WORK WITH KIDS: บุกสตูดิโอ Littleblackoz: คุยกับสองนักสร้างสรรค์หนังสือนิทานขวัญใจเด็กๆ

littleblackoz

เมื่อเราลองเดินเข้าไปสำรวจร้านหนังสือ แล้วเฉพาะเจาะจงไปที่โซนหนังสือสำหรับเด็ก ต้องยอมรับว่ายุคนี้ หนังสือนิทาน หนังสือสำหรับเด็ก และอาจหมายรวมถึงหนังสือที่ว่าด้วยการเลี้ยงดู จิตวิทยา และการทำความเข้าใจเด็กสำหรับคุณพ่อคุณแม่มีให้เลือกซื้อหามากมาย ชนิดที่ว่ายืนเลือกยืนอ่านจนเมื่อย ก็อาจจะยังตัดสินใจเลือกเล่มที่ถูกใจที่สุดไม่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า ในความหลากหลายของหนังสือเด็กเหล่านั้น จำนวนหนึ่ง (และจำนวนมาก) ล้วนเป็นหนังสือที่มาจากการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาไทยแทบทั้งสิ้น และท่ามกลางหนังสื่อที่มีชื่อผู้แต่งและวาดภาพเป็นชาวต่างประเทศ หนังสือนิทานที่มีภาพประกอบสวยงามเตะตา อย่าง เที่ยวบ้านเพื่อนสนุกจัง, บาบา, นานา, ขึ้นอย่างไรนะ, ลงอย่างไรนะ ก็มีชื่อ วชิราวรรณ ทับเสือ (พี่อ้อย) และ กฤษณะ กาญจนาภา (พี่บอมบ์) กำกับอยู่ในฐานะผู้แต่งเรื่องและวาดภาพ จนเราต้องจำชื่อเสียงเรียงนามนี้ไว้แล้วกลับมาหาข้อมูลต่อ

 Littleblackoz คือชื่อสตูดิโอที่ วชิราวรรณ และ กฤษณะ ร่วมกันเป็นเจ้าของ เราส่งข้อความไปทางอินบ็อกซ์เพจของสตูดิโอ ภาพในหัวคือสตูดิโอหรือกราฟิกเฮาส์ที่กำลังทำหนังสือเด็กอย่างขันแข็ง อาจจะมีพนักงานอีก 2-3 คนช่วยกันวาดรูปและลงสีภาพกันอย่างสนุกสนาน

ไม่นานเราก็ได้รับข้อความตอบกลับจากพี่บอมบ์และพี่อ้อย ราวกับรู้สิ่งที่เราคิด เพราะพี่บอมบ์ตอบกลับมาว่ายินดีให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ที่สตูดิโอได้ แต่ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องเรียกว่าอนุญาตให้เข้าไปหาที่บ้าน ซึ่งเป็นทั้งบ้านและที่ทำงานของพี่ๆ ทั้งสองคนนี่แหละ

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะสิ่งที่เราอยากพูดคุยกับพี่ๆ ทั้งสองคน ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับการทำหนังสือนิทานเด็ก ยิ่งได้รู้ว่าพี่ทั้งสองคนช่วยกันคิดช่วยกันทำทุกขั้นตอนก่อนจะออกมาเป็นหนังสือสักเล่ม (ยกเว้นส่วนงานของโรงพิมพ์น่ะนะ) เราก็ยิ่งอยากให้ถึงวันนัดเข้าไปหาพี่ๆ ที่บ้านเร็วๆ

เพราะมั่นใจว่าการได้คุยกับคนที่คลุกคลีอยู่กับงานที่ตัวเองรัก จะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องสนุกแน่!

Littleblackoz เกิดขึ้นได้อย่างไร

พี่บอมบ์: เริ่มจากสมัยที่เรายังทำงานในบริษัทคนละที่ แต่ก็จะมีงานนอกที่เราสองคนรับมาทำด้วยกัน ก็เลยตั้งเป็นสตูดิโอสำหรับรับงานฟรีแลนซ์ ส่วนใหญ่จะเป็นงานภาพประกอบ งานโฆษณา งานออกแบบแพกเกจ แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมีงานเกี่ยวกับนิทานเด็กเข้ามา พอทำแล้วก็เริ่มสนุกและมีมาให้ทำเรื่อยๆ ก็เลยคิดว่า เราลาออกจากบริษัท แล้วมาทำให้จริงจังเลยดีกว่า ที่นี่ก็เริ่มมาจากตรงนั้น

ทำไมถึงเริ่มมีงานหนังสือนิทานเด็กเข้ามา

พี่อ้อย: พี่เรียนจบจากคณะมัณฑนศิลป์ ตอนทีสิส พี่ทำหนังสือนิทาน แล้วตอนแสดงงานทีสิส ก็มีคนจากสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชย์มาเห็น เขาก็ชวนไปรับจ๊อบทำภาพประกอบหนังสือนิทานเด็ก แล้วปรากฏว่าเล่มที่เราทำมันได้รางวัล พอทำแล้วได้รางวัลเลย เราก็คิดว่าทำนิทานเด็กก็ง่ายดี หลังจากนั้นก็เลยมีงานหนังสือนิทานมาให้ทำเรื่อยๆ ซึ่งเราก็ชอบและรู้สึกสนุก ก็เลยทำและต่อยอดมาเรื่อยๆ

จากที่ทำหลายอย่าง ตอนนี้เหมือน Little Black Oz ทำแต่งานหนังสือเด็กอย่างเดียว

พี่บอมบ์: ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจอย่างนั้น เราก็รับหมดทุกอย่าง แต่จากที่เคยทำงานกราฟิกอื่นๆ มากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ งานหนังสือเด็กมันก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนวันนึงมันกลายเป็นเราทำงานหนังสือเด็ก 99 เปอร์เซ็นต์ แล้วเหลือเวลาทำอย่างอื่นแค่เปอร์เซ็นต์เดียว

พี่อ้อย: จริงๆ คือทำไม่ทัน (หัวเราะ)

พี่บอมบ์: เราก็เลยเลือกที่เราชอบมากกว่า

“จากที่เคยคิดว่าทำหนังสือเด็กมันง่าย ก็เลยรู้ว่าจริงๆ หนังสือเด็กมันยากนะ เพราะมันไม่ใช่แค่แต่งเรื่องวาดภาพ แต่มันเป็นงานออกแบบการสื่อสารกับเด็ก”

เริ่มจากการวาดภาพประกอบนิทาน แล้วเริ่มทำเองตั้งแต่ แต่งเรื่องเอง วาดเองได้อย่างไร

พี่อ้อย: เป็นช่วงที่เราเริ่มคิดว่าจะลาออกจากงานประจำ ก็เลยลองเอางานที่เคยแต่งเรื่องเอง วาดเอง ไปเสนอพี่แต้ว—ระพีพรรณ พัฒนาเวช บรรณาธิการที่อมรินทร์ตอนนั้น

พี่บอมบ์: พี่แต้วเขาดูแล้วเขาก็บอกว่า มันยังใช้ไม่ได้ แต่ว่าดูมีแวว สนใจจะทำต่อไหม เราก็สนใจ เขาก็เลยให้โปรเจกต์มาทำต่อ โจทย์คือเขาอยากทำหนังสือของเด็กเล็ก ประมาณ 2-3 เล่ม เราก็เอากลับมาช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จนได้ออกมาเป็นหนังสือที่เขียนเรื่องและวาดภาพประกอบเอง

พี่อ้อย: ต้องบอกว่ามันเป็นโปรเจกต์ที่พัฒนาร่วมกัน เพราะมีบรรณาธิการคอยช่วยดูแลและพัฒนาต้นฉบับไปพร้อมๆ กัน

พี่บอมบ์: เพราะตอนแรกเราไม่รู้เรื่องเลย ต้องมีบรรณาธิการคอยช่วยคอยสอน พี่แต้วยังเคยบอกว่า อย่าเพิ่งท้อนะ เพราะมันต้องแก้กันเยอะหน่อย แต่เราก็อยากทำ ก็เลยทำจนมันเสร็จออกมาได้

พี่อ้อย: จากที่เคยคิดว่าทำหนังสือเด็กมันง่าย ก็เลยรู้ว่าจริงๆ หนังสือเด็กมันยากนะ เพราะมันไม่ใช่แค่แต่งเรื่องวาดภาพ แต่มันเป็นงานออกแบบการสื่อสารกับเด็ก เราก็ต้องนึกถึงทาร์เก็ตหรือลูกค้าของเราเหมือนงานโฆษณา เพียงแต่ว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นเด็ก

สมมติเราวางกลุ่มเป้าหมายว่าต้องการเป็นหนังสือสำหรับเด็กอายุเท่านี้ ในขั้นตอนการทำงานจะรู้ได้ยังไงว่ากลุ่มเป้าหมายจะเข้าใจสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ

พี่บอมบ์: เราต้องทำความรู้จักเด็กก่อน พี่สองคนไม่มีลูก เราไม่ค่อยมีความรู้เรื่องเด็กเท่าไหร่ ก็เริ่มจากดูหนังสือของคนอื่นด้วย หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตบ้าง หรือไปเล่นกับลูกของญาติๆ จนกระทั่งเรามีเด็กของตัวเอง ก็คือ เด็กสองคนในหมู่บ้าน (หัวเราะ) เขามาเล่นมาอยู่กับเราเหมือนลูกเลย เราก็เลยได้เรียนรู้จากเขา เก็บข้อมูลจากเขา

ช่วงวัยของเด็ก มีผลต่อการคิดเนื้อเรื่องและออกแบบภาพของเราอย่างไร

พี่อ้อย: ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง เที่ยวบ้านเพื่อนสนุกจัง (หยิบหนังสือมาเปิดให้เราดูประกอบ) จะเห็นว่ารายละเอียดเยอะไปหมด เทียบกับอีกเล่มคือ ลงอย่างไรนะ ที่มีรายละเอียดน้อย มีองค์ประกอบหลักให้เห็นไปเลยใหญ่ๆ สองเล่มนี้เห็นแล้วก็พอจะเดาได้ใช่ไหมคะว่ามันต้องการความสามารถในการมองที่ต่างกัน เพราะ ลงอย่างไรนะ เราตั้งใจทำเพื่อเด็ก 0-3 ขวบ ส่วน เที่ยวบ้านเพื่อน ก็ตั้งใจให้เป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อย สัก 3-6 ขวบ แต่จริงๆ แล้ว เด็กสองขวบบางคนเขาก็ชอบเล่ม เที่ยวบ้านเพื่อน ได้ มันแล้วแต่ประสบการณ์การใช้หนังสือของเด็ก

พี่บอมบ์: เด็กบางคนดูครั้งแรกเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ แต่พอเอากลับมาดูอีกครั้ง เขาเริ่มถามพ่อแม่ แล้วเขาก็เข้าใจ ก็กลายเป็นเขาสามารถใช้หนังสือที่โตกว่าอายุตัวเองได้ หรือบางเล่ม เรามองว่าเป็นของเด็กเล็ก แต่เด็กโตก็เอามาอ่านแล้วอาจจะได้อะไรที่แตกต่างกัน หรือหนังสือเล่มเดิม อ่านตอนเป็นเด็กเล็กกับเด็กโต ก็ได้ความหมายคนละอย่าง

พอทำมาสักพักเราก็เลยเรียนรู้ว่า ไม่ต้องไปตั้งเกณฑ์เรื่องอายุละเอียดมากหรอก เราให้ความสำคัญกับสิ่งที่เราต้องการสื่อมากกว่า เพราะเด็กเขาเรียนรู้ได้และเร็วด้วย

พูดเรื่องภาพไปแล้ว ถ้าเป็นเนื้อเรื่องล่ะ

พี่บอมบ์: ถ้าเป็นเด็กเล็ก ก็จะพยายามพูดถึงสิ่งที่ใกล้ตัวเขา สิ่งที่เขาเอื้อมถึง

พี่อ้อย: กินข้าว อาบน้ำ อยู่กับพ่อแม่เป็นหลัก

พี่บอมบ์: พอโตขึ้นมาอีกหน่อย เนื้อเรื่องก็จะเริ่มไกลออกไป เพราะเด็กจะเริ่มมีเพื่อน มีเพื่อนบ้าน มีความสนใจสิ่งอื่นนอกจากพ่อแม่ เพราะโลกของเขากว้างขึ้น

ขั้นตอนการทำงานหนังสือนิทานเด็ก

พี่บอมบ์: การทำงานของเรามีสามแบบคือ แต่งเองวาดเอง หรือได้รับโจทย์มาเป็นโปรเจ็กต์ เช่น สนพ.บอกว่า อยากได้หนังสือแนววิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก แล้วสุดท้ายก็คือเขามีเรื่องมาเรียบร้อยแล้ว ให้เราวาดภาพประกอบ

เอาแบบแรกก่อน ยกตัวอย่างเล่ม บาบา มันเป็นเล่มที่เราอยากสื่อสารว่า อย่าตัดสินคนที่ภายนอก ก็เลยต้องมาคิดก่อนว่าตัวละครที่จะนำเสนอเป็นตัวอะไรดีที่รูปลักษณ์ภายนอกดูน่ากลัว แต่จริงๆ แล้วมันไม่น่ากลัว จากนั้นเราก็ออกแบบตัวละคร แล้วเราก็แต่งเนื้อเรื่อง แต่ที่จริง แต่ละเล่มขั้นตอนมันก็ไม่เหมือนกัน บางเล่มอาจจะมาจากโครงเรื่องก่อน แล้วค่อยมาเป็นตัวละครก็ได้

พี่อ้อย: เราต้องการพูดเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก บาบา ก็เลยมาจาก Bigfoot ปลาน้ำลึก แมวโรนินที่มีหน้าอกเป็นตัววี ตัวสล็อตยักษ์ แล้วก็ยักษ์ในรามเกียรติ์ แล้วเราก็สร้างนิสัยให้เค้า คือการมีดอกไม้ประจำตัว ถ้าเค้าอารมณ์ดี ดอกไม้จะบาน ถ้าอารมณ์ไม่ดี ดอกไม้ก็จะแห้งเหี่ยว อันนี้คือสิ่งที่พิเศษ

พอเด็กอ่านแล้วเขาก็อิน เขาก็สงสัยว่าตัวนี้มีจริงในธรรมชาติไหม เพราะเขารู้สึกว่ามันจับต้องได้ มันมีตัวตน แล้วมันก็เข้าไปอยู่ในใจเขา

พี่บอมบ์: ตัวละครมันต้องน่าประทับใจมันถึงจะเป็นที่จดจำ ไม่อย่างนั้นอ่านแล้วเขาก็จะปล่อยผ่านไป บาบาตอนแรกก็มีคนทักว่ามันจะน่ากลัวเกินไปหรือเปล่า เราก็ยอมรับว่า มันมีเด็กที่กลัวและไม่อ่าน

พี่อ้อย: เราต้องยอมรับว่า หนังสือแต่ละเล่ม ใช่ว่าเด็กทุกคนจะชอบเหมือนกัน ถึงแม้เราจะอยากให้เด็กทุกคนชอบ แต่มันเป็นไปไม่ได้

พี่บอมบ์: และเราเลือกแล้วตัวละครตัวนี้ต้องน่ากลัว ถ้ามันไม่น่ากลัว เรื่องนี้ก็จะไม่มีความหมาย (หัวเราะ) พอมีตัวละครหลัก มีเนื้อเรื่องแล้ว ก็เริ่มทำสตอรี่บอร์ด

ขั้นตอนนี้เริ่มต้องปรึกษาบรรณาธิการหรือยัง

พี่บอมบ์: (นิ่งคิด) อาจจะเป็นเพราะเราทำมาสักระยะแล้ว ช่วงหลังการปรึกษาบรรณาธิการก็อาจจะน้อยลงจากสมัยก่อน แต่เขาก็ช่วยดูนะ ถ้าตรงไหนมีใครถามอะไรมา บางทีเราก็อธิบาย หรือบางทีก็ต้องแก้ไข

พี่อ้อย: เพราะถ้ามีหนึ่งคนไม่เข้าใจ เป็นไปได้ว่าจะมีคนอื่นไม่เข้าใจอีก เราก็แก้

พี่บอมบ์: แต่บางทีปรึกษากันแล้ว บรรณาธิการก็เห็นด้วยที่เราจะไม่แก้ เพราะต้องการให้เกิดการตีความ เราก็โอเค กระบวนการทำงานแบบนี้เรียกว่าการพัฒนาต้นฉบับร่วมกัน

พอได้สตอรี่บอร์ดเรียบร้อย เราก็มาหาเทคนิคที่จะใช้กับภาพในแต่ละเล่ม อย่างบาบา เราเลือกใช้สีชอล์ก เสร็จแล้วก็ลองวาดดู แล้วก็ทำม็อกอัป เอามาลองเปิดดูทีละหน้าว่ามันโอเคไหม

พี่อ้อย: การเลือกเทคนิคขึ้นอยู่กับความเข้ากันของแต่ละเรื่อง อย่างบาบา เนื้อเรื่องเขาอยู่ในป่า มันจะมีความมืด เราเลยเลือกใช้สีชอล์กแล้ววาดลงบนกระดาษสีเข้ม แต่ถ้าสีน้ำก็จะใช้กับเรื่องที่มันสบายๆ

พอทำม็อกอัปแล้วพี่จะลองเอามาอ่านออกเสียง ดูเรื่องคำ ถึงแม้หนังสือของเราจะมีคำไม่เยอะก็เถอะ

พี่บอมบ์: เวลาพี่แต่งเรื่อง พี่ไม่ได้คิดจากตัวหนังสือ พี่คิดเป็นภาพ หนังสือเราเลยมีตัวหนังสือน้อยแล้วให้ภาพทำหน้าที่อย่างที่เราถนัดมากกว่า แต่สำนักพิมพ์มักจะขอให้เราเพิ่มคำ (หัวเราะ) เพราะบางทีพ่อแม่ซื้อไปแล้วไม่รู้จะอ่านอะไรให้ลูกฟัง บางทีใส่ตัวหนังสือเข้าไปอีกหน่อยก็ทำให้คนตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

มีการเลือกว่าเรื่องแนวไหน เหมาะกับสำนักพิมพ์ไหนอย่างไรบ้าง

พี่บอมบ์: จริงๆ พี่ไม่ได้เลือกจากเนื้อเรื่อง (หัวเราะ) คือเราจะมีสำนักพิมพ์ที่เรามักจะเอาไปเสนอเขาก่อน เพราะเขาเป็นคนที่ให้โอกาสเรามาตลอด และทำงานด้วยกันมานาน ถ้าไม่ได้ทำกับที่นี่ หลังจากนั้นค่อยเอาไปเสนอสำนักพิมพ์อื่น

ยกเว้นว่าที่อื่นเขามาเห็นงานนี้ก่อนแล้วเขาเอ่ยปากว่าอยากได้งานของเราจริงๆ เพราะบางทีสำนักพิมพ์ก็เป็นคนเลือกเรา บางงานสไตล์ไม่เหมาะกับสำนักพิมพ์เขา เขาไม่เอาก็มี เราก็เอาไปให้ที่อื่น

คาแรกเตอร์อะไรที่วาดออกมาเมื่อไหร่ก็ถูกใจเด็กๆ หรือผลตอบรับดีที่สุด / เพราะอะไร

พี่บอมบ์: จริงๆ มันต้องเป็นตัวละครที่คาแรกเตอร์หรือบุคลิกชัดเจน ไม่เหมือนใคร อย่างบาบา เด็กก็จะจำตัวละครนี้ได้ เพราะมันผ่านการออกแบบมาแล้ว หรือบางทีมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเป็นตัวอะไร แต่เรื่องราวเบื้องหลังของตัวละครนั้นๆ ก็สำคัญ

หรือแม้แต่ตัวละครลึกลับที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลย เด็กๆ ก็ชอบมาก มันเกิดมาจากเล่ม สี่สหายตะลุยสวนสนุก เราตัวละครสีขาว หัวกลมๆ ตัวเล็กๆ ซ่อนอยู่ในภาพ คิดว่ามันเป็นการแอบคุยกับเด็กๆ ก็เลยวาดใส่ลงไป ไม่ได้คิดว่าเด็กจะสนใจจริงจัง จนกลายเป็นสิ่งที่เขาเอามาถามว่ามันคือตัวอะไร

พี่อ้อย: แล้วเราแอบใส่เจ้าตัวนี้ไว้ทุกหน้า แต่มีหน้านึงที่ลืมใส่ ปรากฏว่ามีเด็กให้แม่โทร. มาหาเราตอนกลางคืน ถามว่ามันหายไปไหน คือลูกเขานอนไม่หลับที่หาเจ้าตัวนี้ไม่เจอ (หัวเราะ)

พี่บอมบ์: พี่ต้องไปรื้อต้นฉบับออกมาดูกันว่ามันหายไปไหน โดนครอปตกไปหรือเปล่า ถึงได้ อ๋อ เราลืมวาดใส่ลงไปหน้านึงจริงๆ ก็เลยต้องขอโทษ พี่ลืมวาดจริงๆ ให้อภัยได้ไหม (หัวเราะ)

พี่อ้อย: ทีนี้ด้วยความที่เราไม่ได้ตั้งใจ พอเล่มต่อมาก็เลยไม่ได้วาดลงไป แล้วก็กลับมาวาดอีกในเล่มถัดไป เด็กๆ ก็ตามหาแล้วก็ตั้งชื่อให้เจ้าตัวนี้ พ่อแม่ก็เอามาคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กบอกกันอย่างสนุกสนาน

ปกติเราเข้าถึงฟีดแบ็กของเด็กๆ ได้อย่างไร

พี่บอมบ์: พ่อแม่จะเป็นคนส่งข้อความอินบ็อกซ์มาให้

พี่อ้อย: บางครั้งไม่ใช่ฟีดแบ็ก แต่พ่อแม่เป็นคนเอาคำถามของเด็กๆ มาถามเราต่ออีกที

พี่บอมบ์: บางทีก็ไม่ใช่คำถาม แต่เด็กๆ จะฝากความรู้สึกมาบอก หรือบางทีพ่อแม่ก็มาเล่าให้ฟังว่าลูกชอบเล่มนี้มาก ต้องเอาติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอด เดี๋ยวนี้ดีมากที่เรามีเฟซบุ๊ก พ่อแม่เขาสงสัยหรือไม่เข้าใจตรงไหน ก็จะทักมาถาม

พี่อ้อย: เราตอบได้ทุกคำถามนะ เพราะปกติเวลาทำงาน เราจะลองตั้งคำถามกันอยู่แล้วว่าคนอ่านจะสงสัยตรงไหน

พี่บอมบ์: พอช่วยกันทำสองคน เราก็มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกันเองอยู่แล้ว บางทีก็ถามกันว่า ทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมไม่ทำอย่างนี้

พี่อ้อย: ยกตัวอย่างเรื่องหนึ่ง เราเขียนว่าเด็กเดินทางมาถึงสถานที่หนึ่งในป่าแล้วก็ตะโกนสุดเสียง แต่พอเอามาคุยกัน ก็เกิดความคิดว่า ลองเปลี่ยนจากตะโกนเป็นกระซิบดูไหม เพราะในป่ามันเงียบ การตะโกนอาจรบกวนสิ่งมีชีวิตอื่นในป่า พอเราเปลี่ยนเป็นกระซิบ ก็เลยกลายเป็นพฤติกรรมที่เด็กๆ ชอบเอาไปเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ พอเปิดมาถึงหน้านี้เขาก็จะทำเสียงกระซิบพูดกับพ่อแม่ ตามเรื่องราวในหนังสือ เพราะมันเข้าไปอยู่ในใจเขา

อยู่ในวงการหนังสือนิทานเด็กมากว่า 20 ปี มองเห็นวิวัฒนาการของตลาดหนังสือเด็กอย่างไรบ้าง

พี่บอมบ์: มันก็มีทั้งดีขึ้นและยากขึ้น อย่างยุคนี้เด็กมีสิ่งรบกวนมากขึ้นก็จริง แต่มันก็เป็นยุคที่พ่อแม่มีความเข้าใจมากขึ้น ถ้าเทียบกับสมัยก่อน หรือสิบกว่าปีที่แล้ว ช่วงแรกๆ ที่เราทำ เรายังเจอความคิดที่ว่าหนังสือนิทานเด็กมันไม่สำคัญ ถ้าอยากให้ลูกอ่านหนังสือก็ต้องอ่านหนังสือเรียน หนังสือที่ให้ความรู้ อ่านนิทานแล้วจะได้อะไร

แต่สมัยนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว พ่อแม่ยุคนี้เขาให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ทุกรูปแบบ หนังสือนิทานก็เลยมีความสำคัญมากขึ้น

ยุคไหนดีกับเราและอาชีพเรามากกว่ากัน

พี่บอมบ์: ก็น่าจะยุคนี้นี่แหละ อาจจะเพราะเราทำมานาน จนเราทำมันได้ง่ายกว่าเดิม

พี่อ้อย: พอพ่อแม่เข้าใจมากขึ้น หนังสือก็ขายได้มากขึ้น เราก็ทำอะไรง่ายขึ้น อย่างยุคนี้หนังสือที่ตัวหนังสือน้อย พ่อแม่ก็เริ่มเข้าใจ กล้าที่จะซื้อไปให้ลูกมากขึ้น

พี่บอมบ์: ถ้ามีใครอยากทำหนังสือเด็กตอนนี้ เราก็อยากบอกว่าช่วงแรกมันอาจจะยากนิดนึง แต่เมื่อเวลาผ่านไป มันจะมีค่ามาก และคนส่วนมากมักจะไม่ผ่านช่วงแรก

จากตอนแรกที่เคยคิดว่างานหนังสือนิทานเด็กทำง่าย ตอนนี้คิดว่า…

พี่อ้อย: พี่ว่าถ้าชอบ มันจะไม่ยาก แต่ถ้าไม่ได้ชอบ มันก็ทำไม่ง่าย

แต่ตอนนี้สัดส่วนหนังสือนิทานเด็กที่เห็นในตลาดเหมือนจะเป็นนิทานที่แปลมาจากต่างประเทศมากกว่าจริงไหม, คิดว่าเป็นเพราะอะไร

พี่บอมบ์: เท่าที่พี่เห็นก็คิดว่าใช่ หนังสือนิทานแปลเยอะมากจริงๆ แต่มันอาจจะเป็นเพราะว่าหนังสือที่ทำใหม่มันใช้เวลามากกว่า กว่าจะคิดพล็อต วาดภาพ กว่าจะแก้ไข แต่ถ้าซื้อลิขสิทธิ์มาทำ หนังสือเขาทำเสร็จแล้ว ขั้นตอนก็หายไปเยอะมาก สัดส่วนหนังสือที่เราทำกันเองก็เลยน้อย

พี่อ้อย: แต่ไม่ใช่ว่าหนังสือแบบไหนดีหรือไม่ดีนะคะ คนทำก็ต้องตั้งใจทำอยู่แล้ว น่าจะอยู่ที่วิธีการและขั้นตอนการทำมากกว่า

“เราเห็นว่าพ่อแม่มีความเข้าใจมากขึ้น ลูกค้าเราก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่หนังสือเด็กมันจะเติบโตก็น่าจะมีมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญของงานเราก็คือพ่อแม่และเด็ก”

สถานการณ์นี้มีผลกระทบกับคนทำหนังสือเด็กอย่างเราไหม

พี่บอมบ์: ถ้าหมายถีงเราสองคนเลย ยังไม่มี

พี่อ้อย: เราก็ยังมีหนังสือเด็กทำอยู่ ยังผลิตงานได้อย่างต่อเนื่อง

หมายถึงกำลังซื้อของพ่อแม่ไม่ได้ลดลง

พี่อ้อย: กำลังซื้ออาจจะน้อยลงก็ได้ แต่เป็นเพราะว่ามีพ่อแม่ที่สนใจหนังสือเด็กเพิ่มขึ้น เลยทำให้หนังสือเด็กยังคงไปได้ดีอยู่

พี่บอมบ์: หนังสือที่เราทำเองข้อดีของมันคือ สิ่งที่เราวาด มันเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเด็กบ้านเรามากกว่า เป็นของที่เขาเคยเห็น หรือเขาไปตามหาของจริงได้ อย่างเช่น อาหารในเล่ม เราวาดขันโตก เด็กก็ไปบอกพ่อแม่ว่าอยากกินขันโตก

คิดว่าอนาคตงานหนังสือนิทานเด็กของบ้านเราจะไปทางไหน

พี่บอมบ์: เราก็เคยคุยกันเองอยู่ พี่เองก็ไม่รู้ว่าตอนนี้สำนักพิมพ์ต่างๆ เขาคิดยังไง หรือเด็กรุ่นใหม่จะมีใครเข้ามาทำหรือเปล่า ทุกอย่างมันเชื่อมโยงกันจนพี่เดาไม่ถูก แต่พี่หวังว่า มันจะดี ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่เราเห็นว่าพ่อแม่มีความเข้าใจมากขึ้น ลูกค้าเราก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นโอกาสที่หนังสือเด็กมันจะเติบโตก็น่าจะมีมากขึ้น เพราะสิ่งสำคัญของงานเราก็คือพ่อแม่และเด็ก

สัมภาษณ์วันที่ 16 พฤษภาคม 2565

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST