ใครที่หวาดกลัวการกินแมลง ได้เวลาคิดใหม่แล้ว เพราะวัตถุดิบหลักในอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลกในอนาคตอาจเป็นแมลง
สีผสมอาหารสีแดงบางชนิดที่ใช้กันแพร่หลาย ทำขึ้นจากสารประกอบคาร์มีน (Carmine) ที่ทำจากแมลงโคชินีล (Cochineal) ซึ่งมีถิ่นกำเนิดแถบลาตินอเมริกา อาศัยอยู่บนพืชจำพวกกระบองเพชรหรือกลุ่มไม้อวบน้ำ ปัจจุบันประเทศเปรูเพาะปลูกพืชเหล่านี้เพื่อจับแมลงโคชินีลหลายล้านตัวไปผลิตสีในแต่ละปี
สีผสมอาหารจากแมลงโคชินีล ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารทั่วโลก เช่น โยเกิร์ต ไอศกรีม พายผลไม้ น้ำอัดลม คัปเค้ก โดนัท ฯลฯ และยังใช้กันแพร่หลายในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น ลิปสติก
สาเหตุที่อุตสาหกรรมอาหารนิยมใช้คาร์มีน ก็เพราะมันปลอดภัยและติดทนนาน อีกทั้งความร้อนและแสงมีผลกระทบกับสีจากคาร์มีนน้อยมาก
คาร์มีนเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ที่ชาวมายาและชาวแอซเท็กใช้มาตั้งแต่ห้าศตวรรษที่แล้ว ซึ่งดีต่อสุขภาพมากกว่าสีผสมอาหารจากถ่านหินหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
แต่หลายๆ ฝ่ายก็เห็นว่าควรติดฉลากให้ชัดเจน ว่าผลิตภัณฑ์ใดบ้างใช้สีผสมอาหารจากคาร์มีน และควรหาสีผสมอาหารจากธรรมชาติที่ไม่มีแมลงเป็นส่วนประกอบด้วย
หลายคนอาจรีบกลับไปดูฉลากผลิตภัณฑ์ที่บริโภคอยู่ ถ้าคุณมองหาคำว่าคาร์มีนโดยตรงก็อาจไม่เจอ เพราะคาร์มีนมักถูกเขียนแทนด้วย Natural Red Four, Crimson Lake หรือไม่ก็รหัส E120
เอมี บัตเลอร์ กรีนฟิลด์—ผู้เขียนหนังสือ A Perfect Red หนังสือเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของคาร์มีนกล่าวว่า เธอคิดว่าว่าควรระบุในฉลากว่า คาร์มีนเป็นส่วนประกอบจากธรรมชาติ ซึ่งมีการทดสอบที่ได้มาตรฐาน
“คาร์มีนเป็นสารจากธรรมชาติที่เชื่อถือได้ ใช้สร้างสีสันได้หลากหลาย เช่น สีชมพู ส้ม ม่วง หรือแดง แม้ว่าอาจมีบางคนที่แพ้รุนแรง แต่โดยรวมแล้วก็มีความปลอดภัยในระยะยาว”
ปัจจุบันเปรูเป็นผู้นำการผลิตคาร์มีน โดยข้อมูลจากสถานทูตเปรูในสหราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่า เปรูถือครองส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 95 จากทั่วโลก ซึ่งสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรกว่า 32,600 คน ซึ่งเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา เปรูส่งออกสีแดงเข้มจากคาร์มีนปริมาณ 647 ตัน มูลค่ารวมกว่า 46.4 ล้านเหรียญฯ
แมลงโคชินีลยาวประมาณ 5 มิลลิเมตรหรือ 0.2 นิ้ว ถูกเก็บจากหนามกระบองเพชร ส่วนมากเป็นตัวเมียที่ไร้ปีก มากกว่าตัวผู้ที่บินหนีได้ สีแดงเกิดจากกรดคาร์มินิก (Carminic) ซึ่งเป็นส่วนประกอบเกือบหนึ่งในสี่ของแมลง โดยแมลง 70,000 ตัวผลิตสีแดงได้เพียง 500 กรัมเท่านั้น
บริษัทหลายแห่งเริ่มหาผลิตภัณฑ์ทดแทนคาร์มีน สำหรับผู้บริโภคที่หลีกเลี่ยงแมลงเหล่านี้ ไปจนถึงผู้กินมังสวิรัติ
เนื่องจากกระแสวีแกนกำลังมา หลายบริษัทจึงลุกขึ้นมาเปลี่ยนสีผสมอาหารของตัวเอง เช่น สตาร์บัคส์เปลี่ยนสีแดงที่มีส่วนผสมคาร์มีน ไปเป็นไลโคพีน (Lycopene) จากมะเขือเทศแทน
นอกจากนี้ยังมีทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ สารสกัดจากเบอร์รีและบีตรูต แต่ไม่มีสารสกัดใดที่คงทนและมีประสิทธิภาพเท่าเทียมคาร์มีน เช่น สีผสมอาหารจากบีตรูตจะมีคุณภาพลดลง เมื่อสัมผัสกับแสง ความร้อน และออกซิเจน ดังนั้น จึงมักใช้กับอาหารที่มีอายุการเก็บรักษาสั้นหรืออาหารแช่แข็ง
อีกจุดสำคัญที่เอมีสนใจก็คือ แมลงโคชินีลเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับเกษตรกรผู้ยากจนในเปรู และพวกเขายังต้องพึ่งพาเจ้าแมลงสีแดงเข้มนี้ในการดำรงชีวิต
NO COMMENT