READING

“สถาปัตยกรรมที่ดี ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้อ...

“สถาปัตยกรรมที่ดี ทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับผู้อยู่อาศัย” รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ สถาปนิกผู้ออกแบบ Raintree International School

เราตั้งใจจะชวนทุกคนมาพูดคุยกับ คุณแตน—รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ และคุณเงา—ศิริทิพย์ หาญทวีวงศา ครอบครัวสถาปนิกที่ออกแบบผลงานชิ้นใหญ่ๆ ในระดับนานาชาติมาแล้ว แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจเลือกเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานที่สเกลเล็กที่สุดของสถาปนิก นั่นก็คือการออกแบบ ‘บ้าน’ และใช้เรื่องธรรมชาติและ well-being มาเป็นหัวใจในการออกแบบ

พวกเราตามรอยคุณแตนและคุณเงามาจากผลงานการออกแบบโรงเรียน Raintree International School ที่น่าจะติดอันดับโรงเรียนที่น่าส่งเด็กๆ ไปเรียนของคุณพ่อคุณแม่หลายคน และยังมีผลงานออกแบบโรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศส Lycée Français International de Bangkok (LFIB) ฝ่ายอนุบาล กับบ้านพักอาศัยอีกหลายหลังที่อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์อาคารสีเขียว

แต่บังเอิญว่าวันนี้คุณเงาติดภารกิจด่วนจี๋กับน้องแมท—ลูกชายตัวน้อย เลยปล่อยให้คุณพ่อแตนมาเป็นตัวแทนพูดคุยกับเราแทน

พอได้มาเป็นสถาปนิกแล้ว เริ่มสนใจ ‘สถาปัตยกรรม’ แบบไหน

เราสองคนสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ในธีมของ green (อาคารสีเขียว) และ well-being (อาคารที่อยู่สบายทั้งกายและใจ) มาตั้งแต่ตอนทำงานที่อเมริกาและฮ่องกง เราเป็น LEED AP BD+C (Leadership in Energy and Environmental Design) ทั้งคู่ คือสามารถให้คำปรึกษาเรื่องอาคารสีเขียวกับโครงการที่ต้องการได้ certificate เพราะส่วนมากอาคารที่ทำที่นั่นจะเป็นอาคารสูงประเภท mixed-use คือสำนักงานและที่พักอาศัย

จนวันนึงก็ถึงจุดอิ่มตัว คิดว่าต้องกลับเมืองไทย แล้วพอมาทำงานที่เมืองไทย ก็เลยอยากจะโฟกัสที่อาคารบางประเภท เพราะงานสถาปนิกก็เหมือนหมอ ถ้ารับทุกงาน ทำไปโดยขาดโฟกัส ก็เหมือนหมอทั่วไปรักษาทุกโรค ไม่มี expertise เราก็เลยคุยกันว่าเราอยากทำอะไร

แล้วอยากทำอะไร

จริงๆ ผมมีความเชื่อว่า สถาปัตยกรรมที่ดีทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีกับคนที่อยู่อาศัย และคนที่อยู่อาศัยในสถาปัตยกรรมที่ดี ก็จะมีใจที่จะออกไปทำสิ่งดีๆ ให้กับสังคมรอบข้าง เพราะชีวิตเขาดี

ผมเลยมองว่า ผมอยากทำสถาปัตยกรรมที่กำหนดพฤติกรรมมนุษย์ แล้วทำให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีได้มากที่สุด แล้วมันคืออะไร… มันก็คือบ้าน เพราะเราอยู่อาศัยในบ้านนานที่สุดในบรรดาสถาปัตยกรรมทั้งหมด

เราก็เลยตั้งใจไว้เลยตั้งแต่วันที่กลับมาเมืองไทยว่า ความรู้ความสามารถทั้งหมดที่เรามีในเรื่อง green และ well-being ที่เคยเป็นที่ปรึกษาให้อาคารขนาดใหญ่ๆ เราจะเอามาโฟกัสที่งานที่เล็กที่สุด ซึ่งก็คือ ‘บ้าน’

แต่บางคนก็อาจจะอาศัยอยู่ที่อื่นมากกว่า ‘บ้าน’ หรือเปล่า

ใช่ เราเลยลงลึกไปกว่านั้นอีก คือเราจะสนใจสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานจริง (end-user) และใช้อาคารมากกว่าหกชั่วโมงขึ้นไปต่อวัน เราจึงรู้ว่าผู้ใช้งานคือใคร เพื่อช่วยให้อาคารมีส่วนช่วยในการกำหนดพฤติกรรม (shape behavior) ของผู้ใช้งานได้ เช่น โรงเรียน ออฟฟิศ เป็นต้น

แล้วพอเรามีจุดมุ่งหมาย ถ้าเราไปโรงเรียน เราก็รู้ว่าต้องโฟกัสที่เด็กนักเรียน อายุเท่าไหร่ อยู่ที่นั่นตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง เราสามารถออกแบบโดยใช้ฐานข้อมูลของกลุ่มคนที่เราโฟกัสได้เลย ซึ่งมันก็จะครอบคลุมถึงบ้าน ออฟฟิศ โรงเรียน และอาคารอื่นๆ ที่มีเกณฑ์ดังต่อไปนี้ทั้งหมด

 

เราไม่ได้มองว่าสถาปนิกแค่ออกแบบแล้วก็จบ
แต่ในทุกอาชีพมีเรื่องของความรับผิดชอบ
ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
แล้วคิดให้มันดีเพื่อสังคม สังคมกับประเทศชาติก็จะดีขึ้น

แล้วอาคารที่ไปช่วย shape behavior ให้ผู้ใช้งานมีลักษณะยังไง

บ้านที่ดีมันควรจะให้คุณภาพชีวิตที่ดีและครอบครัวที่อบอุ่น งานสถาปัตยกรรมสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม เราไม่ได้มองว่าสถาปนิกแค่ออกแบบแล้วก็จบ แต่ในทุกอาชีพมีเรื่องของความรับผิดชอบ ถ้าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด แล้วคิดให้มันดีเพื่อสังคม สังคมกับประเทศชาติก็จะดีขึ้น ใส่ใจ ใส่ความคิดดีๆ ลงไปสิ แล้วมันจะไม่ได้ออกมาสวยอย่างเดียว แต่อยู่ได้จริง มีความสบายและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัย

สถาปัตยกรรมที่ยกระดับคุณภาพชีวิตใน ‘โรงเรียน’ ต้องโฟกัสที่ไหน

ต้องโฟกัสที่คน จุดมุ่งหมายคือเราอยากให้เด็กและคุณครูเป็นจุดศูนย์กลางของโรงเรียน แต่วันที่เราคุยกันก็พบว่าจริงๆ แล้ว คนที่สำคัญที่สุดในโรงเรียนเนี่ยคือคุณครู เพราะเด็กอยู่ที่ไหนเขาก็แฮปปี้ เพราะเขายังไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่คนที่จะทำให้เด็กมีคุณภาพหรือไม่มี จริงๆ แล้วคือคุณครู

โฟกัสที่ตัวคนแล้วจึงไปมีผลที่ตัวงานออกแบบ?

ใช่ ทำยังไงให้เด็กเรียนรู้โดยที่เขารู้สึกว่ามันสนุก และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ้เช่น อากาศดี รีแล็กซ์ ไม่ร้อนเกินไป ไม่เหนียวเหนอะหนะ มีที่เล่นข้างนอก มีที่เรียนข้างใน พื้นที่ต่างๆ ถูกจัดแจงอย่างเหมาะสม พอสภาพแวดล้อมทุกอย่างมันพอเหมาะ ก็จะเกิดการระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ (Natural Ventilation)

ถ้ามองเรื่องการออกแบบ การออกแบบโรงเรียนต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง

เราไม่มีรูปแบบตายตัว แต่มีกระบวนการในการออกแบบคล้ายๆ กัน คือเริ่มจากวางผังในภาพรวม ศึกษาว่าแต่ละพื้นที่มีจุดเด่นอะไร ที่สำคัญคือดูหลักสูตรการเรียนการสอนของแต่ละโรงเรียน ว่าเขามีความต้องการอะไร แต่ละโรงเรียนก็จะมีไม่เหมือนกัน จุดประสงค์ของโรงเรียนจะส่งผลให้การวางผังแตกต่างกัน

แต่ในภาพรวมเราต้องการพื้นที่ในการเรียนรู้ ที่ก่อให้เกิดความสบายของผู้สอนและผู้เรียน

ความสบายของอาคารก็คือ…

อาคารที่รับแดดน้อย มีพื้นที่ที่อยู่ในร่มเยอะ อาจจะได้ร่มเงาจากอาคารหรือต้นไม้ และเปิดช่องลมให้ลมไหลผ่านเข้ามาในอาคาร ระบายอากาศได้ดี มีการจัดวางพื้นที่ส่วนกลาง ให้ทุกคนมาใช้เวลาร่วมกันได้ โดยพื้นที่นี้ควรจะร่มทั้งวันและทั้งปี

โรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศส Lycée Français International de Bangkok (LFIB)

การวางผังของห้องเรียนควรมีลักษณะอย่างไร

อาจเป็นทรงเหลี่ยมเพื่อง่ายต่อการวางเฟอร์นิเจอร์ สำหรับโรงเรียนอนุบาลที่บางคลาสอาจมีการรวมชั้นเรียน เราก็จะออกแบบให้แต่ละห้องเชื่อมกัน แชร์ห้องน้ำและห้องเก็บของกันได้ โดยใช้ partition กั้นเปิดปิดตามต้องการ

สิ่งสำคัญที่สุดของห้องเรียนคืออะไร

การได้แสงธรรมชาติที่เพียงพอ เพราะมีการวิจัยมาแล้วว่ามันส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ของเด็กโดยตรง ถ้าเด็กอยู่ในห้องที่แสงธรรมชาติน้อย ไม่เพียงพอหรือจ้าเกินไป เขาจะไม่ค่อยตื่นตัว

ส่วนพื้นที่นอกห้องเรียนก็นับเป็นห้องเรียนอีกห้องนะ ต้องทำให้เกิดการเรียนรู้  มีพื้นที่วิ่งเล่นโดยไม่มีสิ่งกีดขวาง แต่ก็ต้องง่ายต่อการสังเกตการณ์ของครู

เอาการเรียนรู้เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราว เด็กเรียนรู้ได้หลายแบบ ไม่ใช่จากห้องเรียนอย่างเดียว บางทีเรียนรู้จากการเชื่อมต่อกับธรรมชาติ เรียนรู้จากการเล่นกับเพื่อนๆ เราออกแบบให้มีพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้พวกนั้น

อย่างการออกแบบ LFIB โรงเรียนนานาชาติฝรั่งเศส จุดโฟกัสคืออะไร

คาแรกเตอร์ของเด็กยุโรป ศิลปะของเขาจะแอดวานซ์มาก ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี การไม่กำหนดกรอบขอบเขตของศิลปะ อย่างประเทศเรา การวาดรูประบายสีก็มักจะมีเส้นมาให้ แต่ของเขานี่ไม่มีเลย แล้วเขาก็ไม่มีกำหนดว่าฟ้าต้องสีฟ้า ต้นไม้ต้องสีเขียว เขาปล่อยให้เป็นอิสระ แต่มันจะเห็นเลยว่าพัฒนาการทางศิลปะของเด็กๆ เขาไม่ธรรมดา แล้วเขาจะเอางานพวกนี้ ที่พวกเขาให้ความสำคัญมากกกก ติดไว้บนอาคารเรียน ซึ่งมันทำให้เด็กภูมิใจ

อาคารจึงต้องเน้นความเรียบง่าย เพราะโฟกัสที่ความสุขของเด็กๆ

ตอนประกวดแบบ เราใช้สีสันสดใสมาก แต่ถ้าเราทำอาคารเป็นสีๆ เพื่อเน้นการตลาด แล้วเราเอางานศิลปะของเด็กไปแปะบนผนังสีแดง มันก็ไม่ใช่

เรากำลังออกแบบสิ่งที่ควรจะซัปพอร์ตเด็ก ดังนั้น ตัวอาคารต้องดูแล้วมีความสำคัญน้อยกว่างานของเด็ก เพราะสิ่งที่จะไปติดอยู่บนผนัง มันคือความสนใจของเด็กและพ่อแม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เห็นกันทางกายภาพ แต่เห็นที่ความคิด เพราะงานศิลปะมันสะท้อนความคิด แล้วผู้ใหญ่จะได้รู้ถึงจิตใจและสิ่งที่อยู่ด้านใน ว่าเขาคิดอะไรอยู่ เพื่อเติมเต็มในสิ่งที่เด็กขาดได้เต็มที่

คุณแตนและคุณเงากำลังสร้างอาคารที่ช่วย ‘ดูแลจิตใจ’ เด็กๆ ใช่ไหม

ศิลปะเป็นตัวเช็กสภาพจิตใจของเด็ก เพราะถ้าเราไปถาม เด็กเขาไม่ตอบอยู่แล้ว ครูก็ไม่มีเวลาไปนั่งถามเด็กทุกคน แต่ว่างานศิลปะของเด็กสามารถเป็นกระจกสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึก และทัศนคติที่เด็กคนนั้นมีต่อโลก

เราเลยออกแบบให้โรงเรียนมีพื้นที่ในการแสดงงานของเด็กได้เยอะๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่เสาก็วาดรูปได้ มีที่แขวนงานเด็กได้หลายแบบ เล่นแสงเงา เล่นกับลม

ตัวโรงเรียนจึงเปลี่ยนจากที่สีสันเด่นและฉูดฉาด มาเป็นโทนสีธรรมชาติ เพราะสถาปัตยกรรมของโรงเรียนไม่ใช่ภาพ แต่เป็นแค่พื้นของภาพให้กับงานของเด็กๆ เท่านั้น

เด็กเข้าไปอยู่แล้วมีความสุข
นั่นแปลว่า…
สถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว

ซึ่งก็ยังเป็นอาคารที่อยู่แล้วสบายทั้งกายและใจของคุณครูและเด็กๆ ด้วย

แม้สเกลโรงเรียนนี้จะมีห้องเรียนค่อนข้างใหญ่ แต่ต้องดูอบอุ่น มีป้ายบอกทางสำหรับเด็กที่มองเห็นง่าย ใช้กราฟิกแทนตัวหนังสือ ตัวอาคารเน้นเรื่องกันแดด แต่ระบายอากาศได้ดี ห้องเรียนทุกห้องจะได้รับแสงธรรมชาติทั้งหมด และสิ่งสำคัญที่สุดคือความปลอดภัย ไม่มีแง่งมุมหรือซอก และควรเป็นพื้นที่เปิด คนมองจากที่ไหนก็เห็นหมดว่าเด็กทำอะไร

เราไม่ได้อยากทำโรงเรียนให้มันสวยแบบชนะรางวัลหรือลงหนังสือ แต่เราอยากให้เวลาเด็กเข้าไปอยู่แล้วมีความสุข นั่นแปลว่าสถาปัตยกรรมได้ทำหน้าที่ของมันโดยสมบูรณ์แล้ว

สถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์จะเปรียบเทียบได้กับอะไร

…ภาชนะ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือมันต้องเป็นภาชนะที่สมบูรณ์ ถ้าฟังก์ชันไม่ตอบโจทย์ของผู้ใช้งาน ตัวมันก็ไม่มีความหมายอะไร ซึ่งผมก็ไม่ได้มองว่าฟังก์ชันที่สมบูรณ์คือจุดมุ่งหมายนะ แต่การใช้ฟังก์ชันเหล่านั้นแล้ว มันทำให้เรารู้สึกยังไงต่างหาก คือตัววัดว่ามันสมบูรณ์แบบหรือไม่

‘เรารู้สึกยังไง’ หมายถึง

มันคือการออกแบบจากข้างใน จากชีวิตของคนที่อยู่อาศัย แล้วค่อยโตออกมาเป็นอาคาร เราไม่ได้ออกแบบอาคารแล้วเอาคนเข้าไปยัด แต่เราเอาคนมาตั้ง เป็นตัวอย่างว่าชีวิตเขาต้องการอะไร แล้วออกแบบให้เขาจัดการชีวิตได้ง่ายขึ้นในอาคารนั้น

แนวคิดเหล่านี้ นำไปสู่อาคารรูปตัวเอสของ Raintree?

รูปทรงของอาคาร Raintree จริงๆ ไม่ได้เกิดมาจากเรา (พร้อมวาดให้ดู) นี่คือขนาด มีต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เล็ก ข้างหลังคือห้องแถว อาคารข้างเคียง ลมจึงเข้าอาคารจากด้านหลังไปหน้า พอมันเป็นแบบนี้ ตัวอาคารก็เลยต้องหลบต้นไม้ และวางให้อยู่ในแนวที่ลมจะไหลผ่านได้ทุกอาคารเรียน

และเราต้องการพื้นที่เปิด ซึ่งเจ้าของก็ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ทางเดินจึงกว้างมากพอที่จะเอาโต๊ะออกมาตั้งแล้วเรียนข้างนอกได้ โดยมีพัดลมเพดานติดไว้ เด็กจึงไม่ถูกจำกัดในการเรียนในห้องเพียงอย่างเดียว

ขณะที่ประตูกั้นภายในและภายนอกก็จะเป็นบานเลื่อนสามตอน คอนเน็กต์กันได้มากที่สุด ข้างหลังเป็นสวนเพื่อให้เกิดแสงธรรมชาติได้มากที่สุด ธรรมชาติทุกอย่างอยู่แค่เอื้อม

จนกลายเป็นโรงเรียนที่มองเห็นกันหมด

ยังไม่พอ ผมต้องการให้ลมข้างบนกับข้างล่างมันต่อเนื่องกัน ก็เลยเจาะช่องตรงพื้นที่ส่วนกลาง คนที่อยู่ข้างบนก็เห็นว่าข้างล่างทำกิจกรรมอะไร ข้างในก็เห็นข้างนอก พูดง่ายๆ ว่าที่นี่ ใครทำอะไรตรงไหนจะเห็นกันหมด มันเกิดจากเราเข้าไปศึกษาจริงๆ ว่าเด็กต้องการอะไร

แล้วหลุมกลมๆ ที่เป็นซิกเนเจอร์ของโรงเรียนก็คือ…

เด็กจะรู้สึกเป็นกันเองและอบอุ่นเวลาทำการเปลี่ยนสเปซ ถ้าเขานั่งเล่นข้างบน จะไม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง แต่พอมันบุ๋มลงไปแล้วได้ลงไปนั่งข้างใน ความรู้สึกมันคือจะอยู่ตรงไหนก็ได้ เป็นที่ส่วนตัวของเขา

ต้องศึกษาจิตวิทยาเด็กด้วยไหม

ใช่ เด็กตัวเล็กๆ เขาจะชอบไปซุกอยู่ในที่ๆ พอดีตัว เวลาจะอ่านหนังสือหรืออะไรก็แล้วแต่ เราเลยออกแบบมุมต่างๆ ในโรงเรียนให้ตอบรับกับกิจกรรมนั้น แล้วช่วงวัยพัฒนาการที่สำคัญที่สุดก็คือ 0-3 ขวบ ตัวตนของเขามันจะเกิดขึ้นตรงนี้เลย

นอกจากในตัวอาคาร ดูเหมือนเรื่องธรรมชาติภายนอกก็สำคัญไม่แพ้กัน

การมีคอนเน็กชั่นกับธรรมชาติ ได้เห็นว่าวันนี้อากาศเป็นยังไง ข้างนอกมีนกมั้ย ต้นไม้มีกลิ่นหอมมั้ย พาลูกไปวิ่งเล่นดีมั้ย นั่นคือสิ่งที่เราได้จากเวลาเราไปเที่ยวรีสอร์ต แต่ถ้าออกแบบดีๆ บ้านก็ทำได้นะ แล้วพอเราอยู่ในบ้านที่มีอากาศหมุนเวียน มีพัดลมระบายอากาศที่ดี ไม่ต้องเปิดแอร์ เด็กที่เติบโตขึ้นมาในบ้านที่ใกล้ชิดธรรมชาติ เขาจะรู้จักรักธรรมชาติ พอรู้จักก็จะรู้แล้วว่าจะรักและรักษามันยังไง

ให้ธรรมชาติสอนเด็กว่าจะรักธรรมชาติยังไง

เหมือนกับการที่เด็กคนนึงจะเติบโตขึ้นมาโดยรู้จักรักคนอื่น พ่อแม่ก็มีส่วน เพราะความรักเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง

อย่างที่ Raintree แนวความคิดของเจ้าของตรงกับเรา และซอยนางลิ้นจี่ก็เป็นที่ในเมือง แต่พื้นที่ตรงนั้นมีต้นไม้ใหญ่อยู่เยอะมาก ซึ่งต้นไม้ใหญ่พวกนี้มันหาต้นอื่นมาทดแทนกันไม่ได้ ต้นไม้ที่รากหยั่งลึกมันแข็งแรง ต่อให้เราย้ายจากที่อื่นมาปลูก ต้นใหญ่เท่ากัน มันก็ไม่แข็งแรง ลมพายุมามันก็โค่น โรงเรียนจึงต้องการเก็บต้นไม้ไว้ เพราะมันคือทรัพย์สินที่ประเมินค่าไม่ได้ แล้วถ้าเราดูให้ลึก ต้นไม้ไม่ได้มาแค่ต้นไม้นะ

แล้วต้นไม้พาอะไรมาให้อาคารที่เราออกแบบอีก

ชีวแวดล้อมต่างๆ รอบตัว ไม่ว่าจะนก กระรอก หนอนผีเสื้อที่เขาจับมาสอนก็เยอะมาก ไม่ต้องไปซื้อหามา เด็กได้เห็นระบบนิเวศของจริง สัมผัสได้อย่างใกล้ชิด

ผมอยากออกแบบบ้าน
ที่คุณภาพชีวิตราคาสิบล้านแต่ราคาไม่กี่แสน
จะไม่ได้ถูกแบ่งด้วยเงิน
แต่แบ่งด้วยความใส่ใจของสถาปนิก

ความรู้ทั้งหมดที่มีอยู่ คิดว่าอยากจะนำไปทำอะไรต่อ

ผมอยากทำบ้านที่เจ้าของบ้านต้องการใช้เวลาอยู่กับบ้าน และครอบครัวอย่างมีความสุข และรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

สำหรับผม ผมอยากออกแบบบ้านที่คุณภาพชีวิตราคาสิบล้านแต่ราคาไม่กี่แสน จะไม่ได้ถูกแบ่งด้วยเงิน แต่แบ่งด้วยความใส่ใจของสถาปนิก ซึ่งทำได้นะ แต่มันยาก เพราะถ้าง่ายคงมีคนทำไปกันหมดแล้ว (ยิ้ม)

สมมติว่าข้อจำกัดมันรัดตัว สิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะออกแบบเพื่อลูกได้คืออะไร

เวลา… ออกแบบแพตเทิร์นเวลาในการอยู่กับลูก ว่าวันนี้เราจะใช้เวลาทำอะไรกัน เขาจะได้อะไรมากขึ้น ผมว่าถ้าเราออกแบบดีๆ ศึกษาดีๆ เราจะได้เด็กที่มีคุณภาพ

ขอขอบคุณภาพสถาปัตยกรรมบางส่วนจาก GreenDwell


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST