READING

นักดนตรีบำบัดเด็กพิเศษผู้เชื่อในพลังของเสียงเพลง: ...

นักดนตรีบำบัดเด็กพิเศษผู้เชื่อในพลังของเสียงเพลง: โจเซฟ ซามูดิโอ

หนุ่มลูกครึ่งเชื้อสายไทย-โคลอมเบีย โจเซฟ ซามูดิโอ เจ้าของเสียงอบอุ่นและมีเสน่ห์แห่งเวที The Voice Thailand ซีซั่นห้า ที่มาพร้อมกับอาชีพ ‘นักดนตรีบำบัดเด็กพิเศษ’ ก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความอ่อนโยนให้กับเขามากขึ้นไปอีก ทำเอาเราอยากรู้เลยว่าประสบการณ์ในการเป็นนักดนตรีบำบัดเด็กพิเศษจะยาก ง่าย อบอุ่น และน่าค้นหาอย่างไรบ้าง

Q ก่อนอื่นช่วยเล่าให้เราฟังหน่อยว่าดนตรีบำบัดคืออะไร

A คือการใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือสื่อสาร ตอนนี้ผมสอนวิชาดนตรีบำบัดอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วยครับ ถ้าจะบอกว่าดนตรีบำบัดคืออะไร อันนี้อาจจะต้องอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ หมายถึง ‘Using music to achieve non-musical goals’ ถ้าผมเป็นครูดนตรี ผมจะทำทุกอย่างเพื่อให้เด็กเล่นดนตรีได้ แต่ดนตรีบำบัดเขาจะทำกิจกรรมดนตรีเพื่อเป้าหมายที่เกี่ยวกับตัวเอง ปรับอารมณ์ ปรับพฤติกรรมให้เด็กเข้ากับสังคมมากขึ้น เพิ่มอายคอนแทกต์ ทุกอย่างเป็นเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวกับดนตรีเลย

 

Q แล้วทำไมถึงต้องใช้ดนตรี

A จริงๆ มีหลายแบบ มีดนตรีบำบัด ละครบำบัด ศิลปะบำบัด แล้วไม่ใช่เด็กทุกคนจะเหมาะกับดนตรีบำบัด แต่ดนตรีเป็นสิ่งที่ทำให้เราเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งที่ทุกคนมีในใจอยู่แล้ว ซึ่งเด็กเข้ากับดนตรีมาก มันเป็นสิ่งที่สามารถกระตุ้นใจ เราสามารถสื่อสารความรู้สึกผ่านฟีลลิ่งของมัน ดนตรีเลยเป็นเครื่องมือที่ดีมากในการบำบัด เพราะเป็นการสื่อสารที่ง่ายๆ

 

Q ดนตรีบำบัดเหมาะกับใคร

A ตอนเรียนดนตรีบำบัดที่มหาวิทยาลัย ผมเคยฝึกงานกับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และก็เด็ก แสดงว่าไม่มีกลุ่มที่เหมาะที่สุด มีแต่ตัวนักดนตรีบำบัดแต่ละคนว่าเขาชอบกลุ่มไหนมากกว่า ซึ่งผมรู้สึกว่าผมเหมาะกับเด็ก บุคลิกของผมชอบทำงานกับเด็ก ผมเป็นคนขี้เล่น เลยรู้สึกว่าเวลาทำงานกับเด็กจะมีความสุขมากๆ ก็เลยมาทางเด็ก

 

Q อะไรทำให้คิดว่าตัวเองเหมาะกับเด็ก

A ผมรู้สึกว่าได้เป็นตัวของตัวเองเวลาเล่นกับเด็ก เด็กเข้ากับดนตรีมาก ผมไม่เคยเจอเด็กที่มีปัญหาเรื่องการอิมโพรไวส์ แต่พอเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ พอผมบอกว่ามาเล่นเปียโนกัน เขาจะไม่กล้าเล่น แต่เด็กจะไม่มีกำแพง เขาจะกล้าร้องเพลง เขาจะกล้าเล่น

 

Q แล้วเด็กกลุ่มไหนที่เหมาะกับการใช้ดนตรีบำบัด

A ส่วนใหญ่ ผมรู้สึกว่าเด็กออทิสติก เพราะออทิสติกเป็นโรคที่เกี่ยวกับการสื่อสาร การเข้าสังคม ดนตรีจะช่วยให้เขาสื่อสารความต้องการง่ายกว่าคำพูด อย่างคนที่บำบัดกับผมมีหลายแบบ เวลาเล่นดนตรีผมสังเกตว่าเขาจะมีความสนใจในเพลง แล้วเขาจะ เอ๊ะ! ใครเป็นคนเล่น เขาจะมอง สมมติผมเล่น ‘ช้างๆๆๆๆ น้องเคยเห็นช้างรึ…’ (หยุด) เด็กก็จะรอ เหมือนมี attention ที่เขาจะ เอ๊ะ แล้วยังไงต่อ ซึ่งตอนแรกเขาจะไม่เป็นแบบนั้น

 

Q ปกติแล้วส่วนใหญ่ใช้เครื่องดนตรีอะไร แต่เท่าที่เห็นในห้องก็จะมีเปียโน กีตาร์ กลอง

A ใช้ทุกอย่างเลยต่อเด็กหนึ่งคน จริงๆ ทุกเครื่องดนตรีจะมีข้อดีกับข้อเสีย เวลาเล่นกีตาร์ เราจะสามารถยืนเฟซทูเฟซ ฝึกอายคอนแทกต์ได้ ถ้าเขาอยากจะเล่นก็ยกกีตาร์ให้เขาดีดได้ แต่อย่างเปียโน ข้อดีก็คือเราสามารถเล่นด้วยกันได้ ข้อดีของกลองคือเวลาเขามีพลัง เขาตี เขาระบายความรู้สึกหรือความโกรธผ่านกลองได้ดี แล้วก็เสียงร้อง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดนตรีที่ทุกคนมีครับ

 

Q คนเป็นนักดนตรีบำบัดต้องมีสกิลอะไรบ้าง

A มีหลายสกิล อันแรกที่ผมว่าสำคัญที่สุดคือต้องเป็นนักดนตรีที่เล่นดนตรีเก่ง เพราะดนตรีเป็นเครื่องมือของเรา สมมติเด็กอยากจะแต่งเพลง แต่เด็กไม่รู้เรื่องเมโลดี้ เช่น เด็กร้องแค่… ‘ฉันไปไหน…’ (หยิบกีตาร์มา) เราก็ต้องรู้ทฤษฎีดนตรีว่าโน้ตแบบนี้ต้องใช้คอร์ดไหน (คุณโจดีดกีตาร์สองสามทีก็เป็นเมโลดี้เพลงได้จริงๆ) อย่างที่สอง เราต้องเอาใจใส่และเห็นใจคนอื่น สมมติวันนี้มีเคสที่ดีเพรสนิดนึง วิธีการพูด วิธีการเล่นดนตรี เราก็ต้องสังเกตและปรับดนตรีให้เข้ากับอารมณ์เด็ก อีกอย่างคือต้องเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มากๆ เพราะเราต้องออกแบบกิจกรรมให้ทุกอย่างเข้ากับเด็กได้

 

Q ดนตรีบำบัดจะทำให้เด็กเปลี่ยนไปยังไง

A ถ้าพูดถึงเด็กออทิสติก เขาจะเข้ากับสังคมได้มากขึ้น จะมีอายคอนแทกต์เพิ่มขึ้น ดนตรีและการร้องเพลงมันจะเป็นสเต็ปให้เด็กฝึกพูดด้วย ฟีดแบ็กของพ่อแม่ก็จะเห็นว่าอารมณ์ของเด็กเสถียรมากขึ้น ไม่ค่อยสวิง แต่ฟีดแบ็กที่ผมชอบมากที่สุดคือ เด็กเริ่มสนใจดนตรี มีเคสหนึ่งเป็นวัยรุ่น อายุ 15 ปี เขาแค่มีความดีเพรส ไม่อยากไปเรียน ไม่ยอมทำการบ้าน หลังจากเขาย้ายไปประเทศอื่นสามสี่เดือน แม่บอกว่าเขาเริ่มชอบแต่งเพลง ร้องเพลง เป็นเครื่องมือใหม่ที่เจอแล้วช่วยให้เขาระบายความรู้สึกออกมา พอแม่บอกอย่างนี้ผมก็รู้สึกว่า Yeah that’s right!

 

หรือมีอีกเคส เป็นเด็กออทิสติก ตอนที่เจอเด็กครั้งแรก เขาไม่มีคำพูด ไม่มี attention อะไรเลย แต่ตอนนี้เขาย้ายไปอเมริกาแล้ว เดือนที่แล้วผมคุยกับแม่เขา แม่เขาเปิดรายการ The Voice Thailand ในยูทูบให้ดู เด็กก็พูดออกมาเองว่า “โจ” แม้ว่าเราจะไม่ได้เจอกันหกเดือนแล้ว แต่ผมรู้สึกแฮปปี้มาก

สมมติว่าที่โรงเรียนเด็กโดนแกล้งตลอดเวลา เขาจะสามารถแต่งเพลงเรื่องเด็กผู้ชายคนนึงที่โดนแกล้งได้ เพราะมันมาจากชีวิตของเขา แต่ในเพลงเขาจะรู้สึกเซฟมากกว่า เพราะเขาไม่ได้พูดถึงตัวเอง เวลาผมถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมไม่ต้องถามเด็ก แต่เพลงได้บอกแล้วว่าเด็กคนนี้เจออะไรมา และรู้สึกยังไง

Q ความยากหรือความท้าทายของงานนักดนตรีบำบัดเด็กพิเศษคืออะไร

A เอากี่อัน (หัวเราะ) คือดนตรีบำบัดไม่ใช่สิ่งที่เพอร์เฟกต์ หลายครั้งเด็กก็ไม่อยากสื่อสาร หรืออย่างเวลาทำงานกับเด็กออทิสติก เรามีแพลน แต่พอเจอเด็กทุกอย่างมันเปลี่ยนหมด เราต้องคิดสดตลอด บางทีรู้สึกเหนื่อยแต่ก็ไม่ได้เหนื่อยขนาดที่จะยอมแพ้ We have to just try very hard. อีกอย่างคือส่วนใหญ่ถ้าเด็กมีปัญหาเรื่องพัฒนาการช้า อาจจะต้องปรึกษานักบำบัดหลายคน เช่น นักกิจกรรมบำบัด OT (Occupational Therapist) และนักฝึกพูด (Speech Therapist) พอต้องเจอนักบำบัดหลายคน ส่วนใหญ่ในมุมมองของผู้ปกครองถ้าต้องตัดออกอย่างนึง 99% เขาก็จะตัดดนตรีบำบัดออก

 

ผมไม่ได้แนะนำว่าต้องให้ดนตรีบำบัดเป็นหลักนะ แต่สิ่งที่ดีในดนตรีบำบัดก็คือ เด็กสามารถระบายความรู้สึกออกมาได้ด้วยวิธีที่ง่ายมาก สมมติเด็กโดนแกล้งตลอดที่โรงเรียน เด็กก็จะสามารถแต่งเพลงเรื่องเด็กผู้ชายคนนึงที่โดนแกล้ง เพราะมันมาจากชีวิตของเขา แต่ในเพลงเด็กจะรู้สึกเซฟมากกว่าเพราะเขาไม่ได้พูดถึงตัวเอง เวลาผมถามว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผมไม่ต้องถามเด็ก แต่เพลงได้บอกแล้วว่าเด็กคนนี้เจออะไรมา และรู้สึกยังไง พอแต่งเพลงเสร็จเขาจะภูมิใจ ผมเลยรู้สึกเสียใจนิดนึงเวลาผู้ปกครองเลือกตัดดนตรีบำบัดออก แต่ก็เข้าใจ ขนาดที่อเมริกา เขาก็มองอาชีพนักดนตรีบำบัดเป็นงานอดิเรก ชิลๆ สบายๆ เขาไม่ได้นึกถึงเป้าหมายที่เราตั้งให้เด็ก เขายังไม่รู้ถึงอำนาจของดนตรี (สายตามุ่งมั่น)

 

Q ที่ไทยก็เหมือนกันใช่ไหม ดูเหมือนความสนใจด้านนี้ยังน้อยอยู่

A ที่นี่ก็เป็นเหมือนกัน ผมว่าเหมือนกันทั้งโลก ผมเคยเรียนเวิร์กช็อปที่สเปน เขาก็พูดเหมือนกัน เขาคิดว่าชิลๆ มันไม่จำเป็น คือรู้สึกว่ามันกำลังจะดีขึ้นนะ แต่ก็ยังเหลืออีกเยอะ

 

Q แล้วถ้าพ่อแม่อยากดูแลและพัฒนาลูกด้วยดนตรีต้องทำยังไง

A ผมเข้าใจว่าพ่อแม่อาจจะอยากให้เด็กเรียนดนตรี อยากให้เด็กเป็นนักดนตรีที่เก่ง ผมไม่ได้ห้ามแต่ผมแนะนำว่า ให้เด็กเรียนไปตามพัฒนาการของเขา ถ้าพ่อแม่รักดนตรี ชอบฟังเพลง เด็กก็จะโตโดยที่มีเพลงอยู่รอบตัวเขา ผมรู้สึกว่าไม่เป็นจำเป็นที่พ่อแม่ต้องเป็นนักดนตรี เด็กถึงจะรักดนตรี แต่ถ้าพ่อแม่รักเพลงชอบฟังเพลง อาจจะร้องบ้าง อาจจะเล่นเกมโดยใช้เพลง ถ้าเด็กโตขึ้นในบรรยากาศแบบนี้ เด็กก็จะรักดนตรีตลอดไป

Photo: enissine

Avatar

กำลังเรียน ป.โท เกี่ยวกับเด็ก ในสาขาที่ชื่อยาวมากสาขาหนึ่ง ชอบถ่ายรูปเป็นนิสัย และชอบไปเที่ยวในที่ที่มีดอกไม้เป็นพิเศษ มีลูกโดยไม่ได้ตั้งใจเป็นแมวและกระต่ายอย่างละตัว

RELATED POST