READING

INTERVIEW: นักเล่นบำบัดที่บอกเราว่า ‘การเล่นเป็นภา...

INTERVIEW: นักเล่นบำบัดที่บอกเราว่า ‘การเล่นเป็นภาษาของเด็ก’

มีคำกล่าวว่า ‘การเล่นสนุกเป็นงานของเด็ก’ แต่นอกจากการเล่นจะช่วยให้เด็กๆ สนุกสนานแล้ว หลายคนอาจไม่รู้ว่า การเล่นยังช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพฤติกรรม ปัญหาอารมณ์ หรือปัญหาพัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น

การเล่นกับเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญและจริงจังจนเราต้องมีอาชีพ นักเล่นบำบัด (Certified Play Therapist) ที่ใช้การเล่นเป็นสื่อกลางให้เด็กได้แสดงออกถึงสิ่งที่อยู่ในใจ ได้ระบายปัญหาผ่านการเล่น ช่วยให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และจัดการกับปัญหาด้วยตัวเอง ช่วยปลดล็อกปัญหาหลายๆ อย่าง เช่น ปัญหาเรื่องอารมณ์ ความซึมเศร้า ใจร้อน ปัญหาเรื่องการพูด ถูกเพื่อนแกล้ง ไปจนถึงช่วยให้เด็กๆ มีพัฒนาการด้านต่างๆ ดีขึ้น ซึ่งนักเล่นมืออาชีพอย่าง คุณแป๋ม—ฉันทิดา สนิทนราทร เวชมงคลกร คุณแม่มือใหม่คนสวยที่ถนัดเรื่องเล่นกับเด็กมากกว่าใคร จะเป็นคนเล่าเรื่องราวของการเล่นที่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในมุมมองนักเล่นบำบัดให้เราฟัง

ถ้าพูดถึงอาชีพ Play Therapist เราจินตนาการถึงอาชีพที่ได้เล่นกับเด็กทั้งวัน มันเป็นแบบที่เราคิดหรือเปล่า

จริงๆ ก่อนที่แป๋มจะเป็น Play Therapist หรือนักเล่นบำบัด ก็เคยจินตนาการถึงอาชีพนี้ว่า โอ้โห… คงจะสนุกแน่เลย ได้เล่นสนุกกับเด็กๆ เป็นอาชีพเลย (หัวเราะ) แต่ในความเป็นจริง การเป็นนักเล่นบำบัดต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าเล่นสนุกกับเด็กอย่างเดียว

 

มันมีอะไรมากกว่าการเล่นสนุก

นักเล่นบำบัดต้องมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการเล่นบำบัด มีความเข้าใจเด็ก ต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการบำบัดให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด ต้องสังเกต วางแผน ตั้งเป้าหมาย กำหนดระยะเวลา เลือกกิจกรรมการเล่นบำบัดที่ใช้ให้เหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อเด็กสูงสุด คอยประเมินผลและให้คำปรึกษาแนะนำผู้ปกครองด้วย

ที่พูดมานี้ไม่ใช่งานง่ายอย่างที่เคยคิดไว้เลย (หัวเราะ) แต่ถ้าถามว่าเป็นงานที่สนุกไหม ก็ต้องบอกว่าเป็นงานที่สนุกมากจริงๆ ค่ะ

 

อย่างนี้แสดงว่าการเล่นกับเด็กโดยทั่วไปต่างจากการเล่นบำบัด?

ต่างกันมากเลยค่ะ ถ้าเป็นกิจกรรมการเล่น (Play Activity) เป็นการเล่นกับเด็กทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีเทคนิคเฉพาะ จึงเป็นใครก็ได้ที่สามารถดูแลและเล่นกับเด็กได้ แต่การเล่นบำบัดหรือ Play Therapy เป็นการเล่นขั้นสูงสุด ที่เล่นเพื่อเยียวยารักษาเด็ก ใช้ได้ทั้งกับเด็กปกติที่อยากพัฒนาทักษะต่างๆ ให้ดีขึ้น เด็กพิเศษ และเด็กที่มีปัญหาระดับเล็กน้อย ไปจนถึงเด็กที่มีปัญหาระดับรุนแรงต่อเนื่องยาวนาน เลยต้องจบเฉพาะทางด้านการเล่นบำบัด และได้รับประกาศนียบัตรรับรองเป็นนักเล่นบำบัด (Certified Play Therapist) จากสถาบันที่ศึกษาวิจัยด้านการเล่นบำบัดและเปิดสอนเฉพาะทางสาขาการเล่นบำบัด รวมทั้งมีการรับรองหลักสูตรจากองค์กรหรือสมาคมการเล่นบำบัด (Play Therapy Organization/Association) ที่ปัจจุบันเปิดตามทวีปๆ เช่น ยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย

การเล่นจำเป็นต่อเด็กขนาดไหน

เรียกว่าช่วยได้ในทุกด้านของพัฒนาการเด็ก ทั้งด้านร่างกาย ด้านความคิดและสติปัญญา ด้านทักษะการคิดขั้นสูงหรือ EF (Executive Functions) ด้านภาษา ด้านอารมณ์และจิตใจ และด้านทักษะสังคม เพราะขณะที่เด็กเล่น เช่น กระโดดโลดเต้น วาดรูประบายสี เล่นทราย เด็กก็ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และมัดเล็กให้ทำงานประสานกันได้อย่างคล่องแคล่วแข็งแรง

อย่างการเล่นสมมติช่วยให้เด็กได้คิดแทนสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ฝึกการคิดยืดหยุ่น ฝึกคิดวางแผนว่าจะเล่นเป็นอะไร ต้องใช้ความจำ มีการคิดและจดจำว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง จะพูดอะไรบ้าง ต้องควบคุมตัวเองให้แสดงออกตามบทบาทที่ได้รับ ซึ่งการสวมบทบาทเป็นการฝึกมองต่างมุม เข้าใจความคิดความรู้สึกในแง่มุมของคนอื่น รู้สึกเห็นใจคนอื่นได้ดีขึ้นด้วย

การเล่นที่ดูเหมือนเป็นเรื่องเล่นสนุกๆ ธรรมดาๆ จึงไม่ธรรมดาเลย เพราะมันช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กได้รอบด้าน เรียกได้ว่าการเล่นมีคุณค่ามหาศาลต่อพัฒนาการทุกด้านของเด็กจริงๆ

 

ในชั่วโมงการเล่นบำบัดเล่นอะไรกันบ้าง

เรามีการเล่นที่หลากหลายเลย เช่น นิทานบำบัด คือการแต่งนิทานที่มีเรื่องราวเฉพาะของเด็กแต่ละคน เล่นถาดทรายบำบัด (Sandtray Therapy) คือการให้เด็กเล่นทรายในถาด และใช้ตุ๊กตาต่างๆ เพื่อแสดงความคิดความรู้สึกออกมา เล่นบทบาทสมมติ ศิลปะ การปั้น เล่นหุ่นมือ ดนตรี การเต้น การจินตนาการเพื่อการผ่อนคลาย (Creative Visualization) ที่ต้องมีการเล่นหลากหลายก็เพราะจะได้เลือกใช้ให้เหมาะกับความชอบ ความสนใจ และความต้องการของเด็ก แล้วก็เพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์สูงสุดด้วย

แสดงว่าเด็กแต่ละคนอาจชอบเล่นอะไรไม่เหมือนกัน

เด็กบางคนขี้อาย ไม่ค่อยกล้าพูดกล้าแสดงออก เขาจะสบายใจมากกว่าถ้าได้สื่อสารด้วยการเล่นหุ่นมือ หรือวาดรูปที่เขาชอบ ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจด้วยว่า การเล่นหุ่นมือ การวาดรูปที่เด็กแสดงออกมานี้ มีความหมายอย่างไร เด็กกำลังรู้สึกอย่างไร เราควรตอบสนองหรือเล่นกับเด็กอย่างไร เพื่อให้เด็กพัฒนาได้ต่อไป

 

มันมีอะไรที่เชื่อมโยงกันระหว่างเด็กกับการเล่น

เด็กบางคนชอบนิทานบำบัดมาก เพราะเขาเชื่อมโยงตัวเองกับเรื่องราวในนิทานได้ เพราะนิทานบำบัดเป็นนิทานที่แต่งขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ เขาจะรู้สึกว่ามีคนที่เข้าใจเรื่องของเขา มีปัญหาคล้ายๆ เขา

หรือเด็กบางคนไม่กล้าเล่าปัญหาของตัวเองออกมาตรงๆ ก็จะผ่อนคลายมากกว่า ถ้าได้เล่าเรื่องผ่านการเล่นถาดทรายบำบัด เพราะเขาจะได้สร้างโลกจำลองขึ้น มันเป็นเสมือนโลกจำลองในจิตใจของเขา เราก็ต้องสังเกต ทำความเข้าใจถาดทรายของเด็ก ว่าเขามีความรู้สึกอย่างไร แหล่งความสุขของเด็กอยู่ตรงไหน ซึ่งเด็กแต่ละคนก็จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเขาไม่ซ้ำกันเลย

ถ้าเราสังเกต ใช้ใจฟังการเล่นของเด็ก
การเล่นของเขาจะบอกอะไรเราได้ตั้งมากมาย
เมื่อเราเข้าใจการเล่นของเด็ก
เราจะเข้าใจโลกของเด็ก เข้าใจตัวตนของเด็กได้ดียิ่งขึ้น

การเล่นช่วยให้เราเข้าใจเด็ก

ถ้าเราตั้งใจฟังการเล่นของเด็กดีๆ จะพบว่า การเล่นของเด็กบอกอะไรเราได้มากมาย เช่น บอกว่าเด็กชอบหรือไม่ชอบอะไร การเล่นของเขามีระเบียบ หรือกระจายไปทั่วห้อง เขาเล่นสิ่งๆ หนึ่งได้นานไหมก่อนที่จะเปลี่ยนไปเล่นอีกสิ่งหนึ่ง เนื้อหาและการเล่นของเด็กเป็นอย่างไร มีการต่อสู้ รบราฆ่าฟัน หรือการดูแลทะนุถนอมไหม ก้าวร้าว หรืออ่อนโยน มีความอบอุ่นหรือโดดเดี่ยว

ในบ้านตุ๊กตาที่เด็กเล่นมีใครอยู่ไหม ถ้ามี มีใครอยู่บ้าง ใครคือคนสำคัญของเด็ก เด็กปฏิบัติอย่างไรกับตุ๊กตา การสื่อสารพูดคุยของเด็กเป็นอย่างไร เด็กมีการมองหน้าสบตาพูดคุยกับเราไหม เวลาที่เราได้เล่นกับเด็กเหมือนเราพูดเป็นภาษาเดียวกับเด็ก ได้เข้าไปอยู่ในโลกใบเดียวกับเด็ก ในบางครั้งการเล่นกับเด็กเพียง 1 ชั่วโมงจึงบอกอะไรเราได้มากกว่าการคุยกับเด็กทั้งวันเสียอีก

แต่ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่า การเล่นแบบไหนดีกว่ากันนะคะ เพราะการเล่นของเด็กแต่ละคนจะมีเอกลักษณ์ในแบบของเขา เด็กที่มีพื้นฐานนิสัยต่างกันก็ย่อมมีการเล่นที่ต่างกัน

ถ้าเราสังเกต ใช้ใจฟังการเล่นของเด็ก การเล่นของเขาจะบอกอะไรเราได้ตั้งมากมาย เมื่อเราเข้าใจการเล่นของเด็ก เราจะเข้าใจโลกของเด็ก เข้าใจตัวตนของเด็กได้ดียิ่งขึ้น

พอเข้าใจเด็กๆ แล้วจะเป็นอย่างไร

นอกจากนักเล่นบำบัดจะทำความเข้าใจการเล่นของเด็กแล้ว ก็จะช่วยสะท้อนให้เด็กเกิดความเข้าใจ และยอมรับตัวเองได้ดีขึ้นผ่านการเล่นด้วย เมื่อเด็กเข้าใจและยอมรับตัวเองได้ดี เด็กก็จะมีความสุขมากขึ้น ทำให้เขาเริ่มคิดหาทางออก หาทางแก้ปัญหา และเกิดการพัฒนาตัวเองได้ดีขึ้นด้วย

ถ้าพ่อแม่อยากเล่นกับลูก แต่ติดที่ว่าเป็นคนเล่นไม่เก่งล่ะ

อยากจะบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องห่วง ว่าตัวเองเล่นไม่เก่ง ไม่มีทักษะหรือเทคนิคการเล่นพิเศษ หรือไม่มีของเล่นอะไรเป็นพิเศษเลย เพราะยังไงเด็กๆ ก็ชอบเล่นกับคุณพ่อคุณแม่อยู่แล้ว คุณพ่อคุณแม่เป็นของเล่นที่ดีที่สุดของลูก แค่มีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วย เด็กๆ ก็จะคิดค้นการเล่นขึ้นมา และชวนคุณพ่อคุณแม่เล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็เล่นตามเด็กไป ขอเพียงใช้เวลากับลูก ให้ความใส่ใจลูกอย่างเต็มที่ ชั่วโมงนั้นก็จะเป็นชั่วโมงทองของเด็กๆ แล้ว

สัญญาณอะไรที่บอกว่าเด็กเริ่มมีปัญหากับการเล่นของตัวเอง

มี 3 ข้อใหญ่ๆ ด้วยกันคือ

  1. มีการเล่นที่เป็นอันตรายต่อตัวเอง เช่น เอาของเล่นทุบตัวเอง ทำร้ายตัวเอง หรือแยกไม่ออกระหว่างการเล่นในจินตนาการกับความเป็นจริง เช่น เพื่อนในจินตนาการบอกให้ทำสิ่งที่อันตรายก็ทำจริง หรือมีธีมการเล่นที่พูดถึงการทำร้ายตัวเอง หรือการฆ่าตัวตาย
  2. มีการเล่นที่เป็นอันตรายต่อคนอื่น เช่น เอาของเล่นทุบคนอื่น เล่นกับเพื่อนแล้วทำร้ายเพื่อน ทำให้เพื่อนเจ็บตัว เล่นกับน้องแล้วทำร้ายน้อง
  3. มีการเล่นที่เป็นอันตรายต่อสิ่งของ เช่น เล่นแล้วไม่ได้ดั่งใจก็อาละวาดทำลายข้าวของเสียหาย

แต่จริงๆ อยากให้ผู้ปกครองเชื่อในสัญชาตญาณของตัวเอง ถ้าดูการเล่นของลูกแล้วรู้สึกไม่สบายใจ ก็พามาปรึกษาได้เลยค่ะ ยิ่งมาเร็วเท่าไรก็ยิ่งช่วยเด็กได้เร็วขึ้น

มีเด็กที่มาแล้วไม่ยอมเล่นกับเราบ้างไหม

แน่นอนว่าต้องมีอยู่แล้ว (หัวเราะ) การเล่นเป็นธรรมชาติของเด็กก็จริง แต่บางครั้งเด็กก็เครียด หิว เหนื่อย ง่วง หงุดหงิด ไม่มีอารมณ์จะเล่น หรือยังไม่คุ้นเคย ไม่ไว้วางใจนักเล่นบำบัด เด็กก็ไม่ยอมเล่นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา

แล้วนักเล่นบำบัดต้องทำอย่างไร

ส่วนมากเด็กจะเล่นก็ต่อเมื่อเขารู้สึกสบายใจ ปลอดภัย …ว่าเออ เราอยู่กับคนนี้ได้นะ เราไว้ใจคนนี้ได้นะ เขาถึงจะเล่นด้วยความสนุกผ่อนคลาย ถึงได้บอกว่าการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเด็ก เป็นเรื่องที่สำคัญของการเล่นบำบัดมาก จึงเป็นสิ่งที่นักเล่นบำบัดควรทำให้เกิดขึ้นเร็วที่สุด

ส่วนเรื่องอื่นๆ เช่น เด็กหิว ง่วง เหนื่อย หงุดหงิด ก็แก้ได้ด้วยการขอผู้ปกครองช่วยให้เด็กพร้อมก่อนมาเล่น

นอกจากการเล่นบำบัดใช้กับเด็กแล้ว ได้ยินมาว่าใช้กับผู้ใหญ่ด้วย

การเล่นบำบัดก็เป็นหนึ่งใน Creative Arts Therapy เช่นเดียวกับศิลปะบำบัด ดนตรีบำบัด ละครบำบัด การใช้การเล่นบำบัดผู้ใหญ่ที่มีความกังวล ความเศร้า ความคับข้องใจ อยากเล่าเรื่องออกมาให้เห็นภาพ บางทีก็จะใช้การเล่นถาดทรายบำบัด ที่แสดงเรื่องราวในใจออกมาเป็นภาพที่ชัดเจน เพื่อจะได้ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เกิดมุมมองความคิดใหม่ๆ และหาทางจัดการกับปัญหาในใจของตัวเองได้ดีขึ้น

เป็นอาชีพที่ใช้การเล่นเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลง

นักเล่นบำบัดเป็นอาชีพที่แป๋มรักมาก เป็นอาชีพที่ทำแล้วสนุก มีความสุขที่ได้ทำ เพราะนอกจากความน่ารักและความสดใสของเด็ก แป๋มรู้สึกได้รับพลัง มีความสุขเมื่อได้เล่นกับเด็กๆ สิ่งที่ประทับใจมากที่สุดคือเวลาเห็นเด็กๆ เปลี่ยนแปลง เช่น จากเด็กคนหนึ่งที่ไม่พูดกับใครเลย จะพูดกับคุณพ่อคุณแม่เท่านั้น ในที่สุดเขาก็พูดกับเราได้ พูดกับคุณครูหรือเพื่อนที่โรงเรียนได้

หรือบางครั้งก็เป็นผู้ปกครองที่มาบอกว่า “ขอบคุณมาก ลูกกลับไปโรงเรียนได้แล้ว จากเดิมที่กลัวการไปโรงเรียนมาก” หรือ “ลูกกลับมาทานข้าวได้ปกติแล้ว ครูแป๋มไม่ได้ช่วยแค่เด็กคนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังช่วยครอบครัวของเราด้วย” สิ่งเหล่านี้ทำให้แป๋มดีใจ และมีความสุขมากจริงๆ

ขอบคุณภาพจาก โรงพยาบาลมนารมย์

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST