READING

‘ของเล่น’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเด็กเล่น...

‘ของเล่น’ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องเด็กเล่น

ทำความรู้จักนักออกแบบของเล่น กิมเล้ง—กัญญา อดิศรพันธ์กุล ที่ไม่ได้มาเล่นๆ เพราะผลงานของเล่น Hand Sign Alphabet ของเธอ เคยคว้ารางวัล Twenty Favorite Toys 2014 จากนิตยสาร Family Fun ในประเทศสหรัฐอเมริกามาแล้ว

ขอทำความรู้จักนักออกแบบของเล่นที่ชื่อ ‘กิมเล้ง’ กันก่อน

เราจบสถาปัตย์ฯ สาขาศิลปะอุตสาหกรรมมาค่ะ ซึ่งตอนนั้นในไทยยังไม่มีแยกเป็นสาขาเกี่ยวกับของเล่นโดยตรง แต่จะเป็นวิชาในชั้นปีสองปีสาม แล้วเราก็มีหลานกับน้องเยอะ มีน้องชายที่อายุห่างกัน 12 ปี ตอนเราปีหนึ่ง น้องก็เริ่มอยู่ในวัยที่อยากเล่นของเล่นพอดี ก็เลยชอบทำของเล่นให้น้อง ครีเอตบอร์ดเกมเล่นกับน้อง พอได้มาเรียนวิชาเกี่ยวกับการทำของเล่นตอนปีสองปีสามก็ชอบ แต่ตอนนั้นคะแนนไม่ดีเลย เพราะเราไม่ได้คิดว่าเด็กอยากจะเล่นอะไร แต่ทำโดยคิดว่าตัวเราอยากจะทำอะไร

แล้วสนใจการออกแบบของเล่นเด็กมากขึ้นตอนไหน

ตอนปีสี่ต้องฝึกงาน ก็หาที่ฝึกงานในและนอกประเทศ จนมีโอกาสได้ฝึกงานที่สตูดิโอออกแบบของทุกอย่างสำหรับเด็กที่ฝรั่งเศส ที่นั่นเขาทำงานภายใต้คอนเซ็ปต์ Emotional Factory ออกแบบตั้งแต่ความงาม ไปจนถึงการมีพัฒนาการและพัฒนาทางอารมณ์ของเด็ก เราก็… โห! เปิดโลกทัศน์

ที่ยุโรปเขาให้ความสำคัญกับของเล่นมากแค่ไหน

มากๆๆๆๆ เลยนะ อย่างปารีสตามริมถนน เขาจะมีร้านของเล่นเต็มไปหมด แต่ละร้านมีเสน่ห์เพราะเจ้าของร้านเขาอินกับร้านของเขามาก หรือแม้แต่ตอนที่เราไป Toys Fair (งานของเล่นประจำปีของโลก) ก็มีฮอลที่เป็นของเล่นแฮนด์เมด คือของเล่นที่มีมาตั้งแต่รุ่นทวดของทวด อีกฮอลก็จะมีการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องเทคโนโลยี ถ้าเดินไปโซนไอทีก็เหมือนไปงานวิทยาศาสตร์หุ่นยนตร์เลย เขาเจ๋งกันมาก เพราะเขาให้ความสำคัญกับมันมาก

เรียกว่าพวกเขาจริงจังกับการเล่นมากใช่ไหม

ใช่ ของเล่นมันมีความเกี่ยวเนื่องถึงวัฒนธรรม ภูมิประเทศ ประวัติศาสตร์ ประเทศที่มีพื้นที่มาก ของเล่นก็จะชิ้นใหญ่ เช่น บ้านไม้หลังใหญ่ๆ แต่ถ้าพื้นที่ในประเทศน้อย ของเล่นก็ชิ้นเล็ก อย่าง Polly Pocket (ของเล่นเป็นกล่องเล็กๆ จำลองห้องหรือเหตุการณ์ต่างๆ ลงในนั้น พร้อมตัวละครจิ๋วๆ สูงไม่กี่เซนติเมตร)

เพราะฉะนั้น การเล่นคือหนทางที่ดีในการเรียนรู้ มันช่วยพัฒนาทั้งเชิงร่างกาย อารมณ์ การคิด ทักษะกระบวนการต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต หรือเป็นผู้ใหญ่เพื่อขัดเกลาและพัฒนาตัวเองในปัจจุบัน หรือว่าเป็นคนแก่เพื่อซ่อมแซมความคิดและสมอง การเล่นก็ช่วยได้เหมือนกัน

ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่อนาคต
หรือคุณเป็นผู้ใหญ่แล้วเพื่อขัดเกลาและพัฒนาคุณในปัจจุบัน
หรือว่าคุณเป็นคนแก่เพื่อที่จะซ่อมแซมความคิดและสมองของคุณ
การเล่นก็ช่วยได้หมดเลยเหมือนกัน

จากความตื่นตาตื่นใจ นำมาสู่การเข้ามาทำงานในสายงานนี้ได้ยังไง

เป็นความโชคดีที่เจ้าของสตูดิโอที่เราไปฝึกงาน เขารับโปรเจ็กต์จาก Plan Toys ซึ่งขายดีมากในยุโรปไป คุณวิฑูรย์ วิระพรสวรรค์ เจ้าของ Plan Toys ก็เคยเจอเราตอนไปฝึกงานที่นั่น แล้วบังเอิญได้เจอกันอีกครั้งหลังจากเราที่เรากลับเมืองไทยแล้ว เขาก็ชวนมาทำงาน ตอนนั้นดีใจมาก เพราะเพิ่งส่งทีซิสเมื่อวาน วันนี้มีคนชวนไปทำงานแล้ว รู้สึกฮอตมาก เลยรีบทำพอร์ตฯ ส่งทันทีคืนนั้นเลย

จากตรงนี้ ทำให้เราคิดว่าพรสวรรค์มันไม่เท่าพรแสวง ถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จจริงๆ มันต้องมีพรแสวงมากๆ

แพสชั่นในการออกแบบของเล่น

เราอยากทำอะไรเพื่อสังคม เพราะตอนนั้นจบมาด้วยทีซิสหัวข้อธุรกิจเพื่อสังคม คือออกแบบรถเข็นเด็ก (ตั้งแต่แรกเกิดถึงวัยอนุบาล) สำหรับคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นแม่ค้าตามถนน เพื่อแก้ปัญหาแม่ที่ต้องเอาลูกไปฝากญาติเลี้ยง แต่จะให้มานั่งอยู่ข้างถนน สภาพแวดล้อมก็ไม่ปลอดภัย เราอินกับโปรเจ็กต์นี้มาก

ตอนทำของเล่นก็เลยคิดไปถึงของเล่นเพื่อเด็กพิเศษ พอทำออกมาได้สามชิ้นแล้วได้รางวัล เราก็เลยยิ่งอินกับการทำของเล่น เพราะที่นี่สอนเราว่าโลกของการออกแบบของเล่นมันลึกกว่านั้นมาก มันไม่ใช่แค่การเล่น แต่มันหมายถึงพัฒนาการของเด็ก การเข้าสังคม และการพัฒนาจิตใจของเด็ก เราก็ยิ่งอินว่าของเล่นมันต่อยอดไปได้ไกลมากนะ

แต่ทำไปได้สามปีกว่า เราก็เปลี่ยนสายงานไปทำอย่างอื่น

โลกของการออกแบบของเล่น มันลงไปลึกกว่านั้นมาก
มันไม่ใช่แค่การเล่น แต่หมายถึงพัฒนาการ
การเข้าสังคม การพัฒนาจิตใจของเด็ก

เพราะว่า…?

จริงๆ ตอนนั้นที่ตัดสินใจก็ร้องไห้หนักมาก เพราะสองปีแรกบริษัทจะเห่อเรามาก เพราะเราได้รับการยอมรับมาง่ายๆ เคยทำงานได้รางวัล เราก็ภูมิใจ แต่พอเข้าปีที่สาม ต้องกลับมาสู่ความเป็นจริง ความคาดหวังที่มากขึ้น ต้องทำเองทุกอย่าง ตั้งแต่ดีลกับวิศวกรไปจนถึงหาวัสดุ เพื่อผลักโปรเจ็กต์ตัวเองให้ออกมาให้ได้

ด้วยความเคยเป็นเด็กเราเคยออกงานใหม่ทุกปี แต่ปีนั้นกลับไม่มีงานใหม่ออก เราก็ยิ่งเฟล โทษคนอื่นไปหมดว่าที่ทำงานไม่ได้เพราะไม่มีใครให้ความร่วมมือ ซึ่งจริงๆ มันเป็นเรื่องปกตินะ เพราะงานปัจจุบันที่ทำอยู่ก็สองปีแล้ว ยังไม่ได้ออกเลย

ตอนนั้นเราตัดสินใจย้ายงานเลย หันหลังให้งานออกแบบของเล่นไปเลยหนึ่งปีเต็ม

แล้วทำไมถึงกลับมาอีกครั้ง

สุดท้ายแล้วใจลึกๆ มันอยู่ไม่ได้ มันเหมือนจะลงแดง ทั้งที่จริงตอนย้ายงานไป เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ และได้เรียนรู้ในเชิงกว้างมากเลยนะ แต่พอลองถามตัวเองว่า ถ้าเราขึ้นไปถึงตำแหน่งสูงสุดของที่นี่ได้แล้ว เราอยากมีชีวิต ใช้ชีวิตแบบนั้นไหม… เราไม่อยาก ก็อดทนจนครบปีแล้วลาออก ทั้งที่ทุกอย่างที่บริษัทนั้นมันดีมาก

เล่าวิธีการทำงานออกแบบของเล่นแต่ละชิ้นให้ฟังหน่อย

ก็ยังต้องใช้คู่มืออยู่ เพราะเราไม่ได้จำได้ทุกอย่าง ทั้งคู่มือพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย คู่มือความปลอดภัยต่างๆ มันเป็นเรื่องซีเรียสนะ ยังต้องใช้ฟิสิกส์ ตัวเลข และศิลปะทั้งหมด แม้แต่ขนาดชิ้นของเล่น ถ้ามีช่องมีรู เส้นผ่านศูนย์กลางก็ต้องเล็กกว่าที่นิ้วเด็กจะสอดเข้าไปได้ หรือถ้าจะใหญ่ก็ต้องใหญ่แบบที่แหย่เข้าไปและเอาออกได้สบาย หรือของเล่นที่เป็นบานพับก็ต้องลองเปิดปิดแรงๆ ว่าจะไม่หนีบเด็กแล้วเจ็บแน่นอน เพราะฉะนั้นของเล่นทุกชิ้นต้องผ่านการทดสอบก่อนเสมอด้วย

ถ้าเอาของเล่นไปทดสอบแล้วเด็กไม่ได้เล่นด้วยวิธีที่เราคิดไว้

ถ้าเด็กยังไม่ถึง 4-5 ขวบ มันตลอดเวลาเลยที่น้องจะเอาไปเล่นอย่างอื่น อย่าหวังว่าเขาจะเล่นในแบบที่เราจะให้เขาเล่น แต่หลังจาก 4-5 ขวบขึ้นไป น้องอาจจงใจที่จะลองเล่นแบบอื่นดูบ้าง

เช่นยังไงบ้าง

เช่นเรามีของเล่นเป็นบ้านชิ้นเล็กๆ เอามาต่อกันได้ ตอนเอาโมเดลไป เด็กเล็กๆ ทุกคนจะพยายามขึ้นไปนั่งบนบ้าน หรืออย่างเก้าอี้อันเล็กๆ (หนึ่งในสามของฝ่ามือ) เขาก็จะพยายามขึ้นไปนั่ง โอ๊ย (หัวเราะ) เราก็แบบ… จะสงสารอะไรก่อนดี เพราะเขายังแยกไม่ออกว่าเป็นของเล่นหรือของจริง ซึ่งมันคือ Brain Based Learning เขาถึงเรียกว่า ‘จินตนาการของเด็ก’

แต่ความหลากหลายของเด็กมีมากจนเราเดาไม่ถูก เช่น ของเล่นเป็นเตารีดพลาสติก คนนึงอาจจะวี้ดว้าย ไม่กล้าเอามือแตะ ขณะที่อีกคนวัยเดียวกันเป็นเพื่อนกัน เขายกเตารีดขึ้นมาแนบหูพูดฮัลโหล เราคาดเดาไม่ได้เลย

สิ่งเหล่านี้จุดประกายไอเดียอะไรได้บ้าง

มากค่ะ เช่น เตารีดพลาสติกเหมือนเดิมนะ เด็กทั่วไปก็จะเอามารีดธรรมดา แต่พอเราเห็นว่าเด็กบางคนเขาจะเอามาตีกับพื้น เราก็สามารถเพิ่มฟังก์ชันบีบแล้วมีเสียงปิ๊บๆ เข้าไปได้ พอเขาเอาเตารีดตีลงกับพื้น มันก็จะมีเสียง

แล้วถ้าสุดท้าย เด็กยังเล่นไม่เป็นหรือไม่ถูกวัตถุประสงค์เรา

เราก็ต้องไปปรับ มีสองวิธีคือ ทำให้ง่ายขึ้น หรือหาวิธีช่วยให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้น

ในความรู้สึกของ ‘คนทำของเล่น’ หน้าที่ของ ‘ของเล่น’ คืออะไร

มันไม่ใช่แค่การเล่น แต่มันคือตัวจุดประกายความฝันบางอย่างให้เด็กคนนั้นได้เลย และมันไม่ใช่แค่กับเด็ก เพราะในเชิงวิชาการ ของเล่นยังทำให้เรารับรู้ได้ถึงความสำเร็จในเวลาสั้นๆ เช่น การต่อจิ๊กซอว์แล้วเรารับรู้ได้ถึงความสำเร็จหลังต่อเสร็จ มันเป็นการทำงานเชิงจิตวิทยา มันทั้งช่วยผ่อนคลาย ส่งเสริมจิตใจ ร่างกาย สมอง ทำให้คนมีความเชื่อมั่นและความกล้าที่จะใช้ชีวิตต่อไป แม้กระทั่งความกล้าหลายๆ อย่างของเด็ก ก็ต่อเนื่องมาจากการที่เขาเคยทำมันสำเร็จมาก่อนตอนที่มันเป็นของเล่น

ทุกวันนี้ตัวเองยังเล่นของเล่นอยู่ไหม

โอ๊ยยย แน่นอนสิคะ บางทีเราเดินผ่านสวนสาธารณะยังเข้าไปนั่งเล่นชิงช้าเลย เพื่อนไปเดิน Sephora เราไป Toy R Us

ที่เห็นว่าบ้านไม่มีของเล่นเยอะเนี่ย เพราะมันแพง แต่เราก็เข้าไปเดินโซนของเล่นในห้างทุกอาทิตย์ ไปเล่นนะ ไปเล่นจริงๆ พวกรถแข่งทามิยะ ตุ๊กตาบาร์บี้ แต่เราเล่นแบบไม่ได้คิดถึงฟังก์ชันการทำงานของมันนะ เราเล่นเพื่อเติมเต็มตัวเราเอง เอามัน เอาสนุกเฉยๆ

นอกจากร้านของเล่นแล้ว หาแรงบันดาลใจได้จากที่ไหนอีกบ้าง

ห้องสมุดก็ได้ อ่านหนังสือ ยิ่งเยอะยิ่งดี คือบางอย่างมันก็มาง่าย บางอย่างก็มายากมาก แต่ที่แน่ๆ คือเราต้องรู้ให้เยอะ ต้องดูให้เยอะ ต้องเห็นให้เยอะแล้วตกตะกอน วิเคราะห์ให้ได้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต อย่างไปเห็นเด็กขุดทรายแล้วกลบ ก็ต้องนั่งดูว่าเขาทำเพราะอะไร เพราะเด็กชอบเห็นของหายไปแล้วก็โผล่ออกมา พอมาคิดของเล่นชิ้นใหม่เราก็ใส่ฟังก์ชันผลุบๆ โผล่ๆ เข้าไป

แล้วทำไมของเล่นที่เด็กอยากได้กับของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่เลือกมักไม่ใช่ชิ้นเดียวกัน…

เด็กเลือกไม่ดูราคาไง (หัวเราะ) อันนี้เป็นเหตุผลที่สำคัญเลยนะคะ (หัวเราะ) โดยปัจจัยพื้นฐานแล้วไม่ซับซ้อนเลยค่ะ

แล้วปัจจัยที่ลึกกว่านั้นคืออะไร

(หัวเราะ) เด็กเขาจะเลือกแค่ที่เขาอยากจะเล่น หรือไปเห็นคนอื่นเล่นมา แล้วเขาอยากจะเล่นตาม แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะคิดเยอะ ต้องได้ประโยชน์ ปลอดภัย คุ้มค่า คุ้มราคาไหม ลดราคาอยู่หรือเปล่า หรือบางครั้งผู้ใหญ่ก็ซื้อไปอวดกันเอง ลูกไม่ได้อยากเล่น (ยิ้ม)

พอถึงวัยนึงเราอาจจะโดนบอกว่า ‘โตแล้ว เลิกเล่นของเล่นได้แล้ว’ คิดแบบนั้นไหม หรือมันมีช่วงวัยแบบนั้นจริงไหม

ถ้าจะมี มันไม่ควรเป็นคำสั่ง แต่ควรเป็นการสอนให้รู้จักบริหารเวลามากกว่า และมันไม่ใช่แค่ของเล่นนะ เพราะการบอกให้เลิกเล่นเนี่ยก็ใจร้ายไปหน่อย

ถ้ามองให้กว้างๆ การเล่นมันมีประโยชน์มหาศาลซ่อนอยู่ แต่เราต้องสอนให้เขาเล่นอย่างมีสติ เล่นแล้วคิดต่อยอดได้ คนเป็นพ่อแม่ต้องสอนกระบวนการคิดต่อยอดจากการเล่นให้กับลูก แล้วเขาจะเอาทักษะเหล่านี้ไปเติบโตพัฒนา

มองทิศทางการพัฒนาของเล่นเด็กไทยไปถึงจุดไหน อย่างไร

จริงๆ เราก็หวั่นๆ กับเก้าอี้ตัวเองนะ (หัวเราะ) เพราะเด็กรุ่นใหม่ที่เรียนออกแบบของเล่นมาเก่งๆ เต็มไปหมดเลย และมันก็ได้รับการยอมรับและพัฒนามากขึ้น พ่อแม่สมัยนี้ก็เข้าใจและให้ความสำคัญกับของเล่นด้วย พวกเขาเริ่มเข้าใจว่าการเล่นนั้นมีสาระ ของเล่นในประเทศเรากำลังพัฒนาค่ะ (ยิ้ม)

ถ้าของเล่นเด็กมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ ทั้งเรื่องคุณภาพและต้นทุนการผลิต แล้วเกิดความเหลื่อมล้ำกับเด็กที่ไม่พร้อม หรือครอบครัวขาดทุนทรัพย์ที่จะซื้อของเล่นราคาแพง…

ณ ตอนนี้ ปัญหาที่เจอจะมีปัญหาอยู่สามอย่าง หนึ่ง—คุณภาพ เช่น สี วัสดุที่ใช้ การตกค้างของสารเคมี ความแข็งแรงคงทน คือสิ่งที่ต้องเลือกดีๆ สอง—สิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้ ของเล่นบางอย่างเนื้อเรื่องของมันอาจสร้างความรุนแรงได้ สาม—ตัวพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดเด็กสำคัญที่สุด ว่าเขาจะสอนให้น้องถือดาบไปตีคน หรือสอนให้เอาดาบไปฝึกวิทยายุทธปกป้องคนที่เขารัก เพราะต่อให้ของเล่นไม่มีคุณภาพ แต่ถ้าพ่อแม่ใส่ใจและดูแลใกล้ชิด มันก็ปลอดภัย หรือของเล่นที่ไม่มีอะไรให้เรียนรู้ แต่ถ้าพ่อแม่รู้จักพลิกแพลงการเล่น ก็ช่วยพัฒนาลูกได้

 

ไม่ต้องไปน้อยใจถ้าไม่มีของเล่นดีๆ ให้ลูก เพราะตัวพ่อแม่นี่แหละที่สำคัญ ของเล่นแพงมากๆ แต่พ่อแม่ไม่มีเวลาเล่นด้วย น้องก็ไม่แฮปปี้ค่ะ เทียบกับของเล่นหม้อข้าวหม้อแกงดินเผานี่เลย ถ้าพ่อแม่รู้ว่าจะสอนยังไง เอาไข่มาทำอาหารได้จริงๆ ก็ได้เรียนรู้ว่าความร้อนทำให้ไข่สุก การอดทนรอไข่ให้ค่อยๆ สุก ทุกอย่างจึงอยู่ที่เวลาของพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ตั้งใจสอน รวมกับของเล่นที่ดีด้วยล่ะก็บรรเจิดค่ะ!


Avatar

สาวยุค 90's ลูกครึ่งจีนฮ่องกง feat. เชียงใหม่ ที่พูดฮ่องกงไม่ได้ อู้กำเมืองบ่จ้าง ติดนิยาย รักการจดบันทึกและการกินเหนือทุกสิ่งอย่าง มีลูกสาวเป็นหมาอ้วนสีเหลืองอ่อน

RELATED POST