READING

8 มีนาคม ‘วันสตรีสากล’ ความเป็นมาและข้อเสนอเพื่อยก...

8 มีนาคม ‘วันสตรีสากล’ ความเป็นมาและข้อเสนอเพื่อยกระดับความเท่าเทียมทางเพศ

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น วันสตรีสากล (International Women’s Day) ซึ่งเดิมเรียกว่า วันสตรีแรงงานสากล (International Working Women’s Day) เป็นวันที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองและแสดงความนับถือต่อผู้หญิง ที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ซึ่งในหลายประเทศให้วันนี้ผู้หญิงหยุดงานได้

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1857 บรรดาแรงงานหญิงราว 15,000 คน ที่ทำงานในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พากันเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง เพิ่มค่าแรง รวมถึงให้สตรีมีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง

โดยในปีต่อมาทางพรรคสังคมนิยมแห่งสหรัฐฯ ประกาศให้วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีมีการชุมนุมของบรรดาแรงงานหญิงที่ได้รับความไม่เป็นธรรม หลังจากนั้นในปี 1975 สหประชาชาติ (United Nations) ก็ประกาศให้วันนี้เป็นวันสตรีสากล

จากนั้นวันสตรีสากลก็ได้กลายเป็นวันแห่งการเฉลิมฉลองความสำเร็จและความก้าวหน้าของผู้หญิงทางด้านสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ ในขณะที่รากเหง้าทางการเมืองของวันนี้คือการผละงานประท้วงเพื่อจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องให้เกิดความเสมอภาคทางเพศต่อไป

 

สำหรับความเคลื่อนไหวในประเทศไทย น.ส.ธนวดี ท่าจีน ผู้ประสานงานคณะทำงานเครือข่ายองค์กรเด็กและสตรี พร้อมด้วยมูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิ พิทักษ์สตรี มูลนิธิชุมชนไท มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพจังหวัดชายแดนใต้ เป็นต้น เข้าพบตัวแทนรัฐบาล ยื่น 8 ข้อเสนอเพื่อหารือออกเป็นนโยบาย

สำหรับข้อเรียกร้อง 8 ข้อ เช่น ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งรัดและยกระดับคดีเกี่ยวกับเพศ เนื้อตัวร่างกาย คดีครอบครัว และการค้ามนุษย์ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กสตรี เป็นคดีพิเศษเทียบเท่าคดีอาชญากรรมร้ายแรง เนื่องจากมีเหยื่ออีกมากที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกจากนี้รัฐบาลต้องไม่สนับสนุน หรือผลักดันสถานบริการทางเพศ บ่อนการพนัน บุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นเรื่องถูกกฎหมายเพื่อจัดเก็บภาษี

น.ส.ธนวดี กล่าวต่อว่า รัฐควรจัดสวัสดิการให้แม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นรายเดือน กรณีที่ฝ่ายชายไม่รับผิดชอบค่าเลี้ยงดู อันเกิดจากการหย่าร้าง ลดพื่นที่เสี่ยงต่อการละเมิดทางเพศ การมีเพศสัมพันธ์ในวัยเรียน รวมถึงการเพิ่มเนื้อหาวิชาตัวของเราและร่างกายของเรา เพื่อให้เด็กรู้จักการปกป้องตัวเองจากการถูกละเมิดทางเพศ และการบูลลี่ เร่งขับเคลื่อนการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) ส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ

ขอให้ควบคุมสื่อลามกอนาจารที่ล่อแหลม และให้มีหลักสูตรในโรงเรียน ให้เด็กเข้าใจถึงภัยที่จะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ รวมถึงขอความร่วมมือไปถึงผู้จัดทำละคร และโฆษณาคำนึงถึงการเผยแพร่ข่าวมากชู้หลายเมีย เนื้อหาตบตี ด่าทอ และการใช้อาวุธความรุนแรง เพราะจะส่งผลให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบ

ด้าน น.ส.รัชดา กล่าวว่า ขอบคุณภาคประชาสังคม ที่ทำงานด้านเด็ก และสตรีอย่างเข้มแข็ง เป็นกำลังสำคัญสะท้อนปัญหามายังภาครัฐ ซึ่งทุกเรื่องจะนำเรียนนายกฯ ทั้งนี้ หลายเรื่องที่เสนอมานั้น รัฐบาลได้ดำเนินการอยู่ เช่น การให้กระทรวงศึกษาธิการผลักดันการให้ความรู้เกี่ยวการบูลลี่ การแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อสตรี เด็ก และความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งรัฐบาลยกให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยในโอกาสหน้าจะเสนอให้ครม. พิจารณา อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างที่เสนอมา หากเรื่องใดสามารถดำเนินการได้ ก็จะผลักดันและแก้ปัญหาทันที

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็ใช้วันสตรีสากลใต้แคมเปญ #breakthebias #IWD2022 ปักหมุดประกาศจะศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า, ประกาศนำร่องโครงการในพรรคเพื่อไทย และจัดนิทรรศการเรื่องผ้าอนามัย อวัยวะเพศ และความเป็นผู้หญิง เพื่อศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้หญิง และฝ่าอคติทางเพศไปพร้อมกัน


อ้างอิง
prachachat
thaipost

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST