READING

ภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) รีบรักษาก่อนลูกตัว...

ภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) รีบรักษาก่อนลูกตัวเอียง!

ภาวะกระดูกสันหลังคด

คุณพ่อคุณแม่เคยสังเกตว่าลูกเป็นเด็กที่มีระดับไหล่ไม่เท่ากัน ทำให้ตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ทำให้เมื่อยืนตรงแล้วเหมือนแขนทั้งสองข้างยาวไม่เท่ากันบ้างไหมคะ

ลักษณะอาการดังกล่าว อาจเป็นอาการของ ภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) ซึ่งเป็นความผิดปกติที่พบได้ตั้งแต่เด็กวัยแรกเกิดจนถึงช่วงวัยรุ่น และอาจเกิดขึ้นได้โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ทันสังเกตเห็น เพราะภาวะกระดูกสันหลังคดมักไม่มีอาการเจ็บปวด แต่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเรื่องรูปร่าง โครงสร้าง และความสมดุลของร่างกาย

1. ภาวะกระดูกสันหลังคด คืออะไร

Scoliosis_web_1

ภาวะกระดูกสันหลังคด (Scoliosis) คือภาวะที่กระดูกสันหลังบิดโค้งผิดรูปจากปกติ ทำให้แนวกระดูกคดโค้งเกินกว่า 10 องศา มีลักษะคล้ายตัว S หรือตัว C โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งช่วงกระดูกสันหลังส่วนอก (Thoracic spine) และกระดูกสันหลังส่วนเอว (Lumbar spine) ทำให้ร่างกายเสียสมดุลการทรงตัว ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และบุคลิกภาพได้

ภาวะกระดูกสันหลังคดสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่โดยส่วนมากมักพบในช่วงวัย 9-15 ปี ในบางรายที่กระดูกคดเกิน 45 องศา จะส่งผลกระทบอย่างมากกับระบบหายใจ ทำให้หายใจติดขัด และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอีกหลายอย่างในอนาคต เช่น ปวดหลังเรื้อรัง โรคกระดูกทับเส้นประสาท

2. สาเหตุของโรคกระดูกสันหลังคดในเด็ก

Scoliosis_web_2

1. ความผิดปกติของการเจริญเติบโตกระดูกสันหลังแต่กำเนิด (Congenital Scoliosis) เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่อยู่ในครรภ์ โดยเกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกระดูกสันหลังเพียงด้านเดียว หรือการสร้างกระดูกสันหลังที่ไม่แยกออกจากกัน ซึ่งกระดูกสันหลังคดตั้งแต่กำเนิดนี้จะเห็นความผิดปกติอย่างชัดเจน

2. ความผิดปกติของระบบประสาทกล้ามเนื้อ (Neuromuscular Scoliosisเกิดจากโรคทางระบบประสาทหรือกล้ามเนื้อผิดปกติ ทำให้เกิดความไม่สมดุลของกระดูกสันหลัง พบมากในเด็กที่มีอาการสมองขาดเลือดแต่กำเนิด หรือเด็กที่มีโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

3. กระดูกสันหลังคดแบบไม่ทราบสาเหตุ (Idiopathic Scoliosis) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของเด็กที่มีภาวะกระดูกสันหลังคด คือไม่พบความผิดปกติของกระดูก หมอนรองกระดูก หรือกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น การนั่งพับเพียบนานๆ หรือนั่งหลังงอเป็นประจำ

3. วิธีสังเกตว่าลูกมีกระดูกสันหลังคดหรือไม่?

Scoliosis_web_3

คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการลูกเบื้องต้นได้จากบุคลิกภายนอก เช่น ไหล่ไม่เท่ากัน ลำตัวเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า เอวและสะโพกไม่เสมอกัน หรือตรวจสอบได้ด้วยการให้ลูกก้มตัวไปข้างหน้า ถ้ามีกระดูกนูนบริเวณหลังอย่างชัดเจน และสะบักซ้ายขวายุบนูนไม่เท่ากัน อาจสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าลูกมีภาวะกระดูกสันหลังคด

แต่หากต้องการผลที่ชัดเจนแม่นยำ แนะนำให้ไปเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาลและปรึกษาคุณหมอต่อไป

4. วิธีดูแลลูกกระดูกสันหลังคด

Scoliosis_web_4

การดูแลและรักษามีทั้งหมด 3 วิธีหลักๆ โดยการรักษาแต่ละวิธีขึ้นอยู่กับอาการและระดับความคดของกระดูก

• คดไม่เกิน 20 องศา อยู่ในระยะเฝ้าระวัง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์เป็นระยะ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของแนวกระดูก โดยในระยะนี้จะยังไม่พบความผิดปกติภายนอก

• คดมากกว่า 20 องศา แต่ไม่ถึง 40 องศา ในระยะนี้คุณหมอจะให้ลูกใส่อุปกรณ์ประคองหลัง เพื่อป้องกันไม่ให้กระดูกสันหลังคดมากกว่าเดิม และเมื่อลูกโตขึ้นอาจมีการทำกายภาพบำบัดร่วมด้วย เพื่อปรับลดองศาการคดของกระดูก

• คดเกิน 40 องศาขึ้นไป ถือเป็นขั้นวิกฤตที่ส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ควรเข้ารับการผ่าตัด

 นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกนั่ง นอน ยืนในท่าที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ นั่งไขว่ห้าง นั่งหรือยืนทิ้งลำตัวไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการป้องกันภาวะกระดูกสันหลังคด และยังเป็นการสร้างบุคลิกภาพที่ดีให้ลูกด้วยค่ะ

 

อ่านบทความ: ลูกตัวเล็ก: 5 อุปสรรคความสูงของลูกที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยรู้!
อ้างอิง
NIH
Hopkinsmddicine

Supinya R.

ชอบอ่านนิยายสยองขวัญ ชอบเขียนไดอารี่ และเป็นคุณแม่จำเป็นในบางเวลา :-)

COMMENTS ARE OFF THIS POST