READING

ชวนเด็กเข้าครัว: เชฟครูพี่พลอย ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ...

ชวนเด็กเข้าครัว: เชฟครูพี่พลอย ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ

จะมีเชฟสักกี่คนที่ชอบ Spatula ที่สุดในบรรดาอุปกรณ์ครัวทั้งหมด เพราะนอกจากมันจะเป็นที่ปาดแป้งแล้ว มันยังใช้เป็นที่ทาครีมหรือเนยลงบนขนมปังและใช้แทนมีดได้ด้วย… เหตุผลง่ายๆ ของเชฟสาวคนสวย อดีตนักกีฬาเทควันโดทีมชาติ ดรัมเมเจอร์โรงเรียนที่นอกจากจะติดใจการทำอาหารแล้วยังตกหลุมรักเด็กๆ จนต้องผันตัวมาเป็น เชฟครูพี่พลอย—ฐาติกานต์ ตัณฑจินนะ ของน้องๆ วัยจิ๋ว ที่เป็นทั้งหุ้นส่วนและผู้ออกแบบเมนูแห่งโรงเรียนสอนทำอาหาร A Little Something อีกด้วย (คุณสมบัติอาจยาวไปหน่อย แต่เธอเป็นทั้งหมดนั้นจริงๆ!)

 

ตอนเด็กๆ มีคิดไหมว่าโตขึ้นจะมาสอนทำอาหาร

เคยสิ ตอนที่เราไปค่ายตอนเด็กๆ รู้สึกว่าความฝันตอนนั้นคืออยากเป็นพี่ค่าย ความฝันเล็กมาก แค่รู้สึกว่าวันหนึ่งเราโต เราอยากเป็นพี่ค่าย แค่นี้เอง ตลกมาก

 

เด็กที่นิ่งๆ ครูพี่พลอยสอนยังไง?

เวลาคลาสครั้งแรก เขาจะติดพ่อแม่ อยู่ในคอมฟอร์ตโซนของเขา เราต้องหาวิธีทำให้เขารู้สึกว่าเราก็เป็นคอมฟอร์ตโซนของเขา เริ่มจากการพูดคุย ต้องสังเกตเด็กว่ามีความชอบยังไง ผู้ชาย ผู้หญิงจะคุยเรื่องอะไร เช่น ในคลาสสิบกว่าคน ถ้าเขาไม่ยอมคุยกับใครเลย เราก็ต้องค่อยๆ ถามเขาว่าคนนี้ คนนั้นชื่ออะไร บางทีก็รู้อยู่แล้วว่าเขาชื่อนิศา เราก็จะแกล้งเรียก “นิซ่า เหรอ?” เขาก็จะหันมา “ไม่ใช่” นิดหนึ่งอะ คือถ้าเขาเริ่มพูดหนึ่งคำ ประโยคต่อไปจะไม่ยากละ

เพราะเด็กจริงๆ คือเขาอยากเล่นด้วย แต่เขาจะมีมาด ไม่คุยกับคนแปลกหน้า บางครั้งก็ถามเรื่องตัวการ์ตูนที่เขาชอบ “ใครชอบ My Little Pony บ้าง” ทั้งๆ ที่ในคลาสไม่เกี่ยวกับ My Little Pony เลย แต่ว่าเราต้องทำลายความไม่คุ้นกัน แล้วพอเรามีแค่เรื่องนึงที่ลิงก์กัน มันจะคุยเรื่องต่อๆ กันได้ง่าย “ชอบทานอะไร ใครชอบทานสปาเกตตีบ้างยกมือขึ้น” อย่างนี้ เขาก็จะมีส่วนร่วมกับเราในคลาสมากขึ้น เพราะเวลาที่น้องๆ มาเรียน เราไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สอน แล้วน้องๆ นั่งฟัง แต่มันคือต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย ถึงจะสนุก

 

แล้ววิธีรับมือถ้าเด็กซน?

เราก็ต้องให้เขาได้เป็นหัวหน้า หรือให้เขาได้ดูแลน้อง เขาจะเปลี่ยนไปเลยนะ เขาจะรู้สึกว่า ‘ฉันเป็นหัวหน้า ฉันได้ดูแล’ อย่างเนี้ย เขาก็จะไม่วิ่ง เราต้องจับให้ได้ว่าเด็กคนไหนสนใจอะไร บางคนให้ชิม บางคนชอบช่วยเหลือ บางคนมาถึงก็ช่วยแจกอันนี้หน่อย เขาจะรู้สึกภูมิใจละ แล้วทั้งคลาสนั้นเขาก็จะตั้งใจเพราะเราต้องให้เขาช่วยอะไร เขาสำคัญนะ

 

อันตรายในห้องครัวที่เด็กๆ จะต้องระวังเป็นพิเศษ?

เราต้องทำเป็นตัวอย่างให้เด็กดู แล้วก็ทำอย่างนั้นตลอด สมมติว่าเราใช้มีด ไม่ว่าเราจะใช้มีดหั่นอะไรก็ตาม ถึงเราจะใช้แค่มีดเด็ก (มีดชนิดพิเศษสั่งทำจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เอาไว้สอนเด็กๆ โดยเฉพาะ) แต่พอเสร็จแล้วก็ไม่ใช่เอามาวางแบบเนี้ย (ทำท่าวางของสะเปะสะปะ) คือเราก็ต้องทำเป็นตัวอย่างจริงๆ (หยิบมาวางใหม่ หันด้านคมออกนอกตัว) หรือตะหลิว เวลาผัด พอน้องมาถึง มือหนึ่งจะให้เขาไขว้หลังไว้เลย แล้วอีกมือหนึ่งก็ผัด จริงๆ ในคลาสไม่มีอะไรผิดเลย ทำอะไรก็ได้ แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในกฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นอันตรายนี่ละ เช่น ห้ามวิ่งในคลาส เพราะอะไร เพราะน้องจะสะดุดสายไฟ ถ้าสะดุดสายไฟจะเป็นแผล ก็ต้องบอกเขา เป็นลำดับขั้นตอน ไม่ใช่ทุกอย่างห้ามจับ ห้ามนู่นห้ามนี่ คือถ้ายิ่งห้ามน้องแล้วเขาจะได้เรียนรู้อะไร มันไม่ได้อยู่แล้ว ต้องบอกเขาให้เข้าใจ

อะไรที่ทำเป็นตัวอย่าง เขาจะเรียนรู้
จดจำมันได้มากกว่าคำพูด

แปลว่า การทำเป็นตัวอย่างดีที่สุด?

ใช่ เพราะเรารู้สึกว่าอะไรที่ทำเป็นตัวอย่าง เขาจะเรียนรู้ จดจำมันมากกว่าคำพูด ตัวเรานี่ล่ะคือมาตรฐาน เพราะถ้าเราทำยังไงแล้วคิดว่ามันดี แล้วมันดีจริงๆ เราก็จะทำตลอด พอน้องเห็น เขาก็จะเห็นเราเป็นตัวอย่าง ทำเสร็จทุกครั้งต้องเก็บของ เช็ดโต๊ะ ล้างมือทุกครั้งหลังจากจับเนื้อสัตว์ เพราะถ้ากินเข้าไปจะไม่สบาย พอเขากลับไปที่บ้านเขาจะรู้ มันค่อนข้างละเอียด แต่เราใส่ใจ เวลาสอนทุกคนก็เหมือนสอนลูกหลานจริงๆ ทำทุกคลาสให้เป็นคลาสแรก แล้วมันจะเป็นอะไรที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต เพราะ cooking มันคือ life skills

น้องจะได้อะไรจากห้องครัว อีกบ้าง

ได้ฝึกสมาธิ เราต้องทำให้เขาโฟกัสในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า วางแผนให้ทั้งคลาสมีเรื่องที่เขารู้สึกสนใจตลอด ออกแบบให้เข้ากับเทศกาล ตัวการ์ตูนฮิต แล้วเขาจะอยากมีส่วนร่วม อยู่กับเราได้นาน หรืออย่างการหั่นหรือผัดอะไรก็ตาม ถ้าเขามองไปที่อื่น มืออาจไปโดนมีด โดนกระทะได้นะ เวลาหั่นก็ต้องไม่หันไปคุยกับเพื่อน เราเองก็ต้องดู มีสมาธิทั้งคู่

 

ได้กล้ามเนื้อ บางทีเขายังจับอะไรไม่ค่อยได้ เราก็จะให้เขาจับอะไรเล็กๆ ปั้นฟองด็อง (น้ำตาลก้อนที่ปั้นเป็นตุ๊กตา) ปั้นแป้งขนมปัง เขาก็จะมีแรงตรงกล้ามเนื้อมัดเล็กมากขึ้น

 

ได้ฝึกสมอง ยกตัวอย่างที่เราจะทำโดนัทยูนิคอร์นวันนี้ น้องจะรู้ได้ยังไงว่ายูนิคอร์นปั้นได้ยังไงใช่มั้ย เราก็จะมีหลักว่า ตายูนิคอร์นเป็นทรงอะไร น้องก็จะตอบได้ว่า “ทรงกลม” เราก็ใช้รูปเรขาคณิตมาทำให้เขารู้สึกว่าปั้นง่าย

 

เราต้องทำให้เขาโฟกัสในสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
วางแผนให้ทั้งคลาสมีเรื่องที่เขารู้สึกสนใจตลอด

 

โซเชียลสกิล อย่างเวลาตีวิปครีม เราก็จะบอกน้องว่า “เห็นไหมว่าตอนแรกมันเป็นน้ำเหลวๆ ถ้าเราช่วยกันตี ถ้าเราเหนื่อยเราก็แปะมือเพื่อนให้ช่วยทำ ช่วยกันนับ มันก็จะแข็งขึ้นมาได้นะ” น้องจะได้ทีมเวิร์ก มันมากกว่า cooking นะ พลอยว่าน้องได้หลายอย่างจากคลาส

 

พ่อแม่กับลูกรู้จักกันมากขึ้น อย่างเช่นไม่รู้ว่าลูกกินแคร์รอตสดๆ ได้ แล้วพลอยให้น้องชิม แล้วน้องก็กินได้ คุณแม่ก็บอกว่าอยู่บ้านน้องไม่เห็นกินเลย หรืออย่างให้น้องชิมส่วนผสม เช่น ช็อกโกแลตชิปแล้วน้องหันไปป้อนแม่ คือมันเป็นความรักที่ถ้าเขาอยู่บ้านอาจจะไม่ได้ทำ พ่อแม่ก็จะรู้สึกว่าลูกน่ารัก แล้วตอบลูกว่า ขอบคุณครับ ขอบคุณค่ะ มันน่ารักมาก อบอุ่น

 

ประทับใจอะไรในการสอนเด็กๆ ทำอาหารมากที่สุด

ทุกอย่างที่เราสอน น้องเขาจำได้ ครั้งต่อไปเขาก็จะทำโดยอัตโนมัติ เวลาผัดก็เอามือไขว้หลัง มันเป็นอะไรที่เราประทับใจมาก พอเราใส่ใจในการสอนแล้วน้องเขาใส่ใจในการเรียนรู้ มันดีมากที่ได้เห็น พวกเขาใสมาก เขาอารมณ์ดี จนตั้งแต่เรียนจบมาไม่มีฟีลว่าพรุ่งนี้วันจันทร์เหรอ พรุ่งนี้ต้องไปทำงานเหรอ เราไม่เคยรู้สึกแบบนั้นเลย

 

เชฟครูพี่พลอยหลงเสน่ห์หนูน้อยในครัวเข้าให้แล้ว… ป๊าม้าท่านไหนอยากพาลูกไปทำอาหารแล้วบ้าง ยกมือขึ้นเร็ว

คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนอยากพาลูกไปเรียนรู้หรือลองทำอาหารดูบ้าง
ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ A Little Something หรือ Facebook ของโรงเรียนได้เลยค่ะ

Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST