READING

NEWS UPDATE: แพทย์สหรัฐฯ แนะควรรักษาโรคอ้วนในเด็กอ...

NEWS UPDATE: แพทย์สหรัฐฯ แนะควรรักษาโรคอ้วนในเด็กอย่างจริงจัง

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatrics) มีคำแนะนำว่า แพทย์ควรรักษาโรคอ้วนในวัยเด็กอย่างจริงจัง เนื่องจากว่าในอดีต มีแพทย์หลายคนคิดว่าพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีของเด็กจะหมดไปเมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น ดังนั้นแพทย์จึงใช้วิธีการ ‘รอดู’ เพื่อตัดสินใจว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป แต่แนวทางใหม่ระบุว่าเด็กที่เป็นโรคอ้วนควรเข้ารับการผ่าตัดหรือใช้ยาเพื่อลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยลดปริมาณอาหารที่เด็กสามารถทานเข้าไปได้

ปัญหาน้ำหนักเกินนี้ส่งผลกระทบต่อเด็กอเมริกันกว่า 14 ล้านคน แพทย์กล่าวว่าการแบกน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นมักส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพไปตลอดชีวิต เช่นการเป็นโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน และมีอาการซึมเศร้าได้

โดยแนวทางใหม่แนะนำให้ใช้ยาลดน้ำหนักสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป และการผ่าตัดเริ่มต้นที่อายุ 13 ปี

แพทย์หญิงอิโยมา เอเนลี (Ihuoma Eneli) แพทย์ผู้ร่วมเขียนรายงานที่ประกอบไปด้วยแนวทางใหม่ ซึ่งไม่เห็นด้วยกับแนวทางเก่ากล่าวว่า “การรอดูนั้นไม่ได้ผล” และว่าแพทย์มักจะเห็นว่า “น้ำหนักของเด็กเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคอ้วนเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่”

แพทย์หญิงเอเนลีผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพน้ำหนักและโภชนาการที่โรงพยาบาลในเมืองโคลัมบัส รัฐโอไฮโอ กล่าวว่าการใช้ยาหรือการผ่าตัดนั้นควรดำเนินไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของชีวิต ซึ่งนั่นหมายความว่าเด็กๆ ต้องการความช่วยเหลือในการเลือกอาหารที่ดีขึ้นและหาวิธีการออกกำลังกายให้มากขึ้น

แพทย์หญิงแซนดร้า ฮัซซิงค์ (Dr. Sandra Hassink) แพทย์อีกคนหนึ่งที่ร่วมเขียนรายงาน ซึ่งทำงานให้กับสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา และเป็นผู้อำนวยการด้านการแพทย์ของสถาบันที่ดูแลน้ำหนักในวัยเด็ก (Institute for Healthy Childhood Weight) กล่าวว่ารายงานดังกล่าวเสนอวิธีคิดที่แตกต่างออกไปให้กับกุมารแพทย์เกี่ยวกับการเป็นโรคอ้วน เพราะบางครั้งแพทย์มักเคยคิดว่าโรคอ้วนเป็น “ปัญหาส่วนบุคคล” หรือเป็นความล้มเหลว

ทั้งนี้ เด็กที่เป็นโรคอ้วนคือเด็กที่มีดัชนีมวลกายหรือ BMI สูงกว่า 95% ของเด็กในวัยเดียวกัน ค่าดัชนีมวลกายก็คือการวัดขนาดของร่างกายโดยพิจารณาจากส่วนสูงและน้ำหนักของบุคคล

แพทย์หญิงฮัซซิงค์กล่าวต่อไปว่า เครื่องมือในการลดน้ำหนักที่อธิบายไว้ในรายงานควรได้รับการพิจารณาในลักษณะเดียวกับการรักษาปัญหาสุขภาพอื่นๆ เธอเปรียบเทียบกับการจ่ายยาสูดพ่นสำหรับคนที่เป็นโรคหอบหืด ซึ่งเป็นภาวะทางการแพทย์ที่ทำให้ผู้คนมีปัญหาในการหายใจ เครื่องพ่นยาดังกล่าวจะพ่นยาเข้าไปเพื่อช่วยในการเปิดปอด ในทำนองเดียวกัน ยาที่แพทย์พูดถึงในแนวทางใหม่จะช่วยให้คนทานอาหารน้อยลง และจะช่วยให้น้ำหนักลดลงตามไปด้วย

เซมากลูไทด์ (Semaglutide) คือยาที่อธิบายไว้ในรายงาน ซึ่งก่อนหน้านี้เคยใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน แต่ชนิดของเซมากลูไทด์ประเภทหนึ่งที่เรียกว่าวีโกวี (Wegovy) เพิ่งจะได้รับการอนุมัติให้เป็นยาสำหรับรักษาโรคอ้วนสำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป

นิตยสาร The New England Journal of Medicine รายงานว่าวัยรุ่นได้ใช้ยาดังกล่าวและมีค่าดัชนีมวลกายลดลงโดยเฉลี่ย 16%

นายแพทย์จัสติน ไรเดอร์ (Justin Ryder) แพทย์ผู้วิจัยโรคอ้วนสำหรับโรงพยาบาลเด็กในชิคาโก กล่าวว่า ยาดังกล่าวจะช่วยให้สมองและกระเพาะอาหารสามารถสื่อสารกันได้ และช่วยให้รู้สึกอิ่มมากกว่าตอนที่ไม่ได้ใช้ยา

ในขณะที่เด็กๆ ใช้ยานี้ในการลดน้ำหนัก แต่การหาซื้อยาก็เป็นเรื่องที่ยาก โดยมีเหตุผลสองประการคือ การขาดแคลนการผลิตภัณฑ์ และการที่มีแพทย์จำนวนมากเสนอยานี้ให้กับผู้ป่วยของตน ตอนนี้ยาเซมากลูไทด์ได้รับความนิยมเนื่องจากผู้คนในโซเชียลมีเดียต่างพูดถึงการลดน้ำหนักด้วยยานี้

อย่างไรก็ตาม แพทย์บางคนกังวลว่าไม่ใช่ว่าเด็กที่มีน้ำหนักเกินทุกคนจะเหมาะสมสำหรับยานี้ และยังต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมว่าเซมากลูไทด์ส่งผลต่อเด็กแตกต่างกันอย่างไร

อ้างอิง
voathai

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST