READING

WORK WITH KIDS: พิมพ์พิชา อุตสาหจิต—กับภารกิจแปลงโ...

WORK WITH KIDS: พิมพ์พิชา อุตสาหจิต—กับภารกิจแปลงโฉม ‘มหาสนุก’ ให้เป็นการ์ตูนความรู้สำหรับเด็กเจนฯ Z

ถ้าพูดถึงหนังสือการ์ตูนแก๊กสัญชาติไทย ชื่อ ขายหัวเราะ และ มหาสนุก น่าจะต้องถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเป็นอันดับแรกๆ แต่น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ถ้านับจนถึงปัจจุบันนี้ ขายหัวเราะ มีอายุอยู่ในวงการหนังสือมาแล้วกว่า 47 ปี (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516) ส่วนหนังสือการ์ตูนเล่มน้องอย่าง มหาสนุก ก็มีอายุ 45 ปี (ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2518)

คุณพ่อคุณแม่เจนฯ Y อย่างพวกเรา คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องเคยหยิบจับหรือเป็นแฟนหนังสือการ์ตูนสุดคลาสิกทั้งสองเล่มมาก่อน แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เราพบว่าหนังสือการ์ตูน มหาสนุก ที่คุ้นเคยมานาน วางเด่นอยู่ในแผงหนังสือในรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แค่ขนาดเล่มและดีไซน์ที่ใหม่สะดุดตา แต่ยังมีชื่อใหม่ว่า มหาสนุก Happy Learners

ในยุคที่การล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ไม่ใช่เรื่องที่น่าตกใจอีกต่อไปแล้ว การได้เห็นหนังสือการ์ตูนที่มีอายุยาวนานกว่า 45 ปี (ถ้าเป็นคนก็เรียกว่าอยู่ในช่วงวัยกลางคนแล้ว) ลุกขึ้นมารีแบรนด์ ปรับทั้งรูปเล่ม และเนื้อหา ไม่ใช่เพียงเพื่อให้เข้ากับโลกปัจจุบัน แต่ยังวางแนวทางไว้เพื่อก้าวเดินต่อไปในอนาคต กลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากยิ่งกว่า

เรามีโอกาสได้คุยกับ นิว—พิมพ์พิชา อุตสาหจิต กรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทบันลือกรุ๊ป และทายาทคนโตของ บ.ก. วิติ๊ด (วิธิต อุตสาหจิต) แห่งขายหัวเราะ ในฐานะผู้เปลี่ยนบทบาท มหาสนุก จากหนังสือการ์ตูนแก๊กที่หลายคนคุ้นเคย ให้กลายเป็น มหาสนุก Happy Learners หนังสือการ์ตูนที่เลือกใช้ความสนุกนำความรู้มาให้เด็กๆ เจเนเรชั่น Z หรือลูกหลานของพวกเราต่อไป

 “เทรนด์โลกในอนาคตเรื่องของ ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ทำให้ความสุข ความสนุก และกำลังใจตลอดเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กมีความสำคัญมากขึ้น”

ชื่อ มหาสนุก กับ ขายหัวเราะ มักถูกพูดถึงคู่กันเสมอ อยากให้ช่วยพูดถึงความแตกต่างของทั้งสองเล่มนี้ได้ไหมคะ

ปกติเราจะได้ยินคำถามเยอะว่า มหาสนุก กับ ขายหัวเราะ ต่างกันยังไง บางคนก็คิดว่าเป็นแบรนด์คู่แข่งกันหรือเปล่า น้อยคนที่จะรู้ว่าจริงๆ แล้ว มหาสนุก มีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้อ่านรุ่นเยาว์ตั้งแต่แรก เพียงแต่เราไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ฉีกออกจากกันชัดเจนขนาดนั้น

ถ้าคนอ่านสังเกตจะเห็นว่า ขายหัวเราะ จะมีแก๊กการเมืองบ้าง เรื่องสามี-ภรรยาบ้าง แต่ก็จะมีเด็กๆ ที่ชอบอ่าน ขายหัวเราะ และทำให้เราได้รับฟีดแบ็กจากผู้ปกครองว่าแก๊กมันโตเกินไปสำหรับเด็ก คุณพ่อ (วิธิต อุตสาหจิต) ก็เลยต้องทำ มหาสนุก ขึ้นมา นิวทำงานกับทั้ง ขายหัวเราะ และ มหาสนุก มาหลายปี จึงรู้ว่าเวลาคัดแก๊กตลกในเล่มจะแตกต่างกัน เรียกง่ายๆ ก็คือ ขายหัวเราะ จะเป็นแก๊กผู้ใหญ่ ส่วน มหาสนุก จะเป็นแก๊กเด็ก แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยประชาสัมพันธ์เมสเสจนี้ออกไปให้คนอ่านเข้าใจ

พอดีปีนี้เป็นจังหวะดีที่เราอยากเริ่มทำอะไรใหม่ๆ และอยากทำ มหาสนุก ให้ฉีกออกมาจาก ขายหัวเราะ เพราะระยะหลังการ์ตูนของเราไม่ได้ทำเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว แต่เริ่มขยับมาเป็นการใช้คาแรกเตอร์ทำการตลาดหรือให้ข้อมูลความรู้ด้านอื่น

เรามองว่ายังมีอีกหลายโอกาสหรือหลายเรื่องที่สามารถใช้การ์ตูนสื่อสารกับเด็กๆ ได้ แล้วก็มีหลายโปรเจ็กต์ที่เราทำอยู่แล้ว เพียงแต่มันอาจจะเป็นโปรเจ็กต์เล็กๆ เช่น เราเคยออกแบบหนังสือเรียนรูปแบบใหม่ให้กับกระทรวงศึกษาธิการ หรือทำกิจกรรม พาคาแรกเตอร์ ‘ปังปอนด์’ ไปสอนเรื่อง coding ให้เด็กๆ ในโครงการ Coding Thailand ร่วมกับไมโครซอฟต์และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)

เอาปังปอนด์ไปสอนเด็กๆ ในรูปแบบไหน

เรามีทั้งแมสคอตและมีการ์ตูนที่สอนเรื่อง coding มีปังปอนด์ไปอยู่ในเกมที่สอนเด็กๆ coding ซึ่งมันคือการที่เราเอาปังปอนด์และความสนุกไปเชื่อมเข้ากับการเรียนรู้

“เราเชื่อในพลังของ soft power ซึ่งการ์ตูนและคาแรกเตอร์พิสูจน์แล้วว่า การเป็นมิตรกับเด็ก จะเป็นสะพานให้เขาเข้าถึงความรู้อย่างมีความสุข”

คอนเซ็ปต์ของ มหาสนุก Happy Learners โฉมใหม่

เรามองว่า มหาสนุก Happy Learners เป็นแบรนด์การ์ตูน edutainment ที่ทั้งสนุกและส่งเสริมการเรียนรู้ โดยเน้นไปที่ทักษะแห่งอนาคต หรือ Future Skill ที่เหมาะกับเด็กวัยประถม อายุประมาณ 7-12 ปี ภายใต้แนวคิดว่าเด็กทุกคนสามารถเป็น ‘Happy Learners’ ได้

อะไรทำให้คิดว่าเราควรจะเป็นการ์ตูนที่ให้ทั้งความบันเทิงและความรู้กับเด็กๆ

เทรนด์โลกในอนาคตจะเป็นเรื่อง ‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ทำให้ความสุข ความสนุก และกำลังใจตลอดเส้นทางการเรียนรู้ของเด็กมีความสำคัญมากขึ้น

ในเมื่อทั้งความรู้และความรื่นรมย์ในการเรียนเป็นสิ่งที่เด็กต้องการทั้งคู่ เราจึงไม่จำเป็นต้องเลือกนำเสนออย่างใดอย่างหนึ่ง แต่สามารถนำเสนอทั้งสองมิติได้

เราเชื่อในพลังของ soft power ซึ่งการ์ตูนและคาแรกเตอร์พิสูจน์แล้วว่า การเป็นมิตรกับเด็ก จะเป็นสะพานให้เขาเข้าถึงความรู้อย่างมีความสุข ความท้าทายของภารกิจนี้อยู่ที่ การหาสมดุลของสัดส่วนความสนุกและความรู้ เราอยากให้เด็กๆ ชอบ อยากให้เขาไม่รู้สึกอึดอัดกับสาระความรู้ และในขณะเดียวกัน ก็อยากเป็นแบรนด์ที่ผู้ปกครองและคุณครูยินดีที่จะให้เด็กๆ ได้อ่านด้วย

การเป็นคนที่อยู่กับการ์ตูนมาตั้งแต่เด็ก มีผลทำให้รู้สึกเชื่อมั่นในพลังของการใช้ตัวการ์ตูนมากขึ้นหรือเปล่า

ตอนเด็กๆ นิวก็โตมาในออฟฟิศคุณพ่อคุณแม่ (บันลือกรุ๊ป) นิวอ่านหนังสือได้เร็วกว่าเด็กวัยเดียวกันเพราะพอไม่มีอะไรทำก็หยิบ ขายหัวเราะ กับการ์ตูนอื่นๆ ในเครือมาอ่าน เลยทำให้เป็นเด็กที่มีทักษะการอ่านแข็งแรง ซึ่งตามมาด้วยทักษะภาษาและการเขียนที่แข็งแรง ซึ่งถ้าหากที่บ้านทำหนังสืออย่างอื่น เราอาจจะไม่หยิบมาอ่านเองก็ได้ แต่เป็นเพราะว่าการ์ตูนมีความเฟรนด์ลี่กับเด็กมากกว่า แล้วยิ่งมาทำงานด้านนี้ก็เริ่มมองเห็นถึงมิติอื่นๆ ของการ์ตูนที่มากกว่าความบันเทิง อย่างในต่างประเทศ การ์ตูนถือเป็นสุดยอดเครื่องมือในการสื่อสารเรื่องราวต่างๆ ไปยังคนทุกกลุ่ม การ์ตูนความรู้ของฝั่งยุโรปมีสำหรับเด็กจนถึงผู้ใหญ่

อย่างโปรเจ็กต์ที่เราเคยทำร่วมกับ UN Women (องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ) คือการสื่อสารเรื่อง gender equality หรือความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งจะทำยังไงให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องนี้และไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว เพราะขนาดผู้ใหญ่อย่างเรา หากมีคนเรียกให้มาฟังประเด็นนี้ ยังอดรู้สึกไม่ได้ว่ามันต้องซีเรียสแน่ๆ แต่พอเราเล่าเรื่องนี้ผ่านการ์ตูนภาพน่ารัก แก๊กชวนยิ้ม และคาแรกเตอร์ที่เด็กคุ้นเคย ก็ง่ายขึ้นมากที่จะทำให้เด็กเพลิดเพลินอ่านจนจบ ทำให้กลายเป็นโปรเจ็กต์ที่ประสบความสำเร็จและได้รับคำชมอย่างมาก

นี่คือความหมายที่อธิบายคำว่า soft power ได้ไหม

ใช่ค่ะ soft power เพราะของการ์ตูนนั้นเข้าถึงคนทุกกลุ่มและใช้สื่อสารได้ทุกเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็ก การใช้ visual storytelling สำคัญมากในการทำให้เขาเข้าใจเนื้อหาได้ง่ายขึ้น และเด็กก็ต้องการแรงสนับสนุนด้านอารมณ์เชิงบวกในการเรียนรู้ เช่น ถ้าให้เด็กเรียนจากเอกสารหรือข้อมูลหนักๆ นอกจากจะเข้าใจยากแล้ว ถ้าเขาเบื่อหรือไม่ชอบ ความรู้สึกลบต่อการเรียนจะติดอยู่ในใจเขา ทำให้ไม่ชอบเรียนวิชานั้น หรือไม่อยากสนใจเรื่องนั้น ทั้งที่เขาอาจจะไม่ใช่เด็กขี้เกียจหรือไม่เก่ง แต่เป็นเพราะรูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่เหมาะกับเขามากกว่า

นิวคิดว่า ประเทศไทยยังไม่ค่อยสนับสนุนการนำ soft power มาปรับใช้ในแวดวงการศึกษาอย่างจริงจัง เราหวังว่า มหาสนุก Happy Learners จะเป็นอีกมิติหนึ่งของการ์ตูน edutainment ที่สร้างความสุขในการเรียนรู้ให้กับเด็กไทยได้

จุดเปลี่ยนหรือแรงบันดาลใจที่ทำให้ มหาสนุก คิดว่าต้องแสดงออกให้ชัดเจนว่ากำลังทำเพื่อคนกลุ่มไหน

เพราะไม่ว่าจะเป็น ขายหัวเราะ หรือ มหาสนุก เราไม่ได้มองว่ามันเป็นแค่หนังสือการ์ตูนอีกต่อไปแล้ว แต่เราเป็นแบรนด์ จึงต้องมีกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน

มหาสนุก Happy Learners นอกจากการ์ตูนเล่มแล้วยังมีส่วนคอนเทนต์ออนไลน์ และในอนาคตจะมีงานโปรดักต์เซอร์วิสและอีเวนต์ต่างๆ ทุกอย่างจะต้องสอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ตอนนี้สามารถพูดได้ว่า มหาสนุก กำลังเข้ามาอยู่ในวงการหนังสือสำหรับเด็ก ที่บางคนก็บอกว่าทำยาก แต่บางคนก็ว่าทำง่าย หรือบางคนก็บอกว่าหนังสือเด็กทำไมต้องแพง ในสายตาของคนทำธุรกิจหนังสือเด็กมองเรื่องนี้อย่างไร

มีความท้าทายหลักๆ สามประเด็น ประเด็นแรกคือเรื่องความพอดีอย่างที่บอกไปแล้ว เพราะเราทำคอนเทนต์ edutainment ที่ต้องบาลานซ์ระหว่างความสนุกและความรู้

เรื่องที่สองคือเรื่องเทรนด์ความชอบและพฤติกรรมของเด็กๆ เพราะเด็ก ปัจจุบันเปิดรับสื่อและมีความชอบหลากหลายมาก เราต้องพยายามติดตามและเข้าใจความต้องการของพวกเขา

ส่วนประเด็นสุดท้าย คือบางทีเรามองข้ามบางอย่างที่เหมาะและเด็กๆ ชอบไป ด้วยการที่มองจากสายตาของผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองว่าเด็กๆ ควรอ่านอะไร ซึ่งอาจไม่ใช่ซึ่งที่เด็กๆ อยากอ่าน เพราะดีสำหรับเด็กกับผู้ใหญ่อาจจะไม่เหมือนกัน เราจึงต้องหมั่นทบทวนงานของเราจากมุมมองของเด็กๆ ด้วย

ก่อนที่จะเริ่มปรับรูปแบบ ทีมงานของเราทดลองให้เด็กๆ ตามโรงเรียนต่างๆ ได้อ่านมหาสนุกเวอร์ชั่นเก่า แล้วถามว่าเด็กๆ ชอบหรือไม่ชอบอะไรบ้าง ซึ่งทำให้เราได้ฟีดแบ็กหลายอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อน

ถ้าเด็กชอบ แต่พ่อแม่ไม่ถูกใจ เราจะเอามาปรับได้อย่างไรบ้าง

เราก็ต้องหาเหตุผลว่าพ่อแม่ไม่ชอบเพราะอะไร แล้วเด็กๆ ชอบเพราะอะไร บางทีสองจุดนั้นอาจจะไม่ได้ขัดแย้งกันเสมอไป เราสามารถบิดหรือพลิกแพลงเพื่อแก้ไขได้ เช่น เราได้ฟีดแบ็กจากเด็กๆ ว่าเขาชอบเรื่องลึกลับและตัวการ์ตูนผี ในขณะที่ผู้ปกครองไม่ชอบ บอกว่ากลัวลูกฝันร้าย เคสนี้เราอาจจะเอามาแก้ด้วยการดีไซน์เรื่องราวหรือคาแรกเตอร์ดำเนินเรื่องให้เป็นผีที่น่ารัก หรือเพื่อนในจินตนาการที่พาเด็กๆ ไปผจญภัย ไม่ใช่ผีที่น่ากลัว

คิดว่าการเป็นสื่อประเภท edutainment จำเป็นหรือสำคัญกับเด็กมากแค่ไหน

สำคัญในแง่ของการเพิ่มโอกาสและประสบการณ์การเรียนรู้ ตอนนี้สื่อการเรียนรู้ โดยเฉพาะสื่อการ์ตูนดีๆ ที่เด็กไทยได้ดู มักจะมาจากต่างประเทศ เช่น โปรแกรมการสอน coding หรือ visual thinking สำหรับเด็ก การเข้าถึงก็เลยถูกจำกัดไปที่กลุ่มเด็กที่เข้าถึงเทคโนโลยีและคุ้นเคยภาษาอังกฤษ ในขณะที่ มหาสนุก Happy Learners ถูกออกแบบมาให้ตอบโจทย์เด็กอย่างทั่วถึง ทั้งในแง่ของเนื้อหา ความสนุก และราคาสบายกระเป๋า

นอกจากการปรับขนาด ภายใน มหาสนุก Happy Learners มีอะไรเปลี่ยนแปลงอีกบ้าง

เปลี่ยนใหม่ทั้งหมดเลยค่ะ เรามีความเฟรนด์ลี่กับผู้อ่านที่เป็นเด็กชั้นประถมมากขึ้น เช่น ขนาดเล่มที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เด็กจับถนัดมือ เพิ่มหน้าสีให้ดึงดูดขึ้น รวมถึงคุณภาพของกระดาษ และการออกแบบในเล่มทั้งหมด ก็เน้นความสบายตาและการอ่านที่ลื่นไหลมากขึ้น

ในส่วนของคอนเทนต์ เราออกแบบให้ทุกหน้าสอดคล้องและสมดุลในสามส่วน คือ ทักษะที่เด็กจะได้เรียนรู้ วิธีการเล่าอย่างสร้างสรรค์ และความสนุก เช่น ถ้าเป้าหมายคืออยากให้เด็กฝึกทักษะ รู้จักแก้ปัญหาและช่างสังเกต ต้องเล่าผ่านสถานการณ์ประมาณไหน ใช้คาแรกเตอร์อะไรถ่ายทอด เช่น เรื่องราวสืบสวนไขคดี ซึ่งในฉบับนี้มีเรื่องราวและคาแรกเตอร์ใหม่ๆ

นอกจากรูปเล่มแล้วดูเหมือนขั้นตอนการทำงานก็เปลี่ยนไปด้วย

เราใช้ทีมรีเสิร์ชและครีเอทีฟเยอะมากในการตั้งต้น กระบวนการทำงานเพิ่มขึ้นและต้องมีระบบมากขึ้น จากเดิมที่นักเขียนการ์ตูนของเราจะทำงานอย่างอิสระ เขาก็จะได้รับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น ว่าต้องทำให้การสื่อสารได้ผลตามเป้าหมาย แต่เรายังให้พื้นที่กับความสนุกและสร้างสรรค์เต็มที่ เป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่ฝึกให้เราต้องปรับตัว ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และเป็นทีมเวิร์กมากขึ้นด้วย

ถ้าให้ยกตัวอย่างคอลัมน์ในมหาสนุกรูปแบบใหม่ที่ตัวเองชอบหรือคิดว่าเด็กๆ น่าจะชอบ

นิวชอบอ่านการ์ตูนสั้นๆ จบในตอน ทั้งของนักวาดรุ่นเก๋าและของนักวาดรุ่นใหม่ๆ ที่มากับคาแรกเตอร์ใหม่ อย่างคอลัมน์ของ ‘พี่ต่าย’ (ขายหัวเราะ) ผู้ปกครองหลายคนก็คงโตมากับงานของพี่ต่าย ตั้งแต่สมัยก่อนที่การ์ตูนความรู้ยังไม่แพร่หลาย พี่ต่ายเป็นคนที่มีแบบฉบับเฉพาะตัวในการเล่าอะไรก็ได้ในสนุกผ่านการ์ตูน จะเป็นเรื่องของปังปอนด์ นินจา และเพื่อนใหม่ที่มีภารกิจให้ต้องร่วมกันแก้ปัญหา

อีกเรื่องที่ชอบเป็นพิเศษคือการ์ตูนใหม่ของ ‘พี่บัฟโฟ่’ เป็นเรื่องราวของหนูแฮมสเตอร์นักสืบ มันสนุกตรงที่เราต้องฝึกสังเกตและสงสัย เด็กๆ ก็น่าจะสนุกกับผลงานของพี่บัฟโฟ่ได้เช่นกัน

ส่วนคอลัมน์อื่นๆ ที่ชอบก็เช่น คอลัมน์ที่สอนเรื่อง visual thinking และการวางแผนการเงิน นิวคิดว่าเราน่าจะมีโอกาสได้เรียนตั้งแต่เด็กๆ เพราะโตมาแล้วรู้ซึ้งเลยว่ามันจำเป็นมาก (หัวเราะ) ในหลายประเทศก็มีวิชาที่สอนให้เด็กรู้เรื่องการจัดการบริหารเงินตัวเอง ซึ่งของเราจะใช้วิธีเล่าผ่านคาแรกเตอร์สัตว์น่ารักๆ ด้วย

แต่ทั้งหมด นิวคิดว่าช่วงแรก เราอาจจะยังลองผิดลองถูกกันไปบ้าง แต่เราจะไม่หยุดพัฒนาแน่ค่ะ

พูดถึงความเป็นแบรนด์ edutainment แปลว่า มหาสนุกกำลังมีแพลนจะทำอะไรต่อไป

เราทำงานครบวงจร มีสื่อ สินค้า และอีเวนต์ที่เหมาะกับเด็ก รวมถึงมีการทำงานร่วมกับแบรนด์อื่นๆ มากขึ้น อย่างฉบับแรก เรามีคอลัมน์ ‘แบบนี้ก็มีด้วยในวิชาเรียน’ มีพาร์ตเนอร์เป็นแอปพลิเคชั่น StartDee (แพลตฟอร์มเสริมการเรียนรู้)ของคุณไอติม—พริษฐ์ วัชรสินธุ เพราะตอนเด็กๆ หลายครั้งมากที่เราไม่เข้าใจว่าวิชานี้ บทเรียนนี้ เราเรียนไปทำไม เช่น หารร่วมมาก คูณร่วมน้อย มีประโยชน์อะไรกับชีวิตเราบ้าง แต่ถ้าเด็กๆ เข้าใจเป้าหมายและวิธีใช้ความรู้ เขาก็จะอยากเรียนมากขึ้น ซึ่งความร่วมมือนี้ไม่ได้อยู่แค่ในเล่ม แต่ยังอยู่ในส่วนที่เป็นสื่อออนไลน์ของเรา และอยู่ในแอปพลิเคชั่นของ StartDee ด้วย

กว่าจะออกมาเป็น มหาสนุก Happy Learners เล่มแรก ใช้เวลานานแค่ไหน

ใช้เวลาหลายเดือน เริ่มจากไอเดีย รีเสิร์ช แล้วก็วางแผน และปรับดีไซน์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งมีช่วง learning curve ที่ทีมเราเองต้องเรียนรู้ ลองผิดลองถูกด้วยทั้งในส่วนของเนื้อหา กระบวนการทำงาน รวมถึงการปรับจูนกับนักเขียนของเราด้วย 

“การสื่อสารกับเด็กๆ ที่เป็นวัยแห่งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และค้นหาตัวเอง เขาควรมีโอกาสได้เลือกสื่อที่เขาเอนจอยมากที่สุด ตราบใดที่สื่อนั้นยังคงตอบโจทย์ด้านการเรียนรู้ได้”

ถ้าผู้ปกครองจะให้เลือกซื้อหนังสือให้ลูก เขาอาจจะเลือกหยิบหนังสือนิทานหรือวรรณกรรมก่อนหนังสือการ์ตูน หรือไม่ก็ต้องให้เด็กเป็นคนเลือกเอง เราจะสื่อสารหรือบอกความตั้งใจของเราไปถึงผู้ปกครองได้อย่างไร

ทุกวันนี้เราได้ยังรับฟีดแบ็กและกำลังใจจากกลุ่มนักอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ว่าหลายท่านก็มีการ์ตูนของเราเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านหนังสือ บางคนตอบข้อสอบวิชาวรรณคดีได้ เพราะอ่านการ์ตูน สามก๊ก และ รามาวตาร ของเรา

จริงๆ แล้วทุกวันนี้ การเรียนรู้ผ่านการ์ตูนก็ยังคงอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้ใหญ่ เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้สังเกต เช่น ในเฟซบุ๊กหลายเพจก็มีการนำเสนอข้อมูลข่าวสารผ่านการ์ตูนเหมือนกัน

นิวคิดว่าผู้ปกครองรุ่นใหม่จะเปิดใจและเข้าใจพลังของการ์ตูนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหลายท่านก็น่าจะเติบโตมากับการ์ตูนเช่นกัน และปัจจุบันเรามีโอกาสรับสื่อที่หลากหลายมากขึ้น ย่อมมีโอกาสที่จะเข้าใจว่าสื่อที่มีคุณภาพสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เพราะรูปแบบเป็นแค่เครื่องมือในการสื่อสาร แต่ไม่ควรเป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะการสื่อสารกับเด็กๆ ที่เป็นวัยแห่งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และค้นหาตัวเอง เขาควรมีโอกาสได้เลือกสื่อที่เขาเอนจอยมากที่สุด ตราบใดที่สื่อนั้นยังคงตอบโจทย์ด้านการเรียนรู้ได้

* สนใจสมัครสมาชิก มหาสนุก Happy Leaners ได้ที่ https://mahasanook.co/subscribe/

Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

COMMENTS ARE OFF THIS POST