READING

WORK WITH KIDS: นักแก้ไขการพูด ที่อยากให้เด็กที่มี...

WORK WITH KIDS: นักแก้ไขการพูด ที่อยากให้เด็กที่มีความผิดปกติด้านการพูด กลับมาพูดได้อย่างปกติ

ทีมงาน M.O.M มีโอกาสไปอบรมโครงการความรู้สู่ผู้ปกครองเเละครู ครั้งที่ 12 ในหัวข้อ ‘เด็กสมาธิสั้นกับสื่อสังคมออนไลน์’ ที่โรงพยาบาลศิริราช

และงานนั้นเองทำให้เราพบกับ ครูมุก—จิดาภา ประสพผลสุจริต นักแก้ไขการพูดที่เดินทางมาจากจังหวัดราชบุรี เพื่อเข้าร่วมโครงการและทำความรู้จักเด็กสมาธิสั้นมากขึ้น

แต่สิ่งที่เราสนใจไม่น้อยไปกว่านั้นก็คือ อาชีพนักแก้ไขการพูดที่พอได้ยินแล้วก็ชวนสงสัยว่าอาชีพนี้ทำงานกันอย่างไร มีความเกี่ยวข้องและสำคัญกับเด็กๆ อย่างไรบ้าง

จุดเริ่มต้นของการเป็นนักแก้ไขการพูด

ตอน ม. 6 ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เป็นช่วงที่มุกต้องคิดทบทวนว่าตัวเองชอบอะไร อยากทำอาชีพอะไร คำตอบตอนนั้นคือมุกอยากทำอาชีพช่วยเหลือคนอื่น และแพทย์ก็เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่เปิดโอกาสให้มุกทำอย่างที่ตั้งใจ ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนแพทย์ จนมาเจอคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล ก็เลยตัดสินในเลือกเรียนคณะนี้

ทำไมต้องเป็น สาขาวิชาความผิดปกติของการสื่อความหมาย 

ตอนนั้นใครถามว่าอยากเรียนคณะอะไร พอตอบว่าชื่อคณะและภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย ทุกคนทำหน้างงมาก ว่าคณะนี้คืออะไร จบมาแล้วจะประกอบอาชีพอะไร แล้วเท่าที่มุกหาข้อมูลก็พบว่าประเทศไทยมีบุคลากรอาชีพนี้น้อยมาก สวนทางกับจำนวนคนไข้ที่เพิ่มมากขึ้น มุกคิดว่าถ้าเข้าเรียนที่นี่ก็จะมีบุคลากรที่สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้เพิ่มขึ้นอีกคน

เท่าที่ทราบ คณะแบ่งออกเป็น 2 สาขา คือการได้ยินและการพูด แล้วทำไมคุณครูมุกตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านการพูด 

เพราะการได้ยินมีวิชาเกี่ยวกับตัวเลขมาเกี่ยวข้องค่อนข้างเยอะ มุกไม่ค่อยถนัดตัวเลขเท่าไร แต่การพูดเน้นสังเกตพฤติกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เก็บข้อมูลเป็นสถิติ ก็เลยตัดสินใจเลือกเรียนทางด้านการพูด

ทำไมถึงเลือกไปทำงานที่ราชบุรี

พอเรียนจบ ก็ไปสอบใบประกอบโรคศิลป์ แล้วก็เริ่มหางาน ก็เจอว่าที่โรงพยาบาลราชบุรีเปิดรับ และที่นั่นมีรุ่นพี่เราเป็นนักแก้ไขการพูดคนเดียว แต่มีคนไข้จาก 6 จังหวัดใกล้เคียง ซึ่งคนไข้น่าจะเยอะมาก เลยตัดสินใจไปทำงานที่นั่น

“เด็กที่มีปัญหาเรื่องการพูดหนึ่งคน อาจจะมีปัญหาเรื่องอื่นร่วมด้วย เลยต้องให้กุมารแพทย์ช่วยวินิจฉัยเพื่อส่งเด็กไปแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย”

แสดงว่าเรามีเด็กที่มีปัญหาการพูดค่อนข้างมาก และเด็กที่มีปัญหาทุกคนสามารถพบนักแก้ไขการพูดได้เลยไหม

ยังค่ะ ควรพาเด็กไปต้องพบกุมารแพทย์ก่อน หากกุมารแพทย์เห็นว่ามีข้อบ่งชี้ที่ต้องฝึกพูด ก็จะส่งมาให้นักแก้ไขการพูดต่อไป เพราะว่าเด็กที่มีปัญหาเรื่องการพูดหนึ่งคน อาจจะมีปัญหาเรื่องอื่นร่วมด้วย เลยต้องให้กุมารแพทย์ช่วยวินิจฉัยเพื่อส่งเด็กไปแก้ไขปัญหาในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

นอกจากแก้ไขเรื่องการพูดให้เด็กแล้ว มีอะไรที่นักแก้ไขการพูดต้องทำอีก

เด็กที่มีปัญหาเรื่องการพูด ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีปัญหานั้นอย่างเดียว แต่เราต้องดูแลองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ความสามารถเข้าใจภาษา ความสามารถใช้คำศัพท์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางสังคม ทักษะความติด แต่เด็กออทิสติก ดาวน์ซินโดรมบางประเภท การฝึกพูดอย่างเดียวอาจทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตที่ราบรื่นได้ ดังนั้นนักแก้ไขการพูดทำงานร่วมกับนักสหวิชาชีพคนอื่นๆ เช่น นักกิจกรรมบำบัด ครูการศึกษาพิเศษ

นอกจากแก้ไขเรื่องการพูดให้เด็กแล้ว มีอะไรที่นักแก้ไขการพูดต้องทำอีก

เด็กที่มีปัญหาเรื่องการพูด ไม่ได้หมายความว่าเขาจะมีปัญหานั้นอย่างเดียว แต่เราต้องดูแลองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย เช่น ความสามารถเข้าใจภาษา ความสามารถใช้คำศัพท์ ทักษะการสื่อสาร ทักษะทางสังคม ทักษะความติด แต่เด็กออทิสติก ซินโดรมบางประเภท การฝึกพูดอย่างเดียวอาจทำให้เด็กไม่สามารถใช้ชีวิตที่ราบรื่นได้ ดังนั้นนักแก้ไขการพูดทำงานร่วมกับนักสหวิชาชีพคนอื่นๆ เช่น นักกิจกรรมบำบัด ครูการศึกษาพิเศษ

พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีความผิดปกติด้านการพูด

ควรสังเกตตามหลักพัฒนาการภาษาและการพูด เช่น เด็กอายุ 1 ขวบควรเรียกชื่อคุณพ่อคุณแม่หรือเรียกชื่อสิ่งของที่ตัวเองสนใจได้ แต่ถ้าขวบครึ่งแล้วยังพูดไม่ได้ ทำตามคำสั่งไม่ค่อยได้ เด็กคนนี้มีแนวโน้มเป็นเด็กพูดช้า แต่ถ้าอายุ 2 ขวบแล้ว เด็กยังพูดไม่ได้ ทำตามคำสั่งไม่ได้ แบบนี้ถือว่าเด็กพูดช้าแล้ว

นอกจากนี้ก็ยังมีเกณฑ์อื่นๆ เช่น ซนมากกว่าเด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เรียกชื่อแล้วไม่ค่อยหัน ชอบเปิดดูทีวีหรือดูยูทูบเสียงดัง ชอบเล่นคนเดียวไม่สนใจคนอื่น ชอบทำอะไรซ้ำๆ ซึ่งอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของออทิสติกหรือการบกพร่องทางการได้ยิน ต้องรีบพบกุมารแพทย์เพื่อส่งต่อให้นักแก้ไขการพูดทำการรักษา

หรือถึงไม่ได้เป็นโรค ไม่มีปัญหาพัฒนาการตามวัย ก็สามารถมีปัญหาด้านการพูดได้ อย่างที่เห็นบ่อยๆ ก็จากพฤติกรรมการเลี้ยงดู เช่น เด็กไม่ได้พูดคุยกับใคร เพราะพ่อแม่เป็นคนพูดน้อย เลยไม่มีค่อยคุยกับลูก หรือถูกปล่อยให้อยู่กับสื่ออิเล็กทรอนิกส์มากเกินไป

ปัจจุบันเด็กมีปัญหาการพูดจากการดูหน้าจอเยอะมาก เพราะพ่อแม่เห็นว่าของเหล่านี้ทำให้ลูกหยุดซน นิ่งอยู่กับที่ หรือเห็นลูกดูแล้วพูดภาษาอังกฤษตามได้ จนเกิดความเข้าใจผิดว่าลูกสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ แต่นั่นเป็นเพียงการเลียนแบบแล้วพูดตามเท่านั้น เด็กไม่ได้เข้าใจสิ่งที่พูดออกมา

“มุกเจอคนไข้แค่เดือนละหนึ่งครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงมันไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาการพูดของเด็ก แต่พ่อแม่อยู่กับลูกมากกว่า ดังนั้นพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญในการนำคำแนะนำมาฝึกให้ลูก”

ขั้นตอนก่อนเข้ารับการรักษาหรือแก้ไขการพูดเป็นอย่างไร

ก่อนที่จะรักษาการพูด คนไข้จะต้องไปตรวจการได้ยินให้เรียบร้อยก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กมีการได้ยินปกติ เด็กบางคนอาจจะแค่หูหนวก ก็คือไม่ได้ยินเสียงเลย บางคนอาจจะแค่หูตึง ทำให้ฟังเสียงไม่ถนัด บางคนอาจจะต้องใส่เครื่องช่วยฟัง เพราะว่าคนจะเรียนรู้การพูดได้ก็เริ่มต้นจากได้ยินได้ฟัง ถ้าไม่สามารถฟังได้ เด็กก็ยังไม่สามารถรักษาการพูดได้

พอกุมารแพทย์ส่งต่อคนไข้มา ขั้นแรกเราจะทำการซักประวัติเด็กจากผู้ปกครองว่าเด็กมีปัญหาเรื่องการพูดอย่างไร ตอนอยู่บ้านมีวิธีการสื่อสารกับลูกอย่างไร หลังจากนั้นเราก็มาทำความรู้จักเด็ก เริ่มจากการสร้างปฏิสัมพันธ์กับเด็กผ่านการเล่น เพื่อสลายกำแพงภายในใจเด็ก

เพราะสำหรับเด็ก นักแก้ไขการพูดก็คือคนแปลกหน้า ถ้ามีคนแปลกหน้ามาขอให้ทำนั่นทำนี่ เขาอาจจะไม่ยอมทำตามส่งผลให้การประเมินไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ส่วนวิธีที่นักแก้ไขการพูดประเมินภาษาและการพูด จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ หนึ่ง—แบบเป็นทางการ จะใช้แบบทดสอบรูปภาพ แล้วให้เด็กชี้ภาพตามคำสั่งที่กำหนดไว้ เราก็สังเกตว่าเด็กเข้าใจคำศัพท์หรือคำพูดที่เราใช้กับเขาได้ไหม  สอง—แบบไม่เป็นทางการ เป็นการประเมินผ่านการเล่น พูดคุยกับเด็ก แล้วเก็บคำพูดของเด็กมาประเมินว่ามีปัญหาด้านการพูดอย่างไรบ้าง นักแก้ไขการพูดมักเลือกวิธีการประเมินผ่านการ เพราะช่วยให้เห็นความสามารถทางภาษาและการพูดของเด็กอย่างเป็นธรรมชาติ

หลังจากทำการประเมินแล้ว นักแก้ไขการพูดจะให้คำแนะนำกับผู้ปกครองว่ากลับบ้านไปควรฝึกลูกอย่างไร แล้วกลับมาเจอกันใหม่เพื่อความก้าวหน้าของการฝึกฝน  หลังจากนั้นนักแก้ไขการพูดคอยดูว่าเด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดใกล้เคียงหรือสมวัยหรือยัง หรือเด็กบางคนอาจจะไม่สามารถมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดเป็นปกติเท่ากับเด็กทั่วไป แต่เด็กสามารถสื่อสารได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเรียนหนังสือได้ใกล้เคียงเด็กทั่วไป เขาอาจจะไม่ได้เก่งมาก แต่พอมีความรู้และทักษะทั่วไปให้ดำรงชีวิตประจำวันได้ หากครอบครัวรู้สึกพอใจกับพัฒนาการที่เป็นอยู่ ก็สามารถปิดเคสการรักษาได้เลย

แสดงว่าพ่อแม่และครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขการพูด

มากเลยค่ะ เพราะมุกเจอคนไข้แค่เดือนละหนึ่งครั้ง ครั้งละครึ่งชั่วโมงมันไม่เพียงพอสำหรับการแก้ไขปัญหาการพูดของเด็ก แต่พ่อแม่อยู่กับลูกมากกว่า ดังนั้นพ่อแม่เป็นส่วนสำคัญในการนำคำแนะนำมาฝึกให้ลูก หากพ่อแม่ให้ความร่วมมือกับนักแก้ไขการพูด พยายามฝึกทุกวัน หาเวลามาทำบ่อยๆ ก็จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาและการพูดที่ดีขึ้น

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของนักแก้ไขการพูด 

มุกไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มองว่ามันเป็นความท้าทาย มุกต้องสังเกตอย่างตั้งใจว่าเด็กหรือคนไข้กำลังสื่อสารอะไรกับเรา เพราะคนไข้มีปัญหาด้านการพูด ทำให้เขาไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในใจได้ เราต้องวิเคราะห์จากพฤติกรรมของเขา มันทำให้ต้องรู้จักยืดหยุ่นทางความคิด ต้องคอยหาความรู้เพิ่มเติม และอาศัยประสบการณ์ ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าไร ก็ยิ่งมีข้อมูลเอาไว้สังเกตคนไข้มากขึ้นเท่านั้น

ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานของนักแก้ไขการพูด 

มุกไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหา แต่มองว่ามันเป็นความท้าทาย มุกต้องสังเกตอย่างตั้งใจว่าเด็กหรือคนไข้กำลังสื่อสารอะไรกับเรา เพราะคนไข้มีปัญหาด้านการพูด ทำให้เขาไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่อยู่ภายในใจได้ เราต้องวิเคราะห์จากพฤติกรรมของเขา มันทำให้ต้องรู้จักยืดหยุ่นทางความคิด ต้องคอยหาความรู้เพิ่มเติม และอาศัยประสบการณ์ ยิ่งมีประสบการณ์มากเท่าไร ก็ยิ่งมีข้อมูลเอาไว้สังเกตคนไข้มากขึ้นเท่านั้น

เด็กที่ไม่รู้ว่าตัวเองมีพัฒนาการพูดที่ผิดปกติจะส่งผลอย่างไรบ้าง

เด็กจะรู้สึกอึดอัด ก็เหมือนผู้ใหญ่ สมมติว่าวันหนึ่งเราโดนเทปปิดปาก ไม่สามารถพูดกับใครได้ มีคนมาเดินเหยียบเท้าหรือทำกาแฟหกใส่โต๊ะทำงานก็บ่นระบายอารมณ์ไม่ได้ เราก็อึดอัดเหมือนกัน แต่ผู้ใหญ่สามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม การแสดงออกได้ดีกว่าเด็ก ส่วนเด็กยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เมื่อพูดไม่ได้ เขาก็จะสื่อสารออกมาเป็นภาษากาย เช่น กรีดร้อง ขว้างปาสิ่งของ ก็จะถูกมองว่าเป็นเด็กดื้อ ยิ่งพ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกมีพฤติกรรมแบบนี้เพราะอะไร การที่เด็กถูกกล่าวหาว่าเป็นเด็กก้าวร้าว เด็กดื้อ คำพวกนี้ยิ่งเป็นแรงด้านลบกับตัวเด็ก

FYI:
– ในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่จะมีนักแก้ไขการพูดอยู่แทบทุกโรงพบาบาล แต่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด ยังมีนักแก้ไขการพูดมีจำนวนน้อย หรือพบได้ตามโรงพยาบาลจังหวัดใหญ่ๆ เท่านั้น
– สมาคมศิษย์เก่าภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กำลังจัดทำทำเนียบบุคคลเพื่อบอกว่าจะสามารถพบนักแก้ไขการพูดได้ที่จังหวัดใดบ้าง โดยคาดว่าจะเสร็จเรียบร้อยวันเด็กปี 2563 แล้วจะเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กต่อไป

 

สัมภาษณ์วันที่ 15 ธันวาคม 2562

Pitchaya T.

ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาเป็นของขวัญจากธรรมชาติ ที่ช่วยยืนยันว่ามนุษย์คนนี้คือเด็ก :)

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST