มาฟังประสบการณ์ตรงจากคุณพ่อคุณแม่ที่มาแชร์ให้เราฟัง พร้อมคำแนะนำจากคุณหมอว่าจะรับมือลูกน้อยที่งอแงและวอแวไม่ยอมหยุดอย่างไรดี
ประสบการณ์ตรงจากคุณพ่อคุณแม่ที่มาแชร์ให้เราฟัง
1. คุณแม่เก๋กับลูกชายจอมซนสองคน ‘มิวมิว’ วัย 7 ขวบ และ ‘มีโม่’ วัย 3 ขวบ
“เวลาออกไปข้างนอกเขาชอบแกล้งกันเอง คนพี่แซวคนน้อง คนน้องฟ้องพ่อ พ่อดุ ร้องไห้ แต่เขาจะไม่โวยวายเสียงดังนะ เราก็ต้องเบี่ยงเบนความสนใจ คือจะพกของที่พวกเขาแต่ละคนชอบไว้ตลอด จะมีกระเป๋าเขากระเป๋าเราติดตัวไปเสมอ อย่างมิวมิวชอบปากกาสมุดขีดเขียน ถ้างอแงขึ้นมาก็หาอะไรให้อ่าน ชี้ชวนให้ดูนั่นนี่ก็จะสงบ
ส่วนตัวเล็กนี่ยังชอบพวกตุ๊กตาของเล่นเด็กเล็กๆ อยู่ เขายิ้มง่าย แต่เวลาโวยวายก็ร้ายไม่เบา คืออยากจะร้องก็ร้องเลย สุดเสียง แล้วก็ห้ามไปแย่งของเล่นของเขาเลยนะ หงุดหงิดทันที ต้องโอ๋กัน กอดกัน หรือไม่ก็พาเดินออกไปจากตรงนั้น เปลี่ยนบรรยากาศ เปลี่ยนสถานที่ไปเลยค่ะ เราต้องรู้จักธรรมชาติของลูกแต่ละคนด้วยค่ะ ก็ปรับตามเขาไป”
2. คุณแม่ปอกับลูกทั้งสี่ ‘จากัวร์’ วัย 8 ขวบ ‘อัลฟ่า’ วัย 5 ขวบ และน้องแฝด ‘เบนซ์’ และ ‘บีเอ็ม’ วัย 2 ขวบ
“ฝึกล่วงหน้าไปจากที่บ้านค่ะ เด็กๆ บ้านนี้ไม่มีไปร้องที่ร้าน กรี๊ดนี่ยิ่งไม่มีค่ะ เพราะตอนที่ทำ แม่จะบอกพวกเขาว่าแม่ไม่ชอบ เขาก็จะไม่ทำอีก หรือเวลาไปกินข้าวนอกบ้านก็จะไม่วิ่งไปมา ทุกคนนั่งโต๊ะ กินข้าวเอง พอสัก 15 นาทีเขาจะอิ่ม แม่กับพ่อก็สลับกันอุ้มออกไปเดินเล่นนอกร้าน อีกคนกิน เวลาไปเดินห้างก็จะอยู่บนรถเข็นเด็ก ไม่ก็รถเข็นห้าง ถ้างอแงก็จะมีนมกล่อง น้ำ ขนม ผ้ากัด เตรียมไว้เป็นตัวช่วย งอแงหนักที่สุดคือเราก็แค่อุ้มค่ะ เขาก็หยุด”
3. คุณแม่หนิงกับน้องแฝดหญิงทั้งสี่คน ‘พรีม’ ‘เพลิน’ ‘เพลง’ และ ‘พราว’ วัย 4 ขวบ
“ประจำค่ะ (หัวเราะ) อันดับแรกเลย ต้องดูว่าที่ลูกร้องไห้เพราะเหตุผลอะไร ง่วงนอน หิวข้าว
ร้อน เหนื่อย หรือแค่อ้อน
ถ้าเป็นเหตุผล เพราะง่วงนอน หิว เหนื่อย… ก็แก้ตามนั้นไป พ่อแม่ต้องคอยสังเกตสาเหตุที่ลูกร้องไห้ และงอแง แม่ก็จะถามว่า ‘หนูร้องไห้เพราะอะไร… หรือหนูร้องไห้เพราะ… ใช่ไหมคะ’ และช่วยแนะแนวทางแก้ปัญหาให้เขา เช่น หนูร้องไห้เพราะเหนื่อย งั้นเราพักก่อนไหม
หรือบางทีแค่อ้อน แต่บอกว่าเหนื่อย ก็ต้องบอกว่าเราตกลงกันแล้วว่าหนูออกมาเที่ยว หนูจะเดินเอง เป็นเด็กดี หนูควรจะทำตามที่เราคุยกันไว้นะคะ
ซึ่งเหตุผล-สาเหตุก็จะต่างกันไปตามแต่ละคน แต่ละวัยด้วยค่ะ หลักๆ คือพ่อแม่ต้องเข้าใจลูก บอกว่าเรารู้และช่วยแนะแนวทาง เผื่อให้ลูกหัดแก้ปัญหาเองด้วยค่ะ”
4. คุณแม่แพรกับน้อง ‘แอลวิน’ วัย 3 เดือน
“เคยพาออกจากบ้านครั้งแรกไปห้างสรรพสินค้า เขาร้องห้างแตกเลยค่ะ วิธีการแก้ไขของเราคือใช้จุกหลอกกับอุ้มเขาขึ้นมาแล้วพาเดินไปเรื่อยๆ ค่ะ พอเขาหลับค่อยวางกลับไปที่รถเข็น แต่วิธีนี้ใช้ไม่ได้กับตอนที่แกหิวนะคะ คือเราเองต้องดูว่าจริงๆ แล้วแกต้องการอะไร ถ้ากินนมแล้ว เปลี่ยนผ้าอ้อมแล้ว ไม่ได้ปวดท้องหรือไม่ได้ไม่สบาย เด็กทารกช่วง 0-3 เดือนแรกต้องการการปรับตัว ฉะนั้นเราต้องอุ้มเขาบ่อยๆ อยู่กับเขาเวลาที่เขาต้องการค่ะ
และบ้านแพรลูกยังเล็กด้วยแหละ ยังไม่มีฟังก์ชันอื่นเพิ่มนอกจากการอุ้มค่ะ (หัวเราะ)”
5. คุณแม่บีกับน้อง ‘โบเก้’ วัย 1 ขวบ
“ตอนนั้นเราสองคนแม่ลูกกำลังเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัด ระยะทาง 200 กิโลเมตร แล้วอยู่ดีๆ ลูกก็ร้องไห้งอแงตอนนั่งอยู่บนคาร์ซีต พร้อมทั้งไม่ยอมนอนเลยตลอดเวลาที่เดินทางค่ะ
วิธีแก้ปัญหาของแม่บีคือ เราต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือลูกงอแง มีนม ขนมที่ลูกชอบ ตุ๊กตา ของเล่น และเพลงหลากหลายแบบ เพื่อไม่ให้เขาเกิดความเบื่อหน่ายขณะเดินทาง และตลอดระยะเวลาการเดินทางจะจอดแวะพักตามปั๊มใหญ่ๆ เพื่อพาลูกเดินเล่น ผ่อนคลาย เพราะเขาอาจเมื่อยหรือล้าในการนั่งคาร์ซีตนานๆ และเวลาที่อยู่บนรถด้วยกันสองคน เราก็จะทำกิจกรรมกับลูกไปด้วย เช่น ร้องเพลงให้ลูกฟัง โยกตัว ตบมือ ถามลูกเพื่อให้เขามีส่วนร่วมกับเราตลอด เช่น ใครสวยยกมือขึ้น
ครอบครัวแม่บีถือว่าเดินทางบ่อย ถ้าลูกไม่นอนหลับขณะที่แม่ขับรถ เราก็จะใช้วิธีนี้กับลูกตลอด”
6. คุณแม่นิดนก กับน้อง ‘นณญ’ วัย 6 เดือน
ส่วนใหญ่แล้วถ้านนออกนอกบ้านจะไม่ค่อยงอแง จะเป็นโหมดสอดส่ายสายตาสังเกตนู่นนี่ แต่ก็มีวันที่องค์ลงและร้องไห้กรี๊ดกร๊าดบ้าง ซึ่งเราก็จะรู้จักลูกเราประมาณนึงละ ว่าถ้าเขาร้องไห้งอแง จะหายได้ด้วยการอุ้มเดินแล้วตบหลัง ถ้ายังไม่หายก็เอาของเล่นให้เล่นเบนความสนใจเขาหน่อย ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ป้อนนม ส่วนใหญ่แค่สองสามสเต็ปนี้ก็จะเอาอยู่แล้วแหละ ไม่ค่อยซับซ้อนมาก
เมื่ออาทิตย์ก่อนพานนไปอควาเรียม ซึ่งมันเป็นที่ที่ค่อนข้างเสียงก้อง ส่วนนนก็อยู่ในวัยที่ช่างกรี๊ดมาก คือเข้าใจว่าเขาไม่ได้เป็นอะไร แค่อยากกรี๊ด อยากวอร์มเสียงไปประกวดเดอะวอยซ์คิดส์มั้ง เลยกรี๊ดขิงกรี๊ดข่าไปตลอดทาง ปกติถ้าอยู่ในสวน หรือที่กว้างๆ เราจะปล่อยให้เขากรี๊ดเต็มที่เลยนะ ไม่อยากขัดใจวัยรุ่น แต่วันนั้นมันเป็นที่แคบๆ มืดๆ การที่มีเสียงเด็กกรี๊ดกร๊าดนี่มันน่ารำคาญสำหรับคนอื่นแหละ เกรงใจมาก เลยลัดขั้นตอนด้วยการหาที่นั่งแล้วเอานมให้กิน นนก็กินไปกรี๊ดไป ดิ้นดุ๊กดิ๊กๆ คนข้างๆ เริ่มมองละ เลยพาอุ้มเดินตบหลังไปสามที เอ้า หลับ หลับไปตรงหน้าตู้เพนกวิน เออ เราเลยได้รู้ว่า อ่อ เขางอแงเพราะง่วง แล้วเราแก้ปัญหาผิดจุดเอง
เราเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรู้วิธีที่จะจัดการลูกแหละ และทุกคนก็เกรงใจคนแถวนั้นเวลาที่เสียงลูกเราร้องงอแงดังๆ แล้วเริ่มมีสายตาพยาบาทจ้องเขม็งมา เราแค่อยากจะบอกว่า ใจเย็นนะพี่ เรารู้ว่าลูกเราร้อง และเรากำลังจะจัดการกับเขา เด็กไม่ใช่กดรีโมตแล้วจะหยุดร้องได้ ขอใช้เวลานิดนึง เราไม่ได้ปล่อยปละละเลยนะ เราทำหน้าที่ของเราอยู่ ให้โอกาสเราด้วย (ส่งสายตาวิงวอน)
คุณหมอแนะนำวิธีรับมือลูกน้อยร้องไห้ไม่ยอมหยุด
ถ้าฟังประสบการณ์จากคุณแม่ทุกท่านแล้วยังไม่แน่ใจ ไม่ต้องกังวลใจไป เพราะแพทย์หญิง สิริพิมพ์ หนูเส็ง กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ประจำโรงพยาบาลพญาไท 1 จะมาไขความกระจ่าง และบอกคุณพ่อคุณแม่เองว่า ต่อไปนี้ ถ้าลูกน้อยร้อง ให้ทำตามนี้เลย…
ถ้าลูกร้องในที่สาธารณะ ควรแก้ไขหรือหยุดด้วยวิธีไหนจะดีที่สุด
1. เบี่ยงเบนความสนใจของลูก หรือหากิจกรรมใหม่ๆ ให้ทำ
เช่น อ่านหนังสือ เล่านิทาน เล่นของเล่น และบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจต้องเป็นผู้บอกลูกเองด้วยว่าให้เขาทำอะไรแทนดี เพราะอะไร
2. หากลูกแสดงออกว่าโกรธแบบไม่รุนแรง: ยืนดูใกล้ๆ หรือจับตัวลูกไว้ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรจนกว่าลูกจะสงบ
หากลูกแสดงออกว่าโกรธแบบไม่รุนแรง เช่น ร้องไห้ กรีดร้อง เตะขา อาจเพิกเฉยได้ โดยยืนดูใกล้ๆ หรือจับตัวลูกไว้ โดยที่ไม่ต้องพูดอะไรจนกว่าลูกจะสงบ จากนั้นพยายามหาทางช่วยให้เขาไปสนใจสิ่งอื่นแทน ถ้าลูกโตพอที่จะเข้าใจ ก็ลองพูดคุยถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และเตรียมวิธีแก้ไขในครั้งต่อไปไว้ให้พร้อม
3. การร้องอาละวาดแบบที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้: ใช้วิธี time-out หรือการขอเวลานอก
ได้แก่ ทำร้ายตัวเองหรือคนอื่น ทำลายข้าวของ กรีดร้อง หรือตะโกนเป็นเวลานานมากๆ การใช้วิธี time-out หรือการขอเวลานอก คือการนำเด็กออกจากสถานที่เกิดเหตุ แล้วพาเขาไปที่ที่เขาจะสามารถควบคุมตัวเองได้ ใช้สำหรับเด็กที่โตพอจะเข้าใจเหตุผล โดยให้เวลานอก 1 นาทีต่ออายุที่เป็นปี เช่น อายุ 5 ปี ให้ time-out นาน 5 นาที เป็นต้น
4. ไม่ควรทำโทษหรือใช้รางวัลเพื่อให้หยุดพฤติกรรม
การทำโทษเด็กขณะที่เขาร้องอาละวาด อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กเก็บความคับข้องใจไว้ และมีปัญหาทางอารมณ์ต่อไป แต่ก็ต้องพยายามไม่ใช้รางวัลเพื่อให้เด็กหยุดพฤติกรรม เพราะจะทำให้เขาคิดว่าวิธีนี้ทำให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ
ปัญหาที่พบบ่อย: พ่อแม่บางท่านอาจไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ยื่นสมาร์ตโฟนให้ลูก
จริงๆ แล้วไม่ควรทำ เพราะการที่ลูกติดสมาร์ตโฟนหรือแท็บเล็ต จะทำให้เกิดผลเสียตามมาได้หลายประการ ได้แก่
- ร่างกายไม่พัฒนาไปตามวัย เพราะลูกนั่งนิ่งๆ ตลอดเวลา ทำให้ไม่ได้ขยับร่างกาย เด็กจะไม่แข็งแรง ไม่คล่องแคล่ว ป่วยง่าย ป่วยบ่อย
- เสี่ยงต่อภาวะสายตาเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บริเวณจอประสาทตา
- พัฒนาการทางภาษาและสังคมล่าช้า เข้าสังคมยาก เพราะไม่ค่อยได้เล่นกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกัน ทำให้ขาดการปรับตัวเมื่อต้องเข้าสู่สังคม
- ผลเสียด้านอารมณ์ ลูกจะเป็นคนขี้โมโห หงุดหงิด ก้าวร้าว เพราะหน้าจอที่ลูกดู เคลื่อนไหวรวดเร็วตามที่ต้องการ ทำให้ลูกไม่รู้จักอดทนและรอคอยไม่เป็น
NO COMMENT