READING

ลูกตัวเล็ก: 5 อุปสรรคความสูงของลูกที่คุณพ่อคุณแม่อ...

ลูกตัวเล็ก: 5 อุปสรรคความสูงของลูกที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยรู้!

ลูกตัวเล็ก

คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จึงพยายามหา วิธีเพิ่มความสูงให้ลูก ตั้งแต่ยังเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ การให้ลูกดื่มนม และออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและพัฒนาการทางร่างกายเพราะปัญหา ลูกตัวเล็ก กลายเป็นอีกหนึ่งความกังวลของคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่ เพราะความสูงของสามารถบ่งบอกได้ถึงพัฒนาการทางร่างกาย ส่งเสริมบุคลิกภาพ และอาจช่วยเพิ่มโอกาสการทำงานสำหรับบางอาชีพในอนาคต

แต่ถ้าทำทุกทางแล้ว ยังพบว่า ลูกตัวเล็ก หรือสูงไม่ทันเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันแล้วละก็ แปลว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อความสูงของลูก และคุณพ่อคุณแม่อาจไม่เคยรู้มาก่อน เราลองมาสำรวจไปพร้อมกันทีละข้อนะคะ

1. โรคเรื้อรังบางชนิด

Height_web_1

โรคบางโรคส่งผลต่อการเจริญเติบโต ทำให้ลูกมีพัฒนาการช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร และโรคภูมิแพ้ โรคเหล่านี้จะทำให้ลูกมีภูมิต้านทานต่ำ ป่วยบ่อย รับสารอาหารไม่เพียงพอ  จึงทำให้มีพัฒนาการทางร่างกาย ทั้งน้ำหนักและความสูงน้อยกว่าเกณฑ์ปกติได้

2. โรคกระดูกสันหลังคด (Scoliosis)

Height_web_2

โรคกระดูกสันหลังคด คือการที่กระดูกสันหลังคดงอไปด้านใดด้านหนึ่ง อาจโค้งเป็นรูปตัว C หรือตัว S ได้ จึงส่งผลต่อทั้งความสูงและบุคลิกภาพของลูกอย่างเห็นได้ชัด เพราะจะทำให้ลูกมีไหล่สองข้างไม่เท่ากัน เดินไม่ตรง หรือมีเอวและสะโพกเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง

ยิ่งไปกว่านั้น หากกระดูกสันหลังคดมากกว่า 40 องศา นอกจากความผิดปกติภายนอก ยังอาจส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบกล้ามเนื้อ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตต่อไป

3. สภาพแวดล้อมรอบตัว

Height_web_3

การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลภาวะ ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง ควันพิษจากรถยนต์ หรือสิ่งเสพติด เช่น บุหรี่ ก็ส่งผลโดยตรงต่อพัฒนาการและการเติบโตของลูกได้

ศูนย์กุมารแพทย์ประจำโรงพยาบาล Taichung Veterans General ประเทศไต้หวัน เผยว่า ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ และนิโคตินในบุหรี่ มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท ทำให้เด็กมีอาการมึนงง ความอยากอาหารลดน้อยลง เป็นเหตุให้สารอาหารไม่เพียงพอต่อการเจริญเติบโต

4. ขาดความสมดุลในจิตใจ

Height_web_4

เด็กที่มีความเครียด หรือมีภาวะซึมเศร้า จะเติบโตได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป เนื่องจากอาการจากภาวะดังกล่าว ส่งผลให้เด็กกินอาหารได้น้อย นอนไม่หลับ พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ Growth Hormone (GH) หรือฮอร์โมนการเจริญเติบโต ซึ่งจะถูกปลดปล่อยออกมาขณะนอนหลับ ไม่ปลดปล่อยออกมา ส่งผลให้พัฒนาการทางร่างกาย โดยเฉพาะระบบกระดูกเจริญได้ช้ากว่าปกตินั่นเอง

5. น้ำหนักตัวที่มากเกินไป

Height_web_5

คุณพ่อคุณแม่สายเอาใจลูก ปล่อยให้ลูกกินขนมหวาน หรือกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ จนน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน BMI อาจทำให้ระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเจริญได้ช้าลงได้ นอกจากจะทำให้ลูกไม่สูงแล้ว ยังส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคอ้วน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคเบาหวาน และอาจร้ายแรงถึงขั้นเสี่ยงเป็นโรคหัวใจในอนาคตได้อีกด้วย

คุณพ่อคุณแม่คงจะได้ทราบถึงปัจจัยบางอย่างที่เป็นอุปสรรคของลูกกันแล้ว ซึ่งหลักๆ ก็คือการดูแลอาหารการกินให้ถูกตามโภชนาการ หมั่นพาลูกออกกำลังกาย และพาลูกน้อยไปตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง

ยิ่งไปกว่านั้นคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลสภาพแวดล้อม และสภาพจิตใจลูกให้มีความสุขอยู่เสมอ เพราะสภาพจิตใจก็สำคัญต่อความสูงไม่แพ้กับเรื่องอาหารการกินเลยค่ะ

อ้างอิง
Frontier
NIAMS
Endocrine
OxfordAcademic

PITTAYARAT CH.

พิทยารัตน์ ชูพล: เด็กผู้หญิงผู้รับบทบาทลูกสาวคนเล็ก ที่ได้รับการเลี้ยงดูด้วยความรักเเละความใส่ใจจากคุณแม่ จนมีความใฝ่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะมอบความรักอันยิ่งใหญ่แบบนี้ให้ใครสักคนบ้าง

COMMENTS ARE OFF THIS POST