มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) กูรูเรื่องการจัดบ้าน เจ้าของหนังสือทฤษฎีการจัดบ้านแบบ KonMari ที่นิตยสารไทม์ยกให้เธอเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลของโลก เมื่อปี 2015
หลังจากเป็นเจ้าของหนังสือเบสต์เซลเลอร์ The Life-Changing Magic of Tidying Up (หรือ ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้าน ด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว โดยสำนักพิมพ์วีเลิร์น) ชีวิตของเธอก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อเธอมีลูกสาวคนแรก… และตามมาด้วยคนที่สอง
เราอาจคิดว่าโลกที่เคยเป็นระบบระเบียบของเธอจะต้องสั่นคลอนเพราะลูกน้อยทั้งสอง แต่…
“ฉันเซอร์ไพรส์เลยแหละ ตอนที่เห็นซัตสึกิเอาพวกสมุด ตุ๊กตาสัตว์ และของเล่นไปเก็บได้ถูกที่กว่าที่ฉันคาดเอาไว้”
สเตตัสที่เธอเขียนถึงซัตสึกิ—ลูกสาววัยสองขวบ กลับทำให้เรารู้ว่า มันก็ไม่แน่เสมอไป
“ลูกยังพยายามจะเลียนแบบวิธีพับผ้าของฉัน แต่ฉันก็เอามาพับใหม่ตอนที่เขาไม่เห็นนะ”
ใช่แล้ว แม้แต่ลูกสาววัยสองขวบของเธอก็ยังรู้จักวิธีการแบบ KonMari
หนังสือต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นของเธอถูกแปลและตีพิมพ์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2014 แล้วหนังสือก็ถูกแปลไปเป็นภาษาอื่นๆ และมียอดขายรวมกว่า 8 ล้านเล่มทั่วโลก จนแฟนๆ ยกให้นามสกุล Kondo ของเธอ กลายเป็นคำที่มีความหมายว่า การโละทิ้งสิ่งไม่จำเป็นออกจากบ้าน หรือการพับเสื้อผ้าอย่างพิถีพิถัน
ทฤษฎีการจัดบ้านของเธอได้รับความสนใจจากทั่วโลก เธอบอกให้คนอ่าน รู้จักจัดของให้เป็นหมวดหมู่ และหยิบของแต่ละชิ้นขึ้นมาถามตัวเองว่ามันสำคัญกับเราไหม ถ้าไม่ ก็ส่งของชิ้นนั้นไปยังที่ที่มันควรอยู่เสียเถิด

แต่ไม่นานหลังจากนั้น ทฤษฎีของเธอก็ถูกทดสอบ เมื่อเธอตั้งครรภ์ลูกคนแรก
คนโดะบอกกับ The Wall Street Journal ว่า “ตอนที่พวกเรารู้ว่ากำลังจะมีลูก สามีกับฉันก็ได้เจอกับเทศกาลจัดระเบียบบ้านอีกครั้ง เราต้องปรึกษากันว่าเราต้องการพื้นที่เท่าไหร่ เราควรให้ลูกใช้ลิ้นชักกี่ใบ”
เธอยังบอกอีกว่าการเคลียร์บ้านเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับลูก ยิ่งทำให้รู้ว่าบ้านเรามีอะไรมากเกินไปได้ง่ายขึ้น
และสิ่งที่ซัตสึกิทำให้เธอเห็นตั้งแต่ยังเล็กๆ เช่น การรู้ว่าต้องเอาไม้ถูพื้นไปแยงเข้ามุมเพื่อเอาฝุ่นออกมา ทำให้คนโดะมั่นใจว่า เธอสามารถสอนให้ลูกเป็นคนมีระเบียบเรียบร้อยได้ตั้งแต่หนึ่งขวบ หรือเมื่อลูกเริ่มลุกขึ้นเดิน
และมันก็จะถึงตาของมิโกะ—ลูกสาวคนเล็กวัย 10 เดือน ที่น่าจะทำได้แบบพี่สาวในเร็วๆ นี้เช่นกัน
คนโดะบอกว่าเธอไม่ได้เป็นคุณแม่ที่จู้จี้ และเธอก็ให้ความสำคัญกับเรื่องที่ทำให้ลูกๆ สนุกสนาน
ทาคุมิ คาวาฮาร่า (Takumi Kawahara) สามีวัย 33 ปี ของคอนโดะบอกว่า ก่อนแต่งงานเขาคิดว่าตัวเองเก่งเรื่องงานบ้านไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของหนุ่มญี่ปุ่นทั่วไป
“แต่ทักษะพวกนั้นพอมาเจอคนโดะ ก็ต้องขัดเกลาใหม่หมดเลย”
ถึงอย่างนั้น คนโดะบอกว่าทฤษฎีของเธอไม่มีรูปแบบตายตัว และต้องรู้จักปรับให้เข้ากับแต่ละครอบครัว “จากประสบการณ์การเป็นพ่อแม่ครั้งแรก ฉันเรียนรู้ว่าพวกเราไม่มีเวลามากขนาดนั้น”
เธอแนะนำพ่อแม่ว่าให้โฟกัสที่การค่อยๆ จัดการกับสิ่งของเพื่อแก้ปัญหา แม้ว่าปกติเทคนิคของเธอจะบอกว่าการจัดการทั้งหมดให้จบในรวดเดียว จะได้ประสิทธิภาพมากกว่า แต่ก็ต้องเป็นข้อยกเว้นสำหรับครอบครัวที่มีเด็กเล็กอยู่ดี
คนโดะบอกว่า เธอกำลังคิดจะออกหนังสือภาพสักเล่มที่พูดถึงความมีระเบียบ ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต ประมาณกลางปีหน้า
“เมื่อเด็กๆ ผ่านความเสียใจที่ต้องทิ้งสิ่งของของตัวเองไปได้ เขาจะได้ประสบการณ์ดีๆ จากมัน”

เคล็ดลับสำหรับครอบครัวที่มีเจ้าตัวเล็ก จากมาริเอะ คนโดะ
1. ไม่มีคำว่าเร็วเกินไปที่จะเรียนรู้เรื่องการจัดระเบียบ
คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักการจัดระเบียบสิ่งของได้ตั้งแต่เข้าวัยหนึ่งขวบ
2. คุณพ่อคุณแม่ต้องจัดการตัวเองให้ได้ก่อน
คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า บ้านที่มีระเบียบนั้นหน้าตาเป็นยังไง และทำให้ลูกเห็นว่าการจัดบ้านนั้นเป็นเรื่องสนุกสนาน
3. ตัดสินใจว่าจะให้พื้นที่กับลูกมากแค่ไหน
ต้องตระหนักว่าบ้านของตัวเองมีพื้นที่แค่ไหน มีห้องกี่ห้อง เพื่อป้องกันไม่ให้ซื้อสิ่งของเข้ามามากเกินความจำเป็น แล้วมันจะช่วยให้บ้านของทุกคนเป็นระเบียบได้
4. ลูกต้องรู้ว่าพวกเขามีพื้นที่ของตัวเองเท่าไหร่
ถ้าลูกมีสิ่งของเก็บไว้มากเกินพื้นที่ของตัวเอง ให้พวกเขาเลือกของที่มีคุณค่าต่อจิตใจ หรือของเล่นชิ้นที่ชอบเก็บไว้ และรู้จักเลือกว่าจะต้องทิ้งอะไรออกไปบ้าง
5. สอนลูกพับผ้า
เริ่มจากถุงเท้า เพราะมันพับง่ายที่สุดแล้ว
NO COMMENT