NEWS UPDATE: 5 ข้อเท็จจริงผิดๆ เรื่องโภชนาการ

เนยไม่ดีกับสุขภาพเราหรือเปล่า, น้ำปั่นและน้ำผลไม้รสหวานไม่ดีจริงหรือ, และกินไข่แค่ไหนถึงจะดี… ถ้ายังไม่แน่ใจก็ตามมาอ่านกันเลย

การกินอย่างผิดๆ อาจทำให้สุขภาพเสียสมดุลได้เลยทีเดียว ริแอนนอน ลัมเบิร์ต—ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ และผู้ก่อตั้งสถาบัน Rhitrition ที่สหราชอาณาจักร มีคำตอบของ 5 คำถามยอดฮิตที่หลายคนสงสัย

 

1. กินไข่มากเกินไปไม่ดีต่อสุขภาพ—ไม่จริง

หลายคนกลัวเพราะไข่มีคอเลสเตอรอล ซึ่งทำให้เกิดโรคหัวใจ แต่ในความเป็นจริง การรับประทานไข่อย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มระดับของ HDL (คอเลสเตอรอลชนิดดีต่อร่างกาย) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ต่างหาก และมีการศึกษาอีกมากมาย ที่แสดงให้เห็นว่า ไข่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ

 

ที่สำคัญคือไข่มีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ดังนั้น ร่างกายของเราจึงพร้อมใช้มันอย่างเต็มที่ และการกินไข่ยังทำให้อิ่มอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

 

และจากข้อมูลล่าสุด การกินไข่ไก่สามฟองต่อวันก็ยังคงดีต่อสุขภาพ และยังไม่มีหลักฐานว่าการกินมากกว่านั้นไม่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

 

2. น้ำมันจากพืชปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ—ยังไม่ถูกต้อง 100%

หลายการศึกษาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นว่า ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้คนคิดว่าน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน ดีสำหรับร่างกายมนุษย์

 

แต่สิ่งสำคัญที่ต้องตระหนักคือ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนชนิดต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นโอเมกา 3 (ได้จากปลาและสัตว์กินพืช) กับโอเมกา 6 (ได้จากเมล็ดพืชและน้ำมันพืช) นั้นมีอยู่ตามธรรมชาติ และร่างกายมนุษย์ต้องการไขมันทั้งสองชนิดอย่างสมดุล ถึงจะเป็นการกินที่ถูกต้อง ดังนั้นการกินน้ำมันพืชมากเกินไปก็อาจมีอันตราย เพราะมันผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้ว

 

ดังนั้น ถ้าคุณต้องการลดความเสี่ยงของโรค ให้เลือกกินโอเมกา 3 จากพืชที่แตกต่างออกไปจากอาหารปกติในชีวิตประจำวัน เช่น น้ำมันมะกอกหรือน้ำมันคาโนลา

 

3. เนื้อสัตว์ไม่ดีต่อร่างกาย—ไม่จริง

เนื้อสัตว์จำนวนมากในปัจจุบันต่างจากยุคที่บรรพบุรุษเรากิน พวกมันถูกเลี้ยงอยู่ในกรงขัง และผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน หมายความว่าเนื้อสัตว์บางชนิดอาจมีผลเสียต่อสุขภาพของคุณ แต่เนื้อสัตว์ทุกประเภทไม่ได้ผ่านกระบวนการผลิตเดียวกัน

 

ตามการศึกษาของ European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition รายงานว่า ในปี 2013 จากผู้เข้าร่วมทดลองจำนวน 448,568 ราย เนื้อแปรรูปมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต แต่เนื้อแดงที่ไม่ผ่านการแปรรูปนั้นไม่มีผลร้ายอะไรเลย

 

เพราะฉะนั้น การกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงด้วยตัวเองทุกสัปดาห์ อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม เพราะมันอุดมไปด้วยวิตามิน แร่ธาตุ สารต้านอนุมูลอิสระ มีโปรตีนและไขมันที่ดีต่อสุขภาพ

 

และการกินที่ดีต่อสุขภาพที่สุดก็คือการกินอย่างสมดุล ทุกคนอาจไม่จำเป็นต้องมีวิถีการกินที่เหมือนกัน แต่ต้องกินให้ร่างกายได้รับสารอาหารครบถ้วนตามที่ต้องการ

 

4. แคลอรีจากอาหารทุกชนิดมีคุณค่าทางสารอาหารเท่ากัน—ไม่จริง

หลายคนยังเข้าใจผิดว่า ถ้าจะลดน้ำหนักต้องควบคุมที่จำนวนแคลอรี แต่สิ่งที่คุณกินต่างหากที่สำคัญมากกว่าจำนวนแคลอรี

 

เพราะสารอาหารต่างชนิดจะเกิดการเผาผลาญที่แตกต่างกันในร่างกาย และอาหารที่เรากินจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อฮอร์โมน ที่ควบคุมระบบการทำงานของร่างกาย ซึ่งสิ่งที่คุณกิน ช่วงเวลา และปริมาณที่คุณกินเข้าไป ล้วนมีผลต่อการเผาผลาญแคลอรี

 

การกินโปรตีนจะช่วยลดความอยากอาหารของคุณ เมื่อเทียบกับปริมาณแคลอรีที่เท่ากันจากไขมันและคาร์โบไฮเดรต เพราะโปรตีนมีค่าดัชนีความอิ่มตัวสูง ซึ่งช่วยให้คุณอิ่มได้จริง

 

แต่สิ่งที่ยากก็คือ ลองคิดภาพว่าตัวเองต้องกินให้ได้ 400 แคลอรีดู ระหว่างไอศกรีมกับบรอกโคลี… คุณจะเลือกกินอะไร ดังนั้น ให้ความสำคัญกับอาหารที่ให้ค่าดัชนีความอิ่มตัวสูง อาทิ มันฝรั่ง เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว และผลไม้ และควรหลีกเลี่ยงขนมและเค้ก

 

จำไว้ว่าคุณต้องให้ความสำคัญกับคุณค่าทางสารอาหาร มากกว่าจำนวนแคลอรีที่กินเข้าไปเสมอ

 

5. กินไขมันทำให้อ้วน—ไม่จริง

ในยุค 1970s หลายฝ่ายยืนยันว่าไขมันทำให้อ้วน จึงมีผลิตภัณฑ์ไร้ไขมันและไขมันต่ำออกมาวางจำหน่าย แต่คำแนะนำนี้ล้าสมัยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น ผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำหลายชนิดก็เต็มไปด้วยน้ำตาล เพื่อชดเชยการขาดรสชาติจากไขมัน ดังนั้น กินสารอาหารให้ครบถ้วนทุกประเภท และกินอย่างสมดุล หรือถ้ากลัวไขมัน ลองดูไขมันที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพเหล่านี้กัน

– น้ำมันปลา: โดยเฉพาะปลาแซลมอนและปลาทูที่แคลอรีสูงๆ นี่ละ จริงๆ แล้วมันอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา 3 ที่ทำให้หัวใจแข็งแรง

– อะโวคาโด: ผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดโอเลอิก ซึ่งเป็นไขมันที่ช่วยลดความดันโลหิต

– โยเกิร์ตชนิดไขมันเต็ม: ประกอบด้วยแบคทีเรียโปรไบโอติกส์ที่ดีต่อทางเดินอาหารของคุณ แต่ต้องแน่ใจว่าเป็นโยเกิร์ตชนิดที่เต็มไปด้วยไขมันและไม่เติมน้ำตาล

– ถั่ว: อัลมอนด์หนึ่งกำมือต่อวันสามารถลด LDL (คอเลสเตอรอลตัวไม่ดี) และช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด

– เนย: อุดมไปด้วยวิตามินเอและดี รวมทั้งกรดไขมันและเนยยังสามารถเพิ่ม HDL (คอเลสเตอรอลตัวดี) โดยเลือกเนยจากสัตว์กินพืชก็จะยิ่งดีต่อสุขภาพของเรา

 

แม้จะมีไขมันที่มีแคลอรีต่อกรัมมากกว่าโปรตีนหรือคาร์โบไฮเดรตก็ตาม แต่อาหารที่มีไขมันสูงไม่ได้ทำให้คนอ้วน การกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและไขมันสูงไปพร้อมๆ กันต่างหากที่จะทำให้คุณอ้วน และในความเป็นจริง งานวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าคนที่กินไขมันชนิดดี จะลดน้ำหนักได้มากกว่าผู้ที่รับประทานอาหารไขมันต่ำอีกด้วย

 

 

อ้างอิง
Independent

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST