เด็กพิเศษ คือเด็กที่มีความต้องการพิเศษมากกว่าเด็กทั่วไป หลายคนอาจนึกสงสัยว่าอาการของเด็กพิเศษมีลักษณะเป็นยังไง เริ่มรู้ได้เมื่อไร ต้องใส่ใจดูแลด้านไหนบ้าง และมีโอกาสหายเป็นปกติไหม
มาไขข้อข้องใจกับ คุณโดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ นักบำบัดหนุ่มมาดเซอร์ ผู้มีประสบการณ์ด้านการดูแลเด็กพิเศษที่ศูนย์ Care ศูนย์รับบำบัด ปรับพฤติกรรม และพัฒนาการเด็กพิเศษ ก่อนจะมารับงานฟรีแลนซ์ดูแลเด็กพิเศษที่มีอาการ SCD (social communication disorder) หรือเด็กบกพร่องทางการสื่อสาร แบบตัวต่อตัว
“ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่บางคนสังเกตุเห็น แต่ไม่ยอมรับและไม่พาลูกมารักษา คิดว่าลูกฉันไม่ได้เป็น ซึ่งตรงนี้อยากจะบอกว่า การพาลูกมารักษาเร็ว เป็นผลดีต่อตัวเด็กและครอบครัวเอง ยิ่งพามาเร็วยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว”
จุดเริ่มต้นของอาชีพนักบำบัดเด็กพิเศษ
จริงๆ เรียกว่าจังหวะมันพาไป คือเราเล่นดนตรี แล้วก็ทำวงตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยชื่อวง Summer Stop และได้เซ็นสัญญากับค่ายสมอลรูมตอนปีสาม เป้าหมายหลักในตอนนั้นก็คือ ทำวง เล่นดนตรี แต่มันไม่พอกิน ก็เลยคิดว่าต้องหางานเพิ่ม
ตอนนั้นมีเพื่อนสอนอยู่โรงเรียนการแสดงและดนตรี ทางโรงเรียนกำลังหาครูสอนกลอง เราก็เลยตัดสินใจไปสอนกลอง ตอนนั้นทำเป็นพาร์ตไทม์ สอนไปก็เริ่มรู้สึกว่า เราทำงานกับเด็กได้ เพราะนักเรียนที่มาเรียนกับเราเป็นเด็กหมดเลย
หลังจากนั้นก็เป็นจังหวะที่มีงานนักบำบัดเด็กพิเศษเปิดรับอยู่ เรามีรุ่นน้องทำอยู่พอดี เขาก็เลยมาถาม นั่นเป็นจังหวะที่เราคิดว่าตัวเองสามารถทำงานกับเด็กได้อยู่พอดี ก็เลยลองรับงานด้านนี้ดู
เริ่มงานแรกได้ทำที่ Care ทางศูนย์รับบำบัด ปรับพฤติกรรม และดูแลพัฒนาการของเด็กอย่างเป็นขั้นตอน ก่อนอื่นมีการประเมินอาการของเด็กพิเศษ จากนั้นจะมีซูเปอร์ไวเซอร์คอยวางโปรแกรมว่าควรฝึกเรื่องไหนบ้าง ในหนึ่งอาทิตย์ต้องรักษากี่ชั่วโมง เด็กแต่ละคนจะมีนักบำบัดดูแลเป็นทีมประมาณ 3-4 คน โดยทางศูนย์ดูแลเด็กพิเศษทุกประเภท แต่ส่วนใหญ่ที่มาจะเป็นเด็กออทิสติก
การเตรียมตัวเพื่อเป็นนักบำบัดเด็กพิเศษ
เราได้รับการฝึกอบรมจากหลักสูตรออนไลน์ของต่างประเทศ การอบรมจะเริ่มจากภาคทฤษฎีก่อน และมีการสอบข้อเขียน แล้วดูว่าเราสอบผ่านเกณฑ์ไหม ถ้าผ่านก็จะเริ่มฝึกปฎิบัติจริง ฝึกครั้งหนึ่งใช้เวลาสองชั่วโมง เขาก็จะให้เราฝึกทำงานกับเด็ก โดยมีรุ่นพี่คอยประกบและประเมินการทำงานของเรา พอช่วง 2-3 ครั้งสุดท้าย ก็ต้องทำคนเดียว และรุ่นพี่ก็จะประเมินว่าเราผ่านหรือไม่ ฝึกอบรมอย่างนั้นประมาณ 1-2 เดือนถึงจะได้ทำงานจริง
เท่าที่เจอมาเด็กพิเศษมีลักษณะพิเศษอย่างไรบ้าง
ที่ Care รับเด็กพิเศษหลายกลุ่ม แต่จะเน้นไปที่กลุ่มเด็กออทิสติก เด็กกลุ่มนี้มีความต้องการพิเศษ เชื่อมต่อสื่อสารกับคนทั่วไปยากลำบาก เพราะใช้ภาษาไม่ได้ เขาไม่รู้ว่าจะทักทาย มองตา หรือพูดคุยกับคนอื่นอย่างไร
เด็กออทิสติกจะมีความสนใจค่อนข้างแคบ สมมติถ้าสนใจรถ ก็จะหมกมุ่นกับรถ วันนี้ก็รถ พรุ่งนี้ก็รถ ถามหาแต่รถตลอด และพวกประสาทสัมผัส ก็จะชอบทำอะไรซ้ำๆ หรือบางคนนั่งอยู่ก็จะบีบมือตัวเองไปเรื่อยๆ เด็กบางคนก็จะชอบเดินเขย่งเท้า มันเป็นการกระตุ้นของเขาเอง เขาจะรู้สึกโอเคที่ได้ทำแบบนั้น
วิธีการดูแลเด็กพิเศษที่ Care
เราจะมีคนดูแลเป็นทีม มีนักบำบัด 3-4 คน ต่อเด็กหนึ่งคน แล้วก็จะมีซูเปอร์ไวเซอร์อีกหนึ่งคน แต่ว่าไม่ได้เข้ามาดูแลพร้อมกันหมดนะ สมมติวันจันทร์ผมดูแลแปดโมงเช้าถึงสิบโมงเช้า แล้วก็จะมีอีกคนเข้ามาดูแลต่อ
จุดประสงค์ก็คือเราต้องการให้เด็กอยู่ได้ด้วยตัวเองมากที่สุด ไม่ต้องพึ่งพาใคร และฝึกให้รู้ว่า เขาทำได้ตอนอยู่กับเรา แล้วทำได้เมื่ออยู่กับคนอื่นหรือเปล่าเพราะบางทีเด็กพูดเพราะกับเรา แต่ไม่ได้พูดเพราะกับคนอื่น เราบอกให้เขาทำแบบนี้ เขาทำกับเรา แต่ไม่ทำกับคนอื่น จึงเป็นเหตุผลที่ต้องมีนักบำบัดหลายคน และมีแบบฝึกหัดให้ลองไปเจอสถานการณ์จริงด้วย เช่น พาเด็กไปเดินตลาด ไปซื้อของ ก็จะฝึกให้เขาพูดขอบคุณครับกับแม่ค้า และฝึกใช้เงิน ให้แบงค์พันไปต้องทอนเท่าไร หรือใช้แบงค์ร้อยห้าใบแทนแบงค์ห้าร้อยได้ไหม เพื่อดูว่าเขาสามารถทำได้ไหม
เด็กพิเศษที่เป็นออทิสติกจะได้รับการดูแลเหมือนกันหรือไม่
ออทิสติกหลายแบบ ใช้คำว่าแบ่งเป็น Spectrum ซึ่งมีเรนจ์กว้างมาก ก็คือเด็กคนนี้สเป็กตรัมแบบนี้ มีพฤติกรรมทางประสาทสัมผัสเยอะ ด้านสังคมอาจจะดีหน่อย เข้ากับคนอื่นพอได้ แต่ว่าภาษาไม่ได้ เด็กแต่ละคนก็จะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับอาการมากหรือน้อย
สำหรับเด็กที่มีอาการออทิสติกในขั้นมากมีวิธีดูแลอย่างไร
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา เราต้องใช้วิธีบำบัดแบบตัวต่อตัว ค่อยๆ ปรับพฤติกรรม และวิธีที่ผมใช้คือ ABA ย่อมาจาก Applied Behavior Analysis เป็นการฝึกด้วยหลักการเสริมแรง พฤติกรรมไหนที่ถูกเสริมแรง มีแนวโน้มที่จะทำซ้ำ พฤติกรรมไหนที่ไม่ถูกเสริมแรง มีแนวโน้มที่จะหายไป ถ้าไม่มองตา เราต้องเสริมแรงด้วยสิ่งที่เขาชอบ อย่างเช่นในชั่วโมงบำบัด เราก็ต้องเตรียมสิ่งที่เด็กชอบ ขนม หนังสือ ของเล่นก็ต้องเตรียมไว้เสริมแรงเลย ถ้าเค้ามองตาแล้วก็ให้รางวัล ให้รู้ว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งที่เราต้องการให้ทำ
ปกติพ่อแม่จะเริ่มสังเกตว่าลูกเป็นออทิสติกได้ตั้งแต่อายุเท่าไร
ประมาณสองขวบ เพราะว่าก่อนหน้านี้เด็กยังพูดไม่ได้ จึงสังเกตยาก
ส่วนใหญ่พ่อแม่จะเริ่มพาลูกมารักษาตั้งแต่อายุสองขวบเลยไหม
แตกต่างกันครับ ไม่แน่นอนเลย ปัญหาอยู่ที่พ่อแม่บางคนสังเกตุเห็น แต่ไม่ยอมรับและไม่พาลูกมารักษา คิดว่าลูกฉันไม่ได้เป็น ซึ่งตรงนี้อยากจะบอกว่า การพาลูกมารักษาเร็ว เป็นผลดีต่อตัวเด็กและครอบครัวเอง ยิ่งพามาเร็วยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว
ถ้าพามาตอน 7-8 ขวบ มันผ่านการการเรียนรู้มาหลายขั้นแล้ว บางทีดูแลมาไม่ถูกต้อง ก็ต้องมารื้อแก้ใหม่หมด ซึ่งยากกว่าการดูแลมาตั้งแต่ต้น
อาการเริ่มแรกที่พ่อแม่พอจะสังเกตเองได้ว่าลูกเป็นออทิสติก
เด็กออทิสติกจะไม่มองตา ชอบพูดคนเดียว แต่ไม่ใช่ภาษาที่เราพูดกัน เรียกไม่หัน ไม่มองตา และชอบทำท่าทางแปลกๆ เช่น เดินเขย่ง ทำซ้ำ ดีดนิ้ว โยกตัว หรือบีบมือ
การรับรู้ของเด็กออทิสติกจะแตกต่างออกไป เช่น เสียงที่เราได้ยิน เขาจะได้ยินอีกแบบ หรือคนทั่วไปอาจจะไม่ได้ยินเสียงแบบที่เด็กออทิสติกได้ยิน เด็กบางคนไม่พูด สามขวบแล้ว ก็ยังไม่พูด หรือมีพัฒนาการช้า ก็ควรเริ่มพาไปพบคุณหมอแล้ว
โดยปกติเด็กออทิสติกจะต้องได้รับการรักษาหรือดูแลไปถึงอายุเท่าไร
จนกว่าพ่อแม่จะพอใจ แต่เราจะมีคำแนะนำจากทางซูเปอร์ไวเซอร์อยู่แล้ว ถ้ามองว่าโอเคแล้ว และทางศูนย์มองว่าเด็กอาการดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่สบายใจที่จะพาลูกกลับไปเลยไหม ถ้ายังไม่อยากให้ออกมา อยากให้อยู่แบบเต็มเวลาไปก่อน ก็แล้วแต่พ่อแม่ แต่เราก็จะมีคำแนะนำให้
คำว่าอาการดีขึ้นเด็กออทิสติกจะมีลักษณะอย่างไร
สื่อสารได้ ช่วยตัวเองได้ พึ่งพาคนอื่นน้อยลง ส่วนเรื่องพัฒนาการ จากเข้าห้องน้ำเองไม่ได้ ก็เข้าเองได้ จากติดกระดุมเสื้อไม่ได้ ก็ติดเองได้ เดินไม่แข็งแรงกล้ามเนื้อมัดเล็กมัดใหญ่ ก็จะเดินแข็งแรงขึ้น พูดไม่ชัด ฝึกกล้ามเนื้อลิ้นกล้ามเนื้อปาก เริ่มพูดชัดขึ้น สื่อสารโต้ตอบได้มากขึ้น
อาการออทิสติกแบบไหนที่ยากที่สุด
คือเด็กที่ไม่ได้ภาษา ไม่สื่อสาร เราเรียกหรือพูดอะไร เขาไม่รู้วิธีที่จะสื่อสารกลับมา บอกให้มองตา ก็ไม่รู้ว่าหมายความว่าอะไร เราก็ต้องเริ่มจากเรียกชื่อ แล้วจับหน้าให้เขามองตาเราหน่อย จากนั้นเสริมแรงให้เขารู้ว่าทำแบบนี้ดีมากเลยนะ ถ้ามีคนเรียกแล้วควรจะหันไปหา แต่ถ้าเรียกเพื่อบอกให้ยืน นั่ง ก็จะยากขึ้นไปอีก เราต้องใช้ภาพสื่อสาร
หรือเด็กที่ไม่สามารถบอกความต้องการกับเราได้ อย่างเช่น หิวน้ำแต่ไม่รู้วิธีการสื่อสาร อยากเล่นแต่ไม่รู้วิธีการสื่อสาร อยากกินข้าวแต่ไม่รู้วิธีการสื่อสาร พอพูดไม่ได้ไม่รู้ว่าจะสื่อสารกับเรายังไง จะแสดงพฤติกรรมที่รุนแรง เช่น เขวี้ยงของ ร้องไห้ ลงไปดิ้น เพื่อสื่อสารกับเราแทนคำพูด
และต่อยอดมาเป็นการดูแลเด็ก SCD
เด็ก SCD ไปดูแลที่โรงเรียนตามปกติ เพราะเขาไม่ได้เป็นเยอะ เป็นการดูแลแบบตัวต่อตัว ผมมาเป็นครูประกบในสภาพแวดล้อมจริงในโรงเรียน และเราเห็นโอกาสในพฤติกรรมบ้างอย่างที่ปรับได้ หรือว่าสอนได้เราก็จะเข้าไปปรับพฤติกรรมนั้น
จุดเริ่มต้นที่มาดูแลเด็ก SCD
เริ่มจากผมแพลนว่า จะไปเรียนต่อศิลปะบำบัดที่ประเทศอังกฤษ เลยออกจากงานที่ Care เป็นการตัดสินใจแบบไม่ได้วางแผนมาก่อน เหลือเวลาเตรียมตัวนิดหน่อย เพื่อติวและสอบ IELTS แต่คะแนนขาดไป เลยทำให้ไม่ได้ไปปีที่แล้วและว่างงาน ทีนี้ก็คิดว่าจะทำอะไรดี
แต่ก็ยังดำเนินการเรื่องเรียนต่อไปเรื่อยๆ เลยมองหางานที่เป็นกึ่งฟรีแลนซ์ พาร์ตไทม์ เราก็ไปเห็นกรุ๊ปต่างๆ ในเฟซบุ๊ก กรุ๊ปนักบำบัด มีผู้ปกครองประกาศหาคนดูแลเด็ก เลยติดต่อผู้ปกครองไป จากนั้นก็มาดูแลเด็ก SCD
ลักษณะของเด็ก SCD เป็นอย่างไร
เด็กกลุ่มนี้จะมีความยากลำบากในการสื่อสารและทักษะสังคม เขาจะมีการพูดระดับเดียว คือพูดกับผมแบบนี้ พูดกับเพื่อนก็แบบนี้ พูดกับคุณครูอายุมากๆ ก็แบบนี้ ด้วยน้ำเสียงเดิม ด้วยวิธีการพูดเดิม ไม่พูดครับ ไม่พูด Please เช่น เด็กทั่วไปเวลาพูดกับผู้ใหญ่อาจจะเป็น ‘หยิบดินสอให้หน่อยได้ไหมครับ‘ แต่เด็กกลุ่มนี้จะพูดห้วนๆ ว่า ‘หยิบให้หน่อย’ เหมือนที่พูดกับคนอื่น นอกจากนี้ยังมีความยากลำบากในการเริ่มต้นบทสนทนาและทักแล้วไม่ตอบสนอง
การดูแลเด็ก SCD
ต้องดูสถานการณ์ครับ ก็คือดูธรรมชาติของเด็ก ดูว่าอะไรที่ทำแล้วไม่ถูกต้อง ไม่ถูกกาลเทศะ อย่างเช่น ก่อนหน้านี้เดินอยู่ตรงทางเดิน กลับมาจากพัก มีนักเรียนหลายชั้นเดินอยู่ ตามทางเดินก็จะมีเด็กยืนขวาง เค้าเอามือผลักไปเลย ซึ่งถ้าเป็นปกติก็ต้องพูดว่า ‘ขอทางหน่อยครับ’
พอเขาผลัก ผมก็ต้องบอกว่า ถ้ามีคนยืนขวางทางให้พูดว่า ‘ขอทางหน่อยครับ’ แล้วให้เขาทำใหม่ และถามไปว่าครั้งต่อไป ทำยังไง เขาก็จะพูดว่า ‘ขอทางหน่อยครับ’ เราค่อยปล่อยให้เขาไปได้
แต่จริงๆ ถ้าอยู่ในชั่วโมงบำบัด 1-2 ชั่วโมง เราจะให้ทำซ้ำ จนเขาจำได้ แต่พออยู่ในบริบทโรงเรียน มีตารางต้องทำ จึงทำซ้ำได้แค่ครั้งสองครั้ง
ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็กที่ดูแลอยู่ไหม
เห็นครับ ผมอยู่กับเขามาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และเริ่มให้คุณครูชั้น ป. 2 ประเมินและสรุปเดือนพฤศจิกายน คุณครูบอกว่าตอนนี้ดีขึ้นมาก เริ่มเข้ากับเพื่อนได้ จากที่แต่ก่อนมาถึงโรงเรียนจะนั่งเล่นอะไรคนเดียวตลอด
อาการเริ่มแรกที่สังเกตได้ว่าลูกเป็น SCD
สังเกตได้จากทักษะทางสังคมทั่วไปและการพูดจา เช่น เด็กทั่วไป เราบอกว่า พูดกับพ่อแม่ต้องพูด ‘ครับ’ ครั้งต่อไปเขาก็จะพูด ‘ครับ’ แต่เด็ก SCD จะเรียนรู้เรื่องนี้ช้ามาก
ความแตกต่างระหว่างการดูแลเด็กออทิสติกกับเด็ก SCD
จากประสบการณ์เด็ก SCD ดูแลง่ายกว่า เพราะว่า SCD มีปัญหาด้านเดียวคือด้านสังคม แต่ว่าเด็กออทิสติก มีหลายด้าน มีด้านของการสื่อสารและทักษะสังคมด้วย ต้องดูแลกว้างกว่า ปรับเยอะกว่าครับ
การได้ใกล้ชิดกับเด็กพิเศษทำให้เราเข้าใจเด็กทั่วไปมากขึ้นไหม
ผมมองว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว ผมว่ากรอบของคำว่าโอเคของผมมันกว้างขึ้นเช่น คิดว่าเด็กพิเศษพฤติกรรมจะพิเศษกว่าเด็กทั่วไป ถ้าเป็นแต่ก่อนเราจะรู้สึกแปลก ทำไมเด็กคนนี้ทำแบบนี้ แต่พอได้อยู่ด้วยก็เห็นว่ามันเป็นไปได้ มันก็อยู่ในบริบทของชีวิตประจำวันได้ ทำให้เราโอเคกับพฤติกรรมธรรมชาติของเด็กทุกคนมากขึ้น
เป้าหมายของการเป็นนักบำบัดเด็กพิเศษ
ถ้าถามว่าเป้าหมายของการเป็นนักบำบัดเด็กพิเศษคืออะไร อันนี้ยังไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่รู้สึกว่ายังไม่อยากทิ้ง เพราะรู้สึกว่าเราทำได้ ยังช่วยเหลือเด็กกลุ่มนี้ได้
เรายังอยากให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการสื่อสาร ด้านสังคม ด้านภาษา ด้านกล้ามเนื้อ หรือว่าประสาทสัมผัสต่างๆ พึ่งพาคนอื่นน้อยลง สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น อยู่ร่วมกับสังคมได้
หากครอบครัวที่มีเด็กพิเศษไม่รู้หรือมีเหตุผลที่ไม่สามารถพึ่งนักบำบัดได้
อืม… ยากเลย ผมว่าต้องใจเย็น เพราะว่าเด็กสื่อสารไม่ได้ และถ้าพ่อแม่ไม่มีความรู้ที่ถูกต้องว่า เด็กออทิสติกเป็นอย่างไร พ่อแม่ก็จะรู้สึกหงุดหงิด และกลายเป็นคนที่ใช้อารมณ์กับเด็ก
เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องหาข้อมูลก่อนว่า เด็กพิเศษคืออะไร มีความพิเศษอะไรบ้าง และพาไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ และถ้ามีคอร์สหรือ Parent Training ก็ควรไปเวิร์กช็อปฝึกอบรม เพราะว่าจริงๆ มันค่อนข้างเฉพาะทาง ต้องใช้ความใจเย็นและความเข้าใจมากๆ
จุดเซนสิทีฟที่พ่อแม่ควรจะเข้าใจเด็กออทิสติกและเด็ก SCD
เรื่องการใช้อารมณ์และความรุนแรง ซึ่งมันก็เป็นเรื่องทั่วไป เด็กธรรมดาก็ไม่ชอบ แต่เด็กพิเศษ เขาก็มีความต้องการพิเศษ พ่อแม่ทั่วไปอาจจะไม่เคยเจอ และไม่ชิน พอไม่ชิน เราก็ไม่รู้จะทำยังไง
อยากให้พูดถึงโอกาสทางสังคมของเด็กพิเศษ
โอกาสของเด็กพิเศษในไทยค่อนข้างจำกัดมาก ยิ่งถ้าเป็นเด็กพิเศษแล้วพ่อแม่ไม่ค่อยมีรายได้ ไม่มีเงินจ้างนักบำบัด ต้องพึ่งโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งคิวยาวและไม่ได้รับการรักษาสม่ำเสมอ เพราะการรักษาจำเป็นต้องมีความสม่ำเสมอ อย่างเช่น ที่ CARE มีลูกค้าชาวต่างประเทศที่มีกำลังจ่าย เขาก็จะให้ลูกมาทุกวัน อาทิตย์ละ 3-4 วัน กลับบ้านก็ยังไปบำบัดต่อที่บ้าน เด็กก็จะพัฒนาเร็ว
พอมาพูดถึงการเข้าเรียนในโรงเรียน ในโรงเรียนของไทยมีเด็กเป็นร้อยเป็นพัน พอมีเด็กพิเศษมาคนหนึ่ง เราจะเห็นตามข่าวว่าเขาจะกลายเป็นคนที่แตกต่างมาเลย ไม่เหมือนเพื่อน โดนแกล้ง ไม่ใช่แค่เด็กด้วยนะ บางทีครูก็ด้วย เห็นเด็กแปลก ตลกดี แกล้งด้วย เล่นด้วย เห็นเป็นเรื่องตลก
เพราะสังคมไทยยังขาดข้อมูล ยังขาดความรู้ ความเข้าใจในเด็กกลุ่มนี้อยู่ ความต้องการพิเศษ ต้องเข้าใจแบบไหน ถ้าทุกคนเข้าใจว่า เด็กมีความต้องการพิเศษ เพื่อนส่วนใหญ่ในห้อง 40 คน มีเด็กพิเศษหนึ่งคน คุณครูและเพื่อนต้องเข้าใจเด็กพิเศษ แต่พอคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจ มันจึงกลายเป็นการผลักเขาออกไปจากสังคม
ถ้าไปจนถึงการทำงาน ผมว่ามันก็ยังแคบมาก แค่เรานึกภาพ เพื่อนเราไปสมัครงาน แล้วเขียนว่าเป็นออทิสติก บริษัทก็แทบจะไม่รับเข้าทำงานแล้ว สังคมไทยยังปิดกั้นอยู่ มันมาจากขาดความเข้าใจ
เทียบกับการเปิดรับในต่างประเทศ
ต่างประเทศให้โอกาสในการทำงานมากกว่า มีที่ทำงานเปิดรับเฉพาะเด็กพิเศษเลย ซึ่งในไทยก็มีนะ แต่เมืองนอกมีเยอะกว่า เราต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กพิเศษชอบทำอะไรซ้ำๆ เรื่องเดิม เด็กที่วันนี้ก็รถ พรุ่งนี้ก็รถ แค่ได้ยินเสียงสตาร์ต เขาก็รู้แล้วว่า รถอะไร รุ่นไหน ปีไหนในต่างประเทศใช้ตรงนี้เป็นจุดแข็ง จากนั้นก็เปิดคาร์แคร์ทำความสะอาดรถ ให้เด็กออทิสติกไปเช็ดรถ กลายเป็นว่าเขาเป็นคนที่ทำความสะอาดรถได้ดีมาก
— สนใจติดต่อคุณโดมเพื่อปรึกษาการดูแลเด็กพิเศษ ได้ที่ Facebook
COMMENTS ARE OFF THIS POST