READING

เพราะเด็กแต่ละคนมีความเก่งในแบบของตัวเอง: คุยกับคร...

เพราะเด็กแต่ละคนมีความเก่งในแบบของตัวเอง: คุยกับครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน กับอีกหนึ่งบทบาทของความเป็นครู

ภัทราวดี มีชูธน

หลายคนอาจคิดว่า เมื่ออายุเข้าสู่เลข 7 ตอนนั้นคงเป็นเวลาแห่งการใช้ชีวิตอย่างเชื่องช้า และพักผ่อนให้สมกับที่ทำงานเหน็ดเหนื่อยมาทั้งชีวิต

แต่สำหรับ ครูเล็ก—ภัทราวดี มีชูธน ในวัยที่มีเลข 7 นำหน้าเลขอายุ ทุกวันครูเล็กก็ยังคงลุกขึ้นมาใช้ชีวิตและทำตามความฝันของตัวเอง ในสถานที่ที่เต็มไปด้วยชีวิต จิตใจ และด้วยแรงบันดาลใจที่ไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลา

หลายคนอาจรู้จักชื่อ ภัทราวดี มีชูธน ในฐานะนักแสดงรุ่นเก่า (ที่ยังเก๋าอยู่) คุณครูสอนการแสดง ศิลปิน ผู้สร้างละครเวที และศิลปินแห่งชาติ แต่วันนี้เราจะพาทุกคนมารู้จักกับครูเล็กในบทบาทของคุณครูและผู้ก่อตั้งโรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ที่ไม่ใช่โรงเรียนสอนการแสดงอย่างที่เราคาดเดาตอนได้ยินชื่อครั้งแรก…

จากศิลปินสู่เส้นทางการเป็นคุณครู

ย้อนไปสมัยเด็กๆ อายุประมาณ 8 ขวบ ดิฉันชื่นชอบการวาดรูปมาก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะวาดเป็นภาพโรงเรียน ส่วนคุณแม่ก็เริ่มสร้างโรงเรียนสุภัทรา (ที่วังหลัง ศิริราช) ซึ่งตอนดิฉันเด็กๆ ก็ชอบเอาสิ่งที่ไปเรียนรู้ที่โรงเรียนกลับมาสอนเด็กๆ แถวบ้าน

พอโตขึ้น เราก็ชอบและอยากจะทำละครเวที ก็เลยสร้างภัทรวดีเธียเตอร์ขึ้นมา แล้วเกิดคำถามว่าจะเล่นกับใคร จะมีใครมาเล่น ก็เลยเปิดรับสมัครให้คนเข้ามาเรียนศิลปะการแสดง เราก็สอนตามที่เรารู้ แต่เราคนเดียวก็ยังรู้ไม่มาก เราก็เลยเชิญเพื่อนหรืออาจารย์ที่รู้จักมาสอนทีมงานของเรา แล้วตัวเองก็เรียนกับเขาด้วย จึงได้พัฒนาตัวเองขึ้นมาเรื่อยๆ และได้ทำละครเวทีในที่สุด

จนช่วงอายุ 60 วันหนึ่งก็มีโอกาสกลับมาที่นี่ ตอนนั้นมีคนมาขอเช่าที่ดินตรงนี้ทำโรงลิเก แต่พอเรามาถึง จอดรถ และเดินออกมาก็พบว่าที่นี่ลมเย็นสบายมาก ถึงแม้แดดจะร้อนเปรี้ยง แต่ลมเย็น ซึ่งตอนเด็กเราจำได้ว่า เวลาคุณแม่พามา เราก็ไม่ได้ชอบที่นี่ แต่วันนั้นกลับรู้สึกชอบมาก เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าใช้เวลา 60 ปีเชียวเหรอกว่ามนุษย์จะฉลาด (หัวเราะ)

ก็เริ่มมีความรู้สึกอยากอยู่และอยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่ แต่อยู่แล้วจะทำอะไร… พยายามคิดไปเรื่อยๆ จนนึกขึ้นได้ว่าเราเคยฝันว่าอยากทำโรงเรียน พอตัดสินใจได้ก็เลยมาทำโรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราว

เมื่อก่อนครูเล็กเป็นนักเรียนแบบไหน

ตอนเด็กๆ เราเป็นนักเรียนที่เรียนปานกลาง แล้วก็ไม่ได้ชอบเรียน แต่ชอบทำกิจกรรม ซึ่งก็มีเพื่อนๆ หลายคนที่เขาชอบทำกิจกรรมเหมือนกันแต่ว่าเรียนดี เลยมาคิดว่าถ้าประเทศเรามีเด็กที่เติบโตมาแบบเด็กกิจกรรมก็น่าจะดี เพราะเขาจะได้โตไปเป็นผู้อาวุโสที่รวบรวมความรู้และประสบการณ์มามากมาย และสามารถทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

ครูเล็กสอนวิชาอะไรบ้าง

หลายอย่างมาก ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และวรรณคดี แล้วก็คอยเป็นผู้แนะแนวกิจกรรมให้เด็กๆ ด้วย วิธีการก็คือไปดูว่าแต่ละคลาสของเด็กๆ เขาเรียนเรื่องอะไรกันบ้าง แล้วก็เอาสิ่งที่เขาเรียนมาทำละครบ้าง หรือเอามาทำเป็นสินค้าบ้าง เช่น ผักออร์แกนิก ไข่เค็ม และสบู่  อย่างไข่เค็ม ก็อยู่ในวิชาเรียนของเด็กๆ จึงทำขายมาหลายปีแล้ว อะไรที่ได้เรียนรู้มา เราก็ควรเอามาต่อยอดต่อไปได้ เพราะการเรียนมันไม่ได้จบที่วิชาเดียว ทุกอย่างสามารถเอามาเชื่อมโยงกันได้หมด

ในฐานะศิลปินที่ต้องสอนวิชาการให้เด็กๆ ครูเล็กเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับ วิชาการอย่างไร

สมมติ ดิฉันอ่านวรรณคดี ก็จะมาถามเด็กๆ ว่าสนใจเรื่องไหน เดี๋ยวเราเอาเรื่องนั้นมาทำละครกัน ซึ่งเราก็ทำไปหลายเรื่อง ปีละเรื่อง หรือเด็กที่ไม่ได้เล่นละคร ก็มีงานเบื้องหลังให้ทำอีก เช่น เล่นดนตรี ทำฉาก ทำไฟ ทำแสงสีเสียง แต่ไม่ว่าจะทำหน้าที่อะไรก็ต้องมานั่งวิเคราะห์บทด้วยกัน เพราะฉะนั้น แม้ไม่อยากเล่นละครเขาก็จะได้รู้บท รู้กลอนต่างๆ และร้องเพลงจากวรรณคดีเหล่านั้น การรู้จักบทกลอนสำคัญในวรรณคดีไทย มันได้ผลยิ่งกว่าการเรียนหนังสือเสียอีก เพราะถ้าให้เขามาอ่าน มาท่อง มันก็น่าเบื่อ

“เราให้นักเรียนช่วยกันออกแบบยูนิฟอร์มด้วย เช่น แจ็กเก็ตสำหรับใส่หน้าหนาว เสื้อกันฝน หรือเสื้อยืด เขาก็สนุกกับการดีไซน์ เพราะฉะนั้นการใส่ยูนิฟอร์มจึงไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องสนุก”

แล้วเด็กๆ สามารถเอาศิลปะไปเชื่อมโยงกับอะไรได้อีก

การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมก็เชื่อมโยงได้นะ อย่างชุดนักเรียนเราเป็นคนดีไซน์ให้เด็กๆ ใส่เสื้อยืดกับกางเกงครึ่งน่อง เขาจะได้สบาย ทำอะไรก็สะดวก แต่ยังคงการให้เด็กใส่ยูนิฟอร์มไว้เป็นกฎกติกาในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างหนึ่ง เพราะมันสามารถบ่งบอกว่าเราเป็นใคร เวลาพลัดหลงก็ตามหาเจอได้ง่าย เพราะเรามีตั้งแต่เนอร์เซอรี อนุบาล ไปจนถึง ม. 6 ซึ่งแต่ละกลุ่มยูนิฟอร์มก็จะไม่เหมือนกัน

และเราให้นักเรียนช่วยกันออกแบบยูนิฟอร์มด้วย เช่น แจ็กเก็ตสำหรับใส่หน้าหนาว เสื้อกันฝน หรือเสื้อยืด เขาก็สนุกกับการดีไซน์ เพราะฉะนั้นการใส่ยูนิฟอร์มจึงไม่ใช่เรื่องบังคับ แต่เป็นเรื่องสนุก

ครูเล็กเป็นคนสอนเด็กพิเศษเองด้วย

ต้องบอกว่าตอนที่เราเปิดโรงเรียนเราไม่รู้ว่าใครเป็นเด็กธรรมดา ใครเป็นเด็กพิเศษ เขาก็เรียนด้วยกัน แต่พอเวลาผ่านไปเราก็เริ่มมองเห็นปัญหาของเด็กพิเศษ คนทั่วไปอาจจะมองว่าเด็กพิเศษมีความแปลก แต่ว่าเด็กกลุ่มนี้ ในบางวิชาเขาก็สามารถเรียนได้ดี แต่บางวิชาก็อาจจะไม่ชอบ ไม่เอาเลย บางวันเขาก็น่ารักมาก นุ่มนวล แต่บางวันก็มีปัญหาชกต่อย รุนแรง แต่เราก็ใช้เมตตาจิตสอนและดูแลเขาไปตามที่เรารู้

จนต้องไปเรียน art therapy ที่จุฬาฯ ไปฟังสัมมนาอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหา ก็เลยได้รู้ว่าเด็กพิเศษแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ที่มีเหมือนกันก็คือเขาจะอารมณ์ขึ้นลงเร็วมาก คุมตัวเองไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่บางคนทราบปัญหา แต่บางคนไม่ทราบก็มี

“เราทุกคนเองก็เป็นเด็กพิเศษ เพราะบางทีเราก็ทำอะไรตามใจตัวเอง บางวันเราก็อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีระเบียบวินัย เพียงแต่ว่าเราควบคุมได้ แต่บางวันก็ควบคุมไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นความเป็นเด็กพิเศษมันมีอยู่ในทุกคน”

โรงเรียนภัทราวดี ดูแลเด็กพิเศษอย่างไร

ที่นี่ให้เด็กพิเศษเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นได้ มันมีข้อดีหลายอย่างนะ เด็กพิเศษได้เรียนรู้พัฒนาการจากคนอื่น ส่วนเด็กทั่วไปก็จะมีจิตใจที่ดี มีความเห็นอกเห็นใจ มีความเข้าใจมนุษย์และเพื่อนร่วมโลกมากขึ้น ซึ่งกลายเป็นว่ามันดีกับเด็กทุกคน และเด็กนักเรียนที่นี่ก็รักกันมาก

เริ่มต้นต้องเข้าใจธรรมชาติของเขาก่อน เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าจะอยู่กับเขาได้ยังไง เราทุกคนเองก็เป็นเด็กพิเศษ เพราะบางทีเราก็ทำอะไรตามใจตัวเอง บางวันเราก็อารมณ์ไม่คงที่ ไม่มีระเบียบวินัย เพียงแต่ว่าเราควบคุมได้ แต่บางวันก็ควบคุมไม่ค่อยได้ เพราะฉะนั้นความเป็นเด็กพิเศษมันมีอยู่ในทุกคน

ในสายตาครู มีอะไรอยากบอกกับเด็กๆ ที่กำลังเติบโตต่อไปบ้าง

 ดิฉันเชื่อเสมอว่าเด็กทุกคนล้วนเก่งในทางของตัวเอง แต่การจะทำให้เด็กเหล่านั้นรู้ตัวเองว่าเก่งอะไรนั้น อันนี้เป็นสิ่งผู้ใหญ่ต้องช่วยมอบประสบการณ์และผลักดันไปยังเส้นทางที่เขาอยากเป็น


Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST