เมื่อก่อนอาจมีคำพูดว่า “ไปแอบดูเขาอาบน้ำมาละสิ ถึงเป็นตากุ้งยิง” แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะนอกจากเราจะรู้ว่าตากุ้งยิง (Stye) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณขอบเปลือกตาแล้ว มันยังมาจากมือของเราเอง ที่พาเจ้าเชื้อแบคทีเรียให้ไปติดอยู่ที่ตา
ทำไมถึงเป็นตากุ้งยิง
เพราะมีเชื้อโรคเข้าไปอุดตันตรงต่อมไขมันบริเวณโคนขนตา เกินกว่าที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะกำจัดได้ จึงเกิดการอักเสบตามต่อมต่างๆ จนเกิดเป็นตุ่มบวมคล้ายสิว มีหนองสะสมบริเวณนั้นทำให้รู้สึกเจ็บ ซึ่งส่วนใหญ่มักเริ่มจากการมีฝุ่นหรือเชื้อโรคเข้าตาก่อน โดยเฉพาะเด็กๆ ที่มักเผลอใช้มือที่ไม่สะอาดจับใบหน้า หรือขยี้ตาตัวเอง
อาการของคนเป็นตากุ้งยิง
- เคืองตาคล้ายมีเศษอะไรเข้าตา อาจมีน้ำตาไหล ทำให้ต้องขยี้ตาเสมอ
- หลังจากนั้น 1-2 วัน ตาจะบวมแดง เจ็บเล็กน้อย ถ้าไม่รีบรักษาจะขึ้นเป็นตุ่มแข็ง เมื่อแตะจะรู้สึกเจ็บและปวดตุบๆ
- ต่อมาจะค่อยๆ มีหนอง นูนขึ้น เป็นหัวขาวๆ เหลืองๆ แล้วหนองจะแตกหรือยุบไป อาจมีขี้ตาออกมากผิดปกติ
- ถ้าปล่อยทิ้งไว้ 4-5 วัน ฝีจะยุบลงและหายปวดไปเอง
- บางคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือเด็กบางคนอาจมีไข้ร่วมด้วย เพราะการอักเสบกระจายบริเวณโดยรอบ และทำให้ปวดมากขึ้น ควรรีบพาไปพบแพทย์
ถ้าเคยเป็นตากุ้งยิงมาแล้ว อาจมีอาการกำเริบเป็นๆ หายๆ ตรงจุดเดิมหรือย้ายที่สลับข้างได้
ดังนั้นความสะอาดภายในบ้านเป็นจึงเรื่องพื้นฐาน ไม่ใช่แค่การป้องกันตากุ้งยิง แต่ยังป้องกันโรคอื่นๆ ให้ทุกคนในครอบครัวได้ด้วย
มาดูวิธีดูแลลูกน้อยและกำจัดฝุ่นภายในบ้าน เพื่อให้ลูกน้อยห่างไกลจากโรคกันดีกว่า
1. ภูมิต้านทานของร่างกายลูกต้องแข็งแรงดี

เพราะตากุ้งยิงสามารถเกิดจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ รับประทานอาหารไม่เป็นเวลา ไม่ออกกำลังกายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นถ้าเด็กๆ แข็งแรงดี เชื้อแบคทีเรียก็จะไม่สามารถเข้าไปโจมตีร่างกายได้
2. อย่าใช้สายตามากเกินไป
(หรือคนที่มีสายตาผิดปกติควรรีบรักษา)

อย่าปล่อยให้ลูกเล่นเกมหรือดูทีวีมากเกินไป ใช้สายตาให้พอดีกับความสามารถ อย่าฝืนเพราะจะทำให้ปวดกระบอกตา เมื่อยล้า และแสบเคืองตา เป็นผลให้ภูมิต้านทานลดต่ำลง จึงรับเชื้อโรคได้ง่ายขึ้น
3. ปลูกฝังสุขลักษณะที่ดี สอนลูกไม่ให้ขยี้ตาบ่อยๆ

และพยายามอย่าให้ลูกไปเล่นในบริเวณที่มีฝุ่นหรือเชื้อโรคเยอะ เพราะในบางราย ตากุ้งยิงอาจเกิดจากการขยี้ตาบ่อยจนเกินไป ทำให้เปลือกตาไม่สะอาด เกิดการสะสมของเชื้อโรคจนติดเชื้อได้ ดังนั้น หากระคายเคืองตา ควรไปล้างมือล้างหน้าให้สะอาดจะดีกว่า
4. ล้างมือให้สะอาดจนเป็นนิสัยก่อนสัมผัสใบหน้าลูก

ซึ่งการล้างมือที่ถูกวิธี ก็คือการใช้สบู่ถูฝ่ามือและซอกนิ้วจนถึงปลายนิ้วให้ครบทุกนิ้ว รวมไปถึงข้อมือด้วย และอย่าลืมรักษาความสะอาดของร่างกายและเสื้อผ้าด้วยเช่นกัน
5. ทำความสะอาด

– เครื่องปรับอากาศ ทุกหกเดือน
เพื่อป้องกันการเก็บฝุ่นของเครื่องปรับอากาศ และที่สำคัญคือพยายามปัดหน้าต่างแอร์ไม่ให้ลมพัดเข้าตาเด็กๆ เพราะฝุ่นละอองจะพัดมากับลม และความแรงของลมก็อาจทำให้ระคายเคืองตาได้
– เครื่องนอน ทุกสัปดาห์
โดยเฉพาะปลอกหมอนและผ้าปูที่นอนควรซักให้บ่อยเข้าไว้ เพราะฝุ่นละออง เหงื่อ และความเหนอะหนะต่างๆ เกิดขึ้นทุกวัน จนอาจกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค
– ผ้าม่าน มุ้งลวด หน้าต่าง ทุกสามเดือน
มุ้งลวดและหน้าต่างเป็นปราการด่านสุดท้ายของฝุ่นทั้งหลาย ดังนั้นหากเป็นไปได้ให้ทำความสะอาดอย่างน้อยทุกๆ สามเดือน โดยการถอดมุ้งลวดออกมาฉีดน้ำให้ทั่ว ใช้แปรงขัดและผึ่งให้แห้ง อย่าลืมเช็ดฝุ่นตรงรางมุ้งลวดออกด้วย
– เครื่องซักผ้า ทุกครั้งหลังซักผ้าที่สกปรกมากๆ
60% ของเครื่องซักผ้าจะเต็มไปด้วยแบคทีเรีย ซึ่งชุดชั้นในและผ้าเช็ดตัวยังอาจแพร่เชื้ออีโคไลและซัลโมเนลลาได้อีกด้วย
ดังนั้นให้ทำความสะอาดเครื่องซักผ้าทุกครั้งหลังซักผ้าที่สกปรก (เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค) ด้วยการรันระบบน้ำร้อนในตัวเครื่อง หรือใส่เบกกิงโซดาหรือน้ำส้มสายชูลงในช่องใส่ผงซักฟอก แล้วเปิดให้เครื่องเปล่าทำงานไปจนจบโปรแกรม โดยไม่ต้องใส่เสื้อผ้าลงไปซักก็ได้เช่นกัน
6. จัดเก็บของเล่นและตุ๊กตาให้เป็นระเบียบ

ควรจัดสรรพื้นที่เก็บของเล่นให้ดี และไม่ควรมีมากเกินไป เพื่อไม่ให้ฝุ่นเกาะชิ้นที่ไม่ค่อยได้เล่น หรือถ้าชิ้นไหนเป็นชิ้นโปรดก็ต้องหมั่นทำความสะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะของเล่นชิ้นที่อยู่บนเตียง ควรเปลี่ยนและซักทำความสะอาดพร้อมเครื่องนอนอย่างสม่ำเสมอ
7. ตากผ้าเช็ดตัวในที่อากาศถ่ายเททุกครั้งหลังใช้เสร็จ

เพื่อไม่ให้ชื้นและเหม็นอับจนเป็นแหล่งชุมนุมของเชื้อโรค และควรซักหลังจากใช้ไปแล้วหกครั้ง เพราะในการใช้แต่ละครั้ง ผ้าเช็ดตัวจะจับเอาเซลล์ผิวที่ตายแล้วตามร่างกาย รวมถึงแบคทีเรียที่อาศัยอยู่บนผิวหนังไปสะสมไว้ ดังนั้นถ้าไม่อยากให้แบคทีเรียบนผ้าเช็ดตัว กลับมาเกาะบนผิวหนังของเราอีกครั้ง ก็เอาไปซักเลยค่ะ
NO COMMENT