป็น ‘ตัวเรา’ แล้วเขาจะไม่ไปโทษใครอื่น เช่น “อย่าทุบกระจก เพราะแม่ไม่อยากให้หนูเจ็บ และถ้าหนูเจ็บ แม่ก็เสียใจเหมือนกัน”

แสดงให้ลูกรู้ว่าคุณเข้าใจ ด้วยการทวนคำพูดของเขา

แม้คุณจะไม่ได้เห็นด้วยกับลูก แต่คุณต้องเข้าใจมุมมองของเขาด้วยการทวนคำพูดของลูก แต่อธิบายเพิ่มเติมไปด้วยถ้ารู้สึกว่าสิ่งที่ลูกเข้าใจนั้นผิด แล้วเขาจะรู้ว่าคุณให้ความสำคัญกับมุมมองของเขา มันจะทำให้คุณรู้ว่าปัญหาคืออะไร

5. ให้ลูกรู้จัก ‘ใจเขาใจเรา’

เมื่อมีการทะเลาะกัน คุณต้องทำให้เด็กทั้งคู่เห็นมุมมองของอีกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายที่เริ่มก่อน

6. ให้ลูกคิดจากมุมของคนอื่น

อย่าร้องขอให้ลูกทำ แต่สอนให้ลูกคิดว่าตัวเองจะรู้สึกยังไงถ้าเป็นคนคนนั้น กระบวนการคิดนี้จะทำให้ลูกเปลี่ยนทั้งความคิดและจิตใจ

7. ต้องรู้จักขอโทษและให้อภัย

คุณต้องสอนให้ลูกรู้จักขอโทษ และสอนให้เขารู้ว่าการขอให้ผู้อื่นให้อภัยนั้นสำคัญ เพราะมันเป็นทักษะการใช้ชีวิตที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมและการแสดงออกของลูกได้

8. สอนให้ลูกรู้สึกอยากขอโทษด้วยหัวใจ

ลูกต้องหาวิธีแก้ไขสิ่งที่ตัวเองทำผิดให้ได้ เช่น ถ้าลูกทำของเล่นเพื่อนพัง อย่าเสนอตัวว่าจะซื้อของเล่นชิ้นใหม่ให้เพื่อนทันที แต่ให้ลูกคิดว่าเมื่อทำผิดต่อคนอื่นจะต้องชดใช้อย่างไร

ซึ่งการขอโทษไม่ได้อยู่ที่คำพูด แต่คือการเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเอง เพราะเด็กๆ มักต่อต้านการพูดขอโทษ เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่านั่นคือความผิดของเขา คุณต้องทำให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำของเขาส่งผลร้ายต่อคนอื่นอย่างไร และเรียนรู้ที่จะแก้ไขมัน

อ้างอิง
Parents
Lifehack
Living Joy Daily
ขอบคุณภาพจาก Stock Snap

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST