สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่ปกคลุมหลายพื้นที่และยังไม่คลี่คลายในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อประชาชนเช่นกัน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบางเช่น เด็กเล็กซึ่งได้รับผลกระทบหนัก ทั้งผื่นขึ้น และเลือดกำเดาไหล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กไทยประมาณ 13.6 ล้านคนทั่วประเทศ
จากรายงาน Over the Tipping point report ของยูนิเซฟในปี 2566 พบว่า เด็กไทยเผชิญความเสี่ยงสูงจากฝุ่น PM 2.5 มีมากกว่าเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติอื่นๆ
นอกจากนี้ รายงานสภาวะอากาศโลก (the State of Global Air) ฉบับที่ 5 ซึ่งเผยแพร่โดย Health Effects Institute และ ยูนิเซฟ ชี้ว่า ในปี 2564 มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีราว 700,000 คนทั่วโลก หรือคิดเป็นวันละเกือบ 2,000 คน ต้องเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่ 2 ของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มอายุนี้ทั่วโลก รองจากภาวะทุพโภชนาการ รายงานยังระบุด้วยว่า ฝุ่น PM2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต
เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุด คือ กลุ่มที่ต้องรับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศมากที่สุด เพราะพวกเขามีทางเลือกน้อยกว่าที่จะปกป้องตัวเองจากฝุ่น PM2.5 ข้อมูลทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า เด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศที่มีรายได้สูง โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าอย่างชัดเจน
ยูนิเซฟ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย และภาคเอกชน เร่งแก้ไขปัญหาที่ต้นตอ เพื่อลดมลพิษทางอากาศและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเน้นย้ำว่า การตัดสินใจที่กล้าหาญและมองการณ์ไกลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาระยะยาวแทนการใช้มาตรการระยะสั้น
COMMENTS ARE OFF THIS POST