READING

NEWS UPDATE: หมอโรคระบบทางเดินหายใจเผย ฝุ่น PM 2.5...

NEWS UPDATE: หมอโรคระบบทางเดินหายใจเผย ฝุ่น PM 2.5 อันตรายถึงชีวิต

พญ.พวงรัตน์ ตั้งธิติกุล แพทย์เฉพาะทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบการหายใจและภาวะวิกฤตโรคระบบการหายใจ ศูนย์อายุรกรรม โรงพยาบาลนวเวช  กล่าวว่า  ฝุ่น PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะมันสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางพาสารอื่นๆ เช่น สารก่อมะเร็ง สารโลหะหนัก แทรกซึมเข้าไปในถุงลมปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งผ่านทางเส้นประสาทการรับกลิ่นที่อยู่ในโพรงจมูกเข้าไปยังสมองโดยตรง โดยแบ่งได้ดังนี้

สมอง

– กระตุ้นไมเกรน   ฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งมลพิษในอากาศชนิดอื่น ๆ สามารถเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรนอย่างรุนแรงขึ้นมาได้

– ภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติ  หลังจากที่ฝุ่นจิ๋วเข้าไปยังสมองจะทำให้เกิดกระบวนการอักเสบในสมอง มีการหลั่งสารอักเสบชนิดต่าง ๆ ทำให้เซลล์สมองได้รับบาดเจ็บ เกิดภาวะสมองเสื่อมเร็วกว่าปกติและกระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของก้อนโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง (β-amyloid, α-synuclein, tau protein) ที่มีลักษณะคล้ายกับคนที่เป็นโรคอัลไซเมอร์หรือโรคพาร์กินสัน รวมทั้งทำให้สมองมีการฝ่อเหี่ยวมากกว่าคนปกติอีกด้วย

หัวใจ

– ผลกระทบแบบเฉียบพลัน  ส่งผลให้เส้นเลือดเปราะ เส้นเลือดแตก ในผู้ป่วยโรคหัวใจ PM 2.5 กระตุ้นให้โรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้น

– ผลกระทบระยะยาว  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับเซลล์กระตุ้นการอักเสบทั่วร่างกาย เป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายและเกิดความเครียดเพิ่มขึ้น เกิดโรคความดันโลหิตสูง หัวใจวาย และหัวใจล้มเหลวในอัตราที่สูงขึ้น

ระบบทางเดินหายใจ

– ผลกระทบระยะสั้น  ทำให้ระคายเคืองต่อคอ จมูก ทางเดินหายใจ รวมทั้งอาจทำให้ผู้มีอาการหอบหืดกำเริบได้

– ผลกระทบระยะยาว  กระตุ้นภูมิแพ้, โรคหืด, โรคถุงลมโป่งพอง, มะเร็งปอด

ลูกน้อย

โดยปกติเด็กจะมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ ทำให้ได้รับมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่

– ผลต่อพัฒนาการทางสติปัญญา  ฝุ่น PM 2.5 เมื่อผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา จะทำลายเซลล์สมองส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา  พัฒนาการเด็กช้าลง มีปัญหาด้านการพูดและการฟัง

– กระตุ้นภูมิแพ้ ฝุ่น PM 2.5 ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนบน จะทำให้เกิดการระคายเคืองในโพรงจมูก เป็นผลให้อาการภูมิแพ้กำเริบและหายใจไม่สะดวก

– ปอดเสื่อมประสิทธิภาพ  เมื่อ PM 2.5 ผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง ในส่วนหลอดลมจะกระตุ้นอาการไอและทำให้เสมหะมากขึ้น เมื่อเข้าสู่ถุงลมปอดจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทำให้การทำงานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง

– ผื่นผิวหนัง  เมื่อสัมผัสกับฝุ่น ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิวหนังผิดปกติ เกิดอาการคัน และผื่น

อย่างไรก็ตามสามารถ ป้องกันตัวเองจากฝุ่นจิ๋ว ทำได้โดย หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง, หลีกเลี่ยงการออกกิจกรรมกลางแจ้ง, สวมใส่หน้ากากที่กรอกฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอนได้ เช่น N95  จัดสิ่งแวดล้อม เพื่อป้องกันฝุ่นละอองเข้าบ้าน เช่น ปิดประตูหน้าต่าง

 

อ้างอิง
siamrath

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST