READING

WORK WITH KIDS: ครูใบปอ – อ้อมขวัญ เวชยชัย ว...

WORK WITH KIDS: ครูใบปอ – อ้อมขวัญ เวชยชัย วันหนึ่งคุยกันกับคุณครูมหัศจรรย์ที่เด็กๆ รัก

“ถึงใครก็ตามที่จะผ่านมาได้อ่าน… 

วันนี้เราเข้ามาที่ CREAM Bangkok เพื่อมาคุยกับ ครูใบปอ—อ้อมขวัญ เวชยชัย คุณครูผู้ก่อตั้ง (แต่น่าจะไม่ได้ก่อสร้าง) โรงแรมมหัศจรรย์แห่งนี้ ทีแรกคิดว่าจะต้องเขียนจดหมายพร้อมแนบลายอุ้งมือเป็นหลักฐานแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้ามาสัมภาษณ์ แต่ครูใบปอก็ใจดี บอกว่าเข้ามาพบได้เลย พร้อมบอกวิธีการเปิดประตูลับทางเข้าโรงแรมให้อย่างละเอียด อะฮ่า คิดว่าเราจะบอกต่อเหรอ ไม่มีทางหรอก ไม่งั้นมันก็ไม่เรียกว่าประตูลับสิ

การพูดคุยของเราไม่ได้ราบรื่นมากนักหรอก เพราะซักเดี๋ยวก็จะมีเด็กคนโน้น คนนี้ เข้ามากระซิบอะไรลับๆ ที่ข้างหูครูใบปอ บางคนวิ่งมาอย่างตื่นเต้นเพื่อบอกอะไรบางอย่างที่เราไม่อาจเข้าใจ ใครจะกลับบ้านก็ต้องมาร่ำลา พร้อมทิ้งข้อความเอาไว้ว่า ครั้งหน้าจะมาทำอะไรที่โรงแรมแห่งนี้ ดูเป็นโลกที่แขกจรอย่างเราเห็นแล้วก็อยากจะขอมีส่วนร่วมบ้าง ขอเข้าใจด้วยคนสิ แต่ก็ไม่รู้ว่าท่านผู้จัดการโรงแรมจะอนุญาตหรือไม่

สำหรับใครที่ยังสงสัยว่า ครูใบปอ และ CREAM Bangkok คืออะไรกันแน่ เราจะเล่าให้ฟังก็ได้ แต่ก่อนอื่นพวกเธอต้องไปเอาเกล็ดมังกรสีขาว และใบอ่อนของต้นแมนเดรกมาแลกกับเรื่องเล่า แล้วเราจะยอมเล่าให้ฟังดีๆ

เอาล่ะ เราคิดว่าพวกเธอจะต้องหาของพวกนั้นมาไม่ได้ แต่ไม่เป็นไร เห็นแก่เทพเจ้าแห่งสายฝน เราจะเล่าให้พวกเธอฟังก็ได้ และเราจะเล่าด้วยภาษาของพวกเธอด้วย เพราะไม่อย่างนั้นเธอต้องเข้าใจเรื่องราวได้ไม่หมดแน่ๆ เรากำลังฝึกฝนภาษาโลกมนุษย์อยู่พอดี งั้นก็ขอถือโอกาสเลยแล้วกัน

ถ้าพร้อมแล้ว จับกิ่งเถาวัลย์ยักษ์ในมือของพวกเธอให้มั่น แล้วไปทำตัวสนิทสนมกับคุณครูมหัศจรรย์ด้วยกันกับเราเลย”

อะแฮ่ม ไหนๆ ก็เพิ่งกลับจาก CREAM Bangkok โรงแรมมหัศจรรย์ ก็เลยอินเป็นพิเศษ อยากลองเขียนถึงสถานที่แห่งนี้ด้วยภาษาอัศจรรย์ดูบ้าง แล้วก็พบว่า มันเขียนยากใช้ได้เลยทีเดียว

ผิดกับข้อความบนกระดาษแผ่นเล็กบ้าง แผ่นใหญ่บ้าง ที่ติดอยู่ตามพื้นที่ในโรงแรม เขียนด้วยลายมือยึกยือ แต่ข้อความในนั้นเต็มไปด้วยความมหัศจรรย์ที่น่าฉงน เป็นภาษาแบบที่ให้เรานั่งเขียนตอนนี้ก็คงจะทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้คือความมหัศจรรย์ของช่วงวัย และโชคดีมาก ที่เด็กๆ ได้มีพื้นที่ในการเก็บบันทึกความคิดสร้างสรรค์สุดมหัศจรรย์นั้นเอาไว้ ในโรงแรมชื่อน่ารัก CREAM Bangkok

เราเคยได้พบกับครูใบปอมาบ้างแล้ว ทั้งจากการคุยกันผ่านตัวอักษร และจากการมาเยี่ยมที่โรงแรมแห่งนี้ สิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกได้ คือความใจดีน่ารัก และความใส่ใจแบบที่นานๆ ทีเราจะได้รับจากคนที่เพิ่งรู้จักกันมาไม่นาน

กลับมาครั้งนี้ ได้เห็นคุณครูมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ ชวนเด็กๆ เล่น ชวนคิด ตั้งคำถามชวนตอบ ทั้งหมดที่เราเห็นนั้นคือ ใบหน้ายิ้มแย้ม กับเสียงเล็กๆ ที่เล่านิทานเรื่องไหนก็ต้องชนะใจเด็กอยู่หมัด ของครูใบปอ น่าจะเป็นสิ่งที่แสดงว่า เธอมีความสุขกับการได้ทำงานที่แวดล้อมไปด้วยเด็กๆ มากขนาดไหน อะไรทำให้บัณฑิตอักษรศาสตร์ เลือกที่จะไปศึกษาอย่างจริงจังด้านวรรณกรรมเด็ก และกลับมาเป็นคุณครูปฐมวัย ก่อนจะมาสร้างพื้นที่มหัศจรรย์แห่งนี้

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คนที่ไม่ได้เรียนครู เลือกมาเป็นครู

เราเป็นคนที่ชอบเด็ก สนใจเด็ก ชอบเล่นกับเด็กมาตั้งแต่เด็ก พอโตมาก็ยิ่งรู้สึกว่า อะไรต่างๆ ที่ออกแบบมาให้เป็นของเด็ก ทั้งนิทาน หนัง การ์ตูน ละครเวที อะไรเหล่านี้มันสื่อสารกับเรามาก มีอีเวนท์ที่เกี่ยวกับเด็ก เราก็จะไป  เพราะเราสนใจ ใจเรามุ่งไปทางนี้

พอโตขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มคิดว่า เราอยากจะทำงานกับเด็ก อยากทำอะไรที่สื่อสารกับเด็กบ้าง เลยคิดว่าจะทำนิทาน (ทำไม่เป็นครูล่ะ ได้ทำงานกับเด็กแน่ๆ—เราถาม) ที่ไม่เลือกครู เพระว่าเรายังอยากทำชิ้นงานอะไรสักอย่างให้กับเด็กก่อน และโดยพื้นฐานเราเป็นคนชอบเขียนหนังสืออยู่แล้วด้วย พอคิดแบบนี้ เราเลยเลือกไปเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ ด้านการทำหนังสือเด็กโดยเฉพาะ

เนื้อหาที่เรียนคือเรียนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการจะผลิตวรรณกรรมเด็กออกมาสักเล่ม ทั้งในมุมศิลปะ การเล่าเรื่อง และมุมธุรกิจการพิมพ์ด้วย

เมื่อเรียนจบ เราก็ค้นพบตัวเองว่า เราไม่ได้ชอบทำสื่อให้เด็ก แต่เราชอบอยู่กับเด็กมากกว่า ถ้าเราได้เจอเด็กเยอะๆ เราคงทำงานให้เด็กได้ดี นั่นจึงทำให้เราคิดว่า เรามาเป็นครูดีกว่า

เราโชคดีมากที่โรงเรียนค่อนข้างเปิดกว้าง เขามองว่าถ้าเรามีความรู้ด้านอื่นๆ ที่สามารถไปแชร์กับโรงเรียนได้ แม้ไม่ได้เรียนครู มันก็เป็นไปได้ และถือเป็นโอกาสที่กว้างขึ้นสำหรับเด็กๆ ด้วย เพราะฉะนั้น ตลอดการทำงาน เราจึงสามารถคิดสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ ถ้าเราอยากจะทำโปรเจ็กต์พิเศษอะไร

ตอนนั้นเราเป็นครูกิจกรรมพิเศษ เลยจะได้เจอกับเด็กทุกคน หน้าที่ของเราคือรับผิดชอบด้านการอ่านเป็นหลัก จัดกิจกรรมพิเศษที่เกี่ยวกับหนังสือ สร้างโลกมหัศจรรย์ที่เกิดจากนิทานให้กับเด็กๆ เกิดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้

เราเลยได้พบว่า การเป็นครูนี่แหละ ที่เราได้ใช้ทุกอย่างที่สั่งสมอยู่ในตัว ทุกอย่างที่เราเสพ ความสนใจที่มีต่อเด็กที่เรามีมาตลอด เราสามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้เด็กได้

“การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านจึงไม่ใช่การไปให้เขานั่งอ่าน แต่จะทำอย่างไรให้เขาสนใจการอ่าน”

กิจกรรมรักการอ่านในแบบของครูใบปอ

เราเน้นสร้างประสบการณ์ สร้างบรรยากาศ สร้างสภาพแวดล้อม เราเชื่อว่าประสบการณ์ที่เขาได้รับ จะเข้าไปกระทบกับความรู้สึกภายใน และจะเชื่อมโยงกลับไป ทำให้เขาเห็นว่า อ๋อ การอ่านมันทำให้เขารู้สึกแบบนี้เหรอ นิทานมันเป็นอย่างนี้เองเหรอ ซึ่งที่ CREAM ก็เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจแบบนั้น

สำหรับเด็กเล็กๆ เนี่ย เขายังอ่านไม่ออก การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านจึงไม่ใช่การไปให้เขานั่งอ่าน แต่จะทำอย่างไรให้เขาสนใจการอ่าน เราเลยให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์การอ่านให้กับเขา ผ่านนิทานและวิธีการหลากหลายรูปแบบ เช่น ทำเป็นหุ่นมือบ้าง นอนฟังนิทานหุ่นเงากันบนเตียงใหญ่ๆ เราก็เอาเตียงมาต่อกัน ทำเทศกาลรักการอ่าน เราก็ขนหนังสือลงมาจัดให้เต็มโรงเรียน เพื่อสร้างให้เด็กเกิดความรู้สึกว่า เขารักหนังสือจัง มีการให้เด็กๆ เอาตุ๊กตาของตัวเองมาค้างคืนที่ห้องสมุด แล้วพอกลางคืน เราก็แอบถ่ายรูปตุ๊กตาของเขากำลังอ่านหนังสือ สิ่งที่เราทำคือเราสร้างโลกมหัศจรรย์ขึ้นมา ให้เขารู้สึกว่า นิทานกับเขา มันเป็นสิ่งที่คู่กัน ทำให้เขารักมัน ผ่านประสบการณ์ที่เขาได้รับ

สิ่งที่เราเห็นหลังจากจัดงานมาหลายปี คือเด็กๆ รับเอากิจกรรมนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในความทรงจำที่เขามีต่อโรงเรียน มีเด็กบางคนจบอนุบาลไปแล้ว พอรู้ว่าจะมีวันเทศกาล เขาก็จะกลับมา คุณพ่อคุณแม่ก็ให้โดดเรียนมาเลย (หัวเราะ) มันเป็นความทรงจำที่มันติดตัวเขาไปจริงๆ เด็กๆ ก็จะแต่งตัวมาด้วยนะ เป็นคาแรกเตอร์จากหนังสือ แล้วแต่ว่าใครชอบเรื่องอะไร คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยกันประดิษฐ์ มันก็เป็นประสบการณ์ที่ดี บรรยากาศมันเลยจะอบอวลไปด้วยนิทาน ด้วยหนังสือ

แต่คุณพ่อคุณแม่บางคนบอกว่า ลูกไม่ชอบหนังสือ ลูกไม่ฟังนิทาน

มันก็มีนะ เด็กที่มีแนวโน้มชอบเคลื่อนไหว ชอบวิ่ง ปีนต้นไม้ ชอบเล่นนอกบ้าน แต่เมื่อถึงเวลาเขาก็มานั่งอ่านหนังสือ ดังนั้น เวลามีคุณแม่มาพูดว่า ลูกไม่ชอบหนังสือ ครูก็จะบอกว่า ลองอีก อยากให้ลองอีก เล่าต่อไป จัดสภาพแวดล้อมช่วยด้วย เอาให้หันไปทางไหนก็เจอ มันต้องมีวันที่เขาหันไปเห็นหนังสือที่สนใจแล้วหยิบมาอ่านก็ได้

เรามองว่า ถ้าเด็กเคยมีประสบการณ์ที่ดีต่อหนังสือ น่าจะชอบหนังสือได้ทุกคน บางทีที่ว่าเด็กไม่ชอบ อาจเกิดจากว่าเขาไม่ได้มีโอกาสสัมผัสด้านที่น่าสนใจของหนังสือเท่าไร เขาเลยไม่ได้รู้ว่านิทานมันก็เร้าใจได้เหมือนกัน

แต่ไม่ได้หมายความว่าเด็กทุกคนจะต้องนั่งนิ่งๆ อ่านนิทานตลอดเวลานะ เพราะเด็กเล็กเขาก็ยังต้องการการพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้ออกไปวิ่งเล่นอย่างอิสระ ซึ่งก็ถูกแล้ว แต่ก็อยากให้นึกถึงหนังสือไว้ด้วย แล้วสร้างสมดุลให้กับทุกกิจกรรมให้ดี

“ช่วงที่เป็นครู โชคดีว่าทางโรงเรียนให้ความเป็นอิสระกับเราที่คิดจะจัดกิจกรรมพอสมควร เราเลยทดลองจัดพื้นมหัศจรรย์แบบนั้นอยู่บ่อยๆ เลยได้เห็นว่า มันก็พอไหว เป็นไปได้อยู่ เพราะเมื่อได้รู้จักเด็กจริงๆ แล้ว จะรู้ว่า เขาไม่ได้ต้องการความมหัศจรรย์ที่ใหญ่โตแบบดิสนีย์แลนด์ แต่กับแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันก็เติมให้เขาไปต่อได้แล้ว”

เป็นครูก็มีความสุขแล้ว แล้วทำไมถึงมาทำ CREAM

เรามีโปรเจ็กต์ที่ติดค้างในหัวใจมานานมากแล้ว คือสมัยเรียนที่อังกฤษ เราเคยเดินผ่านร้านหนึ่ง ชื่อว่า Monster Shop เป็นร้านขายของสำหรับสัตว์ประหลาด ที่หน้าร้านจะมีป้ายเขียนข้อความ ‘ขอความร่วมมือคุณลูกค้าอย่ากินพนักงานขณะ ปฏิบัติหน้าที่’  หรือ ‘สามารถนัดหมายเข้าร้านในช่วงกลางคืนได้ สำหรับลูกค้าที่เป็นแวมไพร์’ และ ‘ห้ามยักษ์เข้ามาในร้านเกินสองตัว’ เราเห็นแล้วก็สงสัยว่า นี่มันคือร้านอะไร พอกลับบ้านเลยไปเซิร์ชดู พบว่าก็เป็นร้านขายของจริงๆ ขายสินค้าเช่น แยมที่เป็นรูปสมอง ซึ่งจริงๆ มันก็คือแยมผลไม้นั่นแหละ แต่เขาใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไป เขาออกแบบอย่างจริงจังมาก เพื่อทำให้ร้านนั้นมันกลายเป็นอีกโลกหนึ่ง สื่อสารผ่านการเขียน โดยเราจะเห็นได้จากฉลากและป้ายที่อยู่ในร้าน

พอหาข้อมูลเพิ่ม เลยได้รู้ว่ามันมีคำเรียกพื้นที่แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนแบบนี้ว่า Writing Center คือเป็นพื้นที่ที่มาเสริมโรงเรียน สำหรับเด็กๆ ที่อยากจะใช้ความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการอ่านและเขียนเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งอย่างร้านนั้น เขาก็จะมีทางเข้าเป็นประตูลับ พอเข้าไปด้านในก็จะเป็นคลับ เป็นพื้นที่ให้เด็กเข้าไปปลดปล่อย โดยตัวร้านเตรียมเรื่องเล่า เตรียมจินตนาการเป็นต้นทุนไว้ให้ เราก็รู้สึกว่า อยากทำแบบนี้ แต่จะไปทำไหวได้อย่างไร คิดแล้วก็ยั้งไว้ แต่ยังหาข้อมูลเก็บไว้นะ หาข้อมูลเยอะมาก ศึกษาเยอะมาก จนพบว่ามีพื้นที่แบบนี้อีกหลายที่ทั่วโลก แต่ก็ยังไม่เจอโมเดลแบบที่เราคิดว่าเราจะทำได้

เราเลยเก็บความฝันไว้ก่อน แล้วช่วงที่เป็นครู โชคดีว่าทางโรงเรียนให้ความเป็นอิสระกับเราที่คิดจะจัดกิจกรรมพอสมควร เราเลยทดลองจัดพื้นมหัศจรรย์แบบนั้นอยู่บ่อยๆ เลยได้เห็นว่า มันก็พอไหว เป็นไปได้อยู่ เพราะเมื่อได้รู้จักเด็กจริงๆ แล้ว จะรู้ว่า เขาไม่ได้ต้องการความมหัศจรรย์ที่ใหญ่โตแบบดิสนีย์แลนด์ แต่กับแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ มันก็เติมให้เขาไปต่อได้แล้ว

เช่น มีปิดเทอมหนึ่ง ครูใบปอขอทางโรงเรียนไปฝึกงานที่ Writing Center แห่งหนึ่งที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เป็นเวลาหนึ่งเดือน ชื่อ 100 Story Building หรือว่าตึกร้อยชั้น ซึ่งในความเป็นจริงมันมีแค่ชั้นเดียว แต่เขาจะบอกเสมอว่า ตอนนี้เราอยู่ที่ชั้นที่ 100 แล้วก็จะมีประตูลับอยู่ที่พื้น เราเลยได้พบว่า เด็กเขาพร้อมที่จะต่อยอดตลอดเวลา พอเด็กได้เห็นประตูลับ จินตนาการของเขาก็จะมาทันที โอ้โห มีอีก 99 ชั้นเหรอ ลงประตูนี้ไปเหรอ แล้วก็สมมติกันว่าอีก 99 ชั้นจะเป็นอะไรได้บ้าง นี่คือสิ่งที่เราค้นพบว่า เด็กเขาเป็นแบบนี้จริงๆ เราเริ่มเอาไว้ให้เขานิดเดียว ที่เหลือเขาเอามันไปต่อได้ เราเลยเริ่มคิดว่า เราก็ทำได้นะ พื้นที่แบบนี้

พอ CREAM เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว รู้สึกอย่างไร

ตอนที่เราสอนเด็กอยู่ในโรงเรียน เราก็รู้สึกว่าชีวิตมีความสุขมากอยู่แล้ว แต่ว่าการได้ใช้ชีวิตกับเด็กๆ ในรูปแบบของคลับ ได้มาเจอกันทุกเย็น ได้พูดคุยกัน เหมือนเราเรียนมหาวิทยาลัย ใครชอบอะไรก็แวะไปชมรมนั้น เราก็รู้สึกว่าเราเหมือนมีเพื่อน มันเป็นความรู้สึกที่ดี มีความสุขมากเลย จะให้กลับไปสอน อาจจะไม่สนุกเท่าแล้ว ขอลองแบบนี้ก่อนดีกว่า

เราคิดว่า รูปแบบของการมีบ้าน แล้วมีเด็กมาใช้ชีวิตร่วมกันแบบอิสระ ทำให้เราได้เห็นว่าเด็กๆ มีความสนใจเฉพาะเรื่อง เราสามารถทำงานกับความสนใจของเด็กๆ เฉพาะคนได้ โดยที่ไม่ต้องเป็นยูนิตการเรียนรู้ของโรงเรียน เช่น คนนี้สนใจเรื่องหนึ่ง เราก็ชวนเขากับเรา มาทำโปรเจ็กต์ร่วมกันได้เลย ได้เห็นเด็กๆ เติบโตไปทุกวัน วันนี้เขามาถึง เขาเลือกทำสิ่งเดิมไหม หรือความสนใจเขาเปลี่ยนไป เขาอยากจะลองทำอะไรใหม่ๆ อยากจะขอเขียนใบเช็กอินให้ จากเดิมที่เป็นคนไม่กล้าพูดไม่กล้าทำ เราได้เห็นอะไรแบบนี้แล้วเราตื่นเต้นมากๆ

เป็นเพราะนี่คือการทำงานกับเด็กที่โตขึ้นด้วยหรือเปล่า

ก็อาจจะใช่นะ แต่จริงๆ แล้ว เด็กเล็กเขาจะความคิดพุ่งกว่านะ ความคิดสร้างสรรค์สูงมาก เพราะกรอบเขายังมีไม่เยอะ แต่กับเด็กโต ถ้ายังโชคดี จินตนาการก็จะยังพอมีเหลือบ้าง แต่เราก็เข้าใจนะ เด็กๆ เขาก็มีอะไรต้องทำในชีวิตเยอะแยะ ทั้งเรื่องเรียน การบ้าน และอื่นๆ บางคนเราก็ต้องทำงานกับเขาซักพักเลย เขาถึงจะเริ่มเล่นสนุก ปลดปล่อยจินตนาการไปกับเรา

เด็กๆ มาที่ CREAM ทำอะไรกันบ้าง

พอเลิกเรียน เด็กๆ ก็จะทยอยมาถึง เข้ามา เก็บกระเป๋า แล้วก็ปล่อยอิสระ บางวันเราก็จะมีโจทย์ทิ้งไว้บ้าง ให้เขาต่อยอด บางวันเราก็ชวนเขาทำบอร์ดเกมกัน แต่หลักๆ ก็คือ แต่ละคนเขาก็จะเดินเข้ามาพร้อมกับความตั้งใจอะไรบางอย่าง ว่าวันนี้เขามาที่นี่เพราะอยากจะทำอะไร อาจจะเป็นโปรเจ็กต์ต่อเนื่อง หรืออาจจะทำแล้วจบ หรืออาจจะไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าวันนี้จะมาทำอะไร แต่มาเห็นเพื่อน มาเดินดูเพื่อนทำอะไรนะ เห็นแล้วอยากทำบ้าง อะไรแบบนี้ก็มี

เรามองว่า แค่เขามาเห็นเพื่อนทำ มันก็กระทบข้างในของเขาอยู่แล้ว แค่คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็น ขอให้มั่นใจว่ามันมาแน่ ความคิดสร้างสรรค์มันมาแน่ บางคนมาวันแรกก็ไม่รู้จะทำอะไร เขาก็เดินไปเดินมา ไปนั่งคุยกับเพื่อน แล้วบรรยากาศมันจะช่วยเอง เพราะเขาหันไปทางไหน ก็เห็นเพื่อนคนนั้นกำลังเขียนอะไรอยู่ เพื่อนคนนี้นั่งอ่านหนังสืออยู่ เห็นป้ายกฎมหัศจรรย์ที่ติดอยู่ก็เกิดสงสัย น่าสนใจจัง หนูเขียนบ้างได้ไหม หรือแค่เขาไปนั่งอ่านหนังสือเฉยๆ เราก็รู้สึกว่า ทั้งหมดนั้นคือได้กับตัวเด็กทั้งหมดเลย ไม่ใช่ว่าจะต้องมีผลงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกที่ซึมซับเข้าไปในตัวเขาแบบที่ไม่รู้ตัว

ซึ่งมันดูเป็นแนวคิดที่ใหม่และยากมากในบ้านเรา

ใช่ค่ะ มันยากมาก ก็จะมีผู้ปกครองถามมาบ่อยเหมือนกันว่า ไม่สอนเหรอ เราถึงต้องมีตัวเวิร์กชอปเอาไว้ด้วย แต่ในเวิร์กชอป เราก็จะแบ่งเป็นช่วงเวลาเล่นอย่างอิสระเอาไว้ และเป็นเวลาเยอะด้วย เพราะเรารู้ว่ามันสำคัญมาก ช่วงเวลาอิสระนี่แหละที่มันอัศจรรย์กว่าสิ่งที่เขาต้องทำในเวิร์กชอป ยิ่งเรามีพื้นที่อิสระให้เขามากเท่าไร เราจะยิ่งได้เห็นความมหัศจรรย์มากขึ้น

เท่าที่สังเกต ที่นี่จะให้ความสำคัญกับงานศิลปะมาก เป็นการดูงานศิลปะแบบที่ผู้ใหญ่ดู

พอเราทำงานกับความคิดของเด็กๆ เราอยากให้มันละเอียดและซับซ้อน การได้มีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้ มันจะเพิ่มความละเอียดสำหรับเขาในฐานะนักเขียน มันได้ทั้งคำศัพท์ ทั้งความรู้สึก มีความคิด และคำถาม ที่มันทำงานกับความคิดภายในของเขา ในฐานะนักอ่านก็เหมือนกัน มันจะทำให้เขาเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่เคยอ่านมาได้ ภาพนี้รายละเอียดเป็นอย่างไร ความรู้สึกต่อภาพนี้สำหรับเขามันเป็นอย่างไร ทำงานกับความคิดของเขาอย่างไร เราว่าเด็กเขารับได้ เขาอาจจะไม่ได้ดูงานศิลปะมา แล้วจะต้องเอามาทำอะไรให้เราได้เห็น แต่มันจะซึมอยู่ในตัวเขา แล้ววันหนึ่ง ถ้าเขาได้มีความถี่ที่ได้รับอะไรพวกนี้เข้าไปมากพอ ทุกอย่างที่อยู่ในตัวเขา จะตกผลึกออกมากลายเป็นความคิดสร้างสรรค์ มันไม่ใช่แค่วาดรูประบายสีบนผ้าใบ แต่มันคือการเชื่อมโยงวัตถุดิบภายในตัว เพื่อสร้างให้เกิดอะไรใหม่ๆ และยิ่งมีความละเอียดมากเท่าไร เขาก็จะยิ่งมีคลังตรงนี้เยอะ

“เด็กควรมีพื้นที่ ที่เขาจะได้เป็นเด็ก”

ทำไมพื้นที่แบบ CREAM ถึงจำเป็นกับเด็ก

อย่างแรกคือ เด็กควรมีพื้นที่ที่เขาจะได้เป็นเด็ก และเรารู้สึกว่า เด็กเขามีเรื่องเล่า มีจินตนาการ มีอะไรอยู่ในตัวเต็มไปหมด เขาควรจะได้ปล่อยออก ได้เป็นเด็ก ได้มีพื้นที่ของตัวเอง ได้อยู่ในพื้นที่ที่เข้าใจธรรมชาติของเขา ไม่ว่าจะเป็นในด้านไหนที่เขาสนใจ ทั้งดนตรี ศิลปะ การละคร ทำอาหาร เป็นไปได้ทั้งหมด แต่เราชอบอ่านเขียน เราชอบนิทาน เราชอบเขียนหนังสือ เราก็เลยรู้สึกว่า นี่ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ช่วยให้เด็กได้ระบายความคิดได้ดีนะ ถ้าได้มีพื้นที่ให้เด็กในด้านนี้ก็น่าจะดี ไม่อย่างนั้นมันน่าเสียดายช่วงเวลา ทั้งศักยภาพ ทั้งความคิด เขามีอยู่เยอะมาก แต่ไม่ได้ไปปล่อยออกที่ไหนเลย

ที่นี่เหมาะกับเด็กทุกคนไหม

เราพยายามเชื่อมโยงทุกความสนใจของเด็กๆ เข้ากับที่นี่ อย่างเด็กที่ชอบเล่นกีฬามาที่นี่ เราก็จะดึงเอาธรรมชาติความอยากสำรวจของเขาออกมา ให้เขาจัดการดูแลตัวเอง บอกเขาให้วิ่งดูเลยว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง เขาก็จะใช้พื้นที่นี้ในแบบของเขา และเขาก็จะหาอะไรที่มันคลิกกับสิ่งที่เขาสนใจได้ เราชวนเขาจดบันทึกบ้าง ชวนเล่าเรื่องบ้าง ทำข่าวบ้าง ดึงให้มันเกี่ยวข้องกับตัวเขาที่สุด

ด้วยรูปแบบของคลับ เขาจะมาชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราโอเคหมด แต่ถ้าอยากจะเล่า อยากจะบอก อยากจะทำอะไร ขอให้บอกเรา เราเป็นพาร์ตเนอร์ในการทำไปด้วยกันได้ และเรารู้สึกว่าอันนี้ต่างหากที่เด็กต้องการ

ทำไมการอ่านเขียน ถึงสำคัญ

พ่อแม่อยากให้ลูกรักการอ่าน อยากให้ลูกเขียนได้ เขียนเก่ง เราก็เลยจะไปเน้นเรื่องการสะกด หรืออะไรแบบนั้นเสียเยอะ นั่นคือเป้าหมายของพ่อแม่ แต่เป้าหมายของเราคือความคิด เราอยากดึงมันออกมา ใครถนัดอะไรก็เอามันออกมาในรูปแบบนั้น ซึ่งเราชอบแบบนี้ เราเคยรู้สึกกับการอ่านหนังสือว่ามันสนุกตื่นเต้น เวลาเขียนอะไรแล้วเราอินไปกับมัน เราชอบจังเลย ความรู้สึกเหล่านี้มันมีอยู่ เราอยากส่งต่อความรู้สึกแบบนี้ให้คนอื่นได้สัมผัส ก็พยายามลองกับเด็กๆ ว่าเขาจะชอบไหม

เพราะฉะนั้น เรื่องการอ่านเขียน สำหรับที่ CREAM เลยจะเป็นเรื่องของการได้เล่าความคิดมากกว่า แต่จะเป็นรูปแบบใดก็แล้วแต่ อาจจะเป็นเรื่องเล่า เป็นการเขียนบันทึกก็ได้ เรามองว่าเรื่องเล่าและความคิดที่เด็กมีนั้นสำคัญมาก แต่การเขียนมันเป็นแค่เครื่องมือสำหรับบันทึก เก็บความคิดอันนั้นออกมา

อย่างในเด็กเล็ก เขายังอ่านเขียนไม่ได้ แต่เขามีเรื่องเล่าอยู่ในหัว งานประดิษฐ์มันก็อาจจะตอบโจทย์ในการเอาความคิดของเขาออกมามากกว่า เรามีนะ เด็กที่มาประดิษฐ์ เพราะเขายังเขียนไม่ได้ หรือบางคนก็มาเล่า แล้วเราก็จะเสนอว่าเราจดบันทึกให้ก็ได้ หนูไม่ต้องเขียนเอง เพราะเขายังเขียนได้ช้า กว่าเขาจะเขียนได้สักตัวหนึ่ง มันไม่ทันเรื่องเล่าในหัวที่มันพรั่งพรูมากๆ เราได้กลายเป็นนักฟัง เป็นเพื่อนเขา เรารู้สึกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเด็ก จากเดิมที่โรงเรียนก็เป็นความสัมพันธ์ที่ดีอยู่แล้วนะคะ ไม่ได้มีความเป็นครูกับนักเรียนอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว แต่พอลองเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน เรายิ่งรู้สึกว่า ความสัมพันธ์มันไปได้ไกลกว่าเยอะเลย เด็กเขาเชื่อใจเราที่จะเล่าจะบอกจะแชร์ทุกอย่าง เราเลยรู้สึกว่า ดีจังเลย

หน้าที่ของครูคือ ตามน้ำ และต่อยอด

ใช่ๆ เราเริ่มสร้างอะไรเอาไว้ให้เขานิดนึง แล้วลองดูว่าเขาจะต่อมันไปในทางไหน เราจะเข้าไปช่วย ไปเสริมอะไรได้ตรงไหนก็เข้าไป แต่หลักๆ คือเราสร้างสภาพแวดล้อมทิ้งไว้ให้กับเขา ด้วยความเชื่อมั่นที่ว่า เขาสามารถดูแลตัวเอง ดูแลเวลาที่เป็นของเขาเองได้ แล้วก็ปล่อยเขา เราว่ามันมีคุณค่านะ ถ้าเด็กได้มีโอกาสได้ดูแลชีวิตตัวเอง รู้ว่าตัวเองจะเลือกทำอะไร ได้เลือกตั้งแต่จะหยิบสี หยิบดินสอสีไหนมาเขียนใบเช็คอิน เลือกที่จะทำอะไรในพื้นที่แห่งนี้ เราว่าแบบนี้เป็นเป้าหมายมากกว่าแค่การอ่านเขียน

สรุปแล้ว การอ่านเขียนมันเป็นแค่เครื่องมือเท่านั้นเอง เป็นเครื่องมือที่ครูใบปอชอบที่จะใช้กับเด็ก แต่จริงๆ แล้วเป้าหมายสำคัญของเรา คืออยากให้เขาได้มีพื้นที่ของเขา ได้เล่าเรื่องของเขา ได้ความรู้สึกดีกลับไป ได้มีเพื่อน ได้รู้ว่ามีคนที่อยากรู้ว่าเขาคิดอะไร ได้ดูแลตัวเอง เลือกได้ ตัดสินใจได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้

คุณพ่อคุณแม่ทำอะไรแบบนี้เองที่บ้านได้ไหม

เราบอกทุกคนเสมอว่าคุณพ่อคุณแม่ทำได้ อย่างเด็กเล็ก กระบะน้ำ ขวดน้ำ กระดาษ ดินสอ เป็นสิ่งที่ง่ายมากที่พ่อแม่เตรียมให้ลูกได้ หลายๆ บ้านเล่นกับลูกเก่งมาก เขาสร้างความมหัศจรรย์ง่ายๆ ให้กับลูกได้

นี่เป็นอีกอย่างที่เราอยากให้ CREAM ทำได้ ก็คือการเป็นพื้นที่ที่สร้างแรงบันดาลใจ ให้เมื่อพ่อแม่เข้ามาเห็นแล้ว จะได้ไอเดียกลับไปต่อยอดเพื่อเล่นกับลูก เพราะว่ามันไม่ยากเลย

เราอยากให้มีคนเข้าใจพื้นที่แบบนี้มากขึ้น เพราะอยากให้มีคนเอาอะไรแบบนี้ไปทำในรูปแบบต่างๆ กันเยอะๆ อยากมีเครือข่าย เราจะได้อุ่นใจ เพราะเราก็รู้สึกว่ามันยากจริงๆ ในช่วงที่เด็กทุกคนก็เรียนพิเศษด้วย มีอะไรต้องทำเยอะแยะ ชีวิตเด็กคนหนึ่งน่ะ แต่ว่า ถ้าเขาไม่ได้มีพื้นที่ให้เอาของของเขาออกเลย ไม่ว่าจะในทางไหนก็ตาม จะดนตรีกีฬา เราคิดว่า อยากให้มีคนเห็นแล้วคิดว่า เฮ้ย แบบนี้ง่าย ทำง่าย แล้วก็ทำ ทำที่ไหนก็ได้

ถ้าทุกคนมีความเข้าใจในพื้นที่แบบนี้ มันก็จะช่วยเราในฐานะที่เราเป็นครูที่อยู่ในระบบโรงเรียนด้วย มันช่วยกันไปหมดทั้งระบบ เด็กก็จะไม่ต้องมากังวลเรื่องเรียนพิเศษ ติว สอบ เพราะคุณพ่อคุณแม่จะเห็นว่า พื้นที่แบบนี้มันมีคุณค่ากับลูกเขาอย่างไร เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร เห็นความสุขเกิดขึ้นไหม เห็นเรื่องเล่าที่ไม่เคยได้ยินไหม ได้รู้จักลูกมากขึ้นไหม มันทำงานกับลูกเขาในแง่มุมที่มันใกล้กับชีวิตเด็กมากกว่าการเรียน มันจะช่วยได้มากเลยถ้ามีคนทำเยอะๆ และกระจายความเชื่อแบบเดียวกัน

 

สัมภาษณ์วันที่ 16 พฤษภาคม 2562

Nidnok

‘นิดนก’ เป็นคุณแม่ของน้อง ณนญ / เป็นนักเขียนสาวเชิงรุก เจ้าของผลงานหนังสือ 'POWER BRIDE เจ้าสาวที่กลัวสวย' และ 'TO BE CONTINUE- โปรดติดตามตอนแต่งไป'

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST