มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พยายามศึกษาผลของการใช้ยารักษาโรคซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ โดยงานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่ายาทำให้เสี่ยงต่อการแท้ง และบางชิ้นก็กำลังศึกษาผลที่อาจเกิดขึ้นกับทารก เช่น ความพิการและความเสี่ยงในการเป็นโรคออทิสติก แต่ก็ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ตั้งคำถามต่องานวิจัยเบื้องต้นเหล่านี้
การศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Pediatrics นำโดยคลอเดีย ลูโก แคนเดอลาส—นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ที่ศึกษาเรื่องนี้โดยการถ่ายภาพสมองของทารก 98 คนหลังคลอดหนึ่งเดือน ซึ่งมีทารกที่แม่มีภาวะซึมเศร้า แล้วรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้ากลุ่ม Selective Serotonin Reuptake Inhibitors (SSRIs), แม่ที่มีภาวะซึมเศร้าแต่ไม่ได้ใช้ยา และแม่ที่ไม่มีภาวะซึมเศร้า
ซึ่งพบว่าทารกที่แม่ทาน SSRIs มีเนื้อสมองบริเวณส่วนที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และส่วนที่ประมวลผลทางด้านอารมณ์โตขึ้น และมีการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทที่หนาแน่นสำหรับทั้งสองส่วนนี้ ซึ่งมากกว่าทารกจากแม่อีกสองกลุ่ม
โดยบริเวณสมองที่ได้รับผลกระทบคือ Amygdala และ Insular Cortex ซึ่งถือเป็นศูนย์กลางความรู้สึก เช่น ความกลัว แรงจูงใจ และเกี่ยวข้องกับอารมณ์
แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าปริมาณเนื้อสมองที่โตขึ้น และการเชื่อมต่อเซลล์ประสาทนี้หมายความอย่างไร แต่การวิจัยอื่นๆ แสดงให้เห็นว่า เด็กโตและผู้ใหญ่ที่มีภาวะซึมเศร้า ก็มีขนาดโตขึ้นและมีการเชื่อมกันของสมองบริเวณนี้เช่นเดียวกัน
งานวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงระดับสารเคมีในซีโรโทนิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของยากลุ่ม SSRIs อาจส่งผลต่อพัฒนาการของสมองส่วน Amygdala ด้วยเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงจากการได้รับสาร SSRIs ก่อนคลอด จึงอาจส่งผลต่อซีโรโทนินของทารกในครรภ์ และมีผลต่อการตอบสนองต่อสารเคมีในสมอง ซึ่งยังต้องศึกษากันต่อไปในอนาคต
คลอเดียหวังว่าผลลัพธ์เหล่านี้จะสะท้อนความจริงถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าจะยังไม่ทราบผลกระทบที่แน่ชัด แต่ก็คุ้มค่าที่จะศึกษา
ซึ่งเธอยังชี้ให้เห็นว่า ทารกทุกคนที่แม่ใช้ยากลุ่ม SSRIs ล้วนมีสุขภาพดี และผลการวิจัยต่างๆ ไม่ได้ระบุว่าการใช้ยากลุ่ม SSRIs รักษาภาวะซึมเศร้าจะทำให้ลูกเป็นโรคซึมเศร้าไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงที่เป็นโรคซึมเศร้าและต้องการมีลูก ก็ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนว่าการทานยารักษาต่อเนื่องยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือไม่ หรือว่ามีทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า
NO COMMENT