READING

NEWS UPDATE: หมอโรคปอดชี้ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสมอง...

NEWS UPDATE: หมอโรคปอดชี้ PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสมองและการนอนหลับของเด็ก

นายแพทย์นิธิพัฒน์ เจียรกุล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า จากการติดตามเด็กอนุบาล จำนวน 115,023 คน จาก 551 เมือง ในประเทศจีน พบว่าการสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ตั้งแต่ในครรภ์จนถึงวัยเด็กเล็ก เชื่อมโยงกับการมีคุณภาพการนอนในวัยเด็กที่แย่ลง โดยเฉพาะถ้าสัมผัสกับค่าฝุ่นที่สูง ในช่วงอายุ 0-3 ปี จะเกิดมากกว่าถ้าสัมผัสในช่วงที่ยังไม่คลอดออกมา ความผิดปกติที่เกิดขึ้น ทำให้เด็กมีปัญหาการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน และภาวะง่วงนอนมากตอนกลางวัน

เด็กที่แรกคลอด ไม่แข็งแรง ต้องเข้าไอซียู จะพบความผิดปกติได้มากขึ้น ที่น่าแปลกใจคือ เด็กที่กินนมแม่จนถึง 6 เดือน ก็พบความผิดปกติมากขึ้นด้วย (คิดเอาเองว่าอาจได้รับ PM 2.5 เพิ่มทางน้ำนมแม่)

ในฐานะหมอโรคปอด และหมอโรคจากการนอนหลับ สุขภาวะการนอนของเด็กที่ถูกรบกวน โดยเฉพาะการหายใจผิดปกติระหว่างการนอน อาจทำให้พัฒนาการทางสมอง ถูกกระทบกระเทือนตามไปด้วย

ทั้งนี้ยังได้แนะนำวิธีการดูแลตัวเอง โดยหมั่นตรวจสอบคุณภาพอากาศ เพื่อวางแผนกิจวัตรประจำวันให้เหมาะสมอีกด้วย

1. สูงกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลุ่มเสี่ยง (เด็ก คนท้อง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคปอด-หัวใจ-ไต-สมองเรื้อรัง) งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง คนทั่วไปลดและปรับเวลาทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา

2. สูงกว่า 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนต้องงดทำกิจกรรมกลางแจ้ง ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N 95 ตลอดเวลา

3. สูงกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกคนควรอยู่ในตัวอาคาร ซึ่งติดตั้งระบบระบายและฟอกอากาศ ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกเว้นคนที่ต้องทำหน้าที่บริการสาธารณะ ให้ใส่หน้ากาก N 95 ตลอดเวลา และจำกัดช่วงเวลาปฏิบัติงาน ไม่ให้เกินครั้งละ 60 นาที

4. ขณะที่ปริมาณฝุ่นภายนอกขึ้นสูง ภายในตัวอาคาร ควรจัดให้มีระบบระบาย และฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

5. ขณะที่ปริมาณฝุ่นขึ้นสูง การออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้ร่างกายเกิดพิษภัยได้น้อยลง แต่ถ้าหากค่าฝุ่นสูงเกิน ควรออกกำลังกายในร่ม และมีการระบายและฟอกอากาศ ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

6. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ จะช่วยเร่งการขับฝุ่น PM 2.5 ที่เล็ดลอดเข้ากระแสเลือดได้มากขึ้น

7. การกินผักและผลไม้ให้เพียงพอ จะช่วยเสริมการทำงานของระบบแอนติออกซิแดนท์ ซึ่งช่วยลดการทำลายเซลล์ และเนื้อเยื่อจากพิษของฝุ่นได้

8. การอยู่ในบริเวณที่มีพืชใบเขียว จะช่วยการดูดซับฝุ่นในอากาศได้เพิ่มมากขึ้น


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST