READING

WORK WITH KIDS: คุยกับ BLIXPOP และ PLAYVILLE สองกิ...

WORK WITH KIDS: คุยกับ BLIXPOP และ PLAYVILLE สองกิจการที่ทำงานเพื่อการเล่น

   ‘ไม่รู้จะพาลูกไปเล่นที่ไหน’
   ‘เล่นจนไม่รู้จะให้เล่นอะไรแล้ว’

เสียงบ่นพึมพำจากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่นอกจากจะต้องกังวลใจเรื่องเลี้ยงลูกให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ เป็นเด็กที่มีพัฒนาการสมวัย สุขภาพร่างกายและจิตใจสมบูรณ์แข็งแรง แม้แต่เรื่องการเล่นที่ดูเหมือนไม่ควรมีอะไรน่าหนักใจ ก็ยังเป็นอีกเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นๆ

เรามีนัดกับ กี้—ณัชชา โรจน์วิโรจน์ เจ้าของแบรนด์ BLIX POP ของเล่นเสริมพัฒนาการสำหรับเด็ก ที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นแบรนด์ของเล่นนำเข้าจากต่างประเทศ

แน่นอนว่า เราเข้าใจผิด

และ เพา—พิมพ์พร อุเอโนะ ผู้ก่อตั้งและบริหาร Playville พื้นที่ Indoor Playground สำหรับเด็กและครอบครัว ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 49 Playscape ในซอยสุขุมวิท 49 สองกิจการที่เริ่มต้นจากพื้นฐานของคนสองคนที่เห็นความสำคัญของการเล่นเหมือนกัน ในมุมที่ต่างกัน

เพราะไม่ว่าจะเล่นที่ไหนหรือเล่นอย่างไรก็ตาม การเล่นก็เป็นเรื่องสำคัญของเด็กที่ผู้ใหญ่อย่างเราไม่ควรมองข้ามอยู่ดี

จุดเริ่มต้นของ BLIX POP

คุณกี้: ถ้าย้อนไปเลยก็คือตอนปริญญาตรี กี้เรียนสถาปัตย์ออกแบบภายใน แล้วก็ไปต่อโท ด้านโปรดักต์ดีไซน์ ส่วนตัวเราชอบพวกงานเฟอร์นิเจอร์ไม้ ตอนแรกคิดว่าเราคงจะได้ไปทำอะไรทางนั้น

ตอนเรียนที่ซานฟรานฯ ทุกปีจะต้องกลับมาเมืองไทยหนึ่งเดือน แล้วมีครั้งนึงเป็นช่วงก่อนจะทำทีสิส กลับมาแล้วเราไปเป็นอาสาสมัครในโรงเรียนสอนคนตาบอด ซึ่งมันเปิดโลกให้เรามาก เพราะเราไม่เคยเห็นชีวิตของเด็กกลุ่มนี้มาก่อน

แล้วตอนนั้นทำไมถึงไปสมัคร

คุณกี้: คุณแม่กี้เอาของไปบริจาคที่โรงเรียนสอนคนตาบอด เขาเห็นป้ายรับสมัครอาสาสมัครช่วยสอนหนังสือเด็กตอนเย็น เขาก็เลยมาบอก ตรงนั้นคือการจุดประกายเลย เพราะถ้าแม่ไม่มาบอกเราก็จะไม่รู้เลยว่ามีอะไรแบบนี้

“การที่ดีไซเนอร์ออกแบบของเล่นมาชิ้นหนึ่งมันอาจจะเหมาะกับเด็กทั่วไป แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กที่มีความพิเศษอีกกลุ่มหนึ่ง”

เด็กๆ ในโรงเรียนสอนคนตาบอดคือจุดที่เปลี่ยนความสนใจของเรา

คุณกี้: คือเราเห็นเด็กเล่นของเล่น แต่ว่ามันไม่ตอบโจทย์เขาเลย เพราะการที่เขามองไม่เห็น วิธีการเล่นหรือการตอบสนองระหว่างเขากับของเล่นก็จะไม่เหมือนเด็กทั่วไป อย่างเขาเล่นบ้านตุ๊กตา มันสวยมากเลยนะ แต่เขามองไม่เห็น มันจะน่ารักแค่ไหน เขาก็ได้แต่หยิบเอาเฟอร์นิเจอร์เล็กๆ ออกมาวาง หรือไม่ก็เดินไปเคาะโต๊ะให้มันมีเสียง ซึ่งเป็นการเล่นที่ต่างจากเด็กทั่วไป เราเลยได้รู้ว่าการที่ดีไซเนอร์ออกแบบของเล่นมาชิ้นหนึ่งมันอาจจะเหมาะกับเด็กทั่วไป แต่ไม่ได้ตอบโจทย์เด็กที่มีความพิเศษอีกกลุ่มหนึ่ง

เด็กที่มองไม่เห็นเขาก็มีเสน่ห์การเล่นของเขา และมีสัมผัสด้านอื่นที่ดีมาก เช่น เขาจำเสียงเดินของเราได้ จำกลิ่นของเราได้ บางทีกี้เดินเข้าไป เขาก็รู้ว่ากี้มาแล้ว เพราะเขาได้กลิ่น (หัวเราะ) และอีกหลายอย่างที่เขาเรียนรู้ได้ด้วยวิธีการสอนที่ต่างออกไป เช่น เราจะบอกเขาว่านี่คือช้อน ก็ต้องอธิบายว่าช้อนมันมีรูปร่างหน้าตายังไง ตรงนี้คือด้ามนะ เอาไว้จับ และให้เขาใช้มือสัมผัส ซึ่งจะไม่เหมือนกับเราที่เห็น แล้วจำได้เลยว่านี่คือช้อน

โจทย์ของเราคืออยากทำของเล่นเพื่อเด็กที่มองไม่เห็น

คุณกี้: เราก็กลับไปพรีเซนต์อาจารย์ว่า เราอยากทำอะไรสักอย่างที่ช่วยส่งเสริมการเล่นให้กับเด็กที่พิการทางสายตา ตอนนั้นใช้คำว่าอะไรสักอย่าง เพราะยังไม่รู้เลยว่ามันจะออกมาเป็นของเล่น หรือเป็นอุปกรณ์ หรือเครื่องมือ แต่คิดไว้กว้างๆ ว่ามันจะเป็นโปรดักต์ชิ้นหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องการเล่นและทำให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือเทียบเท่ากับเด็กทั่วไปได้ และเราก็อยากให้มันเป็นสื่อกลางที่เด็กทุกคนจะใช้ร่วมกันได้ เราก็ลองรีเสิร์ชแล้วพบว่า ถ้าเป็นของเล่นที่เด็กมองไม่เห็นเล่นได้ เด็กทั่วไปก็จะเล่นได้เหมือนกัน

จากวันนั้น ก็เลยได้เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความพิการทางสายตา เช่น ตาบอดมีกี่ประเภท แล้วพฤติกรรมประจำวันของเขาเป็นยังไง เขาต้องการอะไร แทบจะไปใช้ชีวิตอยู่กับเขา ตอนนั้นน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่พาตัวเองเข้ามาอยู่ในวงการเด็ก

ตอนหาข้อมูลอยู่ที่ซานฟรานฯ หรือกลับมาเมืองไทย

คุณกี้: ทั้งสองอย่าง ตอนอยู่ที่นู่นเราก็ไปตามศูนย์ที่เขาดูแลเด็กบกพร่อง แล้วก็ไปตามมหาวิทยาลัย ไปคุยกับอาจารย์คุยกับโปรเฟสเซอร์ที่เขาเชี่ยวชาญเรื่องเด็กพิการ เด็กที่มองไม่เห็น เด็กที่มีปัญหาเรื่องพัฒนาการ แต่ด้วยความที่เราเป็นนักศึกษาต่างชาติ การจะขอเข้าไปใกล้ชิดหรือเข้าไปทำงานกับเด็กของเขามันค่อนข้างยาก ก็เลยขออาจารย์กลับมาทำรีเสิร์ชที่เมืองไทย แล้วก็ส่งงานจากที่นี่กลับไปเรื่อยๆ ก็เลยเป็นเหตุที่ได้กลับมาที่โรงเรียนสอนคนตาบอดอีกครั้ง

คราวนี้ใช้เวลาประมาณปีนึงที่ไปทำตัวเหมือนครูพี่เลี้ยง คอยดูพฤติกรรมของเด็ก เอามาออกแบบแล้วก็ทำม็อกอัปให้เด็กเล่นเรื่อยๆ เพราะก่อนที่มันจะพัฒนามาแบบนี้ เราต้องรู้ก่อนว่าเด็กเขาเรียนรู้อะไรและยังไงบ้าง

เด็กที่พูดถึงคือช่วงอายุประมาณเท่าไร

คุณกี้: ตอนนั้นกี้อยู่กับเด็กอนุบาล 3 น่าจะประมาณ 4-5 ขวบ

“เราเรียนจบมาเป็นนักออกแบบ ถ้าออกแบบเสร็จแล้วเก็บไว้บนหิ้งมันก็เท่านั้น แต่ถ้าออกแบบแล้วมีประโยชน์และมีคนได้ใช้มันจริงๆ มันถึงจะ fulfill สิ่งที่เราตั้งใจทำมา”

หลังจากทำเป็นทีสิสสำเร็จแล้ว ทำไมถึงคิดว่ามันควรเอามาทำต่ออย่างจริงจัง

คุณกี้: พอได้ตัวโปรโตไทป์มาหนึ่งชุด กี้ก็เอาไปให้เด็กที่โรงเรียนลองเล่น คือที่จริง เด็กๆ จะได้ลองเล่นมาตลอดแทบจะทุกขั้นตอน แล้วเวลาเล่น เขาก็จะคอยถามว่าเมื่อไหร่ถึงจะได้เล่นเป็นของจริง เมื่อไหร่จะทำมาอีก แล้วคุณครูเขาก็เห็นว่ามันมีประโยชน์กับเด็กๆ มาก เพราะเด็กกำลังฝึกเรื่องการใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ เราก็เลยเอากลับมาปรึกษากับที่บ้านว่าจะทำยังไงให้ของเล่นนี้มันไปอยู่ในหลายๆ โรงเรียนได้

เรารู้สึกว่า เราเรียนจบมาเป็นนักออกแบบ ถ้าออกแบบเสร็จแล้วเก็บไว้บนหิ้งมันก็เท่านั้น แต่ถ้าออกแบบแล้วมันมีประโยชน์และมีคนได้ใช้มันจริงๆ มันก็จะ fulfill สิ่งที่เราตั้งใจทำมา

จุดเริ่มต้นของ Playville

คุณเพา: เพาเรียนเศรษฐศาสตร์ค่ะ เรียนจบมาก็ทำงานเป็นเศรษฐกร ในแบงค์ชาติ แล้วก็ไปเรียนต่อและทำงานที่ญี่ปุ่น

เรียนเกี่ยวกับเด็ก…

คุณเพา: ไม่ค่ะ เรียนเกี่ยวกับธุรกิจ ไม่เกี่ยวอะไรกับเด็กเลย (หัวเราะ) ชีวิตเริ่มเข้ามาเกี่ยวข้องกับเด็กก็ตอนที่แต่งงานและมีลูก พอมีลูกเราก็ลาออกจากงานแล้วกลับมาสร้างครอบครัวที่เมืองไทย

พอเราเลี้ยงลูกอย่างเดียว ได้อยู่กับลูกทุกวัน เราก็เป็นคนชอบอ่านหนังสือไม่ว่าจะเป็นพวกวิธีเลี้ยงลูกของญี่ปุ่นหรือการเลี้ยงเด็กของประเทศต่างๆ แล้วเราก็มีเพื่อนที่เป็นคุณแม่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอีกสองคน ก็เลยบอกว่า เรามาลองเขียนหนังสือเรื่องการเลี้ยงลูกของพวกเรากันไหม ก็เลยออกมาเป็นหนังสือชื่อ I Hearth you baby journal and book แล้วก็มีช่วงหนึ่งเคยทำเพจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกเหมือนกันนะคะ ชื่อว่า Hearth you baby (หัวเราะ) แล้วก็เริ่มจากตรงนั้น

“เราอยากให้มันมีแสง หมายถึงได้รับแสงจากธรรมชาติเยอะๆ แล้วก็อยากให้เด็กๆ มีพื้นที่สำหรับคลาน มุด และปีนป่าย คืออยากให้เขาได้ใช้ร่างกายเหมือนเวลาที่เขาเล่นอยู่ในธรรมชาติ”

จากหนังสือและเพจ กลายมาเป็นสถานที่อย่างเพลย์วิลล์ได้ยังไง

คุณเพา: ด้วยความที่ลูกเราเป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น ก็เลยได้พาเขากลับไปญี่ปุ่นบ่อย เราก็เห็นว่าที่ญี่ปุ่นเขามีสวนสาธารณะ มีสถานที่ให้เด็กเล่นมากมาย อาจจะด้วยสภาพอากาศของเขาเหมาะ ในขณะที่เมืองไทย เราแทบไม่เห็นพื้นที่ที่จะให้เด็กๆ เล่น เรากับหุ้นส่วนก็เลยคิดว่าเราอยากมีพื้นที่ อยากทำสนามเด็กเล่น ที่จริงเราอยากทำให้มันเป็น outdoor ด้วยซ้ำ แต่ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง อากาศบ้านเราหรือว่าด้วยสถานที่แล้ว อืม… ทำเป็น indoor ก็แล้วกัน (หัวเราะ) แต่ว่าเราจะทำยังไงให้มันมีความเป็นธรรมชาติหรือให้ความรู้สึก outdoor มากที่สุด

 

คุณกี้: กี้เห็นด้วยมากเลยนะ คือที่จริงไม่ว่าจะเมืองไทยหรือต่างประเทศ การเล่น outdoor มันสำคัญ แต่มันอาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เราตลอดเวลา อย่างของเล่นที่เราทำให้มีพื้นผิวของหญ้าหรือไม้ เพราะมันเป็นพื้นผิวที่เด็กๆ เลือกคือกี้ลองให้เด็กที่มองไม่เห็นเลือกผิวสัมผัสที่เขาชอบ จากของที่เราเตรียมไปเยอะมากเลยนะ แล้วเราก็พบว่าส่วนมากพื้นผิวที่เขาเลือก มันคือสิ่งที่เขาสัมผัสแล้วรู้สึกได้ว่ามันปลอดภัย ซึ่งน่าจะเป็นแนวคิดเดียวกับของคุณเพาคือการเอา element ของสิ่งที่อยู่ใน outdoor เข้ามาให้เด็กเล่นในพื้นที่ indoor ได้

คุณเพา: ในกรุงเทพฯ ส่วนมากที่เราเห็นก็จะเป็นสถานที่ในห้าง แต่สิ่งที่เราต้องการคืออยากทำให้มันเป็นสถานที่ที่มีดีไซน์ มีความสวยงามด้วย เวลาเราฟัง TED TALK เขาพูดถึงโรงเรียนที่ใช้การดีไซน์ทางสถาปัตย์มาช่วย explore ให้เด็กมีการเรียนรู้ เรารู้สึกว่าสนามเด็กเล่นหรือสถานที่เล่นของเด็กที่มีอยู่ ยังไม่ค่อยมีที่ไหนให้ความสำคัญกับการออกแบบ หรือใช้ architech และ interior เข้ามาช่วย แล้วส่วนใหญ่ก็จะไปตั้งอยู่ในห้าง ซึ่งมันจะไม่มีแสงธรรมชาติเหมือนที่เราอยากได้

ตอนออกแบบเราบรีฟสิ่งที่เราต้องการอย่างไรบ้าง

คุณเพา: เราบอกเขาว่าอยากให้มันมีแสง หมายถึงได้รับแสงจากธรรมชาติเยอะๆ แล้วก็อยากให้เด็กๆ มีพื้นที่สำหรับคลาน มุด และปีนป่าย คืออยากให้เขาได้ใช้ร่างกายเหมือนเวลาที่เขาเล่นอยู่ในธรรมชาติ สมมติเขาจะเดินผ่านประตูเล็กๆ เขาก็ต้องเดินโค้งตัวเข้ามา หรือมีส่วนที่เป็นอุโมงค์เขาจะต้องมุดเข้าไป แล้วก็ส่วนที่เราอยากให้เป็นน้ำ แต่เลือกที่จะใช้ลูกบอลแทนน้ำ คือเด็กสามารถที่จะกระโดดลงไปได้ แล้วก็มีไอเดียจากสถาปนิกด้วย ที่เขาตั้งใจจะแบ่งพื้นที่เป็นส่วนที่มีพื้นผิวต่างๆ หรือมีส่วนที่เป็นบ่อทราย

นอกจากเรื่องฟังก์ชั่น แล้วที่บอกว่าอยากให้เป็นสถานที่ที่มีดีไซน์

คุณเพา: คือนอกจากจะเป็นที่เล่นของเด็กแล้วเราอยากให้มันเป็นสถานที่สำหรับพ่อแม่ด้วย อยากให้เขารู้สึกว่ามันน่าอยู่และน่าใช้เวลาในนี้ เพราะว่าตอนเราคลอดลูกใหม่ๆ เวลาเราอยู่ที่คอนโดฯ กับลูกมันก็ค่อนข้าง depress เพราะบางทีเราก็รู้สึกว่าเราเล่นกับลูกไม่เป็น ในห้องเราจะมีอะไรไปเล่นกับเขาได้ทั้งวัน ก็เลยรู้สึกอยากให้มีพื้นที่ที่พ่อแม่สามารถใช้เล่นกับลูกได้ สังเกตดูว่าเราจะเลือกใช้สีที่มันเป็นธรรมชาติ คือผู้ใหญ่อยู่ในนี้แล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นโลกของเด็กอย่างเดียว หรือของเล่น เราก็อยากให้เป็นวัสดุจากธรรมชาติ ไม่อยากให้มีความอิเล็กทรอนิกส์ อันนี้คือธีมหลักของเรา

“ทุกวันมันจะเป็นการทำงานที่ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หรือแค่นั่งทำงานเช้าถึงเย็น แต่มันสนุกเวลาที่เราได้คิดว่าต่อไปเราจะทำอะไรสนุกๆ เพิ่มขึ้นหรือทำอะไรให้เด็กสนุกมากขึ้น”

พอได้ทำอะไรที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ความสุขหรือความสนุกของมันคืออะไร

คุณกี้: ด้วยความที่กี้เริ่มมาจากกลุ่มเด็กที่มีความพิเศษ และเราก็อินกับเขามาก สมมติเราเล่นกับเขาวันนี้ แล้วพรุ่งนี้เห็นว่าเขาทำได้ หรือเขามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ความสุขของกี้มาจากอะไรแบบนี้ เหมือนเขาทำได้อะไรมากขึ้นนิดเดียว แต่สำหรับเรามันคือมาก แล้วการที่ของเล่นเราไปถึงโรงเรียนที่มีเด็กพิเศษทั่วประเทศ และทำให้ครูได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก แล้วเอาไปต่อยอดได้ เราก็รู้สึกว่าของเล่นเราไม่ได้ช่วยแค่เด็ก แต่ช่วยเรื่องการเรียนการสอนให้คุณครูของเด็กๆ ด้วย

คุณเพา: ความสนุกของเพาคือการจัดกิจกรรมกับเด็กๆ เพราะว่าตอนนี้เรามีสถานที่แล้ว เราอยากจะใช้สถานที่ทำอะไรอีก เช่น เราอยากจะมีเพลย์กรุ๊ป แล้วเพลย์กรุ๊ปจะเป็นยังไง เล่นด้วยธีมอะไร ทุกวันมันจะเป็นการทำงานที่ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ หรือแค่นั่งทำงานเช้าถึงเย็น แต่มันสนุกเวลาที่เราได้คิดว่าต่อไปเราจะทำอะไรสนุกๆ เพิ่มขึ้น หรือทำอะไรให้เด็กสนุกมากขึ้น

กว่าจะเป็น BLIX POP วันนี้ใช้เวลาทั้งหมดกี่ปี

คุณกี้: ถ้ารวมทำรีเสิร์ชด้วยก็ต้องย้อนไปปี 2013-2014 พอเรียนจบประมาณกลางปี 2015 ก็เริ่มระดมทุนเพื่อผลิตแล้วส่งให้กับโรงเรียนสอนคนตาบอด 16 แห่ง แต่พอได้ฟีดแบ็กกลับมา มันทำให้เราต่อยอดไปหาโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กพิเศษด้านอื่นๆ อีกเจ็ดสิบกว่าแห่งทั่วประเทศ จนคิดว่าได้เวลาแล้วที่จะสร้างแบรนด์ ต่อยอดการออกแบบ และส่งเสริมพัฒนาการเด็กเต็มตัว ก็เลยตั้งเป็นบริษัท BLIX POP ขึ้นมา

แล้วเพลย์วิลล์ใช้เวลานานเท่าไร

คุณเพา: ประมาณสองปีค่ะ มันดีเลย์ในช่วงก่อสร้างด้วย แต่ก่อนนั้นก็มีการไปดูงานตามที่เล่นต่างๆ ทั้งของไทยและของญี่ปุ่น เพาคิดว่าขั้นตอนของมันไม่ได้จบหลังจากสร้างเสร็จ แต่เราต้องรู้ว่าเราจะ maintain มันยังไง เพราะเราตั้งใจจะทำให้มันเป็นที่ที่ปลอดภัยและสะอาดที่สุด เราตั้งใจมากที่จะล้างลูกบอลทุกอาทิตย์ เวลาที่เราพาลูกไปเล่นตามที่ต่างๆ เราก็จะแอบถามเขาว่าที่นี่ล้างลูกบอลยังไงคะ ล้างบ่อยแค่ไหน ทีนี้พอเราเอามาทำเอง มันเป็นงานที่เหนื่อยมากเลยนะ การล้างลูกบอลอาทิตย์ละครั้งเนี่ย (หัวเราะ)

เหมือนเป็นงานที่ต้องใช้ทีมงานหลายคน

คุณเพา: ตอนเริ่มแรกมีห้าคน มีคนที่เคยเป็นครูอนุบาลมาก่อน มีคนที่เรียนเกี่ยวกับวรรณกรรมเด็ก มีคนที่ทำงานจิตวิทยาพัฒนาการเด็ก คือพี่เลี้ยงที่นี่เราจะเรียกว่า Play leader เขาจะเป็นคนที่ช่วยแนะนำการเล่นกับลูกให้คุณพ่อคุณแม่ได้มากกว่าคยเป็นแนนนี่ เช่น เขาเห็นเด็กเล็กเล่นสไลเดอร์ เขาอาจจะเข้าไปช่วยบอกคุณแม่ว่าให้น้องลองหันหลังลงมาก็ได้ แต่พอหลังๆ เราก็เพิ่มทีมงานพาร์ตไทม์ที่เขามีความเป็นแนนนี่เข้ามาช่วยเหมือนกัน

ความยากของธุรกิจนี้ อุปสรรคหรือปัญหาของมันคือ…

คุณเพา: ปัญหาของเพา หนึ่งคือเราตั้งใจว่าจะเป็นที่ที่มีดีไซน์ที่สุด สะอาดที่สุด ปลอดภัยที่สุด แต่ต้องยอมรับว่าทุกอย่างมันจะดีที่สุด ได้มันก็มีค่าใช้จ่ายที่สูง เช่น การทำความสะอาดใหญ่ทุกอาทิตย์ จากตอนแรกที่เราอยากจะเปิดทุกวัน ไม่มีวันหยุด แต่พอทำจริงแล้วพบว่ามันทำไม่ได้ เพราะการคลีนหนึ่งครั้งใช้เวลาสี่ชั่วโมง เราก็เลยต้องมีวันหยุดหนึ่งวัน และกว่าเราจะหาวิธีทำความสะอาดที่มันเร็วขึ้น เหลือ 2-3 ชั่วโมง เราก็เลยเพิ่งจะมาเปิดทุกวันได้ เพราะความยากของมันเป็นเรื่องของการรักษามาตรฐาน เพราะเราตั้งใจเลือกทุกอย่าง เช่น แบรนด์ของเล่นจากเยอรมนี เราเลือกเจ้านี้เพราะว่าสีที่เราเห็น เขาไม่ได้ใช้วิธีทาสีลงไป แต่เขาใช้วิธีเอาสีกับของเล่นลงไปปั่นๆ ไม่รู้อธิบายถูกไหม แต่เพื่อให้สีมันซึมเข้าไปเป็นเนื้อเดียวกับสิ่งนั้น ไม่ได้เคลือบอยู่ภายนอก เพราะฉะนั้นเวลาที่เด็กเอาของเล่นใส่ปาก มันไม่มีทางที่สีจะหลุดเข้าปากเด็ก หรือแม้แต่แปลนทอยส์ที่สนับสนุนของเล่นชิ้นเล็กๆ ให้เรา ต่อให้เป็นเรื่องเล็กๆ อย่างกาวที่เขาใช้ เขาก็เลือกแบบที่มันไม่อันตราย

คุณกี้: มันก็มีหลายส่วนนะ เช่น ของเล่นอื่นก็มี ทำไมต้องมาซื้อของเรา คือของเล่นเด็กมันเยอะมาก บางคนเขาก็บอกว่าไปเล่นอย่างอื่นที่บ้านก็ได้ อาจจะเพราะด้วยสีด้วยรูปทรงมันคล้ายกัน แต่เราอยากอธิบายฟังก์ชั่นของมันมากกว่า อยากบอกว่าทำไมมันต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมต้องเป็นบล็อกชิ้นใหญ่ ทุกอย่างมันมีความหมายนะ แต่ละอย่างที่เราทำ เพราะมันเป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรจะได้รับ เราอยากบอกว่าของเล่นของเราก็มีองค์ความรู้ในการออกแบบ เราไม่อยากให้เขารู้สึกว่ามันราคาสูง แต่อยากให้มาคุยกันก่อน อย่างในเพจของเรา ลูกค้าสามารถอินบ็อกซ์มาถามได้เลยว่าลูกกี่ขวบควรเล่นยังไง หรือเคยซื้อไปเล่น แล้วไม่รู้จะเล่นยังไงต่อ เราก็ให้คำแนะนำได้ ไม่ใช่ซื้อไปแล้วจบ

แต่บางทีมันก็ยากและห้ามไม่ได้ที่คนจะมองว่าของเราแพง และเราก็เป็นแบรนด์หน้าใหม่ คนไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใคร อยู่ๆ มาทำของเล่นเด็กจะเชื่อถือได้เหรอ มันก็มีอุปสรรคที่ต้องใช้เวลา

หรือการขาย มันก็ยากตรงที่พอเราบอกว่าของเล่นเราเหมาะกับเด็กพิเศษ คนที่ลูกเขาไม่ได้เป็นอะไร ก็จะมองว่ามันไม่เหมาะหรือไม่จำเป็นกับลูกเขา กี้ว่าการทำให้คนเข้าใจเรามันยาก

แต่คุณเพาเข้าใจเรื่องนี้ใช่ไหม (หัวเราะ)

คุณกี้: ตอนกี้มาเจอคุณเพา เรารู้สึกว่าคุณเพาเป็นพาร์ตเนอร์ที่เข้าใจว่าเราไม่ได้จะมาขายของอย่างเดียว เขารับฟังและเขาก็เข้าใจการที่เราอยากให้มีสักวันที่เด็กพิเศษจะได้มาเล่นเหมือนกับเด็กคนอื่น คุณเพาก็ไม่ได้ปฏิเสธ กี้ว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องมีพาร์ตเนอร์ที่เข้าใจวิสัยทัศน์ของเรา

“เราอยากเป็นตัวเชื่อมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่กับเด็ก หรือเด็กกับโรงเรียน อยากให้มันเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถเล่นด้วยกันได้ อยากเห็นการเป็น Inclusive society จริงๆ”

แนวโน้มหรือความตั้งใจที่อยากทำต่อไปในอนาคต

คุณกี้: นี่ถ้าไม่ถามคำถามนี้ จะบอกให้ช่วยถามหน่อยเลยนะ (หัวเราะ) เพราะว่ามันสำคัญ แม้มันอาจจะเป็นมิชชั่นที่เราไปไม่ถึงใน 1-2 ปีนี้ แต่กี้อยากให้เราเป็นมากกว่าแบรนด์ของเล่น ไม่อยากให้คนมองว่า BLIX POP เหรอ ก็ของเล่นทั่วไป แต่เราอยากเป็นตัวเชื่อมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่กับเด็ก หรือเด็กกับโรงเรียน อยากให้มันเป็นคอมมูนิตี้ที่ทุกคนสามารถเล่นด้วยกันได้ อยากเห็นการเป็น Inclusive society จริงๆ

หรืออย่างการที่เราจัดกิจกรรม ‘3 Gen เล่นด้วยกัน’ เพราะเราเห็นว่าคนที่เล่นกับลูก นอกจากพ่อแม่แล้วส่วนมากก็คือคุณปู่ย่าตายาย กี้อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมและเล่นด้วยกันได้

แล้วปัจจุบันเราก็ไม่อยากจะโทษว่าเป็นเพราะอะไร แต่เรารู้สึกว่าเด็กจะโตขึ้นมาแบบคนที่สื่อสารหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง เพราะทุกอย่างมันเป็นดิจิทัลไปหมด เด็กที่โตมากับการเล่นอะไรที่เป็นดิจิทัล พอเขากดปุ่มนี้ก็จะเกิดสิ่งนี้ ทุกอย่างเป็นไปตามคำสั่งเขา เหมือนเรากดโทรศัพท์มือถือ แล้วเราจะให้เด็กอยู่กับอะไรแบบนี้อย่างเดียวเหรอ

เราต้องรีบใช้ช่วงเวลา golden age คือช่วงอายุ 0-4 ขวบของเด็กนี่แหละปลูกฝังให้เขาได้เรียนรู้ตามธรรมชาติ เรียนรู้ผ่านการเล่น ผ่านการสัมผัส ไม่ใช่เล่นด้วยการนั่งมองเฉยๆ

คุณเพา: ตอนนี้เรารู้สึกว่าเรามีฮาร์ดแวร์แล้ว คือเพามองที่ตรงนี้เหมือนฮาร์ดแวร์นะคะ การเล่นกับเด็กมันก็คือซอฟต์แวร์ที่เราจะต้องหามาเพิ่มเติม คือเรารู้ตัวว่าเราไม่ได้ทำเองได้หมดทุกอย่าง ดังนั้นเราเลยเริ่มหาพาร์ตเนอร์ที่จะทำเวิร์กช็อป หรือว่าคนที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับเด็กเข้ามาใช้พื้นที่ของเราให้มันเป็นประโยชน์มากที่สุด อันนี้คืออย่างที่หนึ่ง อย่างที่สองคือเราเล่นกับลูกไม่เป็น เราก็เลยอยากเป็นที่ที่พ่อกับแม่มาแล้วเขาได้เห็นว่าจะเล่นอะไรกับลูกได้บ้าง ใช้เวลากับลูกยังไงได้บ้าง อย่างเช่นตอนนี้ทุกวันเสาร์สุดท้ายของเดือน จะเป็น Daddy’s day คุณพ่อที่พาลูกมาเล่น ตัวคุณพ่อจะได้เข้าฟรี ได้เครื่องดื่มฟรี เราอยากช่วยตอบสนองความต้องการของครอบครัว เพราะครอบครัวส่วนใหญ่แม่จะมีเวลาอยู่กับลูกมากกว่า เราก็อยากให้มีหนึ่งวันที่พ่อจะได้รับบทบาทนั้นบ้าง หรืองาน ‘3 Gen เล่นด้วยกัน’ นี่ก็มาจากการที่เราอยากช่วยซัพพอร์ตความต้องการของครอบครัวที่ไม่ได้มีแค่พ่อแม่ลูกเหมือนกัน

 

สัมภาษณ์วันที่ 18 กรกฎาคม 2562

FYI: สนใจรายละเอียดกิจกรรม Mommunity 2nd: 3 Gen เล่นด้วยกัน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่


Sisata D.

Editor in Chief, ชอบเล่นกับลูกคนอื่นและอัพรูปหลานลงอินสตาแกรม

RELATED POST

COMMENTS ARE OFF THIS POST