READING

NEWS UPDATE: นักวิจัยถ่ายโอนความทรงจำลงในหอยทากสำเ...

NEWS UPDATE: นักวิจัยถ่ายโอนความทรงจำลงในหอยทากสำเร็จแล้ว

นักวิจัยถ่ายโอนข้อมูลทางพันธุกรรมที่เรียกว่า RNA จากหอยทากตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง ทำให้พวกมันมีพฤติกรรมเดียวกันได้สำเร็จแล้ว

 

การถ่ายโอนหน่วยความทรงจำ เป็นหัวใจสำคัญของนิยายวิทยาศาสตร์มานานหลายทศวรรษ แต่นักวิทยาศาสตร์กำลังทำให้มันเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการปลูกถ่ายความทรงจำ ด้วยการถ่ายโอนข้อมูลทางพันธุกรรมที่เรียกว่า RNA จากหอยทากตัวหนึ่งไปยังอีกตัวหนึ่ง

 

งานวิจัยนี้ตีพิมพ์ลงในวารสาร eNeuro และอาจเป็นข้อมูลใหม่ เพื่อการวิจัยค้นคว้าเรื่องพื้นฐานทางกายภาพของหน่วยความจำต่อไป

 

โดยหอยทากกลุ่มแรกจะได้รับการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และแสดงปฏิกิริยาบางอย่างเพื่อป้องกันตัวเอง ทว่า เมื่อ RNA ของหอยทากกลุ่มแรกถูกแทรกเข้าไปในตัวหอยทากกลุ่มที่สอง ที่ไม่ผ่านขั้นตอนการกระตุ้นใดๆ พวกมันกลับมีปฏิกิริยาเช่นเดียวกับตัวที่ได้รับการฝึก

 

RNA ย่อมาจาก Ribonucleic Acid เป็นโมเลกุลขนาดใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญทางชีววิทยาภายในสิ่งมีชีวิต ซึ่งรวมถึงการรวมกลุ่มของโปรตีน และวิธีการแสดงออกของยีนโดยทั่วไป

 

ซึ่งนักวิจัยทำการทดลองโดยส่งคลื่นไฟฟ้าระดับเบาไปที่หางของสัตว์ทดลอง คือหอยทากทะเลสายพันธุ์ Aplysia Californica หลังจากที่ได้รับกระแสไฟฟ้า หอยทากจะหดตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากอันตรายที่เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น

 

จากนั้นนักวิจัยจะลองตบเบาๆ ที่ตัวหอยทาก และพวกเขาพบว่าตัวที่เคยได้รับกระแสไฟฟ้าจะหดตัว เพื่อป้องกันตัวเองยาวนานประมาณ 50 วินาที ในขณะที่ตัวที่ไม่ได้รับแรงกระแทก จะหดตัวเพียงประมาณ 1 วินาทีเท่านั้น เพราะหอยทากที่ได้รับกระแสไฟฟ้าจะรู้สึกไวกว่าเมื่อถูกกระตุ้น

 

การทดลองนี้ นักวิจัยดึง RNA จากระบบประสาทของหอยทากที่ได้รับกระแสไฟฟ้า และฉีดเข้าไปในหอยทากขนาดเล็กอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับการกระตุ้นใดๆ

 

ปรากฏว่าหอยทากที่ไม่ได้รับการกระตุ้น แต่ถูกใส่ RNA ของหอยทากที่ได้รับการกระตุ้นลงไป จะแสดงปฏิกิริยาราวกับว่าตัวเองได้รับกระแสไฟฟ้าที่หาง และหดตัวป้องกันนานประมาณ 40 วินาที และนักวิจัยได้ผลที่คล้ายกัน เมื่อพวกเขาทำสิ่งเดียวกันกับเซลล์ประสาทบนจานเพาะเชื้อ

 

ศาสตราจารย์เดวิด กลันซแมน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนจาก University of California, Los Angeles (UCLA) กล่าวว่า “มันเหมือนกับเราถ่ายโอนความทรงจำ”

 

และพวกเขาวิจัยโดยระวังไม่ให้พวกมันเจ็บเช่นกัน “หอยทากกลุ่มนี้เป็นหอยทากทะเล เมื่อพวกมันตกใจจะปล่อยหมึกสีม่วงสวยงาม เพื่อซ่อนตัวจากผู้ล่า ดังนั้น สีม่วงที่คุณเห็นจึงเกิดจากความตกใจ และปล่อยสีออกมาตามธรรมชาติ โดยไม่มีอาการบาดเจ็บทางกายภาพจากกระแสไฟฟ้าใดๆ”

 

โดยปกติแล้ว ความทรงจำระยะยาวเชื่อว่าถูกเก็บไว้ที่ไซแนปส์ (จุดประสานประสาท) ของสมอง เป็นทางแยกระหว่างเซลล์ประสาท ซึ่งเซลล์ประสาทแต่ละตัวมีไซแนปส์หลายพันตัว

 

แต่ศาสตราจารย์เดวิดกล่าวว่า “ถ้าความทรงจำถูกเก็บไว้ที่ไซแนบส์จริงละก็ การทดลองของเราไม่มีทางสำเร็จแน่นอน”

 

ขณะที่ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาเชิงบูรณาการของ UCLA กลับเชื่อในมุมมองที่ต่างกันว่า ความทรงจำถูกเก็บไว้ในนิวเคลียสของเซลล์ประสาท ซึ่งงานวิจัยนั้นสนับสนุนข้อมูลที่เชื่อกันมาหลายทศวรรษที่ผ่านมาว่า RNA มีผลต่อหน่วยความจำ

 

ชนิดของ RNA ที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบครั้งนี้ เชื่อกันว่ามีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานต่างๆ ในเซลล์ ที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการและโรคภัยไข้เจ็บ

 

นักวิจัยกล่าวว่าเซลล์และกระบวนการทางโมเลกุลของหอยทากทะเลนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับเซลล์ในมนุษย์ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วหอยทากจะมีเซลล์ในระบบประสาทส่วนกลางประมาณ 20,000 เซลล์ และมนุษย์น่าจะมีถึง 1 แสนล้านเซลล์ก็ตาม

 

นักวิจัยเชื่อว่าผลลัพธ์เหล่านี้ จะนำไปสู่การบรรเทาผลกระทบของโรคบางชนิดได้ อย่างโรคสมองเสื่อม หรือผู้มีภาวะป่วยทางจิต จากเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD)

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์เดวิดยังไม่แน่ใจว่า กระบวนการนี้จะเอื้อต่อการปลูกฝังความทรงจำที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิตได้หรือไม่ แต่เขาก็มองโลกในแง่ดีว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดเก็บข้อมูลในหน่วยความจำจะมีมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่โอกาสในการค้นพบข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับหน่วยความจำต่อไป

 

อ้างอิง
BBC

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST